ชวนทำความเข้าใจ OECMs พื้นที่อนุรักษ์นอกพื้นที่คุ้มครอง อีกหนึ่งเครื่องมือในการเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพ

ชวนทำความเข้าใจ OECMs พื้นที่อนุรักษ์นอกพื้นที่คุ้มครอง อีกหนึ่งเครื่องมือในการเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพ

ภายในปี 2580 ประเทศไทยต้องมีพื้นที่ป่าอย่างน้อย ร้อยละ 55 ของพื้นที่ประเทศ ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561 – 2580) โดยมีเงื่อนไขว่า ต้องมีพื้นที่เป็นป่าธรรมชาติ ร้อยละ 35 ของพื้นที่ประเทศ พื้นที่ป่าเศรษฐกิจเพื่อการใช้ประโยชน์ ร้อยละ 15 ของพื้นที่ประเทศ และพื้นที่สีเขียวในเขตเมืองและชนบท ร้อยละ 5 ของพื้นที่ประเทศ

ปัจจุบัน (ปี 2566) ประเทศไทยมีพื้นที่ป่าทั้งหมดอยู่ที่ร้อยละ 31.47 ของพื้นที่ประเทศ ซึ่งเราเหลือเวลาอีกเพียง 13 ปี เท่านั้น กับพื้นที่ป่าอีกกว่า 30 ล้านไร่ ที่จะต้องเพิ่มขึ้น เพื่อให้ได้ตามเป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ในขณะที่พื้นที่ป่ากลับมีแนวโน้มลดลงเรื่อย ๆ ซึ่งสวนทางกลับเป้าหมายที่ตั้งไว้

ประกอบกับเมื่อครั้งประชุม COP15 พื้นที่ OECMs ถือเป็น 1 ใน 2 เครื่องมือ (Approach) สำหรับการบรรลุเป้าหมายในการเพิ่มพื้นที่อนุรักษ์ของโลก ทั้งพื้นที่บนบก พื้นที่ทางทะเลและแหล่งน้ำบนบก ให้ได้อีกร้อยละ 30 ของประเทศ ภายในปี ค.ศ. 2030 (พ.ศ. 2573) หรือที่เรียกสั้น ๆ ว่า ‘เป้าหมาย 30×30’ 

เพื่อให้บรรลุตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ทั้งในระดับประเทศและระดับโลก และคงไว้ซึ่งความหลากหลายทางชีวภาพ ประเทศไทย จึงมีการนำเอา OECMs มาใช้เป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่จะช่วยเพิ่มการบริหารจัดการพื้นที่นั้น ๆ เพื่อเอื้ออำนวยต่อการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพในระยะยาวไปพร้อมกัน โดยพื้นที่ดังกล่าวจะต้องเป็นพื้นที่ซึ่งอยู่นอกพื้นที่คุ้มครอง (Protected Areas) ด้วย

พื้นที่อนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพนอกพื้นที่คุ้มครอง หรือ Other Effective Conservation Measures (OECMs) โดยที่ประชุม CBD ได้ให้คำนิยามไว้ว่า ‘คือพื้นที่อื่น ๆ ที่ไม่ใช่พื้นที่คุ้มครอง ซึ่งมีการบริหารและจัดการเพื่อให้บรรลุเป้าหมายด้านการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพในธรรมชาติ หน้าที่ และบริการของระบบนิเวศ วัฒนธรรม จิตวิญญาณ สังคมเศรษฐกิจและคุณค่าอื่น ๆ ของท้องถิ่นโดยรวม อย่างยั่งยืนในระยะยาว’

ซึ่งความหลากหลายทางชีวภาพในที่นี้หมายถึง การมีสิ่งมีชีวิตที่มีความหลากหลายชนิด มาอยู่ในระบบนิเวศเดียวกัน พื้นที่เดียวกัน หรือการที่มีชนิด (species) สายพันธุ์ (genetic) และระบบนิเวศ (ecosystem) ที่แตกต่างกัน และมีความหลากหลายอาศัยอยู่ร่วมกัน

โดยหลักเกณฑ์สำคัญของการเป็นพื้นที่ OECMs คือพื้นที่นั้น ๆ จะต้องไม่อยู่ในเขตพื้นที่คุ้มครอง (Protected Area) ตามหลักเกณฑ์การจำแนกพื้นที่คุ้มครองของไอยูซีเอ็น (IUCN category) ซึ่งพื้นที่คุ้มครองในประเทศไทย ประกอบไปด้วย 7 ประเภท ได้แก่ อุทยานแห่งชาติ วนอุทยาน เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขตห้ามล่าสัตว์ป่า พื้นที่คุ้มครองทางทะเลและชายฝั่ง พื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม และเขตรักษาพันธุ์สัตว์น้ำ 

