สรุปประเด็นการคัดค้านกำแพงกันคลื่น เกาะสมุย 

สรุปประเด็นการคัดค้านกำแพงกันคลื่น เกาะสมุย 

กำแพงกันคลื่นตัวช่วยที่ทุกคนเข้าใจว่ามันสามารถช่วยชายหาดพ้นจากการกัดเซาะของคลื่นได้ แต่มันกลับไม่ได้เป็นอย่างที่ทุกคนคิด จากผลงานของกรมโยธาธิการฯ ซึ่งรับผิดชอบเรื่องการจัดทำกำแพงกันคลื่นในหลายพื้นที่ พบว่าผลลัพธ์ที่ได้กลับตรงกันข้ามกับสิ่งที่คิด ชายหาดหลายแห่งเริ่มหายไปเพราะกำแพงกันคลื่นที่เข้ามา 

“เกาะสมุย” หนึ่งในเกาะที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวและแหล่งเศรษฐกิจที่สำคัญของฝั่งอ่าวไทย ในอีกแง่หนึ่งเกาะสมุยเป็นเกาะที่เต็มไปด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณชายหาด ทว่าในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาชายหาดถูกกัดเซาะมากขึ้นเรื่อยๆ จนทำให้เทศบาลเมืองสมุยต้องร้องขอกับทางกรมโยธาธิการฯ ให้เข้ามาให้การสนับสนุนในการจัดการกับปัญหาชายฝั่งที่เกิดขึ้น

ด้วยเหตุนี้กรมโยธาธิการฯ จึงได้ดำเนินโครงการศึกษาและออกแบบเขื่อนป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง พร้อมปรับปรุงภูมิทัศน์พื้นที่ชายฝั่งตำบลแม่น้ำและตำบลอ่างทอง อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยได้มีการจัดรับฟังความคิดเห็นจากคนในพื้นที่ครั้งที่ 1 ที่ชายหาดแม่น้ำ เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2565 และครั้งที่ 2 ในวันที่ 4 ตุลาคม 2565 โดยในครั้งแรกนั้นได้มีการนำเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ทั้งหมด 11 แนวทางให้ประชาชนได้พิจารณา ดังนี้ 

  • กำหนดแนวถอยร่น
  • การปลูกป่าชายหาด ป่าชายเลน
  • การถ่ายเททราย
  • เติมทรายชายฝั่ง
  • ปักรั้วไม้ดักทราย
  • เขื่อนถุงทราย
  • เขื่อนหินเรียงใหญ่
  • เขื่อนหินเกเบี้ยน
  • กำแพงคอนกรีตกันคลื่น
  • เขื่อนคอนกรีตขั้นบันได
  • รูปแบบผสมผสาน (ผสมผสานโครงสร้างป้องกันชายฝั่งหลายรูปแบบในพื้นที่เดียวกัน)

อย่างไรก็ดี ประชาชนที่เข้าร่วมพูดคุยและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นได้ล้วนกล่าวเป็นเสียงเดียวกันเกี่ยวกับการสร้างกำแพงกันคลื่น โดยนายพะโยม บุญธัม หนึ่งในประชาชนที่เข้าร่วมเวทีรับฟัง กล่าวว่า “กำแพงกันคลื่นได้สร้างปัญหาและผลกระทบต่อการกัดเซาะชายฝั่งในพื้นที่ต่างๆ ทั้งสมุยเองและชายหาดอื่นๆ ดังนั้นการดำเนินการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นในครั้งนี้ ประชาชนในสมุยจึงไม่เห็นด้วยและกังวลต่อผลกระทบที่จะเกิดขึ้นอย่างยิ่ง เพราะเกาะสมุยเป็นพื้นที่เกาะที่ต้องอาศัยหาดทรายเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว ดังนั้นการเกิดขึ้นของกำแพงคลื่นจึงเป็นการทำลายการท่องเที่ยวและระบบนิเวศชายฝั่งทะเลของเกาะสมุย”

กระทั่งเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา ชาวสมุยได้ร่วมกันจัดเวทีชี้แจ้งข้อมูลแก่ประชาชนในพื้นที่โดยรอบชายหาดบางมะขาม เพื่อที่จะเตรียมคัดค้านการก่อสร้างกำแพงคลื่นในเวทีรับฟังความคิดเห็นประชาชนในวันที่ 4 ตุลาคม 2565 ณ หาดบางมะขาม 

ในช่วงใกล้ถึงวันที่ 4 ตุลาคม รอบหมู่บ้านพื้นที่โครงการศึกษา ได้มีการรณรงค์แสดงจุดยีนที่จะไม่เอากำแพงกันคลื่น พร้อมขึ้นป้ายที่มีใจความว่า “ไม่ต้องมาสร้างเขื่อนยาว 3 กิโลให้นะ ขอบคุณที่หวังดี แต่ไม่น่ารักเลย มันทำลายชายหาด ! ใครนะช่างคิด รู้นะคิดอะไรอยู่ จุ๊บๆ” พร้อมติดแฮ็ชแท็ก #savebangmakhambeach ซึ่งการแสดงออกในครั้งนี้แสดงให้เห็นถึงความเป็นกังวลอย่างถึงที่สุดต่อการดำเนินโครงการของกรมโยธาธิการฯ 

ในส่วนของเวทีรับฟังความคิดเห็นเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2565 ที่ผ่านมานั้น เสียงของประชาชนที่เข้าร่วมยังเป็นไปในทางเดียวกันคือไม่เห็นด้วยกับการดำเนินการสร้างกำแพงกันคลื่น โดยให้เหตุผลว่าการก่อสร้างนี้อาจส่งผลกระทบต่อสภาพชายฝั่ง และอาจทำใหระบบนิเวศชายฝั่งถูกทำลายได้ ซึ่งมันย่อมส่งผลต่อภาคเศรษฐกิจของเกาะสมุยด้วยเช่นกัน 

นายรามเนตร ใจกว้าง นายกเทศมนตรีนครเกาะสมุย ได้กล่าวสรุปในตอนท้ายใจความว่า “เราไม่เอาโครงสร้างแข็ง แต่ในขณะเดียวกันเราก็จะไม่ละทิ้งผู้เดือดร้อนด้วย ทางเทศบาลจะหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาต่อไป” 


อ้างอิง 

ภาพประกอบ

ผู้เขียน

+ posts

หนุ่มน้อยผู้หลงรักความไม่สมบูรณ์แบบ ออกเดินทางเพื่อเก็บภาพความงดงามของธรรมชาติ และชอบอ่านวรรณกรรมเป็นชีวิตจิตใจ