สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก ดัชนีชี้วัดความสมบูรณ์ป่าห้วยขาแข้ง

สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก ดัชนีชี้วัดความสมบูรณ์ป่าห้วยขาแข้ง

สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก หรือที่บางคนเรียกว่า สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ พวกเขาเหล่านี้คือสิ่งมีชีวิตที่พบได้ทั่วไปในผืนป่าและระบบนิเวศรูปแบบต่างๆ ที่หลากหลายของประเทศไทย

ในความหมายของชื่อนั้น มาจากวงจรชีวิตของสิ่งมีชีวิตที่ช่วงเริ่มต้นมักอาศัยอยู่ในน้ำ จนเมื่อเติบใหญ่ก็จะขึ้นมาใช้ชีวิตอยู่บนบก

ลักษณะทั่วไป ตามร่างกายมักมีต่อมเมือกบนผิวหนัง เพื่อสร้างความชุ่มชื้น ไม่มีเกล็ดหรือขนปกคลุม หายใจโดยใช้เหงือก ปอด บ้างก็หายใจผ่านผิวหนัง หรือผิวในปากและคอ 

เป็นสัตว์เลือดเย็น – ร่างกายปรับเปลี่ยนอุณหภูมิตามสภาพแวดล้อม 

ส่วนใหญ่ออกลูกเป็นไข่ และก็เป็นไข่แบบพิเศษที่ไม่ได้มีเปลือกแข็งหุ้มอย่างพวกนก แต่จะมีลักษณะคล้ายวุ้นห่อหุ่มเอาไว้แทน

ในทางวิทยาศาสตร์ได้แบ่งประเภทสัตว์ชนิดนี้ออกเป็น 3 กลุ่ม ใหญ่ๆ ตามรูปร่างที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน 

กลุ่มแรก คือ กบ เขียด คางคก และอึ่งอ่าง เป็นสัตว์สี่ขา ขาหน้าสั้นกว่าขาหลัง หัวสั้นทู่ ไม่มีคอ ไม่มีหาง ตาโปน

กลุ่มที่สอง คือ เขียดงู ดูเผินๆ จะมีลักษณะคล้ายกับงู มีลำตัวยาว ไม่มีรยางค์ หัวและหางทู่ ผิวเป็นเมือกลื่นๆ ค่อนข้างพบเห็นได้ยาก เพราะใช้ชีวิตอยู่ใต้ดิน

กลุ่มสุดท้าย เป็นกลุ่ม ซาลาแมนเดอร์ รูปร่างจะคล้ายจิ้งจก มีขาสั้นสี่ขา ลำตัวแบน และมีหางยาว พนได้ตามบริเวณเทือกเขาที่มีอากาศหนาวเหน็บ 

ลักษณะเด่นอย่างหนึ่งของสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกแทบส่วนใหญ่จะมีดวงตาขนาดใหญ่เมื่อเทียบกับขนาดของหัว ด้วยรูปร่างที่ไม่มีคอ หันหัวไม่ได้ จึงต้องอาศัยดวงตาที่โต เปิดมุมมองให้กว้างเพื่อการสอดส่องหาเหยื่อ 

และด้วยชื่อ ทำให้เราอาจเข้าใจไปได้ว่า สัตว์กลุ่มนี้จะต้องอาศัยอยู่ในบริเวณที่มีแหล่งน้ำ แต่ก็มีบางชนิดที่สามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมแบบอื่นๆ 

โดยสถานที่ที่เราสามารถพบสัตว์กลุ่มนี้มีตั้งแต่ส่วนที่อยู่ใต้ดินไปจนถึงยอดไม้ แต่ที่สำคัญที่อยู่อาศัยจำต้องมีความชุ่มชื้นอยู่พอสมควร 

ในแหล่งน้ำ เราสามารถพบพวกกบได้ในพื้นที่น้ำนิ่งและน้ำไหลอย่างลำธารในป่า 

บนบกเราสามารถพบพวกเขียดงู อึ่ง กบ ได้บริเวณใต้ดินที่มีความร่วนซุยและชื้นสูง พื้นที่ที่ปกคุลมด้วยใบไม้ ท่อนไม้ ใบหญ้า และก้อนหิน 

