เลียงผาที่พบในประเทศไทย การกระจายถิ่นที่อยู่อาศัย และพฤติกรรมบางประการ

เลียงผาที่พบในประเทศไทย การกระจายถิ่นที่อยู่อาศัย และพฤติกรรมบางประการ

เลียงผามีต่อมอยู่ระหว่างตากับจมูกหางสั้น ความสูงถึงหัวไหล่ประมาณ 3 ฟุต (Peacock, 1933) เขาจะโค้งงอไปทางด้านหลัง และส่วนปลายจะไม่งอเป็นแบบตะขอเหมือนพวก Chamois ต่อมที่หน้าจะฝังอยู่ในส่วนที่เป็นแอ่งของกะโหลกศีรษะ มีรูเปิดปกคลุมด้วยขนสั้นๆ น้ำมันที่สกัดออกมาจากต่อมจะมีสีขาวเมื่อแห้งจะมีกลิ่นฉุน

เลียงผามีกลิ่นตัวเหมือนแพะ กลิ่นตัวเกิดจากส่วนนอกของผิวหนัง (Prater, 1965) Lekagul and McNeely (1977) กล่าวว่า ขนที่ปกคลุมตัวของเลียงผาหยาบและไม่หนาแน่น มีส่วนที่เป็นขนอ่อนปะปนอยู่บ้างประปราย (ดูจากตัวอย่างที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศไทย) ขนตามตัวโดยทั่วไปเป็นสีดำหรือสีเทาเข้ม ขนแผงคอเริ่มตั้งแต่โคนเขาไปจนถึงหัวไหล่โคนเป็นสีขาวปลายขนเป็นสีเทาเข้มหรือสีดำ แต่ขนจะมีสีจางกว่าขนตามแนวสันหลัง ขนที่ขาใต้หัวเข่าลงมาจะมีสีแตกต่างกันไป ตั้งแต่สีดำ สีเทา ไปจนถึงสีน้ำตาลแดง โคนขนจะมีสีจางกว่า หางสั้นและปกคลุมไปด้วยขนสีเทาเข้มบริเวณสันหาง ด้านข้างมีขนสีน้ำตาลแดง ด้านในหางไม่มีขนปกคลุม ขนบริเวณริมฝีปากเป็นสีขาว และที่ขากรรไกรล่างทั้งสองข้างมีขนสีน้ำตาลแดงปะปนด้วยขนสีขาว ส่วนมากจะมีขนสีน้ำตาลแดงและสีขาวบริเวณใต้คอ หูบางและแคบมักจะชี้ตรงขนด้านหลังหูเป็นสีน้ำตาลและปะปนกับขนสีดำด้านในเป็นขนสีขาว ขนาดของตัวแตกต่างกันเล็กน้อยระหว่างเพศผู้และเพศเมีย ทำให้แยกเพศได้ยากเมื่อเห็นในระยะไกล กีบเท้าสั้นและแข็งแรง บริเวณร่องกีบตอนหน้าของขาทั้ง 4 ข้าง จะมีรูเปิดขนาดเล็ก รูเปิดที่ร่องขาหน้าจะอยู่สูงกว่ารูเปิดที่ร่องขาหลังเล็กน้อย

เขาของเลียงผามีสีดำ รูปกรวย ส่วนโคนของเขาเป็นคลื่นประมาณ 3 ใน 4 ของความยาว (Prater, 1965) เขาของเพศเมียจะสั้นกว่าเพศผู้ประมาณ 1-2 นิ้ว และค่อนข้างจะเล็กกว่า ประกอบกับส่วนที่เป็นคลื่นมีน้อยกว่า (Peacock, 1933) โคนเขาของเพศผู้จะอยู่ชิดกันมากกว่าของเพศเมียเมื่อมองจากด้านตรงหน้า เขาของลูกเลียงผาจะปรากฏเป็นตุ่มใต้ผิวหนังเมื่อเกิดได้ประมาณ 3 เดือน เขาจะยาวประมาณครึ่งหนึ่งของความยาวของหูเมื่ออายุประมาณ 1 ปี และเขาจะยาวประมาณความยาวของหูเมื่ออายุประมาณ 2 ปี เมื่ออายุมากกว่า 2 ปี เขาจะยาวกว่าความยาวของหู

