‘ไผ่’ จากพืชเศรษฐกิจ สู่พืชเชื่อมผืนป่าตะวันตก ในกิจกรรมปลูกป่า สร้างรายได้ที่ยั่งยืน

‘ไผ่’ จากพืชเศรษฐกิจ สู่พืชเชื่อมผืนป่าตะวันตก ในกิจกรรมปลูกป่า สร้างรายได้ที่ยั่งยืน

‘ไผ่’ จากพืชเศรษฐกิจ สู่พืชเชื่อมผืนป่าตะวันตก ในกิจกรรมปลูกป่า สร้างรายได้ที่ยั่งยืน

ผืนป่าตะวันตก เป็นผืนป่าอนุรักษ์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ครอบคลุมพื้นที่ 6 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดตาก กำแพงเพชร นครสวรรค์ อุทัยธานี สุพรรณบุรี และกาญจนบุรี มีพื้นที่ป่าประมาณ 20 ล้านไร่ ประกอบด้วยพื้นที่อนุรักษ์ 17 แห่ง เชื่อมร้อยต่อกัน จึงทำให้มีความหลากหลายทางด้านทรัพยากร และเหมาะเป็นแหล่งพันธุกรรมของสัตว์ป่า 

อย่างไรก็ตาม ในจำนวนพื้นที่อนุรักษ์ทั้งหมด เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสนามเพรียง กลับเป็นป่าที่ถูกตัดขาดออกมาจากพื้นที่อนุรักษ์อื่นๆ ถูกคั่นกลางด้วยถนนหลวงแผ่นดินหมายเลข 1116 พื้นที่ของป่าสงวนแห่งชาติ และที่ดินทำกินของชุมชน กลายเป็นสภาพเหมือนเกาะที่โดดเดี่ยว ซึ่งป่าที่ขาดการเชื่อมถึงกันจะมีความเสี่ยงต่อสุขภาพสัตว์ และเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ในระยะยาว ทำให้สัตว์ป่าไม่สามารถไปมาหาสู่แลกเปลี่ยนพันธุกรรมกับสัตว์ป่ากลุ่มอื่นๆ ได้ โดยเฉพาะบรรดา ‘เลียงผา’ ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ป่าเขาสนามเพรียง

ดังนั้น การเพิ่มพื้นที่ป่าระหว่างเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสนามเพรียงกับอุทยานแห่งชาติคลองวังเจ้า ซึ่งมีระยะห่างจากเขาสนามเพรียงประมาณ 6 กิโลเมตร จึงเป็นอีกหนึ่งในวิธีการที่จะสามารถเชื่อมผืนป่าตะวันตกได้เชื่อมร้อยถึงกันได้ทั้งหมดอย่างสมบูรณ์แบบ 

มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ที่เล็งเห็นถึงปัญหาดังกล่าว ได้นำเอากระบวนการป่าเศรษฐกิจมาเป็นแนวคิดหลักในการดำเนินเชื่อมต่อผืนป่าทั้งสองแห่ง ดำเนินกิจกรรมภายใต้โครงการจัดการระบบนิเวศในพื้นที่ป่าสงวนเพื่อแนวเชื่อมต่อป่าตะวันตกสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน ที่นอกจากจะเชื่อมผืนป่าทั้งสองเข้าด้วยกันแล้ว ยังช่วยสร้างรายได้และพัฒนาอาชีพชุมชนให้อยู่กับป่าได้อย่างยั่งยืนอีกด้วย 

นั่นจึงทำให้เมื่อวันที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2565 ที่ผ่านมา มูลนิธิสืบนาคะเสถียรร่วมกับบริษัท เจริญโภคภัณฑ์โปรดิ๊วส จำกัด กลุ่มธุรกิจพืชครบวงจร เครือเจริญโคภัณฑ์ จัด ‘กิจกรรมการปลูกป่า สร้างรายได้ ที่ยั่งยืน’ ที่บ้านหนองบัวสามัคคี ตำบลโกสัมพี อำเภอโกสัมพีนคร จังหวัดกำแพงเพชร 

โดยกิจกรรมในครั้งนี้ได้มีการแจกจ่ายกล้าพันธุ์ไผ่ให้แก่ครอบครัวที่เข้าร่วมโครงการนำไปปลูกในพื้นที่ดินทำกินของตน ปลูกแซมตามที่ว่างต่างๆ ซคางตามวัตถุประสงค์ของกิจกรรมที่ต้องการสร้างพื้นที่ป่าที่สามารถสร้างรายได้ให้แก่คนในชุมชนอย่างยั่งยืน รวมถึงเป็นสะพานธรรมชาติที่ทำหน้าที่เชื่อมผืนป่าตะวันตกให้กลับมาดังเดิม 

