นกยูงบนโลกนี้มี 3 สายพันธุ์! นกยูงไทย นกยูงอินเดีย และนกยูงคองโก

นกยูงบนโลกนี้มี 3 สายพันธุ์! นกยูงไทย นกยูงอินเดีย และนกยูงคองโก

จากเกร็ดความรู้เรื่องความแตกต่างระหว่างนกยูงไทย กับ นกยูงอินเดีย เราได้ทราบถึงความแตกต่างระหว่างนกยูงไทยกับนกยูงอินเดียที่สามารถพบได้ในประเทศไทยกันไปแล้ว วันนี้แอดมินจะพาทุกท่านมาทำความรู้จักกับนกยูงชนิดอื่น ๆ ว่าแท้จริงแล้วบนโลกของเรามีนกยูงกี่ชนิด และแต่ละชนิดจะมีลักษณะทางกายภาพแตกต่างกันอย่างไร

ทั่วทั้งโลกมีนกยูงทั้งหมด 3 สายพันธุ์ (Species) คือ นกยูงไทย นกยูงอินเดีย และนกยูงคองโก 

นกยูงไทย (Green Peafowl) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Pavo muticus สีตัวทั้งตัวผู้และตัวเมียจะเป็นสีเขียวเข้ม ‘หงอนพู่ตั้งตรง’ คอของนกยูงไทยจะยืดสูงกว่านกยูงอินเดีย แก้มจะเป็นสีเหลืองชัดเจนทั้งตัวผู้และตัวเมีย ปีกมีสีน้ำเงินเขียว นกยูงไทยสามารถกินได้ทั้งเมล็ดพืช ผลไม้สุก แมลง ตัวหนอน ไส้เดือน งู รวมถึงสัตว์ขนาดเล็ก พบการกระจายพันธุ์อยู่ในเอเชียอาคเนย์ จากจีนตอนใต้ จนถึงชวา 

นกยูงอินเดีย (Indian Peafowl) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Pavo cristatus ตัวผู้จะสีน้ำเงินสด ส่วนตัวเมียจะสีน้ำตาลไม่สดใส แก้มเป็นสีขาว ‘หงอนพู่ตั้งขึ้นเป็นพัด’ ซึ่งแตกต่างจากนกยูงไทยชัดเจน มีขนาดตัวเล็กกว่านกยูงไทยเพียงเล็กน้อย ส่วนปีกมีสีขาวดำสลับกันเป็นรอยบั้ง นกยูงอินเดียกินได้ทั้งผลไม้ เมล็ดพืช แมลง และสัตว์เลื้อยคลานบางชนิด พบการกระจายพันธุ์ในประเทศอินเดีย และประเทศศรีลังกา

นกยูงคองโก (Congo Peafowl) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Afropavo congensis  ตัวผู้จะมีท้องสีน้ำเงินดำ มีหงอนสีขาว ส่วนตัวเมียท้องจะมีสีแดงน้ำตาล และมีหงอนสีน้ำตาลเช่นเดียวกับชุดขน นกยูงคองโกสามารถกินได้ทั้งผลไม้ เมล็ดพืช รวมถึงสัตว์ขนาดเล็ก พบได้ยาก เนื่องจากมีการกระจายตัวเฉพาะในป่าฝนที่ราบลุ่มเขตลุ่มน้ำคองโกตอนกลางของสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก

ภัยคุกคามที่สำคัญของนกยูง คือ การสูญเสียพื้นที่ที่อยู่อาศัยจากกิจกรรมของมนุษย์ เช่น การเปลี่ยนแปลงพื้นที่ การตัดไม้ การทำเกษตรกรรม รวมถึงการล่า และการดักจับลูกนกเพื่อนำมาเลี้ยง 

และอีกหนึ่งปัจจัยที่สำคัญต่อการสูญพันธุ์ของนกยูงไทย คือ การผสมข้ามสายพันธุ์หรือการปนเปื้อนทางพันธุกรรม (Genetic contamination) ระหว่างนกยูงไทยกับนกยูงอินเดีย ทั้งที่ในอดีตทั้งสองสายพันธุ์นี้มีการกระจายพันธุ์คนละพื้นที่ ไม่ทับซ้อนกัน โดยมีเทือกเขาหิมาลัยเป็นตัวกั้นไม่ให้สองสายพันธุ์นี้กระจายหากันได้ 

แต่ทว่าในปัจจุบัน การเลี้ยงนกยูงอินเดียมีความนิยมกันอย่างแพร่หลาย จนทำให้มีนกยูงอินเดียหลุดเข้ามาในป่าธรรมชาติ เกิดการผสมข้ามสายพันธุ์กับนกยูงไทยที่อยู่ในป่าธรรมชาติ เราเรียกว่า นกยูงลูกผสม (Hybrid)

นกยูงลูกผสม (Hybrid Peafowl) ระหว่างนกยูงไทยกับนกยูงอินเดีย Pavo muticus x cristatus จะมีลักษณะตัวเมียมีขนที่คอสีน้ำตาล และตัวผู้มีสีน้ำเงิน ซึ่งได้ลักษณะนี้มาจากนกยูงอินเดีย ส่วนหงอนพู่จะมีลักษณะเกือบตั้งตรง ซึ่งเป็นลักษณะของนกยูงไทย และปลายหงอนเป็นขนมีลักษณะคล้ายนกยูงอินเดีย

ด้วยสาเหตุนี้ การเกิดนกยูงลูกผสม จึงเป็นการเปลี่ยนแปลงลักษณะทางพันธุกรรมของนกยูงไทยที่ไม่ได้เกิดจากการคัดเลือกโดยธรรมชาติ แต่มีมนุษย์เป็นผู้อยู่เบื้องหลัง และหากเกิดลูกผสมเช่นนี้ต่อไปเรื่อย ๆ ในที่สุดเราอาจจะไม่เหลือพันธุกรรมของนกยูงไทยแท้ในป่าธรรมชาติประเทศไทยอีกเลย

อ้างอิง 

ผู้เขียน

+ posts

สาวแว่นทาสแมวที่ชอบบอกเล่าเรื่องราวผ่านลายเส้น มีธรรมชาติช่วยฮีลใจ และหลงใหลในพระจันทร์เสี้ยว