มูลนิธิสืบนาคะเสถียร งานอนุรักษ์ผืนป่า สัตว์ป่า 

มูลนิธิสืบนาคะเสถียร งานอนุรักษ์ผืนป่า สัตว์ป่า 

พ.ศ.2533 – 2540

ก่อตั้งมูลนิธิ เพื่อสืบสานเจตนา สืบ นาคะเสถียร ในป่าห้วยขาแข้งและทุ่ง-ใหญ่นเรศวร

ผลงานที่ชัดเจนของมูลนิธิสืบนาคะเสถียรในช่วงแรกของการก่อตั้งมูลนิธิหลังการจากไปของคุณสืบ คือการสร้างอาคารอนุสรณ์สถานสืบนาคะเสถียรและรูปปั้นเพื่อเป็นอนุสาวรีย์สืบนาคะเสถียร โดยการประสานงานการระดมทุน และก่อสร้างแล้วเสร็จสมบูรณ์ในปี 2536 ใช้เงินก่อสร้างกว่า 3 ล้านบาท รวมถึงประสานการสนับสนุนอุปกรณ์ที่จำเป็นอื่นๆ ให้กับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง เช่น สถานีวิทยุแม่ข่ายผืนป่าตะวันตก (ตั้งบริเวณหน่วยพิทักษ์ป่าห้วยยู่ยี่) 

ในช่วงต้นมีการดำเนินกิจกรรมกับชุมชนบริเวณแนวขอบป่าห้วยขาแข้ง ทำกิจกรรมการจัดอบรมและการปฏิบัติงานสิ่งแวดล้อมศึกษา ฯลฯ

นอกจากนี้ ยังได้สนับสนุนงบประมาณการดำเนินงานให้เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งและเขต รักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร สถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ และพื้นที่อนุรักษ์อื่นๆ อย่างต่อเนื่องด้วยงบประมาณ ทั้งสิ้นเกือบ 6 ล้านบาท ตลอดจนการเริ่มจัดตั้งกองทุนเพื่อผู้พิทักษ์ป่าซึ่งได้จัดสรรเงินให้ความช่วยเหลือแก่เจ้าหน้าที่ที่ได้รับบาดเจ็บ พิการ หรือเสียชีวิต ในการปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งเป็นส่วนที่ราชการไม่อาจให้ความช่วยเหลือได้ รวมถึงครอบครัวของผู้เสียชีวิตในการสนับสนุนทุนการศึกษาอย่างต่อเนื่องจนกระทั่งบุตรธิดาเรียนจบการศึกษา ซึ่งได้ทำต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน และได้ช่วยเหลือไปแล้วกว่า 200 นาย

อนึ่ง นับแต่เริ่มก่อตั้งมูลนิธิสืบนาคะเสถียรได้ร่วมกิจกรรมกับองค์กรพันธมิตรและเครือข่ายอนุรักษ์ต่างๆ ตลอดจนดำเนินกิจกรรมเผยแพร่ความรู้เรื่องการอนุรักษ์ป่าไม้และสัตว์ป่าที่สำคัญ คือการร่วมมือกับเครือข่าย องค์กรสิ่งแวดล้อมผลักดันให้เกิดการประชุมเวทีเครือข่ายสิ่งแวดล้อมแห่งชาติอันเป็นเวทีทางสิ่งแวดล้อมระดับชาติที่สำคัญที่สุดในช่วงทศวรรษนั้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงสนับสนุนทุนวิจัยให้กับโครงการวิจัยสัตว์ป่าหลายโครงการ พันธกิจ ประการสำคัญนับแต่ปี 2534 เป็นต้นมา คือ การจัดงานรำลึกเหตุการณ์ 1 กันยายน วันสืบ นาคะเสถียร ในรูปแบบต่างๆ และการจัดงานทำบุญอุทิศส่วนกุศลแด่ดวงวิญญาณของ คุณสืบ นาคะเสถียร เป็นประจำทุกปี

รูปปั้น สืบ นาคะเสถียร ปั้นโดย อาจารย์เสวต เทศน์ธรรม
การก่อสร้างอาคารอนุสรณ์สถานสืบนาคะเสถียร

พ.ศ. 2541 – 25461

ขยายการทำงานสู่ผืนป่าตะวันตก

ในช่วงปี 2541 เป็นต้นมา มูลนิธิสืบนาคะเสถียร เปลี่ยนโยบายจากสนับสนุนงบประมาณการ ดำเนินงานตรงต่อพื้นที่อนุรักษ์ต่างๆ มาเป็นการก่อตั้งกองทุนป่าตะวันตกเพื่อสนับสนุนแนวคิด สืบ นาคะเสถียร ในการรักษาผืนป่าทุ่งใหญ่และห้วยขาแข้งที่มีความจำเป็นต้องรักษาผืนป่าโดยรอบไว้ด้วย

