ค้นพบสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ของโลกกว่า 100 สายพันธุ์ใต้ทะเลลึก

ค้นพบสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ของโลกกว่า 100 สายพันธุ์ใต้ทะเลลึก

‘ทะเลน้ำลึก’ เป็นพื้นที่ใต้เขตมีแสง (Photic zone) ที่แสงไม่สามารถทะลุผ่านได้ ครอบคลุมพื้นผิวโลกประมาณ 65 เปอร์เซ็นต์ และลึกกว่า 11,000 เมตร มีจุดที่ลึกที่สุดของโลก คือ ก้นสมุทรมาเรียนา 

สภาพใต้ท้องทะเลลึกนั้นมืดสนิท มีอุณหภูมิใกล้ถึงจุดเยือกแข็ง และความดันที่อาจมากกว่าความดันบรรยากาศที่ระดับน้ำทะเลถึง 1,000 เท่า สภาวะสุดขั้วเหล่านี้ได้นำไปสู่วิวัฒนาการที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ส่งผลให้ใต้ทะเลลึกเป็นที่อยู่ของสิ่งมีชีวิตที่แปลกและลึกลับมากที่สุดในโลก

ในระหว่างการสำรวจนอกชายฝั่งประเทศชิลี นักวิทยาศาสตร์ได้ค้นพบสัตว์สายพันธุ์ใหม่มากกว่า 100 สายพันธุ์ที่อาศัยอยู่บนภูเขาใต้น้ำ การเปิดเผยการค้นพบอันน่าทึ่งนี้เกิดขึ้นตามแนวสันเขา ‘ซาลาสและโกเมซ’ (Salas y Gómez) ซึ่งเป็นเทือกเขาใต้น้ำที่ทอดยาว 2,900 กิโลเมตรระหว่างชิลีและเกาะอีสเตอร์ การค้นพบนี้เผยให้เห็นความหลากหลายทางชีวภาพที่ซ่อนอยู่ในมหาสมุทรที่ระดับความลึกสูงสุดถึง 3,530 เมตรจากระดับน้ำทะเล

ทีมนักวิจัยนานาชาติที่ได้รับการสนับสนุนจากจากสถาบันมหาสมุทรชมิดต์ (Schmidt Ocean Institute) ได้ทำการสำรวจใต้ทะเลลึกโดยใช้หุ่นยนต์สำรวจใต้น้ำ ในบริเวณที่ไม่เคยมีการสำรวจมาก่อนซึ่งครอบคลุมพื้นที่ 52,777 ตารางกิโลเมตร ผ่านการเก็บข้อมูล ทำแผนที่ภาคพื้นสมุทรและแนวภูเขาใต้น้ำ จนในที่สุดก็ได้พบระบบนิเวศใต้ทะเลลึกที่มีความหลากหลายทางชีวภาพในสภาวะสุดขั้วที่มนุษย์ไม่สามารถเอื้อมถึงได้

ในระหว่างการสำรวจ มีการค้นพบที่น่าทึ่งหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็น ปะการังใต้ทะเลลึก (Deep-sea corals) ฟองน้ำแก้ว (Glass sponges) เม่นทะเล (Sea urchins) แอมฟิพอด (Amphipod) กุ้งก้ามกรามหมอบ (Squat lobster) และสายพันธุ์อื่นๆ อีกมากมายที่เชื่อกันว่าเป็นสายพันธุ์ใหม่ของโลก 

ซึ่งความหลากหลายของรูปแบบสิ่งมีชีวิตที่พบ ได้เน้นย้ำถึงความหลากหลายทางชีวภาพที่อุดมสมบูรณ์แต่เปราะบางในส่วนลึกของมหาสมุทร ดร.จาเวียร์ เซลลาเนส (Javier Sellanes) ผู้เชี่ยวชาญด้านการสำรวจ แสดงความประหลาดใจกับการค้นพบปริมาณสายพันธุ์ใหม่ที่ไม่คาดคิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งสายพันธุ์ของฟองน้ำ จนเขากล่าวว่า “ระบบนิเวศที่เจริญรุ่งเรืองและมีสุขภาพดีเหล่านี้บ่งชี้ว่าอุทยานทางทะเล Nazca-Desventuradas และ Juan Fernández Marine Park ปกป้องแหล่งที่อยู่อาศัยทางทะเลที่ละเอียดอ่อนได้อย่างมีประสิทธิภาพ”

เนื่องจากความยากลำบากในการสำรวจใต้ท้องทะเลลึก จึงมีสัตว์หลายชนิดที่ยังคงรอการค้นพบ ความเข้าใจที่ดีขึ้นเกี่ยวกับพลวัตทางนิเวศวิทยาของแหล่งที่อยู่อาศัยเหล่านี้ก็เป็นสิ่งจำเป็นเช่นกัน ทะเลน้ำลึกมีบทบาทสำคัญในกระบวนการระดับโลก เช่น การหมุนเวียนคาร์บอนและการควบคุมสภาพภูมิอากาศ 

นอกจากนี้ สิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในทะเลลึกยังมีประโยชน์อย่างมากสำหรับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีชีวภาพและการแพทย์ สัตว์หลายชนิดเหล่านี้ได้พัฒนาวิถีทางชีวเคมีที่เป็นเอกลักษณ์เพื่อให้สามารถอยู่รอดได้ในสภาวะสุดขั้ว ซึ่งสามารถสกัดออกมาเป็นเอนไซม์และวัสดุต่างๆ ตัวอย่างเช่น การศึกษาสิ่งมีชีวิตสุดขั้วใต้ท้องทะเลลึก ส่งผลให้เกิดความก้าวหน้าครั้งสำคัญในด้านเทคโนโลยีชีวภาพ เช่น การพัฒนาเทคนิคปฏิกิริยาลูกโซ่โพลีเมอเรส (Polymerase chain reaction) ซึ่งได้ปฏิวัติการวิจัยทางพันธุกรรมและการวินิจฉัยทางการแพทย์

การเปิดเผยความลึกลับที่ซ่อนอยู่ใต้ท้องทะเลลึกได้ทำให้เราเห็นถึงความเชื่อมโยงที่ซับซ้อนระหว่างชีวิตใต้ทะเลลึกและสุขภาพของโลกของเราเพื่อตระหนักถึงความมหัศจรรย์ที่มองไม่เห็นของมหาสมุทร อีกทั้งยังเน้นย้ำถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการสำรวจและอนุรักษ์อย่างยั่งยืนในแหล่งที่อยู่อาศัยที่เปราะบางเหล่านี้

อ้างอิง

ผู้เขียน

+ posts

ชายหนุ่มผู้หลงไหลในกาแฟไม่ใส่น้ำตาล รักการเดินทางไปกับสินค้าของแบรนด์ Patagonia