โครงการของรัฐที่มักผุดขึ้นในป่า สวนทางกับสถิติป่าไม้ที่ลดลงทุกปี

โครงการของรัฐที่มักผุดขึ้นในป่า สวนทางกับสถิติป่าไม้ที่ลดลงทุกปี

โครงการอ่างเก็บน้ำแม่เมาะอันเนื่องมาจากพระราชดําริ ตั้งอยู่ที่หมู่ 6 บ้านหนุน ตำบลปง อำเภอปง จังหวัดพะเยา ความจุ 3.45 ล้านลูกบาศก์เมตร พื้นที่ชลประทาน ประมาณ 4,000 ไร่ โดยโครงการทั้งหมดจะทำให้น้ำท่วมพื้นที่อุทยานแห่งชาติดอยภูนาง จำนวน 397 ไร่ ซึ่งบริเวณดังกล่าวเป็นพื้นที่สำคัญในการอนุรักษ์นกยูงที่สำคัญในระดับภูมิภาค 

จากการศึกษาวิจัยและภาพจากกล้องดักถ่ายภาพสัตว์ป่าโดย Conservation Ecology Program, King Mongkut’s University of technology Thonburi ร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช พบว่าพื้นที่บริเวณที่จะก่อสร้างอ่างเก็บน้ำแม่เมาะ สามารถพบนกยูงได้ทุกวัย ตั้งแต่เพศผู้และเพศเมียโตเต็มวัย วัยรุ่นและที่สำคัญคือแม่และลูกๆ นกยูง

เนื่องจากนกยูงเลือกใช้พื้นที่ป่าบริเวณลำห้วยแม่เมาะเป็นพื้นที่สำหรับอยู่อาศัย หาอาหาร เกี้ยวพาราสี ผสมพันธุ์ และพื้นที่พักนอนในเวลากลางคืน 

นอกจากจะเป็นพื้นที่อาศัยหากินทั่วไปของนกยูงแล้ว ยังเป็นพื้นที่สำคัญอย่างพื้นที่ทำรังวางไข่และพื้นที่เลี้ยงลูกในหลายวัยของนกยูงก่อนที่จะโตเต็มที่และแยกจากแม่ ซึ่งเน้นย้ำว่าพื้นที่นี้มีความเหมาะสม เป็นแหล่งประชากรสำคัญ (Stronghold) ของนกยูงในระดับภูมิภาค 

ข้อมูลจากการสำรวจประชากรได้รับการเผยแพร่ตีพิมพ์ในระดับนานาชาติ โดยสำรวจในพื้นที่หย่อมป่าสำคัญคือ หย่อมป่าที่ประกอบด้วยพื้นที่อนุรักษ์สำคัญ 4 แห่ง ได้แก่ เขตห้ามล่าสัตว์ป่าทับพญาลอ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเวียงลอ อุทยานแห่งชาติดอยภูนางและอุทยานแห่งชาติแม่ยม ซึ่งเป็นหย่อมป่าขนาดใหญ่และมีอาณาเขตต่อเนื่องเป็นแหล่งต้นน้ำและความหลากหลายทางชีวภาพที่สำคัญยิ่ง
.

.
โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยแม่เมาะเป็น 1 ในโครงการ จาก 77 โครงการ ที่มีการขอใช้พื้นที่ป่าเพื่อโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ ซึ่งเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2564 เครือข่ายองค์กรอนุรักษ์ได้ร่วมยื่นจดหมายถึง ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี และพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานการประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการขนาดใหญ่และโครงการสำคัญ และประธานคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) เพื่อขอให้ยุติโครงการพัฒนาแหล่งน้ำทุกขนาดในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ และทบทวนนโยบายการจัดการน้ำของทั้งประเทศ เพื่อประเมินความเสี่ยงจากภาวะโลกร้อน 

โดยเรียกร้องให้รัฐบาลยุติโครงการพัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ทั้งหมดยกเลิกการเร่งผลักดันโครงการพัฒนาแหล่งน้ำแบบเหมารวม และเลือกการจัดการแหล่งน้ำนอกพื้นที่ป่าอนุรักษ์เป็นลำดับแรก พัฒนารูปแบบการจัดการน้ำทางเลือกโดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน บริหารจัดการเครื่องมือที่มีอยู่แล้วให้เกิดประโยชน์สูงสุด ส่งเสริมนวัตกรรมการจัดการน้ำแบบไม่ทำลายพื้นที่ป่า เพื่อให้คนและสัตว์ป่าอยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน จดหมายที่เครือข่ายองค์กรได้ร่วมกันยื่นเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2564 ได้รับการตอบกลับ ลงวันที่ 21 กันยายน 2564 ว่า “สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีได้นำเรียนนายกรัฐมนตรี เพื่อทราบ พร้อมทั้งได้ประสานส่งเรื่องให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ และคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม เพื่อพิจารณาโดยขอให้แจ้งผลให้ท่านทราบโดยตรงแล้ว” 

แต่ดูเหมือนว่าจะไม่เป็นผล รัฐยังคงเดินหน้าให้มีโครงการอ่างเก็บน้ำ(เขื่อน)ในพื้นที่ป่าไม้ โดยเฉพาะพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ซึ่งในความเป็นจริงไม่ควรมีการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำในพื้นที่ป่าอนุรักษ์อีกต่อไปแล้ว เพราะสวนทางกับตัวเลขพื้นที่ป่าประเทศไทยที่มีสถิติลดลงอย่างต่อเนื่อง จากข้อมูลพื้นที่ป่าไม้ที่สำรวจโดย สำนักจัดการที่ดินป่าไม้ กรมป่าไม้ พ.ศ. 2564 ตัวเลขพื้นที่ป่าลดลงจาก พ.ศ. 2563 ถึง 141,050.39 ไร่ 

หากเปรียบเทียบตัวเลขพื้นที่ป่าตั้งแต่ พ.ศ. 2543 – 2564 ตลอดระยะเวลา 22 ปีที่ผ่านมา  พื้นที่ป่าไม้ลดลงจาก 106,319,237.50 ไร่ เหลือ 102,212,434.37 ไร่ หรือคิดเป็นอัตราการลดลงของพื้นที่ป่าไม้เท่ากับ 186,672.87 ไร่  คงต้องถามภาครัฐดังๆ ว่า ประเทศเราจะไปทิศทางไหน? เราจะยังต้องการรักษาป่าไว้อยู่หรือไม่?

ไม่มีป่า ไม่มีน้ำ ไม่มีชีวิต

ร่วมรักษาป่าใหญ่ ผ่านระบบ Thai QR Code


เรื่อง อรยุพา สังขะมาน หมาเฝ้าป่า
ภาพ : Conservation Ecology Program, King Mongkut’s University of technology Thonburi ร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช