บ้านพุระกำ ที่ไม่เคยระกำ จนกระทั่ง

บ้านพุระกำ ที่ไม่เคยระกำ จนกระทั่ง

มีหมู่บ้านหนึ่งกลางหุบเขา ที่กำลังจะกลายเป็นอ่างเก็บน้ำ “บ้านพุระกำ”

ไม่เลยบ้านพุระกำไม่ได้ระกำอย่างที่คิด เพราะชาวบ้านที่นั่นมีชีวิตที่มีความสุข อาศัยอยู่ในป่าที่อุดมสมบูรณ์

แต่หลังจากที่ผู้เขียนได้ยินเสียงเล่ามาว่าที่นี่กำลังจะถูกสร้างให้เป็นอ่างเก็บน้ำ ก็เริ่มคิดแล้วว่า ชาวบ้านคงจะระกำใจเป็นอย่างมาก

หลังจากขับรถออกจากนนทบุรีได้ 3 ชั่วโมงนิดๆ เราก็มาถึงหมู่บ้านแรก “บ้านหนองตาดั้ง” ที่นี่จะเป็นฐานทัพในการวางแผนงานและที่หลับนอนของเราเป็นเวลา 3 วัน 2 คืน

ฐานทัพของเราชาวมูลนิธิสืบฯ

ซึ่งเจ้าบ้านที่นี่คือ “น้าห้อย” ผู้เป็นตัวแทนของชาวบ้านหนองตาดั้งที่ร่วมคัดค้านการสร้างอ่างเก็บน้ำในที่แห่งนี้ น้าห้อยบอกพวกเราด้วยประโยคยอดฮิตว่า “ทำตัวตามสบายเลย ที่นี่เหมือนกับเป็นบ้านของพวกเรา” ผมล่ะอดคิดไม่ได้เลยที่จะขอโฉนดน้าแก แกเล่นบอกว่าทำให้เหมือนบ้านเรา

น้าห้อย – อดีตผู้ใหญ่บ้าน บ้านหนองตาดั้ง

ถึงแม้ว่าอยากจะเล่าถึงบรรยากาศที่นี่มากแค่ไหน แต่ขอกลับเข้ามาเรื่องการสร้างอ่างเก็บน้ำบ้านหนองตาดั้งก่อน เดี๋ยวคนอื่นจะคิดว่าเราเอาแต่เที่ยว ไม่ยอมทำงาน

คำถามแรกที่เกิดขึ้นในหัวผู้เขียนก็คงเริ่มจากว่า “ชื่อโครงการคืออ่างเก็บน้ำบ้านหนองตาดั้งแต่ทำไมชาวบ้านพุระกำต้องออกมาคัดค้านล่ะ”

อ่างเก็บน้ำบ้านหนองตาดั้งจะถูกสร้างขึ้นที่บ้านพุระกำ เนื่องจากมันเป็นพื้นที่ที่กรมชลประทานมองว่าเหมาะสมในการสร้างอ่างเก็บน้ำ ถ้าอ่างนี้ถูกสร้างมันจะมีขนาดกว่า 2,000 ไร่ โดยกินพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่น้ำภาชีและซ้อนทับเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าฝั่งซ้ายแม่น้ำภาชี ซึ่งมันจะครอบคลุมมาถึงหมู่บ้านหนองตาดั้งอีก 439 ไร่ ทำให้ชาวบ้านหนองตาดั้งก็ต้องออกมาคัดค้านร่วมกับชาวบ้านพุระกำ

2,000 ไร่ นี่มันจะใหญ่ขนาดไหนกัน ถ้าให้นึกจากตัวพื้นที่ก็คงนึกไม่ออก แต่ปริมาตรน้ำที่มันจะกักเก็บได้นั้นก็ราวๆ 50 ล้าน ลบ.ม. ด้วยสันเขื่อนที่สูงถึง 50 เมตร หรือจะให้มองเห็นอีกภาพก็เท่ากับแทงค์น้ำบ้านเราที่มีขนาด 1,000 ลิตร จำนวน 50 ล้านถัง

