ประวัติศาสตร์การสร้างเขื่อน และการ ‘รื้อเขื่อน’ เพื่อคืนความสมดุลให้แก่ระบบนิเวศ

ประวัติศาสตร์การสร้างเขื่อน และการ ‘รื้อเขื่อน’ เพื่อคืนความสมดุลให้แก่ระบบนิเวศ

การก่อสร้างเขื่อนทั่วโลกเป็นเรื่องราวที่เกี่ยวพันกับการวิวัฒนาการของสถาปัตยกรรมทางอารยธรรมมนุษย์ และแสดงออกให้เห็นถึงความพยายามของมนุษย์ที่ต้องการควบคุมสิ่งแวดล้อมมาเป็นเวลาหลายพันปี โดยมีการใช้งานตามวัตถุประสงค์ต่างๆ เช่น การชลประทาน และการผลิตกระแสไฟฟ้า เพื่อพัฒนาประเทศ

การสร้างเขื่อนสามารถย้อนกลับไปในสมัยโบราณเมื่ออารยธรรมยุคแรกตระหนักถึงประโยชน์ของการควบคุมการไหลของน้ำเพื่อการเกษตรและการคุ้มครองการตั้งถิ่นฐาน จากการค้นพบ ‘เขื่อนจาวา’ (Jawa) ซึ่งเป็นเขื่อนที่เก่าแก่ที่สุดที่รู้จัก มีอายุย้อนกลับไปประมาณ 3,000 ปีก่อนคริสตศักราช ตั้งอยู่ในประเทศจอร์แดน ส่วนใหญ่จะใช้สำหรับการกักเก็บน้ำและการชลประทานเพื่อการเพาะปลูก 

ต่อมาชาวโรมันก็เป็นชาติแรกในทวีปยุโรปที่ก่อสร้างเขื่อนขนาดใหญ่อย่างเขื่อน Subiaco เพื่อเป็นทะเลสาบจำลองให้แก่จักรพรรดิเนโร (Emperor Nero) ซึ่งแสดงให้เห็นถึงทักษะทางวิศวกรรมขั้นสูงและความเข้าใจอย่างลึกซึ้งเกี่ยวกับหลักการชลศาสตร์ (Hydraulics)

การปฏิวัติอุตสาหกรรมเป็นจุดเปลี่ยนในการก่อสร้างเขื่อนทั้งในด้านขนาดและวัตถุประสงค์ ความต้องการพลังงานน้ำในการขับเคลื่อนโรงงานและไฟฟ้าพลังน้ำเพื่อกระตุ้นการเติบโตของอุตสาหกรรม ส่งผลให้เกิดการสร้างเขื่อนเพิ่มขึ้นทั่วยุโรปและอเมริกาเหนือ มีการนำวัสดุใหม่ๆ มาใช้ เช่น คอนกรีต และเทคนิคทางวิศวกรรมที่สามารถสร้างเขื่อนที่ใหญ่และซับซ้อนมากขึ้นได้ 

ความต้องการกระแสไฟฟ้าพลังน้ำในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 และต้นศตวรรษที่ 20 ช่วยเร่งการก่อสร้างเขื่อนให้เกิดเร็วมากขึ้น เพื่อเป็นแหล่งพลังงานทดแทนที่ผลิตกระแสไฟฟ้า ไปจนถึงเพื่อรองรับการขยายตัวของภาคการเกษตร และความจำเป็นในการกักเก็บน้ำเมื่อจำนวนประชากรเพิ่มขึ้น 

ประเทศต่างๆ เช่น ฝรั่งเศส สเปน และนอร์เวย์ มีความกระตือรือร้นเป็นพิเศษในการดำเนินการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำ ส่งผลให้เกิดการก่อสร้างเขื่อนขนาดใหญ่หลายแห่ง ขณะเดียวกันกลุ่มรัฐบาลในประเทศที่กำลังพัฒนา (Developing country) หลายที่จึงมีนโยบายการสร้างเขื่อนมากขึ้นจากความจำเป็นทางเศรษฐกิจ อาทิ สปป.ลาว ที่มีนโยบายในการสร้างเขื่อนเพื่อขายกระแสไฟฟ้า อย่างเขื่อนไซยะบุรี

