สิตางศุ์ พิลัยหล้า – ปัญหาการจัดการน้ำต้องเริ่มแก้ที่ mindset

สิตางศุ์ พิลัยหล้า – ปัญหาการจัดการน้ำต้องเริ่มแก้ที่ mindset

“เวลาพูดถึงปัญหาการจัดการน้ำและอยากที่จะแก้ไขเราต้องเริ่มต้นที่ mindset ถ้า mindset ไม่เปลี่ยนปัญหานี้ก็จะยังคงเป็นอยู่แบบนี้” 

หนึ่งในงานที่อยู่คู่กับมูลนิธิสืบนาคะเสถียรมาอย่างยาวนาน คงหนีไม่พ้นการคัดค้านโครงการพัฒนาของรัฐบาลโดยเฉพาะโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ หรือจะเรียกว่า เขื่อน อ่างเก็บน้ำ อะไรก็ตามแต่ นับตั้งแต่ผลกระทบจากเขื่อนเชี่ยวหลาน การคัดค้านเขื่อนน้ำโจน มาจนถึงเขื่อนแม่วงก์ และเขื่อนวังโตนดในปัจจุบัน  

มูลสืบนาคะเสถียร จึงชวน ผศ.ดร.สิตางศุ์ พิลัยหล้า อาจารย์จากภาควิชาวิศวกรรมทรัพยากรน้ำ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มาพูดคุยเกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำของรัฐไทย ว่าเพราะอะไรรูปแบบการพัฒนาแบบนี้ถึงยังไม่หายไปเสียที ทำไมเรายังคงวนเวียนอยู่กับอะไรแบบนี้   

ทำความเข้าใจการเปลี่ยนแปลงและการพัฒนา ไปจนถึงข้อเสนอแนะสำหรับการบริหารจัดการน้ำเพื่อรับมือในโลกที่เปลี่ยนแปลง 

ภาพของการพัฒนาแหล่งน้ำจากอดีตสู่ปัจจุบันเป็นอย่างไร 

เวลาที่เราพูดถึงการจัดการน้ำ เราต้องมองเป็นภาพใหญ่ระดับลุ่มน้ำ อย่างที่เราพูดกันติดปากว่า ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ ซึ่งคอนเซ็ปต์มันคือ ต้นน้ำเราต้องเก็บน้ำไว้ให้ได้มากที่สุด ส่วนกลางน้ำมักเป็นพื้นที่ชุมชน เราต้องชะลอเพื่อใช้ประโยชน์ต่าง ๆ  ส่วนท้ายน้ำก็จะเป็นพื้นที่ที่มีความลาดชันต่ำเราต้องเร่งระบายไม่ให้เกิดการท่วม เรียกรวม ๆ ว่า ‘เก็บ ชะลอ ระบาย’ และพอพูดถึงการเก็บน้ำ เครื่องมือแรก ๆ ที่เรานึกถึงที่สามารถเก็บน้ำได้เยอะก็หนีไม่พ้น ‘เขื่อน’

มันเริ่มจากมาสมัยแรก ๆ รัฐบาลและคนในยุคนั้นเมื่อ 50-60 ปีที่แล้ว ได้ศึกษาดูงานจากต่างประเทศและเห็นว่ามันดี เราก็เลยเอากลับมาใช้ในไทย ซึ่งเขื่อนมันก็มาพร้อมกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับแรก ก็เริ่มมาตั้งแต่ 2504 ซึ่ง ณ ตอนนั้นประเทศไทยก็เป็น อู่ข้าว อู่น้ำ แล้วทำยังไงเราถึงจะปลูกข้าวได้เยอะ ๆ ก็ต้องมีเขื่อนไง ก็เลยเป็นที่มาของเขื่อนแรก คือ เขื่อนเจ้าพระยา ที่ทำหน้าที่ทดน้ำ และตามมาด้วย เขื่อนแก่งกระจาน 

ทีนี้มันก็ต่อเนื่องมาไทยก็มีการสร้างเขื่อนมาเรื่อย ๆ เป็นยุคที่ประเทศกำลังเฟื่องฟูไปด้วยการสร้างเขื่อน ซึ่งส่วนใหญ่ก็สร้างในป่า แต่ในตอนนั้นเรามีป่าเยอะอยู่แล้ว ก็ไม่ได้เป็นอะไร สร้างได้ การสร้างในป่าก็ไม่ได้กระทบกับผู้คน คนได้น้ำได้ไฟฟ้ามันก็โอเค นี้คือช่วงแรกของการพัฒนา 