การดำเนินกิจกรรมในช่วงแรกนี้จึงเป็นการสร้างความเข้าใจและความร่วมมือในการอนุรักษ์เชิงผืนป่า ทั้งหัวหน้าหน่วยงานอนุรักษ์ พนักงานพิทักษ์ป่า และประชาสังคมโดยรอบผืนป่าทั้ง 6 จังหวัด

ต่อมาได้ร่วมกับกรมป่าไม้พัฒนาเป็นโครงการจัดการผืนป่าตะวันตกเชิงระบบนิเวศขึ้น และผลักดันให้ได้รับการสนับสนุนโครงการระยะยาวจากประเทศเดนมาร์ก ทำให้เกิดผลงานการสำรวจข้อมูลเชิงนิเวศอย่างเป็นระบบทั่วทั้งผืนป่าตะวันตก นำไปสู่แนวคิดการจัดการพื้นที่ในลักษณะผืนป่าใหญ่ (Forest Complex) และการร่วมกิจกรรมการฝึกอบรมเสริมศักยภาพเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าในผืนป่าตะวันตกอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ มูลนิธิสืบนาคะเสถียรได้ทำการพัฒนาโครงการเสนอขอรับการสนับสนุนการทำงานโครงการร่วมรักษาผืนป่าตะวันตกจากรัฐบาลเดนมาร์ก ในโปรแกรมการจัดการพื้นที่คุ้มครองอย่างมีส่วนร่วม เพื่อรับภารกิจการทำงานกับภาคประชาสังคมในพื้นที่รอบป่าตะวันตก 6 จังหวัด และทำงานหนุนเสริมชุมชนในพื้นที่อนุรักษ์ให้มีวิถีชีวิตและมีข้อตกลงที่สามารถอยู่ร่วมกับพื้นที่อนุรักษ์ได้

ผลงานที่เด่นชัดอีกประการหนึ่งของมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ได้แก่ การรณรงค์ทักท้วงโครงการที่จะมีผลกระทบต่อผืนป่า สัตว์ป่า แหล่งธรรมชาติ และสิทธิชุมชน โครงการสำคัญที่มูลนิธิสืบนาคะเสถียรร่วมในการคัดค้าน ได้แก่ โครงการก่อสร้างท่อก๊าซไทย-พม่า ผ่านป่าทองผาภูมิ การบุกรุกอุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด การสร้างเขื่อนแม่วงก์ในอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ ผลกระทบจากเหมืองแร่บริเวณทุ่งใหญ่นเรศวรและผืนป่าโดยรอบ การก่อสร้างบ้านพัก กลางป่าห้วยขาแข้งบริเวณเขาบันได โครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าในพื้นที่ชายฝั่งทะเลที่อุดมสมบูรณ์กรณีบ่อนอก-บ้านกรูด โครงการเหมืองแร่โปแตช และพระราชบัญญัติแร่ฉบับเหมืองใต้ดิน

ในขณะเดียวกันมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ยังคงสนับสนุนเงินช่วยเหลือเจ้าหน้าที่จากกองทุนผู้พิทักษ์ป่าอย่างต่อเนื่อง จัดโครงการสิ่งแวดล้อมศึกษาให้กับครูและนักเรียน ตลอดจนชุมชนโดยรอบผืนป่าตะวันตก 

นอกจากนี้ ยังจัดทำสื่อความหมายธรรมชาติและเอกสารวิชาการเกี่ยวกับป่าตะวันตกเพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณชน รวมถึงการจัดงานทำบุญ และกิจกรรมรำลึก สืบ นาคะเสถียร เป็นประจำทุกปี โดยมีวัตถุประสงค์การเผยแพร่แนวคิดและรำลึกเหตุการณ์ 1 กันยายน มูลนิธิสืบนาคะเสถียร จัดกิจกรรมรำลึก สืบ นาคะเสถียร ในวาระครบรอบ 10 ปี การจากไปของ คุณสืบ นาคะเสถียร ทั้งในการประชุมวิชาการ การจัดงานแสดงนิทรรศการ และดนตรีอย่างเต็มรูปแบบ