โฆษณาคุณประโยชน์ของเขื่อนฮูเวอร์ ปี ค.ศ. 1949

ตลอดประวัติศาสตร์ของการก่อสร้างเขื่อน มักไม่เคยมีการกล่าวถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม ประเด็นเหล่านี้เป็นเรื่องที่ถูกละเลย โดยหารู้ไม่ว่าเขื่อนได้ทำลายระบบนิเวศของแม่น้ำตามธรรมชาติ ปิดกั้นเส้นทางอพยพของปลา ทำให้พื้นที่ขนาดใหญ่จมอยู่ใต้น้ำ เกิดผลกระทบด้านลบต่อความหลากหลายทางชีวภาพ แหล่งน้ำจืด และวัฒนธรรมท้องถิ่น สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่มักถูกมองข้ามเนื่องจากเหตุผลทางเศรษฐกิจและการพัฒนาของแต่ละประเทศจะถูกจัดลำดับความสำคัญไว้ก่อนเสมอ

อย่างไรก็ตาม เมื่อมนุษย์เกิดความตระหนักรู้ ก็ก่อให้เกิดการเคลื่อนไหวเพื่อรื้อถอนเขื่อนทั่วยุโรปได้รับแรงผลักดัน เพราะความเข้าใจอย่างลึกซึ้งเกี่ยวกับผลกระทบเชิงลบทางนิเวศวิทยาของเขื่อนที่มีต่อระบบนิเวศของแม่น้ำ การเคลื่อนไหวนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อฟื้นฟูพลวัตทางธรรมชาติของแม่น้ำ ซึ่งได้รับผลกระทบจากการมีอยู่ของเขื่อน โดยขัดขวางการไหลของน้ำและตะกอน นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิและเคมีของน้ำ ท้ายที่สุดแล้วสิ่งเหล่านี้จะบ่อนทำลายความสมดุลทางนิเวศวิทยาของระบบแม่น้ำ การรื้อเขื่อนออกจึงเปรียบเสมือนการเคารพต่อ ‘สิทธิของแม่น้ำ’ (The Rights of Rivers) ที่ทั่วโลกกำลังรณรงค์ให้บัญญัติไว้ในข้อกฏหมาย

เหตุผลในการรื้อเขื่อนมีมากกว่าแค่การฟื้นฟูภูมิทัศน์ของแม่น้ำ แต่ยังมีเหตุผลทางนิเวศวิทยาที่เชื่อมโยงอย่างใกล้ชิดกับการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ สัตว์น้ำหลายชนิด โดยเฉพาะปลาอพยพ จำเป็นต้องมีทางเดินในแม่น้ำที่ไหลอย่างอิสระเพื่อทำให้วงจรชีวิตของพวกมันสมบูรณ์ สายพันธุ์เหล่านี้ย้ายไปมาระหว่างแหล่งวางไข่ การให้อาหาร และแหล่งอนุบาล เมื่อมีการสร้างเขื่อน การเชื่อมต่อที่สำคัญเหล่านี้จะถูกตัดขาด ส่งผลให้จำนวนปลาลดลงและเกิดความไม่สมดุลทางนิเวศวิทยา 

นอกจากนี้ ความจำเป็นในการรื้อถอนเขื่อนยังเป็นเรื่องเร่งด่วนมากขึ้น เนื่องจากความท้าทายที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แม่น้ำที่ไร้สิ่งกีดขวางจะสามารถปรับตัวตามการเปลี่ยนแปลงของปริมาณน้ำฝนและการไหลของน้ำได้ตามธรรมชาติ ทำให้แม่น้ำเหล่านี้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น ต่อสภาวะที่รุนแรงของภัยแล้งและน้ำท่วมที่มีโอกาสเกิดขึ้นบ่อยและรุนแรงมากขึ้นในยุคโลกเดือด (Global Boiling) 

เขื่อนกั้นแม่น้ำคลามัธในแคลิฟอร์เนียที่กำลังถูกรื้อ

การเชื่อมโยงระบบนิเวศต้นน้ำและปลายน้ำเข้าด้วยกัน การเชื่อมต่อใหม่นี้ทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายตามธรรมชาติของสารอาหารและอินทรียวัตถุ ซึ่งมีความสำคัญต่อการรักษาสุขภาพของระบบนิเวศลุ่มน้ำทั้งหมด นอกจากนี้ยังเป็นประโยชน์ต่อบริเวณปากแม่น้ำและบริเวณชายฝั่งที่ต้องอาศัยสารอาหารจากแม่น้ำอีกด้วย นอกจากนี้ การกำจัดเขื่อนยังช่วยปรับปรุงคุณภาพน้ำได้อย่างมาก การมีอยู่ของอ่างเก็บน้ำ ที่มีกระแสน้ำนิ่งหลังเขื่อนมักกลายเป็นต้นของปัญหาคุณภาพน้ำเนื่องจากการไหลเวียนของออกซิเจนที่ไม่เพียงพอ รวมถึงอุณหภูมิที่สูงขึ้น และการสะสมของมลพิษ 

