ทำไมนกยูงไทยถึงจะสูญพันธุ์ ?

ทำไมนกยูงไทยถึงจะสูญพันธุ์ ?

ทั่วโลกนั้นมีนกยูงอยู่เพียง มี 3 สายพันธุ์  ได้แก่ นกยูงคองโก นกยูงอินเดีย และนกยูงไทย โดยนกยูงไทย หรือ นกยูงเขียว Green Peafowl (Pavo muticus) กระจายพันธุ์อยู่ในเอเชียอาคเนย์จากจีนตอนใต้จนถึงชวา 

สำหรับในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นกยูงถูกแบ่งออกย่อยตามลักษณะสีขนและถิ่นการกระจายได้ 3 subspecies คือ นกยูงเขียวชวา (Javanese green peafowl , P. muticus muticus) นกยูงเขียวอินโดจีน (Indo-Chinese green peafowl, P. muticus imperator) และนกยูงเขียวพม่า (Burmese green peafowl, P. muticus specifer

สำหรับนกยูงไทย หรือนกยูงเขียวเป็นไก่ฟ้าขนาดใหญ่ที่พบในป่าเขตร้อนของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีความงดงาม ซึ่งก็ยังไม่ได้มีการตัดสินว่าระหว่างนกยูงพันธ์อินเดียกับนกยูงไทยใครงามกว่ากัน นกยูงอินเดียจะมีหงอนเป็นรูปใบพับและคอที่เป็นขนสั้นเหลือบเขียวแกมน้ำเงิน ส่วนนกยูงไทยทั้งเพศผู้และเพศเมียมีหงอนเป็นเส้นขน สีเขียวเหลือบ ชี้ตรงอยู่บนหัว ส่วนหน้าทั้งสองข้างจะมีสีฟ้า ดำ และ เหลือง ขนคอ ขนหน้าอก ทั้งนี้นกยูงไทยเพศผู้จะมีแพนขนปิดหางยาวหลาเส้น ที่ปลายแพนขนปิดหางนี้ มีดอกดวง ที่เรียกว่า “แววมยุรา” ซึ่งตรงกลางดวงเป็นสีน้ำเงินแกมดำ อยู่ในพื้นวงกลมเหลือบ เขียว ล้อมรอบด้วยลายเป็นวงรูปไขสีทองแดง เวลานกยูงราแพน จึงเปรียบเหมือนพัดขนาดใหญ่ 

ภาพนกยูงไทย อายุวัต เจียรวัฒนกนก

นกยูงไทยกำลังจะสูญพันธุ์

 IUCN ประกาศให้นกยูงเป็นสัตว์ที่อยู่ในภาวะถูกคุกคามและเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ (Vulnerable) ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2522 สาเหตุจากการล่าโดยตรง การปล่อยให้มีการล่านกยูงโดยเสรีในอดีต และการที่มีผู้นิยมเลี้ยงนกยูงกันเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในระหว่างปี 2510 – 2517 ทำให้มีการส่งออกนกยูงออกราชอาณาจักร เฉพาะที่ท่าอากาศยานดอนเมืองมีจำนวนมากถึง 626 ตัว นอกจากนี้ความนิยมในการนำขนนกยูงมาเป็นเครื่องประดับตกแต่งและเป็นเครื่องหมายแสดงสถานภาพในกลุ่มสังคมของบางกลุ่ม จึงเป็นเหตุที่ทำให้นกยูงถูกล่าเป็นจำนวนมากเพียงเพื่อต้องการขนหรือการนำมาเลี้ยงเพื่อประดับบารมี โดยชาวบ้านจะมีรายได้จากการขโมยไข่นกยูงไปฟังเป็นตัว เพื่อขายส่งให้พ่อค้าและอาจมีอีกจำนวนหนึ่งที่ล่านกยูงเพื่อเป็นอาหาร รวมทั้งการทำลายป่า ที่อยู่ตามริมลำธาร มักก่อให้เกิดความสูญเสียต่อแหล่งที่อยู่อาศัยและทำรังวางไข่ของนกยูง การเปลี่ยนแปลงสภาพถิ่นที่อยู่อาศัยริมลำน้ำที่เคยมีป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรังขึ้นอุดมสมบูรณ์ถูกเปลี่ยนสภาพเป็นบ้านเรือนและที่ทำเกษตรกรรม ทำให้ปัจจุบันนกยูงกลายเป็นสัตว์ที่หาได้ไม่ง่ายนัก สาเหตุดังกล่าวมีผลลัพธ์ทำให้นกยูงเป็นสัตว์ที่จัดอยู่ในภาวะถูกคุกคามและเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์และอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้นกยูงไทยมีสถานภาพที่น่าเป็นห่วงคือ ผลกระทบทางด้านพันธุกรรม