และถ้าโครงการนี้เกิดขึ้นจริงๆ มันจะทำลายพื้นที่ป่าของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่น้ำภาชีถึง 500 กว่าไร่ ซึ่งมันกระทบเป็นวงกว้าง ไม่ว่าจะทรัพยากรป่าไม้ สัตว์ป่า หรือชาวชาติพันธุ์อีกหลายร้อยชีวิตที่อาศัยอยู่ในพื้นที่แห่งนี้

หลังจากคืนแรกผ่านไป เช้าวันใหม่มาพร้อมกับภารกิจที่ได้รับมอบหมาย นั่นก็การเดินสำรวจพื้นที่ป่าและร่องรอยสัตว์ป่า เนื่องจากว่าก่อนหน้านี้ ทางชาวบ้านได้เข้าไปติดตั้งกล้องดักถ่ายภาพสัตว์ป่าไว้ และได้ภาพสัตว์ป่าหายากมามากมาย แต่ไม่มีจุดพิกัดของกล้อง เนื่องจากอุปกรณ์ของชาวบ้านที่ยังไม่พร้อม

เจ้าหน้าที่มูลนิธิสืบฯ และเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่ากำลังปรึกษากันเรื่องเส้นทางในวันนี้

หลังจากที่พวกเราได้ปรึกษากับหัวหน้าหน่วยพิทักษ์ป่าหนองตาดั้งแล้ว ถ้าเราต้องเดินเก็บข้อมูลให้ครบตามเป้าหมาย เราอาจจะต้องเดินกันจนมืดค่ำเลยทีเดียว เลยแนะนำให้พวกเราขับรถเข้าไป แต่ว่าทางมันค่อนข้างลำบาก จำเป็นต้องใช้รถขับเคลื่อนสี่ล้อ

และเราก็ผ่านอุปสรรคต่างๆ มากมาย จนมาถึงจุดแรก ระยะทางประมาณ 6-7 กิโลเมตร ใช้เวลาไปประมาณ 30 นาที

หลังจากที่พวกเราได้กระเด้งกระดอน เลื้อยไหลผ่านโคลน กระโจนผ่านห้วยต่างๆ เราก็มาถึงจุดแรก เป็นจุดที่มีคุณลุงต้นไม้ขนาดใหญ่ เหมาะสำหรับเป็นบ้านให้กับนกเงือก ที่สำคัญบรรยากาศรอบตัวผู้เขียน

ณ ตอนนั้น มันสุดยอดมาก ที่นี่คือป่าที่สมบูรณ์มากๆ แห่งหนึ่ง เท่าที่ผู้เขียนเคยพบมา

คุณลุงต้นไม้ บ้านของนกเงือก
เป็นป่าที่เขียวได้สดชื่นมากๆ นึกแล้วก็โกรธ ทำไมต้องมาทำลายป่าที่สมบูรณ์แบบนี้

11.00 น. ต้องรีบออกเดินทางไปอีกจุดหนึ่งต่อ ก่อนที่มันจะมืด เพราะในป่า เราคาดเดาอะไรไม่ได้เลย

ตอนนี้ฝนก็เริ่มโปรยปรายลงมาแล้ว มันอาจจะทำให้การข้ามน้ำของเรานั้นอันตรายยิ่งขึ้น

ไกด์ของเรา (เจ้าหน้าที่หน่อยพิทักษ์ป่าฯ) ได้นำทางพวกเราไปยังจุดถัดไป ซึ่งหลังจากนี้ เราต้องเดินกันจริงๆ แล้วล่ะ เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่รถไม่สามารถเข้าถึง

ขอถ่ายรูปเป็นหลักฐานว่าเรามาทำงาน ได้มา 1 แชะ! (ปล.ผู้ชายตัวเล็กๆ ที่ใส่เสื้อยืดสีเขียวตรงกลางภาพ คือ 1 ในไกด์ของพวกเรา เป็นชาวบ้าน ไม่ใช่ผู้ต้องหานะครับ)
ทางมันก็จะเป็นโกโก้ปั่นอยู่หน่อยๆ แต่สบายมาก ถ้าลื่นล้มก็เละเทะ! ง่ายนิดเดียว
ดูสิดู! กรมชลจ๋า…ที่นี่อุดมสมบูรณ์มากเลยนะ
เดินกลับไปที่รถของพวกเรา ต้องเดินทางไปยังจุดถัดไปกันแล้ว

