‘เสือปลา’ แห่งเขาสามร้อยยอด การดำรงอยู่อย่างพึ่งพิงระหว่างคนกับสัตว์ป่า

‘เสือปลา’ แห่งเขาสามร้อยยอด การดำรงอยู่อย่างพึ่งพิงระหว่างคนกับสัตว์ป่า

ถ้ากล่าวถึงอุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอดแล้ว เราจะนึกถึงสิ่งใดเป็นอันดับแรก ?

นักวิชาการสิ่งแวดล้อมอาจนึกถึงสังคมพืชที่พบในพรุน้ำจืด นิเวศป่าชายเลน ป่าชุ่มน้ำ อุทยานแห่งชาติทางทะเลแห่งแรก หรืออุทยานแห่งชาติลำดับที่ 4 ของไทย

นักธรณีวิทยาคงนึกถึงเขาหินปูนยุคเพอร์เมียนอายุกว่า 200 ล้านปี ที่มีความสูงชันริมชายฝั่ง 

ส่วนนักเดินทางสายธรรมชาติคงนึกชื่นชมความงามของทุ่งบัวบาน ภาพถ่ายยามอาทิตย์อัสดงสาดแสงผ่านร่องถ้ำเขาจูบกัน

แต่ถ้าเป็นนักดูนกคงฝันถึงการโยกย้ายปีกของวิหคนับร้อยชนิด

ใครใคร่นึกถึงสิ่งใดก็คงต้องว่าไปตามความสนใจ 

จินตภาพของแต่ละคนอาจแตกต่างแยกห่างกันไป แต่สุดท้ายทุกเรื่องราวต่างล้วนบรรจบในสิ่งเดียวกันบนสายใยความสัมพันธ์ของระบบนิเวศ

เพราะสิ่งนั้นมี สิ่งนี้จึงมี

ดังเช่นความสัมพันธ์ระหว่าง ‘เสือปลา’ กับวิถีชีวิตผู้คนรอบๆ เขาสามร้อยยอด 

เสือปลาเดินผ่านกล้องดักถ่ายภาพที่ติดตั้งไว้บริเวณบ้านเกาะไผ่

ที่บ้านเกาะไผ่ ซึ่งอยู่ติดกับอุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด จ.ประจวบคีรีขันธ์ เป็นชุมชนอีกแห่งที่ชาวบ้านต่างรู้จักมักคุ้นกับเสือปลาเป็นอย่างดี 

บางคนเคยพบเห็นตัวมาก่อน บางคนอาจเคยฟังจากเรื่องเล่า หรือบางคนอาจมีประสบการณ์ถูก ‘แมวนักตกปลา’ ขโมยปลาจากลอบที่ตั้งดักไว้ในลำคลอง

แต่ไม่ว่าจะเคยหรือไม่เคยพบอย่างไร การมีอยู่ของเสือปลาก็ดูจะเป็นเรื่องที่ไม่ค่อยมีใครใส่ใจมากนัก – หรือกล่าวได้ว่าต่างคนต่างสัตว์ก็ต่างอยู่กันไปไม่ข้องแวะต่อกัน

เสือปลาอาจลักเล็กขโมยน้อยเอาปลาเอาอะไรไปกินบ้าง แต่ก็เป็นแค่เรื่องเศษเล็กเศษน้อย ไม่ได้เอามาคิดให้กลุ้มใจถึงขั้นต้องตั้งเวรยามคอยเฝ้าระวังเหมือนปัญหาช้างป่า ที่เริ่มจะมองหน้ากันไม่ติดในบางพื้นที่ของประเทศ

โดยพื้นเพชุมชนบ้านเกาะไผ่ ผู้คนส่วนใหญ่หากไม่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมทำนาก็จะทำประมงบ่อกุ้งบ่อปลา และมักทำควบคู่ไปกับทำธุรกิจบริการพาล่องเรือชมบึงบัวในอุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด ซึ่งทำกำไรได้มากในช่วงปลายปีที่บัวบานเป็นสีชมพูทั่วบึง

แต่จุดแข็งด้านอาชีพจริงๆ เป็นการรวมตัวจัดตั้งวิสาหกิจชุมชนในนาม ‘กลุ่มวิสาหกิจชุมชน บ้านเกาะไผ่ วิสาหกิจปลาแปรรูป’ พัฒนายกระดับสินค้าท้องถิ่นร่วมกันอย่างเป็นระบบ มีรูปธรรมที่จับต้องได้ เช่น ในเรื่องการเงิน การบริหารรายได้อย่างเท่าเทียม