สำหรับประเทศไทยมีการอนุรักษ์เชิงพื้นที่ หรือ Area Based Conservation เพื่อวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ซึ่งไม่ได้ถูกกำหนดเป็นพื้นที่คุ้มครองตาม IUCN ในหลายรูปแบบ และจัดเป็นเพียงพื้นที่อนุรักษ์เท่านั้น เช่น ป่าสงวนแห่งชาติ เขตป่าคุ้มครอง เขตป่าไม้ถาวร เขตลุ่มน้ำชั้น 1 เขตป่าชายเลนอนุรักษ์ เขตป่าชุมชน เป็นต้น

อย่างไรก็ตามมีพื้นที่บางประเภท เช่น พื้นที่เตรียมประกาศอุทยานแห่งชาติ พื้นที่เตรียมประกาศเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า พื้นที่เตรียมประกาศวนอุทยานแห่งชาติ พื้นที่เตรียมประกาศเขตห้ามล่าสัตว์ป่า พื้นที่เตรียมประกาศเขตคุ้มครองทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ซึ่ง ณ ตอนนั้นยังไม่ได้ตราเป็นกฎหมายเพื่อกำหนดเป็นพื้นที่คุ้มครองอย่างสมบูรณ์ แต่มีการบริหารจัดการ การดูแล รักษา เพื่อให้คงไว้ซึ่งความหลากหลายทางชีวภาพ 

พื้นที่เหล่านี้ก็อาจจะประกาศเป็นพื้นที่ OECMs ได้เช่นกัน แต่ถ้าหากในอนาคตพื้นที่ดังกล่าวมีสถานะเป็นพื้นที่คุ้มครองตามกฎหมายอย่างสมบูรณ์แล้ว พื้นที่นั้นก็จะสิ้นสภาพการเป็นพื้นที่ OECMs ไปโดยปริยาย

พื้นที่ OECMs เป็นการบริหารจัดการพื้นที่นั้นเพื่อเอื้ออำนวยต่อการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพในระยะยาวไปพร้อมกันด้วย โดยพื้นที่ดังกล่าวจะต้องเป็นพื้นที่ซึ่งอยู่นอกพื้นที่คุ้มครอง (Protected Areas) หรือต้องไม่เป็นอุทยานแห่งชาติ วนอุทยาน เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขตห้ามล่าสัตว์ป่า พื้นที่คุ้มครองทางทะเลและชายฝั่ง พื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม และเขตรักษาพันธุ์สัตว์น้ำ

สำหรับพื้นที่ที่ไม่มีหน่วยงานกำกับดูแลหรือการจัดการใด ๆ แม้จะเป็นแหล่งอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพที่สำคัญ ก็จะไม่สามารถจัดได้ว่าเป็น OECMs

การบริหารจัดการพื้นที่ที่จะเข้าข่ายเป็น OECMs จะต้องมีเป้าหมายเพื่อการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพในถิ่นกำเนิด (In situ-conservation) อย่างยั่งยืน อาจจะเป็นเป้าหมายหลักของการจัดการ หรือเป็นเป้าหมายรองของการจัดการที่เอื้อต่อการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ 

พื้นที่ OECMs จะต้องมีการบริหารและจัดการอย่างยั่งยืนในระยะยาว โดยควรมีลักษณะสำคัญ 2 ประการ คือ การกำกับดูแลพื้นที่โดยรวม วัตถุประสงค์ การจัดการ และการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่ในระยะยาวเพื่อให้ดำรงอยู่ในสภาพธรรมชาติหรือใกล้เคียงธรรมชาติ โดยอาจเป็นพื้นที่ทับซ้อนกับพื้นที่อนุรักษ์ หรือเป็นพื้นที่ทับซ้อนกับพื้นที่อนุรักษ์จัดการโดยชนพื้นเมืองหรือชุมชนท้องถิ่น 

สำหรับพื้นที่ที่ไม่มีหน่วยงานกำกับดูแลหรือการจัดการใด ๆ แม้จะเป็นแหล่งอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพที่สำคัญ ก็จะไม่สามารถจัดได้ว่าเป็น OECMs

ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนของการจัดทำแนวทางปฏิบัติ และหลักเกณฑ์ ในการคัดเลือกพื้นที่ที่เหมาะสมในการเป็นพื้นที่ OECMs เพื่อการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน และจะนำเสนอเป้าหมายระดับชาติต่อสำนักเลขาธิการ CBD ในขั้นตอนต่อไป

อ้างอิง

ผู้เขียน

+ posts

สาวแว่นทาสแมวที่ชอบบอกเล่าเรื่องราวผ่านลายเส้น มีธรรมชาติช่วยฮีลใจ และหลงใหลในพระจันทร์เสี้ยว