หลังจากดื่มด่ำบรรยากาศได้สักพัก เลื้อยไหลไปตามทางได้อีกราว 30 นาที ก็มาถึงจุดปลายทาง รถได้ต่อไม่ได้แล้ว “จอดตรงนี้” เสียงดังมาจากกระบะรถ

“ถึงเวลาเดินแล้วสินะ” ผู้เขียนคิดในใจ

ก่อนออกเดิน ก็ตรวจสอบจุดหมายของเราอีกสักที เพื่อความชัวร์

เอ้อ..ทางเดินก็ไม่ยากอย่างที่คิด แบบนี้ชิลๆ เลย

เดินได้ราว 15 นาที ยังไม่เหนื่อยแฮะ บรรยากาศเย็นสบาย มีฝนปรอยๆ ลงมาบ้าง พอให้เราได้สดชื่น

แอบดีใจกับเส้นทางที่เรียบง่ายได้ครู่เดียว “ระวังนะ น้ำแรง!” เสียงดังมาจากคนข้างหน้า

“เรากำลังจะเดินข้ามห้วย”

พี่ๆ เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่ากำลังนั่งรอที่จะพาพวกเราเดินข้ามห้วย
กระแสน้ำค่อนข้างแรง ถ้าพลาดท่าละก็…
สภาพของน้อง 1 ในทีมมูลนิธิสืบฯ เนื่องจากน้ำที่ไหลเชี่ยวจึงถูกเจ้าหน้าที่ฯ จับกุมตัวและพาเดินข้ามน้ำ

ระหว่างทางการเดินสำรวจนั้น เราก็พบร่องรอยสัตว์ป่าเป็นระยะๆ ที่พบได้มากที่สุดก็น่าจะเป็นร่องรอยของเจ้าหมูป่า มีทั้งรอยคุ้ย รอยตีน

ร่องรอยการขุดหาอาหารใต้ดินของเจ้าหมูป่า
รอยตีนของเจ้าหมูป่า มองดีๆ จะเห็นเป็นรอยกีบเท้า

เกือบจะจบภารกิจสุดท้ายของการเดินแล้ว อีกไม่ไกลมาก

และพวกเราก็เริ่มเร่งฝีเท้า เพราะเรายังมีงานที่ต้องช่วยชาวบ้านในหมู่บ้านต่ออีก

ข้าวเที่ยงก็ยังไม่ได้กินกันเลย แต่คุยกันว่า ไหนๆก็ไหนๆแล้ว เอางานให้เสร็จก่อน

ห้วยแล้ว…
…ห้วยเล่า
ใกล้จะถึงจุดหมายแล้วอีกราวๆ 400 เมตร บรรยากาศระหว่างทาง ไม่มีเหนื่อยเลยจริงๆ มันเขียวสดชื่นมากๆ
ในที่สุดพวกเราก็มาถึงจุดสุดท้ายของวันนี้ น้องๆ กำลังบันทึกข้อมูลลงแผ่นกระดาษ
ยืนดูคุณลุงต้นไม้ขนาดใหญ่..ถ้าอ่างเก็บน้ำมา คุณลุงจะอยู่ยังไง
ได้เวลามื้อเที่ยงของพวกเรา กินกันริมห้วยนี่แหละ
หลังจากอิ่มท้อง พวกเราก็ออกเดินทางกันต่อ เพื่อกลับไปพักให้หายเหนื่อย

ออกมาจากป่าแล้ว หลังจากที่พวกเราได้พักให้พอที่จะหายเหนื่อย ก็ได้เวลาเดินทางเข้าไปยังหมู่บ้านพุระกำ เพื่อไปดูการเตรียมความพร้อมของเช้าบ้าน ที่จะรับมือกับการเข้ามาเจรจาของกรมชลประทาน ในเรื่องของโครงการการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำในที่แห่งนี้