เหตุที่เลือกไผ่ เพราะเป็นชนิดพันธุ์ไม้โตเร็ว ใช้เวลาในการโตเพียงแค่ 1-6 ปี ซึ่งสามารถย่นระยะเวลาให้บรรลุเป้าหมายของกิจกรรมได้เร็วขึ้น และสามารถสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนในระยะยาว จึงทำให้ไผ่เป็นพืชที่ตอบโจทย์ทั้งในแง่ของการอนุรักษ์และการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน

ไผ่

รวมถึงพื้นที่ชุมชนเป้าใหม่ส่วนมากจะปลูกลำไย เป็นพืชเศรษฐกิจ และลำไยจำเป็นต้องใช้ไม้ไผ่มาช่วยค้ำกิ่งอยู่แล้ว ไผ่จึงเป็นคำตอบที่ตรงต่อความต้องการใช้งานของชุมชน

อีกเหตุผลเป็นเพราะผู้คนในชุมชนยังมีอาชีพเก็บหาหน่อไม้ป่ามาขาย หากสามารถปลูกไผ่ได้เต็มพื้นที่ ชุมชนก็จะมีรายได้จากการเก็บหาหน่อไม้ในพื้นที่ตนเอง โดยไม่ต้องเก็บหาของป่า 

การส่งเสริมกล้าไผ่นี้ มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ได้ส่งเสริมและทดลองปลูกไผ่ในพื้นที่นำร่องของโครงการ มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2564 แล้ว เป็นจำนวนรวม 20 ไร่ และได้ติดตามความคืบหน้าและความเปลี่ยนแปลงในพื้นที่อยู่อย่างต่อเนื่อง   

หลังจากที่เริ่มเห็นภาพของป่าไผ่ที่เริ่มเจริญเติบโตขึ้น มูลนิธิสืบนาคะเสถียรจึงสานต่อโครงการและขยายพื้นที่ปลูกให้กว้างและครอบคลุมมากขึ้น ผ่านการจัดกิจกรรมปลูกป่าในครั้งนี้ ซึ่งชุมชนได้ให้การตอบรับเพิ่มมากขึ้นกว่าปีก่อนๆ 

และจากความสนใจ และการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน ถือได้ว่า ‘กิจกรรมปลูกป่า สร้างรายได้ ที่ยั่งยืน’ สามารถสร้างการประชาสัมพันธ์และการตระหนักต่อเรื่องการอนุรักษ์ผืนป่าตะวันตกต่อคนในชุมชนที่ยังไม่ได้ตัดสินใจเริ่มปลูกไผ่ร่วมกับโครงการ 

นอกจากนี้ กิจกรรมในครั้งนี้ไม่ใช่แค่การส่งมอบกล้าพันธุ์ไผ่เพียงอย่างเดียว แต่มันยังเป็นกิจกรรมที่ส่งมอบและปลูกฝังความคิดเรื่องผืนป่าตะวันตกให้แก่คนในชุมชนด้วย เพื่อที่พวกเขาจะได้มองเห็นถึงปัญหาที่กำลังเกิด และตระหนักถึงคุณค่าของป่า ตลอดจนสร้างความร่วมมือกันจัดการและแก้ไขปัญหาในพื้นที่ต่อๆ ไป 

‘กิจกรรมปลูกป่า สร้างรายได้ ที่ยั่งยืน’ ถือเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของการดำเนินการการเชื่อมป่าตะวันตก โดยผลลัพธ์ของกิจกรรมในจะบรรลุได้มากน้อยแค่ไหนนั้นไม่ได้ขึ้นอยู่แค่วันนี้วันเดียว แต่ยังต้องติดตามและทำซ้ำต่อไปเรื่อยๆ เพื่อให้เห็นภาพที่ชัดเจนที่สุด 

และที่สำคัญปัญหาในผืนป่าตะวันตกนั้นจะไม่สามารถแก้ไขได้เลย หากไม่ได้รับความร่วมมือจากทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และชุมชน 

หากได้หลายฝ่ายมาร่วมด้วยช่วยกันดูแลและแก้ไขปัญหาผืนป่าตะวันตก ภาพฝันที่จะได้เห็นความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศในผืนป่าตะวันตกก็คงจะไม่ไกลเกินเอื้อม และเกิดขึ้นจริงในเร็ววันนี้แน่นอน

ผู้เขียน

+ posts

หนุ่มน้อยผู้หลงรักความไม่สมบูรณ์แบบ ออกเดินทางเพื่อเก็บภาพความงดงามของธรรมชาติ และชอบอ่านวรรณกรรมเป็นชีวิตจิตใจ