พ.ศ. 2547 – 2558

ช่วงของงานมีส่วนร่วม ท่ามกลางการเฝ้าระวังทรัพยากรถูกคุกคามอย่างรุนแรง

ในปี 2547 – 2550 เป็นช่วงสำคัญยิ่งของการเปลี่ยนแปลงแนวทางการทำงานของมูลนิธิสืบฯ ที่มี บทบาทเฉพาะในการสนับสนุนการทำงานให้พื้นที่อนุรักษ์ เครือข่าย และรณรงค์เชิงนโยบายในส่วนกลาง เปลี่ยนมาทำงานภาคสนามในโครงการจัดการพื้นที่คุ้มครองอย่างมีส่วนร่วม (โครงการจอมป่า)2 ในพื้นที่ชุมชน โดยการ สนับสนุนงบประมาณจากกองทุน DANIDA ประเทศเดนมาร์ก3 ระหว่างปี 2547 – 2553 ต่อมาได้ขอรับการสนับสนุน การดำเนินโครงการต่อจากกลุ่มบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และธนาคารไทยพาณิชย์จำกัด (มหาชน) ร่วมกับ สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ โดยผลการปฏิบัติงานสามารถผลักดันให้เกิดการสำรวจแนวเขตพื้นที่ใช้ ประโยชน์ชุมชนอย่างมีส่วนร่วม ระหว่างชุมชนและเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าในพื้นที่อนุรักษ์ได้ถึง 131 ชุมชน มีการตั้งคณะกรรมการชุมชนขึ้นมาช่วยดูแลและฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ ภายใต้ข้อตกลงร่วมกันระหว่างพื้นที่คุ้มครองกับชุมชน โดยมีการเดินลาดตระเวนดูแลพื้นที่สม่ำเสมอ มีการหนุนเสริมวิถีชีวิตที่เป็นมิตรกับผืนป่าโดยสนับสนุนให้เกิดบ้านเรียนรู้เพื่อเป็นต้นแบบให้กับชาวชุมชนในผืนป่า 34 แห่ง และจัดตั้งศูนย์เรียนรู้สำหรับใช้เป็นสถานที่ดูงานและฝึกอบรมรวม 10 แห่ง ส่งผลให้สามารถลดความขัดแย้งและลดการบุกรุกพื้นที่ป่าในระดับพื้นที่ได้อย่างน่าพอใจ 

ปัจจุบันการดำเนินกิจกรรมดังกล่าวได้รับการยอมรับจากระดับนโยบายให้เป็นต้นแบบการจัดการชุมชนในพื้นที่ อนุรักษ์ สำหรับชุมชนที่ประชิดขอบผืนป่า 154 ชุมชน ได้ร่วมกับกรมป่าไม้จัดตั้งป่าชุมชนเพื่อให้ชุมชนมีส่วนร่วมใน การบริหารจัดการพื้นที่ภายใต้แนวคิด ‘กู้ป่ารักษาชุมชน’ และเป็นแนวรั้วมนุษย์ที่เฝ้าระวังรักษาทรัพยากรในระดับท้องถิ่น ซึ่งส่งผลดีต่อการป้องกันและลดการใช้ทรัพยากรในผืนป่าใหญ่ ภายใต้ชื่อโครงการ ‘ป่าชุมชน 30 ป่า รักษาทุกโรค’ ในพื้นที่รอบๆ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ต่อมาได้ขยายพื้นที่ดำเนินการเป็น 64 ป่าชุมชนในปี 2550 และขยาย การดำเนินงานทั้งผืนป่าตะวันตก 154 ชุมชนในปี 2553

ภายใต้โครงการจอมป่า มูลนิธิสืบนาคะเสถียรยังรับประสานงานให้เกิดกระบวนการทำงานของภาคประชาสังคม ของบุคลากรในสาขาอาชีพต่างๆ ที่มีความสนใจในงานอนุรักษ์ผืนป่าตะวันตกร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ภายใต้ชื่อ ‘คณะกรรมการอนุรักษ์ผืนป่าตะวันตก (กอต.) 6 จังหวัด’ ในระหว่างปี 2547 – 2549 คณะกรรมการดังกล่าวได้ดำเนินกิจกรรมหลายประการร่วมกับมูลนิธิสืบนาคะเสถียรเพื่อดูแลทรัพยากรธรรมชาติของผืนป่าตะวันตก อาทิ ร่วมยับยั้งการตัดถนนคลองลาน-อุ้มผาง ขอให้ยกเลิกการสร้างถนนผ่านป่าทุ่งใหญ่นเรศวร คัดค้านการสร้างเขื่อนแม่วงก์ และงานประสานความร่วมมือในการดูแลทรัพยากรร่วมกับชุมชนหลายโครงการ ต่อมาคณะกรรมการดังกล่าวรวมตัวกันจัดตั้งมูลนิธิเครือข่ายอนุรักษ์ผืนป่าตะวันตก (มอต.) และเป็นพันธมิตรสำคัญที่ทำงานร่วมกับมูลนิธิสืบนาคะเสถียร

โครงการจอมป่า หรือโครงการจัดการพื้นที่คุ้มครองอย่างมีส่วนร่วม

นอกจากการทำงานร่วมกับภาคประชาสังคมและชุมชนดังที่กล่าวแล้ว มูลนิธิสืบนาคะเสถียรยังมีเครือข่ายการทำงานกับองค์กรอนุรักษ์อย่างสม่ำเสมอที่สำคัญ ได้แก่ ร่วมเป็นคณะทำงานเวทีสิ่งแวดล้อมระดับชาติใน ปี 2547 และ 2548 การจัดสัมมนาเรื่องผลกระทบสิ่งแวดล้อมจากยุทธศาสตร์การพัฒนากลุ่มจังหวัด การจัดสัมมนาเรื่องมอเตอร์เวย์ผ่านอ่าวไทย การจัดสัมมนาห้องสิ่งแวดล้อมในหัวข้อการอยู่เย็นเป็นสุขในเวทีสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ เป็นต้น

ในพื้นที่นอกป่าตะวันตก มูลนิธิสืบนาคะเสถียรได้ริเริ่มโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมและถิ่นที่อยู่ของนกตะกรุม ซึ่งปัจจุบันเป็นนกใกล้สูญพันธุ์จากประเทศไทยที่เกาะพระทอง จังหวัดพังงา มาตั้งแต่ ปี 2546 จนกระทั่งปัจจุบันมีการประกาศให้พื้นที่เกาะพระทองเป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะระ-เกาะพระทอง และชุมชนมีข้อตกลงร่วมกันในการ รักษาพื้นที่ให้เป็นแหล่งที่อยู่ของนกตะกรุม

อย่างไรก็ตามในช่วงเวลาที่ผ่านมาเป็นช่วงที่มีโครงการพัฒนาของภาครัฐและเอกชนที่จะมีผลกระทบต่อผืนป่าตะวันตกเกิดขึ้นอย่างมากมาย มูลนิธิสืบนาคะเสถียรนับว่าเป็นองค์กรหลักในการเฝ้าระวังโครงการเหล่านั้น ได้แก่ โครงการตัดถนนผ่านป่าสายคลองลาน-อุ้มผาง ถนนสายที่ตัดผ่านทุ่งใหญ่นเรศวรจากสังขละบุรี-อุ้มผาง โครงการขุดอุโมงค์ส่งน้ำจากเขื่อนศรีนครินทร์ไปยังจังหวัดอุทัยธานีผ่านป่าอุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์และอุทยานแห่งชาติพุเตย การต่ออายุใบอนุญาตใช้พื้นที่ป่าของเหมืองโมนิโก้ที่ต้องใช้เส้นทางขนส่งแร่ผ่านทุ่งใหญ่นเรศวร ทักท้วงการเปลี่ยนพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผางบริเวณน้ำตกทีลอซูเป็นอุทยานแห่งชาติ คัดค้าน (ร่าง) กฎหมายอุทยานแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฉบับใหม่ ซึ่งร่างสมัยรัฐบาลที่ผ่านมามีเนื้อหาเปิดโอกาสให้มีการเช่าที่ป่าทำ การท่องเที่ยวและเปิดประเทศไทยเป็นแหล่งค้าสัตว์ป่า (ต่อมามูลนิธิสืบนาคะเสถียรได้เข้าร่วมในการจัดทำร่าง พ.ร.บ.ทั้ง 2 ฉบับ รวมถึงร่วมเป็นกรรมาธิการพิจารณา จนพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า และพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ ได้รับการประกาศใช้ เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2562)

นอกจากนี้ มูลนิธิสืบนาคะเสถียรยังคัดค้านการสร้างถนนผ่านอุทยานแห่งชาติแก่งกรุงและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองยัน และการคัดค้านเขื่อนแม่วงก์ในอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ หลังจากเกิดอุทกภัยใหญ่ในปี 2554 เขื่อนแม่วงก์ถูกฟื้นโครงการขึ้นมาตามมติคณะรัฐมนตรีรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ภายใต้โครงการเพื่อการวางระบบบริหารจัดการ น้ำและสร้างอนาคตประเทศปี 2555 เป็นเหตุให้เกิดการเดินเท้า 388 กม. ของ อ.ศศิน เฉลิมลาภ และประชาชนเข้าร่วมนับหมื่นคนเพื่อคัดค้านการพิจารณา EHIA โครงการก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์ของคณะกรรมการผู้ชำนาญการ (คชก.) จนการพิจารณาได้ถูกระงับลง และมีการตั้งคณะกรรมการวิชาการขึ้นมาร่วมศึกษาข้อมูลด้านวิศวกรรมด้านเศรษฐกิจ และด้านสัตว์ป่าที่มีความเห็นสอดคล้องกันว่า EHIA ยังมีข้อบกพร่องและควรยุติโครงการก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์ (ปัจจุบัน ข้อเสนอการจัดการน้ำทางเลือก ที่มูลนิธิสืบฯ และเครือข่ายได้ร่วมเสนอในช่วงคัดค้านการพิจารณา EHIA ได้ ถูกนำมาพัฒนาและดำเนินการต่อในพื้นที่จากหน่วยงานท้องถิ่น ต่อมากรมชลประทานได้ถอน EHIA จากสำนัก นโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2560)

ประท้วงรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพโครงการเขื่อนแม่วงก์ที่สำนักนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม (สผ.)

