ขอให้ยุติโครงการพัฒนาแหล่งน้ำทุกขนาดในพื้นที่ป่าอนุรักษ์

ขอให้ยุติโครงการพัฒนาแหล่งน้ำทุกขนาดในพื้นที่ป่าอนุรักษ์

ขอให้ยุติโครงการพัฒนาแหล่งน้ำทุกขนาดในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ และทบทวนนโยบายการจัดการน้ำของทั้งประเทศ เพื่อประเมินความเสี่ยงจากภาวะโลกร้อน

.
มสน.084/2564
วันที่ 1 กันยายน 2564

เรื่อง ขอให้ยุติโครงการพัฒนาแหล่งน้ำทุกขนาดในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ และทบทวนนโยบายการจัดการน้ำของทั้งประเทศ เพื่อประเมินความเสี่ยงจากภาวะโลกร้อน

เรียน ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี และพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานการประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการขนาดใหญ่และโครงการสำคัญ และประธานคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.)

สิ่งที่ส่งมาด้วย

(1) เอกสารการประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการขนาดใหญ่และโครงการสำคัญ ครั้งที่ 4/2563 เมื่อ 18 ธันวาคม 2563

(2) แผนที่แสดงพื้นที่ป่าอนุรักษ์ที่เหลืออยู่

สืบเนื่องจากเอกสารสรุปผลการประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการขนาดใหญ่และโครงการสำคัญ ครั้งที่ 4 /2563 เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2563 โดยมีพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นประธาน 

โดยในวาระการประชุมที่ 3.3 เรื่องความก้าวหน้าผลการติดตามการขอใช้พื้นที่ป่าสำหรับโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ เอกสารฉบับดังกล่าวได้แสดงผลสรุปการติดตามการขอใช้พื้นที่ป่าไม้ 5 กลุ่ม รวมทั้งสิ้นถึง 77 โครงการด้วยกัน (รายละเอียดตามสิ่งที่ส่งมาด้วย หมายเลข 1) ทั้งนี้ยังไม่รวม 7 โครงการอ่างเก็บน้ำในผืนป่ามรดกโลกดงพญา-เย็นเขาใหญ่ ที่บางโครงการ เช่น อ่างเก็บน้ำคลองมะเดื่อ มีความคืบหน้าจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมเสร็จและเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการผู้ชำนาญการไปแล้ว 1 ครั้ง บางโครงการอยู่ในระหว่างการคัดเลือกพื้นที่หัวงาน และยังมีโครงการพัฒนาแหล่งน้ำที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่ป่าอนุรักษ์บางโครงการที่ไม่ได้ปรากฏอยู่ในเอกสารดังกล่าวอีก เช่น อ่างเก็บน้ำคลองตาหลิว อ่างเก็บน้ำคลองตารอง ที่มีแผนจะก่อสร้างในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสอยดาว เป็นต้น องค์กรเครือข่ายอนุรักษ์ตามรายชื่อแนบท้าย จึงขอแสดงเจตนายืนยันไม่เห็นด้วยที่จะมีการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำ หรือโครงการพัฒนาแหล่งน้ำประเภทอื่นๆ เช่น อุโมงค์ผันน้ำที่ผ่าใจกลางผืนป่าในพื้นที่อนุรักษ์อีกต่อไปด้วยเหตุผลดังนี้

ปัจจุบันพื้นที่ป่าของประเทศไทยเหลือเพียงร้อยละ 31.64 ของประเทศเท่านั้น (รายละเอียดตามสิ่งที่ส่งมาด้วย หมายเลข 2) จากข้อมูลสถานการณ์ป่าไม้ 2562 -2563 โดยกรมป่าไม้ ในหนึ่งปีที่ผ่านมาพบว่า ประเทศไทยมีพื้นที่ป่าลดลงถึงกว่า 130,000 ไร่ ซึ่งยังห่างไกลเป้าหมายของชาติ ที่ระบุให้มีพื้นที่ป่าร้อยละ 40 แบ่งเป็นพื้นที่ป่าเพื่อการอนุรักษ์ ร้อยละ 25 และพื้นที่ป่าเศรษฐกิจ ร้อยละ 15 ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12  พ.ศ. 2560 – 2564 และนโยบายป่าไม้แห่งชาติ  อีกทั้งยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี(พ.ศ. 2561 – 2580) ที่พยายามกำหนดเป้าหมายเรื่องพื้นที่สีเขียวทุกประเภทควรมีไม่น้อยกว่าร้อยละ 55 ของพื้นที่ประเทศ แบ่งเป็นพื้นที่เป็นป่าธรรมชาติร้อยละ 35 พื้นที่ป่าเศรษฐกิจเพื่อการใช้ประโยชน์ร้อยละ 15 และพื้นที่สีเขียวในเขตเมืองและชนบท ร้อยละ 5 และแผนแม่บทการพัฒนาป่าไม้แห่งชาติ ที่หวังมุ่งบูรณาการหน่วยงานทุกกระทรวง เพื่อการดำเนินงานต่าง ๆ ให้เกิดผลกระทบกับทรัพยากรป่าไม้น้อยที่สุด เพราะการดำรงไว้ซึ่งป่าไม้และความหลากหลายทางชีวภาพ นอกจากจะสำคัญในด้านการรักษาสมดุลของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังจะเป็นต้นทุนสำคัญในการดำเนินชีวิตของประชาชน ในการแก้ไขปัญหาปากท้อง และแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจของประเทศอีกด้วย 

