สิทธิของสายนที เมื่อ ‘สิทธิของแม่น้ำ’ กำลังเป็นเรื่องสากล

สิทธิของสายนที เมื่อ ‘สิทธิของแม่น้ำ’ กำลังเป็นเรื่องสากล

แนวคิดในการยอมรับสิทธิของแม่น้ำเป็นแนวคิดเชิงปฏิวัติที่กำลังปรับเปลี่ยนรูปแบบทางกฎหมาย สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรมทั่วโลก แนวคิดนี้ท้าทายความเชื่อดั้งเดิมที่ว่าธรรมชาติเป็นเพียงทรัพย์สิน โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อกำหนดสถานะทางกฎหมายของทรัพยากรที่เป็นแก่นแท้ของธรรมชาติ (Natural entity) เช่น แม่น้ำ เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมเฉกเช่นมนุษย์คนหนึ่ง 

การเคลื่อนไหวนี้เป็นไปตามกระแสการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่เริ่มต้นขึ้นที่ประเทศเอกวาดอร์ซึ่งเป็นประเทศแรกที่บัญญัติสิทธิธรรมชาติเข้าไปในรัฐธรรมนูญ ในปี 2011 โดยศาลประจำจังหวัด โลฆา (Loja) กลายเป็นศาลแรกที่รับรองสิทธิของธรรมชาติอย่างถูกกฎหมาย เมื่อพวกเขาตัดสินให้แม่น้ำ Vilcabamba ชนะคดีโครงการขยายถนนโดยรัฐบาลก่อให้เกิดการตกตะกอนมากเกินไปซึ่งส่งผลเสียต่อการไหลของแม่น้ำและระบบนิเวศ ชาวบ้านในบริเวณนั้นจึงทำการร้องเรียนต่อศาลโดยใช้บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญที่ยอมรับถึงสิทธิที่แท้จริงของธรรมชาติเข้าสู้คดี การตระหนักถึงสิทธิของแม่น้ำไม่ได้เป็นเพียงสัญลักษณ์เท่านั้น แต่ยังแสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในการที่มนุษยชาติมีปฏิสัมพันธ์ต่อการปกป้องทรัพยากรธรรมชาติ

แนวคิดเรื่องสิทธิในแม่น้ำมีความเชื่อมโยงอย่างใกล้ชิดกับวัฒนธรรมพื้นเมืองทั่วโลก ที่ยอมรับมานานแล้วว่าแม่น้ำและสิ่งมีชีวิตตามธรรมชาติอื่นๆ นั้นมีจิตวิญญาณที่สมควรได้รับความเคารพและการปกป้อง ผืนดินและทางน้ำเป็นส่วนสำคัญต่ออัตลักษณ์ จิตวิญญาณ และความอยู่รอดของชนเผ่าพื้นเมือง อย่างประเทศไทยในประเพณีการลอยกระทงที่มีพื้นฐานมาจากความเชื่อในเรื่อง ‘การขอขมาต่อพระแม่คงคา’ มุมมองดังกล่าวจะมอบคุณค่าให้แก่สิ่งแวดล้อมรอบตัวเรามากกว่าการที่เอา มนุษย์เป็นศูนย์กลางผ่านแนวคิด ลัทธิมานุษยวิทยา (Anthropocentrism) ซึ่งเป็นความเชื่อพื้นฐานที่ฝังอยู่ในศาสนาและปรัชญาตะวันตกมากมาย โดยถือว่ามนุษย์เหนือกว่าและแยกจากธรรมชาติ 

แม่น้ำวังกานูอิ (Whanganui River) เป็นตัวอย่างที่ดีของวัฒนธรรมความเชื่อของชาวเมารีเผ่าวังกานูอิ อิวิ (Whanganui Iwi)ในท้องถิ่นในประเทศนิวซีแลนด์ ซึ่งเรียกแม่น้ำนี้ว่า ‘เต อะวา ทูพูอะ’ (Te Awa Tupua) โดยในภาษาเมารี ‘Te’ หมายถึง ‘the’ คำว่า ‘Awa’ หมายถึง ‘แม่น้ำ’ และ ‘Tupuna’ หมายถึง ‘บรรพบุรุษ’ ดังนั้น ‘Te Awa Tupuna’ จึงแปลว่า ‘แม่น้ำของบรรพบุรุษ’ เป็นคำกล่าวที่สรุปความเชื่อมโยงที่ลึกซึ้งระหว่างแม่น้ำกับผู้คนที่สะท้อนถึงความเชื่อในแม่น้ำในฐานะบรรพบุรุษที่ยังมีชีวิตอยู่ ความสัมพันธ์ของชาวเมารีกับแม่น้ำสะท้อนให้เห็นในคำพูดที่ว่า “ฉันคือแม่น้ำ และแม่น้ำก็คือฉัน” การดำรงชีวิตอยู่ตามแม่น้ำมิได้อาศัยแม่น้ำเป็นแหล่งอาหารเท่านั้น แต่ยังเน้นย้ำถึงความสัมพันธ์อันลึกซึ้งทางจิตวิญญาณ (Deep spiritual connection) และทางกายภาพของพวกเขากับแม่น้ำ 

โลกทัศน์นี้ได้สร้างพื้นฐานการรับรองสถานภาพแม่น้ำเป็นบุคคลทางกฎหมาย (legal personality) ในปี 2017 ได้เกิดข้อตกลงการเรียกร้องสิทธิในแม่น้ำวังกานูอิ โดยรัฐได้มอบสถานะบุคคลตามกฎหมายนี้ที่ยอมรับว่าแม่น้ำเป็นสิ่งที่แบ่งแยกไม่ได้ ดำรงอยู่ด้วยด้วยสิทธิและผลประโยชน์ สามารถเป็นตัวแทนในการดําเนินการทางกฎหมายได้ 

ชัยชนะทางกฎหมายก่อนให้เกิด ‘ข้อตกลงค่าสินไหมทดแทนแม่น้ำวังกานูอิ’ (Whanganui River Claims Settlement)  ถือเป็นก้าวสำคัญในกฎหมายสิ่งแวดล้อม โดยทำหน้าที่เป็นแบบอย่างสำหรับการยอมรับที่คล้ายคลึงกันทั่วโลก ซึ่งแสดงให้เห็นถึงศักยภาพในมุมมองความเชื่อชนพื้นเมืองผสมผสานกับระบบกฎหมายสมัยใหม่ โดยนำเสนอวิธีคิดแบบใหม่เกี่ยวกับการอนุรักษ์และดูแลสิ่งแวดล้อม

การเกิดแนวคิด ‘สิทธิของธรรมชาติ’ นั้นมาจากข้อโต้แย้งทางกฎหมายสิ่งแวดล้อมในปัจจุบันที่ยังไม่เพียงพอ เนื่องจากไม่สามารถระบุสาเหตุที่แท้จริงของความเสื่อมโทรมของระบบนิเวศได้อย่างลึกซึ้งสักเท่าไหร่ การเคลื่อนไหวเหล่านี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างความเป็นธรรมต่อสิ่งแวดล้อมบนหลักของการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนผ่านสิทธิตามกฎหมาย

ผลกระทบทางกฎหมายและแบบอย่างระดับโลกที่เกิดจากการยอมรับสิทธิของแม่น้ำ ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในกฎหมายสิ่งแวดล้อมและธรรมาภิบาล การเปลี่ยนแปลงนี้ตระหนักดีว่าแม่น้ำเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีสิทธิ และจำเป็นต้องมีระบบกฎหมายในการปรับตัวและสร้างสรรค์เพื่อปกป้องสิทธิเหล่านี้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังตัวอย่างที่ปรากฏต่อแม่น้ำวังกานูอิของนิวซีแลนด์ และขยายไปยังเขตอำนาจศาลอื่นๆ ที่แสดงให้เห็นถึงวิธีที่ระบบกฎหมายต่างๆ รวมเอาแนวคิดเหล่านี้เข้าด้วยกัน การทำความเข้าใจผลกระทบและเหตุการณ์ก่อนหน้าเหล่านี้ให้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับความท้าทายและโอกาสของกระบวนทัศน์ทางกฎหมายนี้

อีกประเด็นที่มีความสำคัญ คือ แนวคิดเรื่อง ‘สภาพบุคคล’ (Legal Personality) ที่สามารถมีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมายได้ของแม่น้ำ ได้รับการยอมรับว่าเป็นนิติบุคคลซึ่งสามารถเป็นเจ้าของทรัพย์สิน ฟ้องร้องหรือถูกฟ้องร้องได้ แนวทางนี้เปลี่ยนแปลงวิธีการใช้กฎหมายสิ่งแวดล้อมกับแม่น้ำอย่างมีนัยสำคัญ โดยเปลี่ยนจากกรอบที่มองว่าแม่น้ำเป็นทรัพย์สินหรือทรัพยากร ไปเป็นกรอบที่ยอมรับว่าแม่น้ำเป็นนิติบุคคลที่มีสิทธิโดยธรรมชาติ การดำเนินการนี้เองเกี่ยวข้องกับองค์ประกอบสำคัญที่เรียกว่า ‘ความเป็นผู้พิทักษ์’ (Guardian) ซึ่งได้รับมอบหมายให้ดำเนินการในนามของผลประโยชน์ของแม่น้ำในด้านกฎหมายและการบริหาร แนวทางนี้เน้นย้ำถึงวิธีที่แม่น้ำสามารถสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพภายในระบบกฎหมายที่ออกแบบมาเพื่อส่งตัวแทนบุคคลขึ้นให้การในชั้นศาลในฐานะผู้ปกป้องแม่น้ำ