นอกจากนี้ มูลนิธิสืบนาคะเสถียรยังร่วมกับเครือข่ายในการคัดค้านกิจกรรมและนโยบายที่ส่งผลกระทบต่อ ทรัพยากรธรรมชาติในประเทศ เช่น โครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินที่กระบี่ ฯลฯ จึงนับเป็นช่วงสมัยที่มีนโยบายและโครงการที่ส่งผลกระทบต่องานอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่ามากที่สุดและรุนแรงที่สุด รวมถึงการลดบทบาทการดำเนินกิจกรรมขององค์กรอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติเป็นจำนวนมากจากหลายปัจจัย

ในงานสวัสดิการเพื่อผู้พิทักษ์ป่าในช่วงที่ผ่านมา ยังคงสนับสนุนเงินช่วยเหลืออย่างสม่ำเสมอกับ ผู้บาดเจ็บเสียชีวิต และกองทุนเพื่อการศึกษาของบุตรผู้พิทักษ์ป่าที่เสียชีวิต โดยเฉพาะในปี 2558 มูลนิธิสืบฯ ร่วมกับ บริษัท ทีวีบูรพา จำกัด ดำเนินโครงการเพื่อผู้พิทักษ์เพื่อประชาสัมพันธ์การทำงานของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า และขอรับการสนับสนุนความช่วยเหลือจนประสบความสำเร็จ ทั้งการประชาสัมพันธ์และงบประมาณสนับสนุนเข้ากองทุนเพื่อผู้พิทักษ์ป่ากว่า 2 ล้านบาท 

สำหรับการจัดงานรำลึกเหตุการณ์ 1 กันยายน ของทุกปี มีการดำเนินกิจกรรมทั้งที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งที่มีการจัดกิจกรรมรณรงค์ให้ความรู้กับผู้สนใจทั่วไปได้เข้ามาร่วมกิจกรรม 500 – 1,000 คน การทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้ดวงวิญญาณคุณสืบ นาคะเสถียร การจัดนิทรรศการและการแสดงดนตรีสำหรับภาคเมือง มีการจัดงาน ‘จากป่าสู่เมือง’ ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เน้นการนำเรื่องราวในผืนป่าตะวันตก การทำงานอนุรักษ์ในประเทศไทย และสถานการณ์ป่าไม้ไทยมาถ่ายทอดให้สาธารณชนคนเมืองได้รับรู้ข้อมูล และเป็น ส่วนหนึ่งในการสนับสนุนงานอนุรักษ์โดยมีผู้ร่วมกิจกรรมปีละกว่า 5,000 คน

ส่วนงาน Social Network ของมูลนิธิสืบนาคะเสถียร มีการพัฒนางานมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในปี 2554 ที่เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ อ.ศศิน เฉลิมลาภ ได้นำเสนอข่าวและข้อมูลผ่านช่องทาง Social Network ของมูลนิธิสืบฯ และตนเอง จนเป็นผลให้สื่อของมูลนิธิสืบฯ ได้รับการยอมรับจากสาธารณชน และมีบทบาทสำคัญในการเผยแพร่ข้อมูลสื่อสารงานอนุรักษ์ผืนป่าและสัตว์ป่ากับสาธารณชนอันดับต้นๆ ของประเทศ 

ปัจจุบันมูลนิธิสืบใช้เว็บไซต์เป็นช่องทางการสื่อสารหลัก มีเฟซบุ๊กเป็นช่องทางที่จะทำให้สาธารณชนได้รับทราบข่าวสารและติดต่อกันได้อย่างรวดเร็ว มีอินสตาแกรมกับทวิตเตอร์เป็นสื่อทางเลือกของสังคม

กิจกรรมวางพวงหรีด รำลึก สืบ นาคะเสถียร

พ.ศ. 2559 – 2562

จากงานรูปธรรมในพื้นที่สู่การผลักดันเชิงนโยบาย

มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ยังคงติดตามและสนับสนุนการจัดการน้ำทางเลือก โดยทำงานร่วมกับองค์การบริหารส่วนตำบลลาดยาว ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณการดำเนินโครงการในพื้นที่จากรัฐบาลผ่านมูลนิธิอุทกพัฒน์ โดยศึกษาผลที่เกิดขึ้นในพื้นที่หลังจากมีการพัฒนาการจัดการน้ำทางเลือก ซึ่งเป็นการติดตามผลระยะยาว นั่นหมายถึงอนาคตรูปแบบการบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ จะมีความหลากหลายสามารถปรับใช้ให้เหมาะสมกับบริบทของพื้นที่ต่างๆ ในประเทศ แต่การติดตามเฝ้าระวังกิจกรรม นโยบาย ที่จะส่งผลกระทบต่อผืนป่าและสัตว์ป่ายังมีอย่างต่อเนื่อง เริ่มการคัดค้านการขยายเส้นทางสาย 12 ที่ผ่านอุทยานแห่งชาติน้ำหนาว โครงการถนนคลองลานไปอุ้มผาง โดย อ.ศศิน เฉลิมลาภ เข้าเป็นคณะกรรมการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า คณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ ซึ่งมี ส่วนสำคัญในการติดตาม เฝ้าระวังโครงการต่างๆ ที่จะดำเนินการในพื้นที่อนุรักษ์ได้เป็นอย่างดี