จากการสำรวจ เฝ้าสังเกตและประมวลจากภาพถ่าย “นกยูงไทย” จากแหล่งธรรมชาติทั่วประเทศ โดยนักปักษีวิทยา เครือข่ายนักดูนก นักถ่ายภาพ เราพบว่า นกยูงไทย ที่พบเห็นนั้นจำนวนมากเป็นลูกผสม (hybrid) กับ นกยูงอินเดีย และนับวันนกยูงไทยในธรรมชาติจำนวนหนึ่งจะมีลักษณะของกายภาพเพี้ยนไปมากขึ้นเรื่อยๆ เหตุที่เกิดนกยูงลูกผสมขึ้นจำนวนมากเพราะมีการเลี้ยงนกยูงอินเดียอย่างกว้างขวางและมีการปล่อย (ทั้งโดยตั้งใจ และไม่ตั้งใจ) เข้าสู่ป่า ทำให้ไปจับคู่ผสมพันธุ์กับนกยูงไทยแท้ในธรรมชาติโดยนกยูงลูกผสมจะมีลักษณะของนกยูงอินเดียเจือปน เช่น ขนที่คอเป็นสีน้ำตาล (ตัวเมีย) หรือ สีน้ำเงิน (ตัวผู้) ขนบนหัวแผ่คล้ายมงกุฎ 

การเกิดไฮบริดในธรรมชาตินั้นจะส่งผลให้สายพันธุ์หลักนั้นหมดไปหากเราปล่อยให้มีการปนเปื้อนทางพันธุกรรม (genetic contamination) ต่อไปนกยูงพันธุ์ไทยแท้ๆ ก็จะหมดไปจากประเทศในที่สุดเหลือแต่นกยูงพันธุ์ทาง เลือดผสมก็จะเป็นความสูญเสียถือเป็นเรื่องน่าเสียดายอย่างที่สุด

ความแตกต่างระหว่างนกยูงไทย นกยูงลูกผสม และนกยูงอินเดีย ภาพจาก FB: Rungsrit Kanjanavanit

ซึ่งตอนนี้ นายกกฤตภาส ขันทะธงสกุลดี ผู้อำนวยการส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16  (เชียงใหม่) ร่วมกับชมรมอนุรักษ์นกล้านนา หัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่าบ้านโฮ่ง และเจ้าหน้าที่ฝ่ายสุขภาพและคลินิกสัตว์ป่า ประชุมการแก้ไขนกยูงผสมระหว่างนกยูงไทยและนกยูงอินเดีย ได้ข้อสรุปดังนี้

1. สร้างความเข้าใจกับประชาชนในเชิงอนุรักษ์ เพิ่มความตระหนัก ประชาสัมพันธ์เรื่องการอนุรักษ์ ออกสื่อทำความเข้าใจในเรื่องการปนเปื้อนของสายพันธ์นกยูงพันธุ์ผสมในพื้นที่ธรรมชาติ เน้นย้ำการเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าควบคุมในระบบปิด และให้ความรู้กับประชาชนในลักษณะของนกยูงไทยมากขึ้นว่าแตกต่างจากนกยูงอินเดียอย่างไร

2. จัดประชุมระดมสมอง นักวิชาการสัตว์ป่า ผู้ประกอบการสวนสัตว์ ร่างแผนจัดการที่เหมาะสมกับบริบท (จับลูกผสมออกจากธรรมชาติอย่างไร จะนำไปไว้ที่ไหน การป้องกันไม่ให้นกยูงอินเดียหลุดเข้าป่าธรรมชาติได้อย่างไร)

3. ให้เครือข่ายนักดูนก ช่วยสำรวจและทำแผนที่สำรวจการกระจายและจำนวนนกยูงพันธ์ผสม

4. ต้องทำการสำรวจนกยูงพันธุ์ผสม (Hybrid) ในทางอุดมคติ เห็นควรตรวจสอบและจับเก็บตัวอย่างนกยูงในธรรมชาติทุกตัว เพื่อคัดกรอง  ปัญหา : ในการพยายามจับนกยูงในธรรมชาติทำได้ยาก

5. การตรวจสอบสายพันธุ์นกยูงทางลักษณะทางกายภาพ (ขนที่คอเป็นสีน้ำตาลในนกยูงเพศเมียหรือสีน้ำเงินในนกยูงเพศผู้ ขนบนหัวแผ่คล้ายมงกุฎ ) /การตรวจสอบทางDNAทางห้องปฏิบัติการ  (ควรดำเนินการในการตรวจสอบพันธ์แท้/พันธ์ผสม)

6. เชิญผู้ประกอบการที่เพาะเลี้ยงยกยูงไทย นกยูงอินเดีย หารือแนวทางการจัดการอย่างยั่งยืนและการจัดการเพาะพันธุ์นกยูงที่ไม่ใช่พันธุ์ผสม

การจัดการปัญหานกยูงผสมในพื้นที่

ระยะเร่งด่วน – ในตัวที่เห็นลักษณะทางกายภาพชัดเจน ทางกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช จะดำเนินการนำออกจากพื้นที่เร่งด่วน

หาพื้นที่สำหรับรองรับนกยูงพันธุ์ผสม – สวนสัตว์/ผู้ประกอบการ

การปล่อยนกยูงสายพันธุ์ไทยแท้คืนสู่ธรรมชาติโดยตัวกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

การจัดการขั้นเด็ดขาดโดยการกำจัดเป็นมาตรการสุดท้าย โดยสร้างความเข้าใจกับประชาชนเป็นสำคัญ

เรื่อง อัครวิชญ์ จันทร์พูล   

อ้างอิง