ในกรณีของแม่น้ำวังกานูอิ ผู้พิทักษ์สองคนได้รับเลือกให้เป็นตัวแทนผลประโยชน์ของตน คนหนึ่งเป็นชนพื้นเมืองเผ่าวังกานูอิ อิวิ และอีกคนจากรัฐบาลนิวซีแลนด์ เพื่อให้แน่ใจว่าแม่น้ำเป็นตัวแทนจากมุมมองของคนพื้นเมืองและภาครัฐ และช่วยส่งเสริมแนวทางการทำงานร่วมกันในการจัดการและปกป้องแม่น้ำ

หลายประเทศเดินตามรอยเท้าของนิวซีแลนด์ด้วยการผลักดันให้เกิดการยอมรับทางกฎหมายสำหรับนิติบุคคลตามธรรมชาติ อาทิ ในปี 2017 ศาลรัฐธรรมนูญของโคลอมเบียยอมรับสิทธิของแม่น้ำอาตราโต (Atrato) ในการ “ปกป้อง อนุรักษ์ บำรุงรักษา และฟื้นฟู” การตัดสินใจครั้งนี้เน้นให้เห็นถึงพันธกรณีของรัฐในการปกป้องสิทธิของแม่น้ำ ซึ่งรวมถึงสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของชุมชนที่อาศัยอยู่บนแม่น้ำ

ในรัฐอุตตราขัณฑ์ ที่ประเทศอินเดีย ศาลสูงยอมรับในช่วงสั้นๆ ว่าแม่น้ำคงคาและแม่น้ำยมุนาเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีสิทธิตามกฎหมาย อย่างไรก็ตาม ศาลฎีกาของอินเดียได้กลับคำตัดสินนี้ในเวลาต่อมา แต่สิ่งที่เกิดขึ้นก็จุดประกายให้เกิดการอภิปรายที่สำคัญและเป็นแบบอย่างในการพิจารณาสิทธิของธรรมชาติกระบวนการทางกฎหมายของอินเดีย

การรับรองสิทธิในแม่น้ำตามกฎหมายทำให้เกิดความท้าทายและข้อพิจารณาหลายประการที่ต้องทำความเข้าใจอย่างเคร่งครัด ความท้าทายหลักประการหนึ่งคือการบูรณาการสิทธิเหล่านี้ภายในกรอบกฎหมายที่มีอยู่ซึ่งเน้นไปที่มนุษย์เป็นหลัก นอกจากนี้ยังมีคำถามเชิงปฏิบัติเกี่ยวกับการสร้างสมดุลระหว่างสิทธิในแม่น้ำกับสิทธิมนุษยชนและผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ การเปลี่ยนแปลงนี้จำเป็นต้องมีการทบทวนขั้นพื้นฐานเกี่ยวกับสิทธิในทรัพย์สิน กฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อม และการจัดการทรัพยากร

ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีความท้าทายในการกำหนดและตีความสิทธิของแม่น้ำในลักษณะที่ทั้งมีความหมายและใช้งานได้จริง การกำหนดความหมายของแม่น้ำที่มี ‘สิทธิในการไหล’ หรือ ‘สิทธิในการปราศจากมลพิษ’ เกี่ยวข้องกับการพิจารณาทางวิทยาศาสตร์ กฎหมาย และจริยธรรมที่ซับซ้อน

ความร่วมมือกับชุมชนพื้นเมืองมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการเดินทางครั้งนี้ ความรู้และความสัมพันธ์ของพวกเขากับแม่น้ำสามารถเป็นแนวทางในการจัดการและอนุรักษ์อย่างยั่งยืน ความตระหนักรู้และการศึกษาของสาธารณชนก็มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการเปลี่ยนค่านิยมทางสังคมไปสู่โลกทัศน์ที่เป็นศูนย์กลางเชิงนิเวศน์ที่เคารพและให้เกียรติคุณค่าที่แท้จริงของสิ่งมีชีวิตทางธรรมชาติ ซึ่งรวมถึงการส่งเสริมการเจรจาระดับโลกเกี่ยวกับความสำคัญของแม่น้ำที่ดีต่อสุขภาพต่อความหลากหลายทางชีวภาพ เสถียรภาพของสภาพภูมิอากาศ และความเป็นอยู่ที่ดีของมนุษย์

เส้นทางข้างหน้าเกี่ยวข้องกับการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์เพื่อติดตามสุขภาพของแม่น้ำและผลกระทบของกิจกรรมของมนุษย์ การตัดสินใจที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูลจะต้องสอดคล้องกับสิทธิและความต้องการของแม่น้ำ 

ท้ายที่สุดแล้ว การพัฒนาสิทธิทางน้ำให้ก้าวหน้าจำเป็นต้องอาศัยความมุ่งมั่นร่วมกันในการทบทวนความสัมพันธ์ของเรากับโลกธรรมชาติ ถึงเวลาแล้วที่จะต้องยอมรับอนาคตที่ความก้าวหน้าของมนุษย์และการดูแลสิ่งแวดล้อมเป็นความพยายามที่สนับสนุนร่วมกัน

อ้างอิง

ผู้เขียน

+ posts

ชายหนุ่มผู้หลงไหลในกาแฟไม่ใส่น้ำตาล รักการเดินทางไปกับสินค้าของแบรนด์ Patagonia