ค้นพบ ‘งูหางไหม้เขาหินปูน’ งูชนิดใหม่ของโลก ที่อุทยานแห่งชาติทะเลบัน  

ค้นพบ ‘งูหางไหม้เขาหินปูน’ งูชนิดใหม่ของโลก ที่อุทยานแห่งชาติทะเลบัน  

ร่วมยินดี! อุทยานแห่งชาติทะเลบัน จังหวัดสตูล ค้นพบ “งูหางไหม้เขาหินปูน” ซึ่งเป็นงูชนิดใหม่ของโลก และยังเป็นงูหางไหม้ที่มีขนาดเล็กที่สุด ณ เวลานี้  

เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2566 นายแสงสุรี ซองทอง หัวหน้าอุทยานแห่งชาติทะเลบัน เผยว่า ตนเองพร้อมด้วย นายนเคนทร์ กวีธนาธรรม ผู้ช่วยหัวหน้าอุทยานฯ และนายบุญฤทธิ์ เดโชไชย เจ้าหน้าที่ฝ่ายศึกษาวิจัย ได้ลงพื้นที่เพื่อสำรวจ ‘ลานนกหว้า’ ทว่าระหว่างทางกลับ ได้แวะพักที่เพิงถ้ำเขาหินปูน และได้ถ่ายภาพงูตัวหนึ่งที่เจอไว้ อย่างไรก็ดีในตอนแรกทุกคนเข้าใจว่ามันคือ ‘งูหางแฮ่มใต้’ (ชื่อวิทยาศาสตร์ Trimeresurus venustus) 

ต่อมาจึงได้ส่งรูปให้นักวิจัยสัตว์เลื่อยคลานเพื่อถามถึงชนิดพันธุ์ และค้นพบว่า งูที่ถูกพบนี้ไม่ใช่งูหางแฮ่มใต้แต่อย่างใด แต่มันคืองูหางไหม้ชนิดใหม่ของโลก ‘งูหางไหม้เขาหินปูน’ มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Trimeresurus ciliaris และถูกนำไปเขียนเปเปอร์งูหางไหม้ชนิดใหม่ของโลก  

ด้านนักวิจัยสัตว์เลื้อยคลานและสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก จากมูลนิธิ​กระต่ายในดวงจันทร์ ได้กล่าวถึงกรณีการค้นพบงูชนิดใหม่ครั้งนี้ว่า การค้นพบงูหางไหม้เขาหินปูน ซึ่งเป็นงูชนิดใหม่ของโลกนี้ นอกจากจะเพิ่มความหลากหลายของประชากรสัตว์ในพื้นที่แล้ว จำนวนชนิดของสัตว์เลื้อยคลานในประเทศไทยก็เพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน  

ในด้านความแตกต่างของงูหางไหม้เขาหินปูนและงูหางแฮ่มใต้นั้น แม้จะมีลักษณะภายนอก ที่หากไม่ได้สังเกตอย่างถี่ถ้วนก็จะมองว่ามันคล้ายกัน แต่จริง ๆ แล้วมีส่วนที่แตกต่างกันอยู่ในบริเวณลายข้างตัว ตำแหน่งเกล็ดเหนือตา ลายคาดที่บริเวณหน้า ลายหาง และ ลักษณะพันธุกรรมที่บ่งบอกว่า โบราณกว่า งูหางแฮ่มใต้ 

งูหางไหม้เขาหินปูน

ความสำคัญของงูต่อระบบนิเวศ 

งูถือเป็นสัตว์ผู้ควบคุมประชากรสัตว์ในระบบนิเวศ เพื่อสร้างสมดุลทางธรรมชาติ ซึ่งมันทำหน้าที่เป็นทั้งผู้ล่าและเหยื่อผู้ถูกล่าในเวลาเดียวกัน หากปราศจากงูในระบบนิเวศสัตว์ฟันแทะหรือสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำอาจมีปริมาณเพิ่มมากขึ้นจนธรรมชาติเสียสมดุลได้ อาจกล่าวได้ว่าสัตว์แต่ละชนิดมีคุณค่าและความสำคัญในตัวมันเอง หากขาดสัตว์ชนิดใดชนิดหนึ่งไป ธรรมชาติก็อาจจะเสียสมดุลได้  

ภาพประกอบจาก คุณปริญญา ภวังค์คะนันทน์ 

อ้างอิง  

ผู้เขียน

+ posts

หนุ่มน้อยผู้หลงรักความไม่สมบูรณ์แบบ ออกเดินทางเพื่อเก็บภาพความงดงามของธรรมชาติ และชอบอ่านวรรณกรรมเป็นชีวิตจิตใจ