3 กุมภาพันธ์ 2561 เกิดเหตุการณ์ผู้มีชื่อเสียงในสังคมเข้าไปยิงเสือดำ ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก จนถูกจับกุมดำเนินคดีโดย หัวหน้าวิเชียร ชินวงษ์ และทีมเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า มูลนิธิสืบนาคะเสถียรนับเป็นองค์กรที่เข้าไปมีบทบาทสำคัญในการเผยแพร่ข้อมูลและการติดตามการดำเนินคดีจนเป็นปรากฏการณ์ที่สาธารณชนให้ความสำคัญ ร่วมกันกดดันด้วยมาตรการทางสังคมควบคู่ไปกับมาตรการทางกฎหมาย ปัจจุบันศาล อุทธรณ์ตัดสินยืนตามศาลชั้นต้นและเพิ่มโทษจากพฤติกรรมแห่งการล่าสัตว์ป่า

ยื่นแถลงการณ์กรณีล่าสัตว์ป่าในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก ต่อรองผบ.ตร

สำหรับการดำเนินงานในผืนป่าตะวันตก มูลนิธิสืบนาคะเสถียรร่วมกับกรมป่าไม้และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ดำเนินโครงการพัฒนางานอนุรักษ์ในผืนป่าตะวันตก เพื่อพัฒนาการทำงานในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ในการจัดทำข้อมูลพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติเพื่อการบริหารจัดการโดยใช้แนวเขตอำเภอเป็นแนวพื้นที่ พร้อมมีหัวหน้าหน่วยป้องกันและพัฒนาพื้นที่ป่าไม้มาทำหน้าที่รับผิดชอบครบทุกแห่ง สำหรับพื้นที่ป่าคงสภาพของป่าสงวนแห่งชาติที่ติดกับพื้นที่อนุรักษ์ ได้เสนอให้ผนวกรวมกับพื้นที่อนุรักษ์ ส่วนพื้นที่อนุรักษ์ กรมอุทยานแห่งชาติฯ สามารถผลักดันการแก้ไข ปัญหาการจัดทำแนวเขตพื้นที่ใช้ประโยชน์ของชุมชนในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ได้ครบทุกพื้นที่อนุรักษ์ของประเทศ และผลักดันการใช้ระบบลาดตระเวนเชิงคุณภาพในการป้องกัน ดูแล รักษาพื้นที่ป่าของกรมอุทยานฯ พร้อมดำเนินการทั่วประเทศ สิ่งสำคัญคือการนำรูปธรรมการแก้ไขปัญหาชุมชนในป่า ผลักดันสู่การปรับปรุงพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า และพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ จนมีการประกาศใช้เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2562

การดำเนินงานด้านองค์กรสื่อสารงานอนุรักษ์ สามารถจัดระบบการสื่อสารเผยแพร่สู่สาธารณชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ จนได้รับการยอมรับว่าเป็นสื่อด้านสิ่งแวดล้อมลำดับต้นของประเทศ งานระดมทุนและการ สนับสนุนการดำเนินงานต่างๆ ของมูลนิธิ ได้รับการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องและมีความมั่นคงพอที่องค์กรจะก้าวสู่การพัฒนางานอนุรักษ์ในช่วงเวลาต่อไป

พ.ศ. 2563 – 2567

ช่วงชีวิตวิถีใหม่ (New Normal) ท่ามกลางแรงกดดันในการใช้พื้นที่ป่าจาก หน่วยงานภาครัฐนับร้อยโครงการ ปรับระบบการทำงานและการสื่อสารสู่รูปแบบออนไลน์มากยิ่งขึ้น

เนื่องจากในช่วงปลายปี 2562 เกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เป็นเหตุการณ์ที่ทุกประเทศต่างเผชิญและคร่าชีวิตผู้คนทั่วโลกไปนับล้านคน จนเกิดมาตราการในการป้องกันการระบาดอย่างเข้มข้น ทั้งการปิดประเทศ ระงับเที่ยวบินฯ ผู้คนต้องกักตัวเองอยู่แต่ในบ้าน เศรษฐกิจตกต่ำ ผู้คนตกงาน ในส่วนของประเทศไทยได้รับผลกระทบ และภาครัฐได้ออกมาตรการในการป้องกันการระบาดของโรคไม่ต่างกัน

วาระครบรอบ 30 ปี มูลนิธิสืบนาคะเสถียรในปี 2563 ซึ่งเป็นช่วงที่มีสถานการณ์โควิดระบาดอย่าง รุนแรง มูลนิธิสืบนาคะเสถียร มีการปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานโดยให้เจ้าหน้าที่สามารถทำงานจากที่บ้านได้ และปรับรูปแบบงานรำลึกเพื่อรับกับวิถีใหม่ หน่วยงานราชการงดบุคคลภายนอกเข้าร่วมกิจกรรมจุดเทียนรำลึกสืบฯ ที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จังหวัดอุทัยธานี งานภาคเมืองมูลนิธิสืบฯ ได้มีการปรับรูปแบบงานรำลึกเพื่อรักษาระยะห่างทางสังคม ผ่านการจุดเทียนออนไลน์และเล่าเรื่องราวของสืบ นาคะเสถียร จากอดีตที่ผ่านมาถึงการทำงานสืบทอดเจตนาในปัจจุบัน 30 ปี สืบ นาคะเสถียร ผ่านมิติของแสงและเงา