มุมมองในทางเศรษฐศาสตร์ เหตุผลในการรื้อเขื่อนมักจะขึ้นอยู่กับการวิเคราะห์ต้นทุนและผลประโยชน์ในระยะยาว ค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาอาจเพิ่มสูงขึ้นเนื่องจากเขื่อนหลายแห่ง โดยเฉพาะเขื่อนที่สร้างขึ้นในช่วงกลางศตวรรษที่ 20 เข้าใกล้หรือเกินอายุขัยที่ประมาณการไว้ ค่าใช้จ่ายเหล่านี้ประกอบกับความเป็นไปได้ที่ประสิทธิภาพในการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำจะลดลงและการเพิ่มขึ้นของแหล่งพลังงานทดแทนรูปแบบอื่น ส่งผลให้ให้การดำเนินงานอย่างยั่งยืนของเขื่อนบางแห่งเป็นไปไม่ได้ในเชิงเศรษฐกิจ 

นอกจากนี้ กระบวนการฟื้นฟูระบบนิเวศหลังการกำจัดเขื่อนสามารถนำไปสู่ต้นทุนทางธรรมชาติที่ดีขึ้น โดยให้ผลประโยชน์ทางทางเศรษฐกิจทางอ้อม อาทิ การประมงที่ดีขึ้น ความหลากหลายทางชีวภาพที่เพิ่มขึ้น และการบริการระบบนิเวศที่ดีขึ้น ประโยชน์เหล่านี้สามารถช่วยอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น การท่องเที่ยวและนันทนาการ และสร้างรายได้ให้ชุมชน

ในด้านสังคม การทำลายเขื่อนมีเป้าหมายเพื่อเชื่อมโยงชุมชนกับทางน้ำตามธรรมชาติเข้าด้วยกัน มอบโอกาสในการพักผ่อนหย่อนใจที่ดีขึ้นและคุณภาพชีวิตโดยรวมของชุมชน แม่น้ำที่เป็นอิสระจากเขื่อนสามารจัดกิจกรรมสันทนาการต่างๆ เช่น การตกปลา พายเรือคายัค และว่ายน้ำ ซึ่งก่อนหน้านี้ถูกขัดขวางจากการมีเขื่อนที่มีความเสี่ยงด้านความปลอดภัยและข้อจำกัดในการเข้าถึง การฟื้นฟูภูมิทัศน์แม่น้ำสามารถช่วยสร้างการเชื่อมโยงที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้นระหว่างบุคคลกับสภาพแวดล้อมในท้องถิ่นโดยสนับสนุนการมีส่วนร่วมของชุมชน 

การเปลี่ยนกระบวนทัศน์นี้สะท้อนให้เห็นถึงความเข้าใจที่เปลี่ยนแปลงอย่างความยั่งยืน โดยที่สุขภาพของระบบนิเวศทางธรรมชาติถูกมองว่ามีความเชื่อมโยงภายในกับความเจริญรุ่งเรืองและความเป็นอยู่ที่ดีของสังคมมนุษย์

จากอ่างทะเลสาบเมื่อมีการรื้อเขื่อน Elwha ออก สายน้ำก็เริ่มกลับมาไหลอย่างคดคี้ยวอีกครั้ง

โครงการรื้อถอนเขื่อนที่ทะเยอทะยานที่สุดโครงการหนึ่งของยุโรปได้เกิดขึ้นใน แคว้นนอร์ม็องดี (Normandie) ประเทศฝรั่งเศส ที่แม่น้ำเซลูน (Sélune river) การรื้อถอนเขื่อนขนาดใหญ่ 2 แห่ง ได้แก่ Vezins และ La Roche qui Boit ที่สร้างขึ้นในศตวรรษที่ 20 สำหรับการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำ หลังจากการถกเถียงกันอย่างกว้างขวางเกี่ยวกับความอยู่รอดทางเศรษฐกิจ ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และประโยชน์ที่อาจเกิดขึ้นจากการฟื้นฟูแม่น้ำ สุดท้ายก็เกิดการรื้อออกในปี 2019 และวางเป้าหมายฟื้นฟูแม่น้ำและสายน้ำย่อยที่ยาวกว่า 90 กิโลเมตร เพื่อให้น้ำไหลได้อย่างอิสระ และช่วยให้ปลาอพยพ เช่น ปลาแซลมอนและปลาไหล กลับคืนสู่แหล่งวางไข่ตามธรรมชาติ 