ระหว่างทางจะได้พบกับป้ายคัดค้านโครงการฯ ที่ชาวบ้านรวมเงินกันทำขึ้นมาเอง
ชาวบ้านกำลังรอเพื่อนๆ ที่จะมาช่วยติดตั้งป้ายไว้กับสายไฟที่พาดผ่านทางเดิน
น้องๆ วัยรุ่นที่กำลังขีดเขียนข้อความ เตรียมไว้ใช้สื่อสารให้กับทางกรมชลฯ
พี่เปเล่ (ซ้ายของภาพ) และน้าห้อย

สิ่งที่ผู้เขียนสังเกตเห็นก็คือความสามัคคีของชาวบ้านที่นี่ ทุกคนมารวมตัวกันแทบจะทุกหลังคาเรือนไม่ว่าจะเป็นเด็กเล็ก วัยรุ่น ผู้ใหญ่ แม้แต่คุณตาคุณยายที่เดินเหินไม่ค่อยคล่องนักพวกเขาก็มาร่วมรับฟัง 

พวกเขาก็ไม่ละเลยที่จะมาร่วมกันวางแผนปกป้องบ้านของเขา ลึกๆ ในใจของผู้เขียนคิดว่า พวกเขาเหนียวแน่นกันขนาดนี้ ทางกรมชลฯ คงใจอ่อนบ้างแหละ

กลุ่มชาวบ้านชาวพุระกำ กำลังพูดคุยหยอกล้อกันอย่างมีความสุข
ชาวบ้านส่วนหนึ่ง ได้เข้ามาซักซ้อมการถือป้าย เพื่อให้แน่ใจว่า จะไม่บดบังกันเอง
“ไม่ย้าย ไม่ไป” คือคำที่เราจะได้ยินจนติดหู เป็นคำสั้นๆ ที่หนักแน่นมาก
พี่เปเล่กับน้าห้อย กำลังทำความเข้าใจกับชาวบ้าน ว่าวันรุ่งขึ้น พวกเราจะทำการประชุมหารือกันอย่างสุภาพ เรียบร้อย ไม่ใช้อารมณ์ ให้ใช้หลักการและเหตุผล
ทีมงานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร กำลังแนะนำตัวกับชาวบ้าน และให้คำสัญญาว่าจะร่วมสนับสนุนการดูแลผืนป่านี้ร่วมกับชาวบ้านพุระกำต่อไป..
เสื้อตัวนี้ คือเสื้อที่ชาวบ้านเรี่ยไรเงินกันทำขึ้นมา เพื่อแสดงให้เห็นถึงจุดยืนว่าพวกเขา “คัดค้าน” พรุ่งนี้ผู้เขียนหวังว่าจะได้เห็นเสื้อสีเขียวส้มจัดจ้านแบบนี้เต็มทั่วพื้นที่หมู่บ้านพุระกำ

9 ตุลาคม 2566

วันที่เราจะเห็นกลุ่มคนหลักร้อยคน ใส่เสื้อสีส้มเขียวสดใส ที่บนแผ่นหลังของพวกเขาสลักคำไว้ว่า “พุระกำ คัดค้านโครงการอ่างเก็บน้ำหนองตาดั้ง”

08.30 ชาวบ้านเริ่มเดินทางมารวมตัวกัน ณ ศาลากิจกรรม
ชาวบ้านพุระกำและหนองตาดั้งถือป้ายแสดงเจตจำนงของพวกเขา ระหว่างรอการประชุมที่กำลังจะเกิดขึ้น
“ไม่เอาเขื่อน ไม่ลงไป เราจะอยู่ที่นี่” ชาวพุระกำไม่ลง แต่มงลงแล้ว