พวกปาด พบได้ตามต้นหญ้า พุ่มไม้ โพรงบนต้นไม้ ตามกิ้งไม้ ใบไม้ที่อยู่บนเรือนยอด 

สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก ถูกจัดได้ว่าเป็นหนึ่งในดัชนีชี้วัดความสมบูรณ์ของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง

แม้ว่าสัตว์กลุ่มนี้มักถูกละเลยไม่ค่อยได้รับการพูดถึงมากเท่าไหร่ หากเทียบกับสัตว์ใหญ่ๆ อย่างเสือโคร่ง หรือช้าง หรือเหล่า BIG 7 ของห้วยขาแข้ง แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า หากขาดซึ่งสิ่งมีชีวิตกลุ่มนี้แล้ว ผืนป่าก็หาใช่เป็นป่า ใช่เป็นแหล่งอุดมสมบูรณ์ไม่

เหตุที่สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก ถูกจัดให้เป็นตัวบ่งชี้การเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อม เพราะวงจรชีวิตและการดำรงชีวิตต้องอาศัยน้ำและความชื้นเป็นปัจจัยสำคัญ ดังนั้น ถ้าสภาพแวดล้อมเกิดความแห้งแล้ง ขาดน้ำ สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกจะไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ 

โดยจำนวนประชากรของสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกที่เพิ่มขึ้นหรือลดลง สามารถใช้เป็นตัวบ่งชี้การเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมได้ระดับหนึ่ง

หรือในทางนิเวศบริการที่ส่งตรงมาถึงมนุษย์ งานวิจัยชิ้นหนึ่งที่เพิ่งตีพิมพ์บนวารสาร Environmental Research Letters ระบุว่า หากสัตว์กลุ่มนี้หายไป จะนำไปสู่การอัตราการป่วยด้วยโรคมาลาเรียอย่างมีนัยสำคัญ 

โดยตัวอย่างการศึกษาในประเทศคอสตาริกา พบการป่วยด้วยโรคมาลาเรียครั้งแรกในทศวรรษที่ 1980 อันเป็นเวลาเดียวกับกบสีทอง ซึ่งเป็นสัตว์ท้องถิ่นเริ่มพบเห็นได้ยาก 

โดยนักวิจัยได้ทำแผนที่เปรียบเทียบจุดที่กบลดลงหรือหายไป ไล่มาตั้งแต่ปี 1976 จนถึงปี 2016 ก็พบว่ามันซ้อนทับกับจุดที่โรคอุบัติขึ้นอย่างพอดิบพอดี 

ตามปกตินั้น อัตราอุบัติการณ์ของโรคมาลาเรียมักจะอยู่ประมาณ 1.1-1.5 รายต่อพันคน แต่หลังจากการสูญเสียสัตว์กลุ่มนี้ ทำให้จำนวนผู้ป่วยในอเมริกากลางเพิ่มขึ้น 70-90 เปอร์เซ็นต์ เลยทีเดียว

(หมายเหตุ – การลดลงของสัตว์กลุ่มนี้ในอเมริกากลาง เกิดจากการแพร่กระจายของเชื้อราไคทริด (Chytridiomycosis) ที่ชื่อว่า Bd ซึ่งเป็นเชื้อราต่างถิ่น ถูกขนส่งไปโดยความไม่ตั้งใจผ่านการเดินทางซื้อขายแลกเปลี่ยนของมนุษย์)

สำหรับในประเทศไทย พบสัตว์สะเทินบกสะเทินน้ำแล้วประมาณ 170 ชนิด 

ส่วนของป่าห้วยขาแข้ง จากสำรวจและตรวจสอบเอกสารพบ 48 ชนิด

หรือหากแบ่งตามวงศ์จะพบว่าป่าห้วยขาแข้งมีทั้ง วงศ์เขียดงู วงศ์อึ่งกราย วงศ์คางคก วงศ์อึ่ง วงศ์กบแท้ วงศ์กบ เขียด วงศ์ปาด เป็นต้น

