เรื่องเล่าระหว่างทางในป่าทุ่งใหญ่ฯ กับเบื้องหลังการทำงานของนักพัฒนาและนักอนุรักษ์ภาคสนาม

เรื่องเล่าระหว่างทางในป่าทุ่งใหญ่ฯ กับเบื้องหลังการทำงานของนักพัฒนาและนักอนุรักษ์ภาคสนาม

รถกระบะคันสีขาว เครื่องยนต์ยกสูง ขับเคลื่อนสี่ล้อ ถูกออกแบบเพื่อให้สามารถวิ่งบนถนนลูกรัง ทุกระยะที่รถขับผ่านเต็มไปด้วยเรื่องน่าตื่นเต้นและความเสี่ยง ความสูงชันของป่าเขาต้องใช้ความเชี่ยวชาญอย่างสูงในการบังคับพวงมาลัยเพื่อให้ทุกคนบนรถถึงที่หมายอย่างปลอดภัย

เป็นอีกครั้งที่ผู้เขียนได้เดินทางมาเยือนทุ่งใหญ่นเรศวร ด้านตะวันตก ป่าทุ่งใหญ่ฯ วันนี้ ยังคงสวยงามเหมือนเดิม ตลอดสองข้างทางที่รถวิ่งถูกปกคลุมไปด้วยร่มเงาของต้นไม้ใหญ่ แต่ที่เพิ่มเติมขึ้นมาคือฝุ่นขโมงที่ลอยฟุ้งหลังจากที่รถเคลื่อนผ่านเนื่องจากเป็นช่วงหน้าร้อนพอดี ปลายทางของผู้เขียนครั้งนี้คือบ้านสะลาวะและไล่โว่ ชุมชนชาวไทยกะเหรี่ยงที่ตั้งอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ด้านตะวันตก จ.กาญจนบุรี มีจำนวนประชากรทั้งหมด 557 คน จาก 107 ครัวเรือน 

ครั้งนี้ทางมูลนิธิสืบฯ นำโดยพี่ปลาน้อย มนตรี กุญชรมณี เจ้าหน้าที่ภาคสนาม จ.กาญจนบุรี และพี่โบว์ วริสสา โพธิ์พันธุ์ นักพัฒนาชุมชน จากสำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอสังขละบุรี พร้อมเจ้าหน้าที่จากสำนักงานเกษตรอำเภอสังขละบุรี มีแผนลงพื้นที่ทั้งสองกลุ่มบ้านในการเข้าตรวจแปลงกาแฟไล่โว่ เพื่อรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม หรือ PGS ให้กับกาแฟไล่โว่เพื่อเป็นตัวยืนยันว่ากาแฟของที่นี่เป็นกาแฟอินทรีย์ 100% ส่วนสาเหตุที่ต้องใช้ตรารับรองนี้แทนที่จะเป็น อย. หรือ OTOP นั้น ก็เนื่องจากทั้งสองกลุ่มบ้านตั้งอยู่ในพื้นที่ทุ่งใหญ่ฯ เป็นพื้นที่ที่ไม่มีโฉนดที่ดินจึงไม่สามารถหามาตรฐานอื่นที่เป็นมาตรฐานสากลได้ มาตรฐานนี้จะมีการดูแลจากคนในชุมชนและมีการรับรองจากคณะกรรมการระดับอำเภอ เข้าไปสุ่มตรวจว่าแปลงแต่ละแปลงมีการใช้สารเคมี หรือยาฆ่าหญ้าหรือไม่ โดยทางเจ้าหน้าที่จากสำนักงานเกษตรอำเภอฯ จะมีการเก็บตัวอย่างเมล็ดกาแฟแต่ละแปลงไปตรวจที่แล็บ เพื่อเป็นตัวยืนยันว่าผลผลิตของเกษตรกรที่นี่ไม่ได้ใช้สารเคมีจริง ๆ 

เวลาในการทำงานของพวกเขาไม่แน่ไม่นอน แม้พระอาทิตย์ตั้งฉากเหนือหัวเพียงแค่หยิบหมวกมาใส่ก็ลุยงานต่อได้ 

เป็นเวลาเกือบเที่ยงที่ทางทีมงานได้เดินทางมาถึงบ้านสะลาวะ เรานัดเจอสมาชิกกันที่บ้านผู้ใหญ่หล่อง ผู้ใหญ่บ้านสะลาวะ ระหว่างที่รอสมาชิกมากันครบนั้น พี่ซ้ง ณรงค์ศักดิ์ มาลีศรีโสภา เจ้าหน้าที่ส่งเสริมงานกาแฟ มูลนิธิสืบฯ ได้ยกชุดกาแฟดริปออกมาเพื่อสาธิตให้สมาชิกบางส่วนได้ลองชงกาแฟทานเอง บางคนรู้สึกชอบเพราะกลิ่นหอมกาแฟที่โชยออกมา แต่สำหรับบางคนก็ทำหน้าเจื่อน ๆ กับรสชาติกาแฟสดที่ไม่ค่อยคุ้นชิน คนที่นี่ปลูกกาแฟขายก็จริง แต่พวกเขาไม่ค่อยแปรรูปและทำกินเองมากนักอาจเป็นเพราะขั้นตอนการสีเปลือกและคั่วบด ต้องใช้เวลาและความชำนาญในการแปรรูป หลายคนจึงเลือกดื่มกาแฟซองเพราะทานง่าย และรสชาติถูกปากชาวบ้านมากกว่า

