เลียงผา หรือ โครำ สัตว์ป่าสงวนหายากกับความมหัศจรรย์ของถิ่นที่อยู่อาศัย

เลียงผา หรือ โครำ สัตว์ป่าสงวนหายากกับความมหัศจรรย์ของถิ่นที่อยู่อาศัย

เลียงผา เยียงผา หรือ โครำ (Serow) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Capricornis sumatraensis เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมจำพวกสัตว์กีบคู่ กินพืชอาหาร อยู่ในวงศ์ Bovidae หรือมีญาติสนิทที่ทุกคนรู้จักกันเป็นอย่างดี อย่างแพะและแกะ ในประเทศไทยสามารถพบเห็นเลียงผาได้ตามหน้าผา และภูเขาสูงชัน ซึ่งเลียงผามีวิวัฒนาการทางกายภาพให้มีลักษณะเหมาะสมกับถิ่นที่อยู่อาศัยที่มีลักษณะเฉพาะเช่นนี้

เลียงผา มีลักษณะลำตัวที่ป้อมสั้น มองภาพรวมอาจดูคล้ายกับกวางผา แต่ต่างกันอย่างชัดเจนที่สีขน โดยเลียงผาจะมีขนตามลำตัวสีดำหรือสีเทาเข้ม ขนแผงคอตั้งแต่โคนเขาไปจนถึงหัวไหล่โคนเป็นสีขาวปลายขนเป็นสีเทาเข้มหรือสีดำ ขนที่ขาใต้หัวเข่าลงมาจะมีสีดำ สีเทา ไปจนถึงสีน้ำตาลแดง หางสั้นและปกคลุมไปด้วยขนสีเทาเข้มบริเวณสันหาง 

และเนื่องจากขนาดลำตัวของเลียงผาระหว่างเพศผู้กับเพศเมียอาจไม่แตกต่างกันมากนัก จึงต้องแยกเพศจากการสังเกตลักษณะเขา โดยเขาเพศผู้จะมีลักษณะโคนเขาอยู่ชิดกันมากกว่าเขาเพศเมีย เมื่อมองจากด้านตรงหน้า และปลายเขาจะเบี่ยงเข้าหากัน ส่วนเขาของเพศเมียจะสั้นกว่าเพศผู้ประมาณ 1-2 นิ้ว ค่อนข้างเล็ก และตรงขนานกันมากกว่าเขาเพศผู้

หรือสามารถสังเกตจากพฤติกรรมการขับถ่าย โดยเพศผู้มักจะยืนตรงหรือย่อตัวเล็กน้อย ส่วนเพศเมียมักจะกางขาและย่อตัวส่วนท้ายลงต่ำมากเกือบชิดพื้นดิน ในขณะที่ส่วนหางจะชี้ออกข้างนอกตัว

เลียงผา มักอาศัยอยู่ตามภูเขาซึ่งปกคลุมด้วยป่าทึบ และพบเลียงผาอาศัยอยู่บริเวณหน้าผากับยอดเขาที่ระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางอยู่ระหว่าง 800-1,500 เมตร แต่ในบางพื้นที่อาจพบเลียงผาต่ำกว่า 500 เมตร หรือสูงกว่า 2,000 เมตร ขึ้นอยู่กับสภาพภูมิประเทศ แหล่งอาหาร และแหล่งน้ำ

และลักษณะพิเศษที่ทำให้เลียงผาสามารถอาศัยอยู่ตามหน้าผาสูงชันได้ คือลักษณะตีนเป็นกีบ กีบของเลียงผาแตกต่างจากสัตว์กีบชนิดอื่น ๆ โดยมีกีบแต่ละข้างคล้ายปีกผีเสื้อ ปลายกีบทั้งสองแยกออกจากกัน ไม่งองุ้มเข้าหากันทั้งกีบหน้าและกีบหลัง ปลายกีบกลมมน ไม่แหลม และในส่วนของส้นกีบจะมีความกลมมนมากกว่า ซึ่งลักษณะเช่นนี้ ทำให้เลียงผาสามารถเกาะตามซอนหินหรือตามสันเขาที่สูงชันได้

เลียงผามักออกหากินในตอนเช้ามืดและตอนใกล้ค่ำ และจะกลับมานอนหรือหลบซ่อนตัวจากศัตรูในช่วงเวลากลางวัน ในบริเวณที่มีต้นไม้ที่มีหนามและขึ้นอยู่หนาแน่น อีกทั้งการที่อาศัยอยู่บนหน้าผาและสันเขาที่สูงชัน จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมเลียงผาถึงเป็นสัตว์ป่าหายาก ทั้งยากต่อการพบเห็น และยากต่อการเข้าถึง

ด้วยเลียงผามีถิ่นที่อยู่อาศัยในลักษณะเฉพาะเช่นนี้ เมื่อเกิดปัจจัยคุกคามในพื้นที่ อาทิ การสูญเสียถิ่นที่อยู่อาศัย การล่าและการค้าสัตว์ป่า ภัยคุกคามเหล่านี้จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อจำนวนประชากรเลียงผา และ ณ ตอนนี้ประชากรมีแนวโน้มที่จะลดลงอย่างต่อเนื่อง และทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น

ปัจจุบัน เลียงผาอยู่ในสถานะใกล้สูญพันธุ์ (Vulnerable) ตาม IUCN Red List และในประเทศไทย เลียงผาจัดเป็นสัตว์ป่าสงวน ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562

อ้างอิง

ผู้เขียน

+ posts

สาวแว่นทาสแมวที่ชอบบอกเล่าเรื่องราวผ่านลายเส้น มีธรรมชาติช่วยฮีลใจ และหลงใหลในพระจันทร์เสี้ยว