ความแตกต่างระหว่างนกยูงไทย กับ นกยูงอินเดีย

ความแตกต่างระหว่างนกยูงไทย กับ นกยูงอินเดีย

‘นกยูง’ หากพูดถึงนกชนิดนี้ คนส่วนใหญ่อาจจะรู้จักกันเป็นอย่างดี แต่น้อยคนนักที่จะทราบว่านกที่มีแพนหางสุดอลังการนี้ มี 3 สายพันธุ์ (Species) ด้วยกัน คือ นกยูงไทย นกยูงอินเดีย และนกยูงคองโก ซึ่งในประเทศไทยสามารถพบนกยูงได้ 2 สายพันธุ์ คือ นกยูงไทย และนกยูงอินเดีย 

แต่มีเพียงนกยูงไทยเท่านั้น ที่สามารถพบได้ในป่าธรรมชาติ ซึ่งแพร่กระจายในภาคเหนือและภาคตะวันตกของประเทศไทย

ซึ่งแต่ละสายพันธุ์ก็มีความแตกต่างกัน ทั้งลักษณะทางกายภาพและถิ่นที่อยู่อาศัยที่เฉพาะของพวกมันเอง 

นกยูงไทย (Green Peafowl) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Pavo muticus สีตัวทั้งตัวผู้และตัวเมียจะเป็นสีเขียวเข้ม ‘หงอนพู่ตั้งตรง’ คอของนกยูงไทยจะยืดสูงกว่านกยูงอินเดีย แก้มจะเป็นสีเหลืองชัดเจนทั้งผู้และเมีย ปีกมีสีน้ำเงินเขียว พบการกระจายพันธุ์อยู่ในเอเชียอาคเนย์ จากจีนตอนใต้ จนถึงชวา และพบได้ในป่าธรรมชาติ

นกยูงอินเดีย (India Peafowl) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Pavo cristatus ตัวผู้จะสีน้ำเงินสด ส่วนตัวเมียจะสีน้ำตาลไม่สดใส แก้มเป็นสีขาว ‘หงอนพู่ตั้งขึ้นเป็นพัด’ ซึ่งแตกต่างจากนกยูงไทยชัดเจน มีขนาดตัวเล็กกว่านกยูงไทยเพียงเล็กน้อย ส่วนปีกมีสีขาวดำสลับกันเป็นรอยบั้ง

ภัยคุกคามที่สำคัญ คือ เกิดการสูญเสียพื้นที่ป่าที่เป็นที่อยู่อาศัยเพียงแห่งเดียวของนกยูง หรือแม้แต่การล่าเพื่อเอาขน และการดักจับลูกนกเพื่อนำมาเลี้ยง ล้วนเกิดจากน้ำมือของมนุษย์ทั้งสิ้น ส่งผลให้ประชากรของนกยูงไทยในอดีตมีจำนวนลดน้อยลงอย่างน่าใจหาย และหมดไปจากพื้นที่หลายแห่ง

ถึงแม้ในปัจจุบันประชากรนกยูงไทยจะเพิ่มมากขึ้น แต่นกยูงไทยอาจจะสูญพันธุ์ได้ในอนาคต เนื่องจากการที่มีนกยูงอินเดียหลุดเข้าไปในป่าธรรมชาติ เกิดปัญหาการเกิดลูกผสม (Hybrid) ระหว่างนกยูงไทยกับนกยูงอินเดีย จนอาจทำให้พันธุกรรมของนกยูงไทยในธรรมชาติหายไปในที่สุด

เราสามารถพบนกยูงได้มากที่สุดที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จังหวัดอุทัยธานี และอีกสถานที่ที่เราสามารถดูนกยูงได้ง่ายคือที่ แก่งลานนกยูง อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ ฝั่งจังหวัดนครสวรรค์

อ้างอิง 

ผู้เขียน

+ posts

สาวแว่นทาสแมวที่ชอบบอกเล่าเรื่องราวผ่านลายเส้น มีธรรมชาติช่วยฮีลใจ และหลงใหลในพระจันทร์เสี้ยว