ผลลัพธ์ในช่วงแรกมีแนวโน้มที่ดี โดยมีจำนวนปลาเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และมีการสังเกตการเริ่มต้นของการฟื้นฟูระบบนิเวศ โครงการนี้ยังมีจุดมุ่งหมายเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวและการพักผ่อนหย่อนใจในท้องถิ่น โดยแสดงให้เห็นถึงแนวทางการฟื้นฟูแม่น้ำในหลากหลายแง่มุม

อีกฝั่งของมุมโลกในโครงการรื้อถอนเขื่อน Elwha ในรัฐวอชิงตัน (Washington) สหรัฐอเมริกา ถือเป็นกรณีศึกษาที่สำคัญสำหรับชุมชนสิ่งแวดล้อมโลก เขื่อนขนาดใหญ่สองแห่งถูกสร้างขึ้นในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ซึ่งขัดขวางการอพยพของปลาแซลมอน ส่งผลกระทบต่อชนเผ่าพื้นเมืองอเมริกันในพื้นที่ การรื้อเขื่อนเหล่านี้แล้วเสร็จในปี 2012 และเป็นโครงการที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐอเมริกา ซึ่งนำไปสู่การฟื้นตัวของระบบนิเวศที่น่าทึ่ง โดยปลาแซลมอนและปลาสายพันธุ์อื่นๆ กลับคืนสู่แม่น้ำและวางไข่ในพื้นที่ที่ไม่สามารถเข้าถึงได้มานานกว่าศตวรรษ โครงการนี้ยังได้ฟื้นฟูการไหลของตะกอนตามธรรมชาติ การสร้างปากแม่น้ำและแหล่งที่อยู่อาศัยริมชายฝั่งขึ้นใหม่ซึ่งจำเป็นสำหรับสิ่งมีชีวิตหลากหลายสายพันธุ์ 

ตัวอย่างที่โดดเด่นอย่างหนึ่งในสหรัฐอเมริกาคือโครงการฟื้นฟูแม่น้ำ Penobscot ในรัฐเมน (State of Maine) มีจุดมุ่งหมายเพื่อฟื้นฟูการเข้าถึงแหล่งที่อยู่อาศัยของปลาแซลมอนและสายพันธุ์อื่นๆ ในระยะทางเกือบ 2,000 ไมล์ โดยการย้ายเขื่อน 2 แห่งอย่าง the Great Works Dam และ the Veazie Dam เพื่อปรับปรุงเส้นทางน้ำของปลาในขณะเดียวกันก็รักษาการผลิตพลังงานไว้ได้ โครงการนี้เป็นผลมาจากความพยายามร่วมกันระหว่าง Penobscot  Nation หน่วยงานรัฐบาล องค์กรพัฒนาเอกชน และบริษัทไฟฟ้าพลังน้ำ นับตั้งแต่เสร็จสิ้นองค์ประกอบหลักของโครงการ ประชากรปลาอพยพ เช่น ปลาเอลไวฟ์ (Alewife) ปลาบลูแบล๊คเฮอร์ริ่ง (Blueback herring) และปลาแซลมอนแอตแลนติก (Atlantic salmon) ก็เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ 

โดยสรุปแล้ว การรื้อเขื่อนในยุโรปและสหรัฐอเมริกาถือเป็นก้าวสำคัญในการฟื้นฟูระบบนิเวศ การอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ และความสามารถในการฟื้นตัวจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โลกตะวันตกกำลังปูทางไปสู่ความสัมพันธ์ที่ยั่งยืนมากขึ้นกับภูมิทัศน์ริมแม่น้ำ ด้วยการจัดการกับความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนระหว่างปัจจัยทางนิเวศวิทยา เศรษฐกิจ และสังคม โครงการริเริ่มนี้เป็นประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อม เพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพ และปรับปรุงคุณภาพชีวิตของชุมชน โดยเป็นตัวอย่างสำหรับแนวทางปฏิบัติด้านการจัดการน้ำที่ยั่งยืนทั่วโลก

ผู้เขียน

+ posts

ชายหนุ่มผู้หลงไหลในกาแฟไม่ใส่น้ำตาล รักการเดินทางไปกับสินค้าของแบรนด์ Patagonia