ตัวอย่างสายพันธุ์ที่พบ วงศ์เขียดงู มี 1 ชนิด คือ เขียดงูเกาะเต่า

วงศ์อึ่งกราย พบ อึ่งกรายข้างแถบ อึ่งกรายลายเลอะ อึ่งกรายหนังปุ่ม อึ่งกรายห้วยใหญ่ 

วงศ์คางคก พบ คางคกหัวราบ คางคกแคระ คางคกบ้าน จงโคร่ง 

วงศ์อึ่ง พบ อึ่งน้ำเต่า อึ่งข้างดำ อึ่งขาคำ อึ่งลายแต้ม อึ่งจิ๋วลายจุด อึ่งแม่หนาว อึ่งลายแต้ม อึ่งจิ๋วหลังจุด อึ่งลาย อึ่งปาดขวด อึ่งปุ่มหลังลาย อึ่งอ่างบ้าน และอึ่งอ่างก้นขีด

วงศ์กบแท้ พบ กบหูดำ กบอ่องเล็ก กบหลังไพล กบชะง่อนผาตะวันตก กบลายหินเหนือ กบบัว กบชะง่อนผาธารลอด

วงศ์กบเขียด พบ กบห้วยขาปุ่มเหนือ กบกา กบหนอง กบหงอน กบตามธารแดง กบนา กบทูด เขียดทราย เขียดจะนา

วงศ์ปาด พบ ปาดจิ๋วพม่า ปาดจิ๋วลายแต้ม ปาดแคระป่า ปาดลายเลอะเหนือ ปาดตะปุ่มจันทบุรี ปาดตะปุ่มเล็ก ปาดตีนเหลืองเหนือ ปาดจิ๋วหลังขีด ปาดเขียดตีนลาย ปาดเหนือ ปาดแคระขาเรียว ปาดลายเลอะภูเขา

เหล่านี้คือชื่อของ สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก ที่ถูกค้นพบในป่าห้วยขาแข้ง ที่มีการบันทึกไว้ในปัจจุบัน

แต่ก็ไม่แน่ว่าบนอาณาเขตกว่าล้านไร่ อาจมีสิ่งมีชีวิตกลุ่มนี้ที่ยังไม่ถูกค้นพบอยู่อีก

(หมายเหตุ – เมื่อครั้ง สืบ นาคะเสถียร และ Belinda Stewart Cox ร่วมกันเขียนรายงาน Nomination of The Thung Yai – Huai Kha Khaeng Wildlife Sanctuary พบสัตว์กลุ่มนี้ในห้วยขาแข้งเพียง 29 ชนิด)

สำหรับผู้ที่สนใจเรื่องราวของสัตว์กลุ่มนี้ โดยเฉพาะที่พบในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง และสงสัยใคร่รู้ว่าพวกมันมีหน้าตาเป็นอย่างไร สามารถหาอ่านได้ใน หนังสือคู่มือภาคสนาม โครงการวิจัยนิเวศวิทยาป่าไม้ระยะยาว สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก ห้วยขาแข้ง 

ล่าสุดหนังสือเล่มดังกล่าว เพิ่งได้รับการปรับปรุงแก้ไขเนื้อหา และเผยแพร่เป็นครั้งที่ 2 ในรูปแบบอีบุ๊ค สามารถเปิดอ่านได้ฟรี โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย จัดทำโดย มูลนิธิกระต่ายในดวงจันทร์

คลิ๊กอ่านออนไลน์


อ้างอิง

ผู้เขียน

Website | + posts

ทำงานอิสระที่เกี่ยวข้องกับหนังสือ การเขียน เรื่องสิ่งแวดล้อมและดนตรีนอกกระแส - เวลาส่วนใหญ่ของชีวิตใช้ไปกับการนั่งมองความเคลื่อนไหวของใบไม้และสายลม