หลังจากที่สมาชิกมากันครบแล้ว ไม่นานนักพี่โบว์ก็เริ่มจัดแจงทีมสำหรับการเดินตรวจแปลงกาแฟ ส่วนพร้อบสำคัญที่ทุกคนขาดไม่ได้ก็คือหมวกกันแดด และแมสก์กันฝุ่น สำหรับบ้านสะลาวะมีแปลงกาแฟของสมาชิกทั้งหมด 8 แปลงที่ต้องเดินตรวจ แบ่งทีมตรวจออกเป็น 3 ทีม ทีมละ 3-4 คน เนื่องจากครั้งนี้มีเวลาค่อนข้างจำกัด ระหว่างการตรวจแปลงกาแฟพี่โบว์จะคอยสอบถามข้อมูลจากเจ้าของแปลงว่ามีการใช้สารเคมีหรือยาฆ่าหญ้าบ้างหรือไม่  ในช่วงที่ผ่านมามีการตกแต่งกิ่งบ่อยแค่ไหน ข้อมูลสำคัญนี้จะถูกบันทึกลงกระดาษที่เป็นแบบฟอร์มการตรวจแปลงเกษตรอินทรีย์

ในนั้นมีข้อปฏิบัติที่สมาชิกต้องทำมากถึง 18 ข้อ เช่น ห้ามใช้สารเคมีในการเพาะปลูกทุกชนิด ห้ามใช้ภาชนะที่ขนส่งร่วมกับผลผลิตทางการเกษตรที่ใช้สารเคมี ห้ามเผาตอซังและอินทรียวัตถุในแปลงเกษตรอินทรีย์ที่ขอรับรอง แปลงเกษตรอินทรีย์ต้องแยกออกจากแปลงเคมีอย่างชัดเจนอย่างน้อยระยะห่าง 3 เมตร เกษตรกรควรปลูกข้าว ผัก ผลไม้ สมุนไพร ไว้บริโภคในครัวเรือนร่วมด้วย เป็นต้น

พื้นที่สะลาวะ-ไล่โว่เป็นกลุ่มบ้านที่ส่งออกเมล็ดกาแฟมากที่สุดในอำเภอสังขละบุรี แต่ปัญหาที่มีมาตลอดคือการเก็บเมล็ดกาแฟแบบไม่เลือกคือการรูดทีเดียวทั้งช่อ ทำให้ราคาของผลผลิตลดต่ำลง พี่โบว์กล่าวว่าเดิมที ที่นี่จะขายเมล็ดกาแฟเป็นปี๊บ ปี๊บละ 8 กิโลกรัม ในราคา 120 บาท ทุกวันนี้ขยับมาเป็น 180-220 บาทต่อปี๊บ ภายในระยะเวลา 3-5 ปี หากเทียบกับเมื่อก่อนแล้วก็ถือว่าดีขึ้น

“วิถีของคนกะเหรี่ยงคือไม่ชอบอะไรที่มันยุ่งยาก แต่ว่าเราขอให้เขาค่อย ๆ เปลี่ยน ค่อย ๆ ปรับ ถ้าเกิดเขายอมเสียเวลาสักนิดหนึ่ง ไหน ๆ ก็เก็บเมล็ดกาแฟแล้ว เราจะมีการเปรียบเทียบเล็ก ๆ เช่น ถ้าขายเป็นปี๊บเขาจะได้ราคาทั้งปีเท่าไหร่ ถ้าเกิดเขายอมพิถีพิถันมากขึ้นเขาจะได้ราคาเพิ่มขึ้นเท่าไหร่

จากการคำนวณคร่าว ๆ ถ้าเป็นกาแฟแบบที่ยังไม่ได้สีเปลือกเขาจะได้กำไรไม่ต่ำกว่า 20 บาทต่อกิโลกรัม กาแฟที่นี่เขาไม่ต้องลงทุนอะไรเลย ไม่ใส่ปุ๋ย ไม่ต้องทำระบบน้ำ ไม่ใช้ยาฆ่าหญ้า หรือค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่นอกเหนือจากการเก็บผลผลิตเลย เราเน้นหนักจริง ๆ คือผู้รับซื้อที่ต้องคิดเรื่องค่าน้ำมัน ส่วนกาแฟที่สีเปลือกแล้วนำมาขายให้กับกลุ่ม เขาจะได้กำไร 50 บาทต่อกิโลกรัม ขึ้นอยู่กับเขาว่าจะขยันมากน้อยแค่ไหน” พี่โบว์กล่าว