หนึ่งในผลิตภัณฑ์เด่นของกลุ่ม คือ ปลาสลิดตากแห้ง ที่นอกจากเรื่องคุณภาพทางรสชาติ ยังเป็นการผลิตตามฤดูกาล จับจากลำคลองธรรมชาติ วางลอบทิ้งไว้แล้วค่อยกลับมาดู ไม่ได้ขุดบ่อเทซีเมนต์เลี้ยงเป็นธุรกิจใหญ่โต ทำเท่าที่วัฏจักรวงจรชีวิตของปลาจะมอบให้

ณ จุดนี้ถือเป็นข้อดีอย่างหนึ่ง ตรงที่ไม่เป็นการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ให้แตกต่างไปจากเดิมมากนัก และไม่ถั่งโถมใช้งานทรัพยากรธรรมชาติเกินพอดี

เมื่อธรรมชาติเปลี่ยนน้อย สัตว์ป่าท้องถิ่นอย่าง ‘เสือปลา’ ก็ย่อมได้รับประโยชน์ตาม 

“ที่นี่ไม่มีใครทำอะไรเสือปลาหรอกครับ” 

พี่แดง สมคิด พ่วงแพ อดีตผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านชุมชนสามร้อยยอดอธิบายความสัมพันธ์ระหว่างชุมชนกับเสือปลา

“บางทีเสือปลาก็มาลักปลาสลิดไปกินบ้าง แต่ก็ไม่มีใครติดใจเอาความอะไร” แม้ฟังคล้ายการเสียผลประโยชน์ แต่พี่แดงยังเล่าด้วยใบหน้าเปื้อนยิ้ม

เหมือนอย่างที่กล่าวไป ปลาสลิดที่ขายนั้นจับได้ตามธรรมชาติ ไม่ได้เกิดจาดการลงทุนชนิดที่ว่าหากสินค้าหายไปหนึ่งชิ้นแล้วจะขาดทุนย่อยยับแต่อย่างใด

หรือในฝั่งคนที่ลงทุนขุดบ่อเลี้ยงปลาเอง ก็รู้สึกไม่ต่างกัน 

เสือปลาอาจโผล่มากินปลาสักตัวสองตัวแล้วเขาก็ไป ไม่ได้แวะเวียนเข้ามาอย่างลูกค้าประจำ ออกแนวขาจรที่นานๆ จะผ่านมาทีเสียมากกว่า

ตัวของพี่แดง หลังจากหมดหน้าที่ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านแล้ว ปัจจุบันก็หันมาประกอบอาชีพธุรกิจพานักท่องเที่ยวล่องเรือชมความงดงามของบึงบัวเต็มตัว และกำลังพัฒนาอาชีพให้เป็นการท่องเที่ยวเชิงนิเวศมากกว่าการล่องเรือไปเป็นทีๆ 

จุดหนึ่งที่ทำให้พี่แดงสนใจแนวคิดนี้ เกิดจากประสบการณ์ที่ได้รับจากนักท่องเที่ยว 

หลายครั้งหลายครา คนมาใช้บริการมักเอ่ยถามถึงรายละเอียดของทัศนียภาพรอบตัว โดยเฉพาะนกชนิดต่างๆ ที่พี่แดงเองยอมรับว่าไม่มีความรู้เรื่องนี้สักเท่าไหร่ 

แต่พอจับสังเกตได้ว่านักท่องเที่ยวให้ความสนใจก็เริ่มหันมาศึกษาความรู้เรื่องนกเพิ่มเติม

“หากนักเที่ยวถามก็ต้องตอบได้ชัดเจน ก็จะเข้าคอนเส็ปต์การท่องเที่ยวเชิงระบบนิเวศขึ้นอีกระดับครับ” พี่แดงตอบอย่างเขินๆ แต่ก็แฝงด้วยอารมณ์ของความมุ่งมั่น

ขณะเดียวกันก็เริ่มมองถึงการนำ ‘เสือปลา’ เข้ามาเป็น ‘จุดขาย’ ใหม่ 

แม้เสือปลาจะไม่ใช่สัตว์ป่าที่คนทั่วไปรู้จักมักคุ้น แต่ด้วยความที่เขาสามร้อยยอดมีเสือปลาอาศัยอยู่ตามธรรมชาติมากที่สุดในประเทศไทย หรือในอีกด้านก็ยังพูดได้ว่าเป็นฐานที่มั่นสุดท้ายของการรักษาจำนวนประชากรที่เหลืออยู่ไม่ถึง 100 ตัว และไม่มีที่ไหนในประเทศพบเห็นเสือปลาไปมากกว่านี้อีกแล้ว ก็พอจะเป็นเรื่องเป็นราวให้เล่าได้เหมือนกัน

เว้นเสียแต่… ครั้นจะเพิ่มรายการเป็นการล่องเรือชมเสือปลาก็คงจะเป็นงานยากไปเสียหน่อย 

แม้เส้นทางล่องเรือชมบึงบัวจะผ่านถิ่นที่อยู่ของเสือปลา แต่ก็ใช่จะมองเห็นตัวกันง่ายๆ นักล่าแห่งพื้นที่ชุ่มน้ำนั้นขี้อายมากกว่ากระทิงที่เขาแผงม้า หรือช้างป่าที่เขาใหญ่

เผลอๆ การรอชมนกยูงบริเวณที่ทำการอุทยานแม่วงก์หรือห้วยขาแข้งยังจะมีโอกาสเจอมากกว่าเสียอีก

ในอดีตการพบเห็นเสือปลาในท้องถิ่นอาจเป็นเรื่องง่าย แต่เมื่อเวลาผ่านไป การเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินได้คุกคามการดำรงอยู่ของชีวิตสัตว์จนลดจำนวนลง  – อะไรที่เคยหาได้ง่ายก็ไม่ง่ายอีกต่อไป

อีกทั้งเสือปลา (ที่เหลืออยู่) ก็คงปรับพฤติกรรมการหากินให้เหมาะสมต่อการดำรงชีวิตเสียใหม่ และเดาได้ไม่ยากว่าสิ่งมีชีวิตชนิดนี้คงกำลังหลบเลี่ยงที่จะปะทะกับวิถีชีวิตของผู้คนที่สร้างความเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของพวกมันอยู่

เมื่อเหตุและผลไม่เอื้ออำนวย ใช้วิธีนี้ไม่ได้ ก็ต้องมองหาวิธีใหม่แทน 

เมื่อปีที่ผ่านมา (พ.ศ. 2566) มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ได้ลงพื้นที่พูดคุยกับสมาชิกวิสาหกิจชุมชนของชุมชนบ้านเกาะไผ่ เพื่อหารือในแนวทางการอนุรักษ์เสือปลาอย่างมีส่วนร่วม

กิจกรรมนี้เป็นส่วนหนึ่งของ ‘ส่งเสริมการอนุรักษ์เสือปลา โดยกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชน รอบพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด’ ดำเนินงานร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด แพนเทอราประเทศไทย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (บางขุนเทียน)

ในบทบาทของมูลนิธิสืบนาคะเสถียร มีหน้าที่ชักชวนชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการอนุรักษ์เสือปลาผ่านแผนงาน ‘สร้างความตระหนักรู้ ให้ชุมชนเห็นความสำคัญของเสือปลา’ มีกลุ่มเป้าหมายทั้งกับเยาวชนคนรุ่นใหม่และผู้ใหญ่

โดยหนึ่งกลุ่มที่มูลนิธิสืบนาคะเสถียรเห็นว่ามีความสำคัญต่อการสร้างการมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์คือกลุ่มวิสาหกิจชุมชน บ้านเกาะไผ่ วิสาหกิจปลาแปรรูป เพราะถือเป็นอีกกลุ่มที่มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรงกับเสือปลา จากการโดนขโมยปลาอยู่บ่อยๆ

และถึงจะไม่ถือโทษโกรธกัน แต่ถ้าเชื่อมสัมพันธ์และญาติดีกันไว้ก่อนก็น่าจะดีกว่า

มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ได้พบปะพูดคุยกับกลุ่มวิสาหกิจชุมชน แลกเปลี่ยนความรู้เรื่องเสือปลา ไถ่ถามสารทุกข์สุกดิบ ตลอดจนเรื่องการตลาดของกลุ่ม ได้ความว่า ที่ผ่านมาทำการค้าขายกันแบบง่ายๆ ไม่ได้สร้างแบรนด์หรือประชาสัมพันธ์กันจริงจังมากนัก

อาศัยขายกลุ่มนักท่องเที่ยวที่ผ่านมาเที่ยวเขาสามร้อยยอด หรือไม่ก็กลุ่มที่มาล่องเรือชมบัว

ภัสราภรณ์ ล้อประกานต์สิทธิ์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายวิชาการ มูลนิธิสืบนาคะเสถียร และผู้ประสานงานโครงการส่งเสริมการอนุรักษ์เสือปลาฯ อธิบายว่า จากการหารือกับชุมชนหลายครั้งหลายครา ก็มาจบที่ไอเดียการเพิ่มมูลค่าสินค้าของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนโดยนำ ‘เสือปลา’ มาใช้เป็นจุดขาย แทนสัญลักษณ์ของแบรนด์สินค้า

ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากชุมชน และจบที่จะใช้ผลิตภัณฑ์ปลาสลิดตากแห้งมาขายร่วมกับเสือปลา เพราะจุดกำเนิดสินค้ามาจากการจับในแหล่งน้ำตามฤดูกาล ตั้งอยู่บนความสมดุลพอดี และเป็นมิตรกับถิ่นที่อยู่อาศัยของเสือปลา

โดยมูลนิธิสืบนาคะเสถียรรับเป็นผู้ออกแบบบรรจุภัณฑ์และผลิตให้ในช่วงเริ่มต้น หลังจากนี้ยอดขายที่ตามมาจะเป็นทุนให้กับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนนำไปต่อยอดผลิตภัณฑ์เดิมและเพิ่มมูลค่าไปยังผลิตภัณฑ์อื่นๆ ของกลุ่ม 

หรือหากชุมชนจะเอาเรื่องของเสือปลาไปปรับใช้กับผลิตภัณฑ์อื่นๆ ได้ก็ดี

ภัสราภรณ์ อธิบายต่อถึงการนำเสือปลามาใช้เป็นสัญลักษณ์จะเป็นการสร้างจุดเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างชุมชนกับเสือปลา ต่างที่เคยต่างคนต่างอยู่ก็จะมาเห็นความสำคัญของสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่รอบๆ ชุมชนมากขึ้น 

ขณะเดียวกันภาพของเสือปลาที่อยู่บนบรรจุภัณฑ์ก็จะสื่อสารไปยังผู้ซื้อ เพื่อให้รู้จักและเห็นถึงการมีอยู่ของสิ่งมีชีวิตใกล้สูญพันธุ์ชนิดนี้ไปพร้อมๆ กัน

เป็นการพึ่งพิงกันอย่างไม่เอารัดเอาเปรียบ หรือเอาประโยชน์แต่เพียงฝ่ายเดียว

สำหรับบรรจุภัณฑ์ ‘ปลาสลิด ผลิตภัณฑ์อนุรักษ์เสือปลา’ มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ได้ดำเนินการออกแบบ ผลิต และส่งมอบให้กับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนไปเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ซึ่งตรงกับวัน ‘พื้นที่ชุ่มน้ำโลก’ ซึ่งเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของเสือปลา เป็นที่เรียบร้อย

สำหรับผู้สนใจ ‘ปลาสลิด ผลิตภัณฑ์อนุรักษ์เสือปลา’ สามารถติดตามรายละเอียดสินค้าได้ทางเฟซบุ๊กท่าเรือชมทุ่ง เกาะไผ่แคมป์ปิ้ง 

การเชื่อมโยงเสือปลาเข้ากับวิถีชีวิตและการประกอบอาชีพของชุมชน เป็นเพียงส่วนหนึ่งของกิจกรรมในโครงการส่งเสริมการอนุรักษ์เสือปลา โดยกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชน รอบพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด 

ซึ่งนอกเหนือจากกิจกรรมสนับสนุนวิสาหกิจชุมชน ยังมีกิจกรรมสร้างความตระหนักรู้อื่นๆ เช่นการทำงานร่วมกับเยาวชนในพื้นที่ให้เกิดความตระหนักรู้ถึงความสำคัญของเสือปลา การสร้างศูนย์เรียนรู้เรื่องเสือปลาในพื้นที่ รวมถึงการทำงานร่วมกับชุมชนแห่งอื่นๆ ที่มีเสือปลาอยู่ข้างเคียงหรือเข้ามาใช้ประโยชน์ในถิ่นที่อยู่อาศัยของคน

ด้วยเป้าหมายสูงสุด คือ คนอยู่ได้ เสือปลาก็อยู่ได้

เป็นความสัมพันธ์ของการดำรงอยู่อย่างพึ่งพิงระหว่างคนกับสัตว์ป่า

หมายเหตุ โครงการส่งเสริมการอนุรักษ์เสือปลาโดยกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนรอบพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด เริ่มดำเนินการตั้งแต่กันยายน 2565 ถึง 31 สิงหาคม 2568

อ้างอิง

ผู้เขียน

Website | + posts

ทำงานอิสระที่เกี่ยวข้องกับหนังสือ การเขียน เรื่องสิ่งแวดล้อมและดนตรีนอกกระแส - เวลาส่วนใหญ่ของชีวิตใช้ไปกับการนั่งมองความเคลื่อนไหวของใบไม้และสายลม