การจำแนกเพศของเลียงผาเมื่อมองจากระยะไกล อาจทำได้โดยการสังเกตท่าถ่ายปัสสาวะ เพศผู้มักจะยืนตรงหรือย่อตัวเล็กน้อย ส่วนเพศเมียมักจะกางขาและย่อตัวส่วนท้ายลงต่ำมากเกือบชิดพื้นดิน ในขณะที่ส่วนหางจะชี้ออกข้างนอกตัว

เลียงผามักออกหากินในตอนเช้ามืดและตอนใกล้ค่ำ (Peacock, 1933) มันมักจะกินหญ้าและยอดไม้ในร่มเงาของไม้พุ่มที่มีหนาม และขึ้นอยู่อย่างแน่นทึบบนสันเขา (Walker, 1975) บางครั้งก็ออกมากินหญ้าตามลาดเขาชัน (Prater, 1965)

ในช่วงกลางวันเลียงผามักหลบไปนอนตามใต้ร่มเงาของก้อนหินบริเวณตีนหน้าผา (Walker, 1975) ในวันที่มีอากาศหนาวเย็นเลียงผาจะนอนผึ่งแดดอยู่บนหินตามหน้าผาซึ่งล้อมรอบไปด้วยต้นไม้ที่มีหนามและขึ้นอยู่หนาแน่น ยากต่อการเข้าถึงของสัตว์ป่าหรือมนุษย์ บางครั้งเลียงผาจะนอนพักบนคาคบไม้ที่ยื่นออกไปจากเขาลาดชัน (Peacock, 1933)

จากการสังเกตพฤติกรรมของเลียงผาในกรงเลี้ยงในที่ต่างๆ กันปรากฏว่าเลียงผาจะตื่นเช้ามาก หลังตื่นนอนจะเล็มกินอาหารที่เหลืออยู่ หลังจากนั้นจะถ่ายปัสสาวะและถ่ายมูลในช่วงเวลา 05.00-06.00 น. พฤติกรรมการเดินการกินและการนอนเคี้ยวเอื้องจะปรากฏต่อเนื่องสลับกันไปจนกระทั้งเวลาเย็น การนอนหลับในเวลากลางวันมีน้อยมาก ยกเว้นในลูกเลียงผา

การถ่ายปัสสาวะมักเกิดขึ้นก่อนการถ่ายมูล เลียงผาจะถ่ายมูลอีกครั้งในช่วงเวลา 11.00-14.00 น. ท่าในการถ่ายมูลของเลียงผาเพศผู้และเพศเมียคล้ายคลึงกัน คือยืนพฤติกรรมบางประการ แยกเท้าหลัง ยกหางและถ่ายมูล ส่วนท่าในการถ่ายปัสสาวะจะแตกต่างกันคือ เลียงผาเพศผู้จะยืนแยกเท้าเล็กน้อยไม่ยกหาง ส่วนเพศเมียจะแยกขาหลังออกห่าง ย่อส่วนท้ายของลำตัวลงต่ำมาก ยกหางขึ้นแล้วจึงถ่ายปัสสาวะ

 


 

ในปี 2560 มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ได้นำรายงานเรื่องเลียงผาที่พบในประเทศไทย การกระจายถิ่นที่อยู่อาศัยและพฤติกรรมบางประการ ผลงานวิชาการของสืบ นาคะเสถียร มาพร้อมปรับปรุงเนื้อหาบางส่วนให้มีความทันสมัยยิ่งขึ้น พร้อมจับพิมพ์ใหม่ เผยแพร่ในงานสัมมนาสัตว์ป่าเมืองไทย ครั้งที่ 38 ธันวาคม 2560

ผู้สนใจสามารถอ่านรายงาน การจับเนื้อทรายที่เกาะกระดาด ได้ที่ EBOOK เลียงผาที่พบในประเทศไทย การกระจายถิ่นที่อยู่อาศัยและพฤติกรรมบางประการ