พอเราพัฒนามาเรื่อย ๆ เร่งสร้าง เร่งใช้ ปัญหาก็เริ่มเกิดขึ้น ทรัพยากรเสื่อมโทรม มลพิษต่าง ๆ นานา เริ่มมีการพูดถึงเรื่องพวกนี้กันมากขึ้น ช่วงต่อมาเราก็เริ่มให้ความสำคัญของสิ่งแวดล้อมกันมากขึ้น การสร้างเขื่อนก็เริ่มลดลง แต่ก็เริ่มมีปัญหาความขัดแย้งระหว่างการใช้น้ำเกษตร อุปโภค บริโภค และอุตสาหกรรมขึ้นมา เพราะเน้นสร้างแต่ไม่ได้มีระบบการส่งน้ำที่ดีพอ ไม่มีโครงข่าย คนใกล้อ่างไม่ได้ใช้น้ำ น้ำถูกส่งไปยังส่วนอุตสาหกรรม ไปพื้นที่เมือง พอมาถึงแผนพัฒนาฉบับที่ 7 ปัญหาสิ่งแวดล้อมก็ยังอยู่ ยังแก้ไม่ได้ ทีนี้ก็เริ่มมาพูดถึงการบูรณาการกันมากขึ้นแสดงให้เห็นว่าตลอดเวลาที่ผ่านมาเราไม่เคยพูดถึงการบูรณาการกันเลย เราเน้นสร้างอย่างเดียว 

ภาพของการบูรณาการตอนนี้เป็นอย่างไร 

หน่วยงานที่ดูแลการจัดสรรน้ำเป็นหลัก คือ กรมชลประทาน แต่ถ้าเป็นเขื่อนที่ผลิตไฟฟ้าด้วย ก็จะมีการบริหารอีกแบบ เป็นรูปแบบบอร์ดบริหารที่มีหน่วยงานหลายหน่วยงานมารับผิดชอบ อันนี้เป็นเรื่องของการจัดสรร แต่ถ้าเป็นเรื่องของการเอาน้ำไปใช้ประโยชน์ก็จะเป็นการประปาภูมิภาค การประปานครหลวง นอกจากนี้มันยังมีหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับน้ำ ไม่ว่าจะเป็น กรมโยธาธิการและผังเมือง ซึ่งดูแลเรื่องระบายน้ำโดยเฉพาะในเมือง กำแพงกันน้ำท่วม เรื่องของในลำน้ำก็จะเป็นของเจ้าท่า ถ้านับดูรวมๆ เรามีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเรื่องน้ำไม่น้อยกว่า 20 หน่วยงาน แต่ละหน่วยงานก็มีพันธะกิจของตัวเองที่ต้องทำ ซึ่งหน่วยงานเหล่านี้เป็นหน่วยงานปฏิบัติมีหน้าที่ต้องทำ แต่อยู่ต่างกระทรวง แล้วคำว่า ‘บูรณาการ’ มันอยู่ตรงไหน มันจะเกิดขึ้นได้อย่างไร ? 

แสดงว่าตั้งแต่เราพูดคำว่าบูรณาการในฉบับที่ 7 ตอนนี้มันก็ยังไม่เกิดขึ้นเลย ซึ่งถ้าพันธะมันแยกกันอย่างชัดเจนแล้วแต่ละคนทำหน้าที่ของตัวเองได้ดี มันก็ไม่มีปัญหาอะไร แต่ในความเป็นจริงมันจะมีแก๊ปบางอย่างอยู่ และหน่วยงานก็จะไม่ทำเกินหน้าที่ของตัวเอง อย่างเช่น ในเรื่องงานกำจัดผักตบและการขุดลอก  

มันเป็นหน้าที่ของใครกันแน่ เพราะดูเหมือนหลายหน่วยงานก็มีหน้าที่ตรงนี้ มันเป็นการซ้ำซ้อนของหน้าที่ และนั้นหมายถึงการซ้ำซ้อนของงบประมาณด้วย  เพื่อลดความซ้ำซ้อนตรงนี้หน่วยงาน สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ จึงถูกตั้งขึ้นด้วยความหวังที่จะลดความทับซ้อนตรงนี้ลง ซึ่งเราก็ต้องรอดูกันต่อไป 

ปัญหาของการจัดการน้ำมันคืออะไร 

เรื่องนี้ต้องถามว่า เรามีภาพจำของ น้ำท่วมกับน้ำแล้ง อันไหนมากกว่ากัน ? จริงๆ มันก็พอจะตอบได้ ว่าประเทศไทยจริงๆ ไม่ได้ขาดน้ำ แต่ว่าเรามีปัญหาในการเก็บน้ำ ซึ่งเป็นเรื่องของ space and time มันไม่มีความพอดี เวลามีน้ำเราก็มีน้ำเยอะเกิน พอเวลาแล้งเราก็แล้งเกิน 70% คือปริมาณน้ำที่สูญเสียไปที่กักเก็บไม่ได้ แน่นอนถ้ามองว่าก็เสียไป ก็ต้องหาทางเก็บ เขื่อนก็น่าจะเป็นคำตอบ แต่ปัจจุบันสิ่งแวดล้อมมันไม่เหมือนเดิมแล้ว  เมื่อก่อนเราสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ในป่าได้ ไม่กระทบกับคน แต่ตอนนี้เรามีคนอยู่ขอบป่า จะสร้างก็กระทบ ยิ่งเป็นในป่ายิ่งยาก เพราะป่าเราก็เหลือน้อยลงไปทุกที แล้วอีกอย่างพฤติกรรมฝนมันก็เปลี่ยน จากภาวะโลกรวน อย่างปีที่แล้วฝนในกรุงเทพฯ ปกติเราออกแบบท่อระบายน้ำฝน 76 มิลลิเมตร/ชั่วโมง แต่ฝนตกมากกว่า 100 -200 โลกมันเปลี่ยนไปแล้ว 