ใกล้ถึงเวลานัดหมาย กลุ่มชาวบ้านทยอยกันเข้าไปยังศาลากิจกรรมบ้านพุระกำ ใช้เวลาไม่นานนัก ตัวศาลากิจกรรมก็เริ่มจะจุคนไม่ไหว ทำให้พี่น้องที่มาร่วมรับฟัง ต้องกระจายตัวกันอยู่รอบศาลา แต่เรื่องนี้ไม่ใช่ปัญหาใหญ่สำหรับพวกเขาเลย ปัญหาจริงๆ มันคือสิ่งที่กำลังจะเข้ามาต่างหาก นั่นคือ “อ่างเก็บน้ำ”

ชาวบ้านเริ่มทยอยกันเดินเข้ามาในพื้นที่ที่จัดประชุม
เสื้อส้มเขียวเต็มพื้นที่ นี่แหละภาพที่ผู้เขียนจินตนาการไว้
กลุ่มชาวบ้านล้นออกไปนอกศาลาแล้ว

ในที่สุดกลุ่มภาครัฐก็มาถึงยังบ้านพุระกำ ตรงเวลาไม่ขาดไม่เกิน นำโดย นางสาววริษฐา สงวนเสริมศรี รองผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี นางบุญยิ่ง นิติกาญจนา สส.ราชบุรี เขต 2 นายสุรชาติ  มาลาศรี ผอ.สำนักบริหารโครงการคณะทำงานและเลขานุการคณะทำงานขับเคลื่อนโครงการอ่างเก็บน้ำบ้านหนองตาดั้ง นายสาธิต อำลอย ผอ.สำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดกลางที่ 13

Range Rover รถขับเคลื่อนสี่ล้อสุดหรู กำลังเคลื่อนที่ผ่านป้ายผ้าดิบบางๆ ที่ถูกเขียนไว้ว่า “ชาวบ้านพุระกำขอคัดค้านอ่างฯ พวกเราจะไม่ย้ายไปไหนเด็ดขาด”
ผู้หญิงในภาพ : นางสาววริษฐา สงวนเสริมศรี รองผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี

หลังจากที่ทุกหน่วยงานมากันครบ ก็ได้เวลาเริ่มประชุมหารือและทำความเข้าใจกับกลุ่มชาวบ้านพุระกำและหนองตาดั้ง ในเรื่องการสร้างอ่างเก็บน้ำบ้านหนองตาดั้ง โดยทางตัวแทนของกลุ่มชาวบ้านแจ้งว่า อยากจะให้ทางภาครัฐเป็นฝ่ายเริ่มพูดก่อน

หน่วยงานจากภาครัฐกำลังพูดถึงวัตถุประสงค์การสร้างอ่างเก็บน้ำ
คุณลุงกำลังยืนฟังกรมชลฯ พูด อย่างตั้งใจ
ชาวบ้านกำลังตั้งใจอ่านหนังสือ “พุระกำ การส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมและพัฒนาคุณภาพชีวิต ในหมู่บ้านรอยตะเข็บแนวชายแดน” ที่จัดทำโดยกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม
นายสาธิต อำลอย ผอ.สำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดกลางที่ 13

“เรามีเป้าหมายที่จะสร้างอ่างตรงจุดนี้ ทำให้พื้นที่ตรงนี้เกิดน้ำท่วม และจะมีการเยียวยา อยากถามชาวบ้านว่า อยากจะย้ายไปตรงไหน” 

“ซึ่งจะไม่ไกลจากที่นี่ จะมีบ้านให้ มีที่ทำกินให้ มีไฟฟ้าให้ มีการส่งเสริมการท่องเที่ยวเนื่องจากที่นี่มีจุดเด่นเรื่องการเป็นชาติพันธุ์ เป็นชนกลุ่มน้อย ”

“อะไรที่พวกผมทำได้ จะยินดีทำให้เลย จะทำให้ความเป็นอยู่ดีขึ้น เราจะพยายามดำเนินการให้ แต่ไม่รับปากว่าจะดำเนินการได้” นายสาธิต  อำลอย ผอ.สำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดกลางที่ 13 กล่าว

