เปิดตัว โครงการส่งเสริมการอนุรักษ์เสือปลา อย่างมีส่วนร่วม

เปิดตัว โครงการส่งเสริมการอนุรักษ์เสือปลา อย่างมีส่วนร่วม

ปิดตัว โครงการส่งเสริมการอนุรักษ์เสือปลา อย่างมีส่วนร่วมของชุมชนรอบพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด

เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2565 มูลนิธิสืบนาคะเสถียร องค์กร Panthera และมหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ร่วมประชุมเปิดตัวโครงการ “ส่งเสริมการอนุรักษ์เสือปลา โดยกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชน รอบพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด ของ มูลนิธิสืบนาคะเสถียร” ณ อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โดยมีทางตัวแทนชุมชนในพื้นที่อำเภอ สามร้อยยอด และ อำเภอกุยบุรี มาร่วมอภิปรายและหารือการดำเนินโครงการ  

ในการประชุมเปิดตัวในครั้งนี้ ได้รับเกียรติจาก พิชัย วัชรวงษ์ไพบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 สาขาเพชรบุรี และ อาจารย์ศศิน เฉลิมลาภ ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ทำหน้าที่กล่าวเปิดประชุมเปิดตัวโครงการฯ ร่วมกับ พงศธร พร้อมขุนทด หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอดที่ได้มาเข้าร่วมประชุมเปิดตัวโครงการฯ และรับฟังปัญหาจากตัวแทนชุมชนในพื้นที่และรอบพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด 

ลำดับถัดมา ธนากร ไชยยศ เจ้าหน้าที่มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ได้กล่าวเปิดตัวแนะนำโครงการฯ เพื่อให้ผู้เข้าร่วมประชุมเข้าใจถึงปัญหาเกี่ยวกับเสือปลาที่เกิดขึ้นในพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด อันนำไปสู่ที่มาและเหตุผลของการดำเนินโครงการฯ รวมถึงวัตถุประสงค์ของโครงการฯ ดังนี้  

1. เพื่อลดผลกระทบจากความขัดแย้งระหว่างคนกับเสือปลาในพื้นที่ 

2. เพื่อป้องกันและชะลอการเปลี่ยนแปลงพื้นที่อยู่อาศัย และลดผลกระทบที่เกิดขึ้นกับประชากรเสือปลาในพื้นที่ 

3. เพื่อเกิดกลุ่มอนุรักษ์เสือปลา ผ่านการสร้างประสิทธิภาพและแรงจูงใจในการอนุรักษ์เสือปลาในพื้นที่ และนอกพื้นที่อื่น ๆ     

4. เพื่อติดตามสถานภาพ และเกิดข้อมูลเสือปลาซึ่งเป็นข้อมูลวิชาการ เสนอต่อระดับนโยบายนำไปสู่การผลักดันให้เกิดนโยบาย 

โดยการจัดทำโครงการฯในครั้งนี้มีเป้าหมายคือ เกิดการอนุรักษ์เสือปลาและถิ่นอาศัย อย่างมีส่วนร่วมตามหลักวิชาการ และชุมชนเกิดความตระหนักและได้รับประโยชน์ต่อการมีอยู่ของเสือปลาในพื้นที่ ตลอดจนนำไปสู่การลดความขัดแย้งระหว่างคนกับเสือปลา และอยู่ร่วมกันได้โดยชุมชนมีทางเลือก 

ต่อมาเป็นการรายงานแผนการดำเนินงานและความก้าวหน้างานวิจัยศึกษา โดยตัวแทนของ มูลนิธิสืบนาคะเสถียร, องค์กร Panthera Thailand, และมหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.)  

เริ่มต้นด้วย ภัสรภรณ์ ล้อประกานต์สิทธิ์ และปารีณา ธนโรจกุล ตัวแทนจากมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ได้กล่าวรายงานแผนการดำเนินงานและกิจกรรมภายใต้โครงการฯ รวมถึงแผนยุทธศาสตร์ 3 ปี (พ.ศ. 2566-2568) ดังนี้ 

ยุทธศาสตร์ที่ 1 ป้องกันและชะลอการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ที่อยู่อาศัยของเสือปลา ประกอบไปด้วย (1) ประเมินและติดตามการใช้ประโยชน์พื้นที่ (2) ประชาคมและสร้างความเข้าใจต่อชุมชนที่มีการถือครองที่ดินในพื้นที่อนุรักษ์ (3) การดูแลและปกป้องพื้นที่และประชากรเสือปลาจากปัจจัยคุกคาม (4) ส่งเสริมนโยบายควบคุมการเปลี่ยนแปลงนอกพื้นที่อนุรักษ์ (5) สำรวจและประเมินผลกระทบของรั้วรางรถไฟต่อการกระจายตัวของเสือปลา 

ยุทธศาสตร์ที่ 2 การป้องกันและลดผลกระทบที่เกิดจากเสือปลา แบ่งเป็น 2 กลยุทธ์ คือ (1) การลดความขัดแย้งระหว่างคนกับเสือปลา กิจกรรมประกอบไปด้วย ผ่านกิจกรรมจัดทำบัญชีรายชื่อผู้เลี้ยงไก่และฐานข้อมูลเพื่อจัดการความขัดแย้ง รณรงค์เพื่อสร้างความเข้าใจนำไปสู่การปรับเปลี่ยนการเลี้ยงอย่างเหมาะสม ทุนสนับสนุนทุนการสร้างกรง และกองทุนเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ (2) การจัดการพื้นที่แหล่งอาหารและถิ่นอาศัยเหมาะสมในพื้นที่อุทยานฯ เขาสามร้อยยอด โดยจะดำเนินกิจกรรมพัฒนาแหล่งอาหารของเสือปลา 

ยุทธศาสตร์ที่ 3 การสร้างประสิทธิภาพและแรงจูงใจในการอนุรักษ์เสือปลาในพื้นที่ แบ่งเป็น 2 กลยุทธ์ คือ (1) การเพิ่มผลผลิตเพื่อเพิ่มรายได้ของชุมชน (2) การเพิ่มรายได้จากการท่องเที่ยวของชุมชน ผ่านกิจกรรมสนับสนุนและส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ และการพัฒนาพื้นที่ตัวอย่างในการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ 

ยุทธศาสตร์ที่ 4 การสร้างความรู้ความเข้าใจเพื่อให้เกิดความตระหนักในการอนุรักษ์เสือปลาและถิ่นที่อยู่ แบ่งเป็น 2 กลยุทธ์ คือ (1) งานสื่อสารเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเพื่อเกิดความตระหนักในการอนุรักษ์เสือปลา ประกอบด้วยกิจกรรม พัฒนาสื่อด้านต่าง ๆ ในรูปแบบออนไลน์ การสนับสนุนสื่อออฟไลน์ให้กับเครือข่ายอนุรักษ์  เสือปลาในพื้นที่  

กลยุทธ์ที่ 2 ของยุทธศาสตร์ คืองาน เครือข่ายเยาวชน โดยดำเนินกิจกรรมสื่อความหมายธรรมชาติกับโรงเรียนในพื้นที่เป้าหมาย หลักสูตรท้องถิ่นในการอนุรักษ์เสือปลา กิจกรรมค่ายเยาวชนร่วมกับชมรมอนุรักษ์มหาวิทยาลัย กิจกรรมการเก็บข้อมูลร่วมกับอาสาสมัครชุมชนในพื้นที่ 

ยุทธศาสตร์ที่ 5 การติดตามสถานภาพของเสือปลาในพื้นที่ศึกษา  ได้แก่ (1) การศึกษาแนวโน้มประชากรเสือปลา อัตราการรอด และการเปลี่ยนแปลงประชากร (2) ขอศึกษาอาหารของเสือปลา (3) ติดปลอกคอวิทยุในพื้นที่บ้านเกาะไผ่-เกาะมอญและติดซ้ำในพื้นที่บ้านดอนยายหนู เขาแดง (4) สำรวจพื้นที่ที่มีศักยภาพต่อการใช้ประโยชน์ของเสือปลา 

และยุทธศาสตร์ที่ 6 เป็นเรื่องการบริหารจัดการ  

แล้วจึงได้กล่าวรายงานกิจกรรมการสร้างความตระหนักรู้และการมีส่วนร่วมของชุมชนรอบพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอดที่ดำเนินการแล้ว โดยได้มีการแนะนำกิจกรรมที่ได้ดำเนินการไปแล้ว เช่น การจัดทำกรงเลี้ยงไก่ให้แก่ชาวบ้านในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากเสือปลา เป็นต้น   

ศุภวัฒน์ เขียวภักดี ตัวแทน จากองค์กร Panthera Thailand ได้กล่าวรายงานความก้าวหน้างานวิจัยศึกษานิเวศวิทยาเสือปลา โดยการติดปลอกคอวิทยุสัญญาณดาวเทียม ทาง Panthera ได้นำเสนอขั้นตอนการดำเนินการติดตั้งปลอกคอเสือปลา ตั้งแต่การวางกับดัก ตลอดจนการปล่อยเสือปลากลับคืนสู่ป่าหลังจากติดตั้งปลอกคอสำเร็จ  

กิติพัทธ์ โพธิ์ศรี ตัวแทน มหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ได้กล่าวรายงานความก้าวหน้างานวิจัยประชากรของเสือปลา ประกอบไปด้วยข้อมูล การใช้พื้นที่ของเสือปลาในเขตและโดยรอบอุทยานฯ รวมถึงการเฝ้าติดตามการใช้ชีวิตของเสือปลา  

ในช่วงสุดท้ายของการประชุมได้เปิดโอกาสให้ตัวแทนชุมชนเสนอข้อเสนอแนะโครงการฯ รวมถึงร่วมกันอภิปรายหารือปัญหาหรือผลกระทบที่ได้รับจากเสือปลา โดยข้อมูลทั้งหมดที่ได้จากตัวแทนชุมชนจะนำไปสู่การพัฒนาและดำเนินการแก้ไขปัญหาเพื่อหาทางออกให้แก่ชุมชนต่อไป  

ผู้เขียน

+ posts

หนุ่มน้อยผู้หลงรักความไม่สมบูรณ์แบบ ออกเดินทางเพื่อเก็บภาพความงดงามของธรรมชาติ และชอบอ่านวรรณกรรมเป็นชีวิตจิตใจ