วริสสา โพธิ์พันธุ์ จากสำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอสังขละบุรี
(ซ้ายไปขวา) มนตรี กุลชรมณี เจ้าหน้าที่ภาคสนาม จ.กาญจนบุรี ณรงค์ศักดิ์ มาลีศรีโสภา เจ้าหน้าที่ส่งเสริมงานกาแฟ วริสสา โพธิ์พันธุ์ นักพัฒนาชุมชน สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอสังขละบุรี

จากศูนย์แต่ยังไม่ถึงร้อย เมื่อแสงของเช้าวันใหม่บอกให้เราต้องทำงานต่อไป

พระอาทิตย์เริ่มตกดิน แสงสว่างถูกแทนที่ด้วยความมืด ไม่นานนักแสงจากหลอดไฟดวงเล็ก  ๆ ก็ถูกเปิดขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่ในยามค่ำคืน ที่นี่ใช้ไฟฟ้าจากแผงโซลาร์เซลที่ติดตั้งอยู่ใกล้ตัวบ้าน จึงไม่แปลกหากคุณจะเห็นภาพที่ทุกคนนั่งมุงกันหน้าทีวีระหว่างรออาหารค่ำ เมื่อผู้เขียนเดินขึ้นไปบนบ้านอีกครั้งก็พบว่าจอโทรทัศน์ดับไปแล้ว ผู้ใหญ่หล่องบอกว่า “ดูได้แปบเดียว เดี๋ยวไม่มีไฟฟ้าใช้” ทุกคนในบ้านต่างทราบกันดีว่าไฟฟ้าที่นี่มีอย่างจำกัด ไม่มีใครโอดครวญใด ๆ แต่กลับมุ่งหน้าไปยังห้องครัวเพื่อเติมพลังและเตรียมพักผ่อนสำหรับการเดินทางในวันพรุ่งนี้ต่อ

แสงพระอาทิตย์สาดหน้า เป็นสัญญาณที่บอกเราว่าวันใหม่กำลังเริ่มต้นขึ้นแล้ว หลังจากที่ทานอาหารเช้ากันเสร็จเรียบร้อย ทุกคนก็เตรียมเก็บสัมภาระขึ้นรถกระบะคันเดิมเพื่อเดินทางไปยังบ้านไล่โว่ที่ห่างเพียง 5 กิโลเมตร แต่ต้องใช้เวลาเดินทางเกือบ 2 ชั่วโมง  ส่วนภารกิจในวันนี้ไม่ได้ต่างจากเมื่อวานมากนัก เพราะทั้งสองกลุ่มบ้านใช้หลักเกณฑ์การประเมินแบบเดียวกัน ไล่โว่มีแปลงสมาชิกที่ต้องไปตรวจเพียง 6 แปลง จึงใช้เวลาไม่มากนัก เดินตรวจเพียงครึ่งวันก็ครบหมดทุกแปลงแล้ว ที่เหลือหลังจากนี้พี่โบว์และพี่ ๆ จากสำนักงานเกษตรอำเภอฯ จะเก็บผลผลิตตัวอย่างไปส่งตรวจที่แล็บ เพื่อตรวจดูว่ามีการใช้สารเคมีหรือไม่ หากทุกอย่างเรียบร้อยแล้วทางคณะทำงานระดับจังหวัด จะเข้าไปสุ่มตรวจแปลงเกษตรกรอีกครั้ง เพื่อประเมินและให้การรับรองมาตรฐาน PGS ต่อไป

เมื่อไหร่ที่กาแฟไล่โว่ได้รับการรับรองมาตรฐาน PGS แล้ว โอกาสในการส่งออกเมล็ดกาแฟของชาวบ้านในพื้นที่ก็มีมากขึ้น นั่นหมายถึงรายได้ และคุณภาพชีวิตของพวกเขาจะดีขึ้นไปด้วย แต่วันนี้งานของพี่ปลาน้อยและพี่โบว์ยังคงต้องดำเนินต่อไปเรื่อย ๆ จนกว่าชาวบ้านจะสามารถยืนได้ด้วยตัวเอง พร้อม ๆ ไปกับการรักษาผืนป่าแห่งนี้ไว้

 


บทความ นูรซาลบียะห์ เซ็ง เจ้าหน้าที่ฝ่ายสื่อสารองค์กร มูลนิธิสืบนาคะเสถียร
ภาพประกอบ ณัฐพล สุวรรณภักดี เจ้าหน้าที่ฝ่ายระดมทุน มูลนิธิสืบนาคะเสถียร