หลังจากหน่วยงานภาครัฐเริ่มพูดถึงตัวโครงการได้ไม่นาน ชาวบ้านบางส่วนก็เริ่มชูป้าย พร้อมกับพูดว่า “เราจะไม่ย้ายไปไหน เราจะอยู่ที่นี่”

กระดาษเพียงไม่กี่แผ่นของชาวบ้าน กำลังทำการต่อสู้กับเอกสารการสร้างอ่างเก็บน้ำฯ นับพันแผ่นของกรมชลฯ

หลังจากที่กรมชลฯ ได้พูดถึงวัตถุประสงค์การสร้างอ่างและการเยียวยาที่จะเกิดเสร็จไปแล้วก็ถึงคราวของชาวบ้านพูดถึงความสำคัญของพื้นที่ป่าแห่งนี้ และทำการตอบกลับในข้อเสนอของทางกรมชลฯ ที่มอบมาให้ว่า

“เราไม่ย้าย เราจะอยู่ที่นี่”

“เราร้องขอให้ทางกรมชลฯ ยกเลิกโครงการนี้”

“เสนอว่าอยากให้ภาครัฐนำงบประมาณไปพัฒนาอ่างเก็บน้ำเดิมที่มีอยู่แล้ว เนื่องจากบริเวณโดยรอบพื้นที่มีอ่างเก็บน้ำอยู่แล้ว 6-7 แห่งนั้น ยังไม่สามารถกักเก็บน้ำได้เลย”

“ตรงนี้น้ำกับป่ามันสมบูรณ์อยู่แล้ว ธรรมชาติสร้างมายังไง ท่านไม่ต้องไปทำลายมันหรอก”

พี่เปเล่กับน้าห้อยกำลังพูดถึงความสำคัญของพื้นที่ป่าแห่งนี้

ด้านนางบุญยิ่ง นิติกาญจนา สส.ราชบุรี เขต 2 กล่าวว่าตนรับเรื่องและจะนำไปแจ้งให้กับทาง ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ว่า “ชาวบ้านไม่ต้องการอ่างเก็บน้ำ และมีข้อเสนอว่าปรับอ่างบ้านบ่อหวีให้เป็นประโยชน์มากขึ้นได้ไหม เช่นให้กว้างขึ้น สูงขึ้น และสัญญาอีกครั้งว่า เรื่องนี้จะไปถึงรัฐมนตรีธรรมนัสแน่นอน”

นางบุญยิ่ง นิติกาญจนา สส.ราชบุรี เขต 2

นางสาววริษฐา สงวนเสริมศรี รองผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี ได้กล่าวสรุปประชุมหารือและทำความเข้าใจกับกลุ่มชาวบ้านพุระกำและหนองตาดั้งว่า

“ความแคลงใจของชาวบ้านฯ ในเรื่องประสิทธิภาพอ่างเก็บน้ำเดิมที่มีอยู่แล้วทั้ง 7 อ่าง กรมชลประทานต้องไปทำความเข้าใจวัตถุประสงค์การสร้างอ่างเก็บน้ำฯให้ชัดเจน”

“เรื่องจิตใจ และการปกป้องรักษาป่าของชาวบ้าน ถึงแม้จะมีการได้รับค่าชดเชยมากน้อยขนาดไหน ซึ่งทั้งหมดเป็นข้อมูลของคณะทำงานขับเคลื่อนอ่างเก็บน้ำบ้านหนองตาดั้งในการนำเสนอหรือดำเนินการในเรื่องอื่นๆต่อ การจะมีหรือไม่มีขึ้นอยู่กับเจ้าของโครงการ”

นางสาววริษฐา สงวนเสริมศรี รองผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี

ทางมูลนิธิสืบยังคงเฝ้าติดตามกระบวนการเสนอโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำบ้านหนองตาดั้ง ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่น้ำภาชี และเราจะยังคงนำเสนอข้อมูลคุณค่าและความสำคัญของผืนป่าแห่งนี้ต่อไป

ผู้เขียน

+ posts

ผู้ที่อยากบอกเล่าเรื่องราวจากป่า ให้ตรงกับนามสกุล