ในขณะที่ทุกประเทศทั่วโลก กำลังตระหนักและให้ความสำคัญในการหยุดยั้ง ภาวะโลกร้อน Climate Change และมุ่งพัฒนาประเทศด้วยแนวนโยบายเศรษฐกิจสีเขียวเพื่อการเติบโตทางเศรษฐกิจโดยไม่ทำลายฐานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของประเทศตนเอง พร้อมทั้งตั้งเป้าหมายลดการปลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิให้เป็นศูนย์ ดูแลรักษาป่าไม้และลดการตัดไม้ทำลายป่าเพื่อเพิ่มแหล่งกักเก็บคาร์บอนฯ แต่ประเทศไทยเองกลับดำเนินนโยบายทำลายผืนป่าอย่างต่อเนื่องทั้งโครงการพัฒนาแหล่งน้ำที่ทำในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ การให้สัมปทานเหมืองแร่ และตัดถนนผ่านป่า พยายามตัดขาดผืนป่าออกจากกันให้เป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย สร้างผลกระทบอย่างรุนแรงต่อระบบนิเวศที่เป็นบ้านของสัตว์ป่า ซึ่งเป็นการกระทำที่สวนทางของทั้งโลก หากประเทศไทยยังคงเลือกที่จะพัฒนาประเทศโดยละเลยการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อาจต้องพบกับความเสี่ยงทางด้านเศรษฐกิจที่จะไม่มีนักลงทุนจากประเทศไหนกล้าเข้ามาลงทุนกับประเทศที่ไม่มีความพร้อมและไม่มีการรองรับความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดจากการทำลายฐานทรัพยากรธรรมชาติในประเทศ

การพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นหลักการที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาประเทศอย่างมีดุลยภาพ ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ทั้งสามด้านนี้ต้องเกื้อกูลและไม่ก่อให้เกิดความขัดแย้งต่อกัน การขยายตัวทางเศรษฐกิจที่พัฒนาอย่างมีคุณภาพต้องคำนึงถึงขีดจำกัดของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่จำเป็นต้องสงวน และรักษาไว้ใช้ประโยชน์ได้อย่างยาวนาน แต่หากรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังไม่เปลี่ยนแนวความคิดและวิธีการทำงานในการพัฒนาเศรษฐกิจบนฐานการทำลายทรัพยากรป่าไม้และความหลากหลายทางชีวภาพ เลือกที่จะฝังกลบนโยบายเพิ่มพื้นที่ป่าของตัวเองในนามของคำว่าพัฒนา โปรดจงรู้ไว้ว่าท่านกำลังนำพาประเทศไทยไปสู่หายนะ ดังนั้น องค์กรเครือข่ายอนุรักษ์ตามรายชื่อแนบท้าย จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลยุติโครงการพัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ทั้งหมด ยกเลิกการเร่งผลักดันโครงการพัฒนาแหล่งน้ำแบบเหมารวม และเลือกการจัดการแหล่งน้ำนอกพื้นที่ป่าอนุรักษ์เป็นลำดับแรก ส่งเสริมนวัตกรรมการจัดการน้ำแบบไม่ทำลายพื้นที่ป่าเพื่อให้คนและสัตว์ป่าอยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน

จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณาและขอขอบพระคุณมา ณ โอกาสนี้
ขอแสดงความนับถือ

มูลนิธิสืบนาคะเสถียร
สมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย
มูลนิธิพื้นที่ชุ่มน้ำไทย
สมาคมอุทยานแห่งชาติ
กลุ่มบิ๊กทรี
กลุ่มใบไม้
กลุ่มรักษ์เขาใหญ่
กลุ่มฅนรักษ์สัตว์ป่า
กลุ่มเนเจอร์แค้มป์อาสา
กลุ่มไม้ขีดไฟ
เครือข่ายเขาใหญ่ดีจัง
กลุ่มเรารักษ์ป่านครราชสีมา
กลุ่ม​รักษ์​กระทิง​เขา​ใหญ่
กลุ่ม​ลูก​มะปราง
กลุ่มปั้นดิน เพื่อเด็กและเยาวชน
กลุ่มเยาวชนต้นกล้า จ.นครนายก
เครือข่ายเสียงคนเสียงช้าง
มูลนิธิฟรีแลนด์
กลุ่มอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพและสิ่งแวดล้อม
มูลนิธิเพื่อการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ (ประเทศไทย)