ปี 2564 เฉกเช่นเดียวกัน ทั่วโลกและประเทศไทยยังคงอยู่ในภาวการณ์ระบาดของโรคโควิด-19 การจัดกิจกรรมรำลึก 31 ปี สืบ นาคะเสถียร จึงยังคงไว้ซึ่งกิจกรรมในรูปแบบออนไลน์

ปี 2565 มาตราการป้องกันโรคระบาดของภาครัฐเริ่มผ่อนคลาย จึงได้เริ่มกลับมาจัดงานรำลึก สืบ นาคะเสถียร ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครอีกครั้ง

จุดเทียนรำลึก ในแบบออนไลน์

มูลนิธิสืบฯ ยังคงเฝ้าระวังโครงการที่มีผลกระทบต่อผืนป่า สัตว์ป่า อย่างเข้มข้น ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าว แม้จะไม่มีเหตุการณ์ทำลายป่าครั้งใหญ่เกิดขึ้น หรือไม่มีเหตุการณ์ล่าสัตว์ขนาดใหญ่จนทำให้คนทั้งประเทศเกิดความรู้สึกสะเทือนใจ แต่ในช่วงเวลาเดียวกันนั้นกลับพบว่ามีการผลักดันโครงการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อผืนป่าสัตว์ป่า นับเฉพาะโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำในพื้นที่อนุรักษ์ก็มีถึงเกือบ 100 โครงการ แม้โครงการหลายๆ โครงการจะยังอยู่ในขั้นตอนการขออนุมัติ จัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือขั้นตอนการประชุมหารือต่างๆ แต่สิ่งนี้ก็สะท้อนถึงทิศทางการพัฒนาที่ไม่เป็นมิตรกับอนาคตของผืนป่าประเทศไทยและสถานการณ์สิ่งแวดล้อมโลก 

นอกจากโครงการอ่างเก็บน้ำในป่าแล้ว โครงการที่เคยต่อสู้จนโครงการต้องพับไปเมื่อหลายปีก่อนกลับถูกปลุกขึ้นมาคุกคามผืนป่าในช่วงเวลานี้อีกครั้ง เช่น โครงการขยายเส้นทางสาย 12 ที่ผ่านอุทยานแห่งชาติน้ำหนาว กระเช้าภูกระดึงฯ เป็นต้น

สิ่งที่เป็นเรื่องใหม่ในยุทธศาสตร์การทำงาน 4 ปีที่ผ่านมา คือ Species-Based Conservation หรือ การจัดการสัตว์ป่าสําคัญ 6 ชนิด ได้แก่ นกชนหิน ช้างป่า กวางผา ปลาซิวสมพงษ์ เสือปลา และพญาแร้ง ซึ่งถือเป็นความท้าทายกับบทบาทการทำงานเรื่องใหม่ของมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ในการปกป้องชนิดพันธุ์สัตว์สำคัญด้วยการ ผลักดันเชิงนโยบายให้เกิดแผนการจัดการสัตว์ป่าระดับพื้นที่ และระดับประเทศ การผลักดันสัตว์สำคัญจากสัตว์ป่าคุ้มครองเป็นสัตว์ป่าสงวนร่วมกับองค์กรอนุรักษ์อีกหลายองค์กร และการมีส่วนร่วมของประชาชน เช่น นกชนหิน เป็นต้น

ด้านงานสื่อสารของมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ในช่วงที่มีสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทีมสื่อสาร องค์กรมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนงานด้วยการนำเสนอข้อมูลการทำงาน และกิจกรรม ให้ความรู้ในรูปแบบออนไลน์ สื่อสารงานวิชาการและสร้างการมีส่วนร่วมของสาธารณชน เช่น รายการสืบสัตว์ป่า

เว็บไซต์ของมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ยังคงมาตรฐานโดยมียอดการเข้าชมไม่ต่ำกว่า 1,000,000 คลิกต่อปี ในการ สืบค้นข้อความทางสิ่งแวดล้อม บนแพลตฟอร์ม Google ปรากฎหน้าเว็บไซต์มูลนิธิสืบนาคะเสถียรขึ้นในหน้าแรกจาก คำค้นหาที่หลากหลาย อาทิ วิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พื้นที่ป่า เอเลี่ยนสปีชีส์ รวมถึงชนิดของสัตว์ป่า ด้านเนื้อหาพัฒนาควบคู่ไปกับข้อมูลวิชาการ (ดำเนินการร่วมกับฝ่ายวิชาการ) ที่ออกไปสู่สาธารณชน และได้สร้างช่องทางโซเชียลมีเดียต่างๆ เพื่อให้ง่ายต่อการเข้าถึงในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็น Facebook (ผู้ติดตาม 315,560 user) YouTube (ผู้ติดตาม 21,300 user) Instagram (ผู้ติดตาม 5,321 user) Twitter (ผู้ติดตาม 16,112 user) และยัง เพิ่มการสื่อสารผ่านระบบ Podcast ที่สามารถรับฟังได้ผ่านระบบสตรีมมิ่ง Spotify พัฒนาระบบ E-BOOK ที่เป็นมาตรฐาน