ราชการไทยยึดติดกับกรอบเดิม ๆ ในการทำงาน ทั้งที่บริบทโลกมีการเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา มันเลยเป็นที่มาที่มีการขุดโครงการเก่า ๆ มานำเสนอใหม่ เขื่อนบางตัวคิดมานานกว่า 20 – 30 ปีแล้ว อย่างในกรณีของภาคใต้ คิดตั้งแต่สมัยที่ภาคใต้ยังปลูกข้าว แต่ตอนนี้ข้าวแทบไม่เหลือแล้ว เขาปลูกพืชชนิดอื่นแล้ว  วิธีการจัดการมันก็ต้องไม่เหมือนเดิม อีกทั้งปริมาณฝนภาคใต้ก็เยอะอยู่แล้ว ชาวบ้านเองก็มีการปรับตัวไปแล้ว การที่จะดึงเอาโครงการเก่า ๆ กลับมาแล้วอ้างความชอบธรรมในการสร้าง มันก็ไม่ได้แล้ว  แต่ถ้าอยากจะทำจริงๆ เราต้องเอากลับมาศึกษาใหม่ เพื่อดูว่ามีความจำเป็นจริงๆ ใช่ไหม และต้องดูแลผู้ได้รับผลกระทบอย่างจริงจัง อย่าพูดถึงการชดเชย เพราะการชดเชยมันไม่เคยพอในความเป็นจริง 

เขื่อนยังสร้างได้อยู่ไหม

ในมุมมองอาจารย์คิดว่า “เขื่อนขนาดใหญ่สร้างไม่ได้แล้ว” เราไม่มีพื้นที่ให้สร้างแล้ว และถ้าสร้างก็กระทบกับป่ากับผู้คน ป่าเราก็น้อย แล้วกระทบกับผู้คน ไหนบอกว่าเราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังไง จริงๆ เราไม่จำเป็นต้องสร้างเพิ่มแล้ว มันมีวิธีอื่นอีกตั้งมากมาย ทำไมเราไม่เชื่อมโยงเขื่อนที่สร้างแล้วเข้าด้วยกันละ โครงข่ายทางน้ำ  

แล้วสถานการณ์ปัจจุบันเราทำอะไรได้บ้าง 

หากมองในภาพใหญ่ วิธีการที่เราจะเก็บน้ำเพื่อช่วยภัยท่วมภัยแล้ง แบบ Top down มันไม่ได้แล้ว ณ ตอนนี้เราต้องเปลี่ยนได้แล้ว เราต้องทำให้ท้องถิ่นสามารถอยู่ได้ด้วยตัวเอง 

ส่วนในตัวบุคคล ปัญหาเรื่องน้ำ มันไม่ใช่แค่เรื่องน้ำ เพราะน้ำอยู่ในทุกส่วน ทุกอย่างมันเกี่ยวข้องกันหมด 

อย่างเรื่องของการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดิน การประหยัดน้ำ ถามว่าน้ำมันหมดไหม น้ำมีวัฏจักรของมันไม่ได้หายไปไหน แต่สิ่งที่หมดไปคือ น้ำสะอาด การทิ้งของเสียต่าง ๆ ลงไปในน้ำ ก็ทำให้น้ำมีคุณภาพที่แย่ลง  

จริงๆ อาจารย์เป็นวิศวกรรมทรัพยากรน้ำ ในภาควิชาก็คือสอนนิสิตออกแบบเขื่อน การมีเขื่อนมันดี ถ้าเราใช้มันอย่างคุ้มค่า เขื่อนที่มีอยู่ดีแล้วใช้มันให้เต็มที่ แต่ไม่ต้องสร้างเพิ่มแล้ว บริบทของพื้นที่ บริบทของสิ่งแวดล้อม บริบทของโลก มันเปลี่ยนไปแล้ว การสร้างเขื่อนขนาดใหญ่มันอาจไม่ดีที่สุด ณ ตอนนี้แล้ว เราต้องเปิดใจว่าโลกมันไปไกลแล้วมันมีเทคโนโลยีใหม่ ๆ อย่ายึดติดแต่กรอบเดิม ๆ

ภาพ คชาณพ พนาสันติสุข 

ผู้เขียน

+ posts

เราไม่มีทางอนุรักษ์สิ่งที่เราไม่เห็นคุณค่า และเราไม่มีทางเห็นคุณค่าถ้าเราไม่รู้จักมัน