ด้านการระดมทุน มีการพัฒนาช่องทางการระดมทุน ทั้งออฟไลน์และออนไลน์ เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มผู้ บริจาคให้มากที่สุด นอกจากนี้ยังมีการระดมทุนย่อยประจำเดือนตามกระแสของสังคมสมัยใหม่ ที่มุ่งเน้นการประชาสัมพันธ์ทางโซเชียลมีเดีย ซึ่งได้รับผลตอบรับเป็นอย่างดี

ด้านงานผู้พิทักษ์ป่าการทำงานตลอดระยะเวลา 4 ปี มูลนิธิสืบนาคะเสถียรทำหน้าที่ในการสื่อสาร ประสานงาน เชื่อมโยงผ่านเครือข่ายทั้งองค์กรภาครัฐ และภาคเอกชน เพื่อให้เกิดการสนับสนุนด้านสวัสดิภาพ และสวัสดิการของผู้พิทักษ์ป่า ผลักดันนโยบายค่าตอบแทนผู้พิทักษ์ป่าให้เป็นธรรม และเป็นมาตรฐานที่ชัดเจน ตลอดจนสนับสนุนอุปกรณ์ ในการปฏิบัติหน้าที่ของผู้พิทักษ์ป่า รวมถึงปรับปรุงหน่วยพิทักษ์ป่า และบ้านพักเจ้าหน้าที่ให้มีความสะดวกสบาย เหมาะสมต่อการใช้

งานป่าตะวันตกภายใต้สถานการณ์การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญกับเรื่องการสำรวจพื้นที่ทำกินและที่อยู่อาศัยของชุมชนในเขตพื้นที่อนุรักษ์ตามพระราชบัญญัติอุทยานฯ และพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 มูลนิธิสืบฯ ยังคงดำเนินกิจกรรมเพื่อเป้าหมายที่สำคัญ คือ การผลักดันผืนป่าตะวันตกให้เกิดมาตรฐานและเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ โดยการสร้างมาตรฐานกับคนและพื้นที่อนุรักษ์ โดยมีโมเดลหรือพื้นที่นำร่อง จำนวน 8 พื้นที่ เป็นรูปแบบในการขับเคลื่อนอันจะนำไปสู่แผนการจัดการป่าตะวันตก 20 ล้านไร่

งานสินค้าที่ระลึก ภายใต้สถานการณ์ระบาดของโรคโควิด-19 ทีมสินค้าที่ระลึกต้องมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานให้สามารถทำการขายออนไลน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ พัฒนางานหลังบ้านเพื่อรองรับการสั่งซื้อใน รูปแบบออนไลน์ทุกระบบ และมีการจัดทำแผนการจัดการความเสี่ยง มีการเริ่มใช้ระบบพรีออเดอร์ (Pre-Order) เพื่อลดจำนวนสินค้าค้างสต็อก สำรวจความต้องการของผู้ซื้อเพื่อออกแบบสินค้าให้ตรงกับความต้องการ เริ่มมีการใช้ระบบ AI Chat bot ในการสนทนากับผู้ซื้อเมื่ออยู่นอกเวลาทำการ


เชิงอรรถ

1 อนึ่งในวาระครบรอบ 10 ปี ของการก่อตั้งมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ได้มีการเปลี่ยนแปลงทีมงานผู้บริหารในตำแหน่งประธานมูลนิธิสืบ นาคะเสถียรและเลขาธิการ คือ อาจารย์รตยา จันทรเทียร และคุณวันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ ซึ่งได้ทำหน้าที่ยาวนานร่วม 10 ปี ให้ รศ. ดร.สุรพล สุดารา และ ผศ.ดร.ทวีวงศ์ ศรีบุรี เข้ามาทำหน้าที่ประธานและเลขาธิการแทนในช่วงเวลาหนึ่งก่อนที่ รศ.ดร.สุรพล สุดารา จะเสียชีวิตในระหว่างปฏิบัติหน้าที่ในปี 2546 ทำให้คณะกรรมการมูลนิธิมีมติให้ อาจารย์รตยา จันทรเทียร ต้องกลับมาทำหน้าที่ ประธานอีกครั้งและให้ คุณนพรัตน์ นาคสถิต ทำหน้าที่เลขาธิการรวมถึงมีการปรับเปลี่ยนคณะกรรมการอีกครั้งหนึ่งจนถึงปัจจุบัน

2 Joint Management of Protected Area (JoMPA: จอมป่า)

3 โครงการความร่วมมือด้านการพัฒนาแห่งประเทศเดนมาร์ก