กำแพงกันคลื่น… โครงสร้างทางวิศวกรรมยา(พิษ)ครอบจักรวาลของรัฐบาลไทย

กำแพงกันคลื่น… โครงสร้างทางวิศวกรรมยา(พิษ)ครอบจักรวาลของรัฐบาลไทย

ภาครัฐนิมยมใช้โครงสร้างทางวิศวกรรมที่หลากหลายรูปแบบในการแก้ไขปัญหาทางสิ่งแวดล้อม เพราะมันเป็นมาตรการที่จับต้องได้มีรูปธรรมเห็นผลชัดเจนและมีความซับซ้อนน้อยกว่ามาตรการอื่น ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเองก็เข้าใจได้ไม่ยากว่ารัฐบาลกำลังพยายามทำอะไร พยายามแก้ไขอะไร ด้วยที่มันมีผลออกมาชัดเจนจับต้องได้ยิ่งทำให้ประชาชนเชื่อถือว่าสิ่งเหล่านี้จะช่วยแก้ไขปัญหาได้ ในขณะที่มาตรการการแก้ไขในรูปแบบอื่นๆ นั้นกินเวลานานกว่าจะเห็นผล ยุ่งยากกว่า ละเอียดอ่อนกว่า ซึ่งนานกว่าจะเห็นผลลัพธ์ 

บางครั้งต้องใช้มาตรการทางสังคมกระบวนการมีส่วนร่วมและกฎหมายเข้าร่วมด้วยถึงจะประสบความสำเร็จ แม้มาตรการเหล่านี้มักได้ผลในระยะยาว ยั่งยืนและอาจใช้งบประมาณน้อยกว่าแต่กลับเป็นวิธีที่ไม่ค่อยถูกนำมาใช้ นั้นทำให้ไม่ว่าปัญหานั้นจะเป็นแบบไหน มักจบลงการก่อสร้างเป็นโครงการขนาดใหญ่ขึ้นมา  

อย่างในกรณีของปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งโดยการสร้างกำแพงกันคลื่นมีหลายหาดที่พังทลายลงเพราะกำแพงกันคลื่น วิธีการเหล่านี้ในระยะแรกนั้นส่งผลดี แต่เมื่อนานไปกลับส่งผลเสียมากกว่าที่เราคิด จนนำไปสู่การเคลื่อนไหวของ เครือข่ายอนุรักษ์ชายหาด Beach For Life ที่ได้ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นำโครงการก่อสร้าง #กำแพงกันคลื่น (seawall) กลับเข้าสู่กระบวนการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (EIA) ถอดถอนอำนาจการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นของกรมโยธาธิการและผังเมือง และผลักดันมาตรการฟื้นฟูหาดทรายให้กลับคืนสู่สภาพธรรมชาติแบบที่ควรจะเป็น ทำให้ความรู้เรื่องการอนุรักษ์หาดทรายเริ่มเป็นที่รับรู้ในสังคมไทย 

30 ปีหลังทั่วโลกตื่นรู้ เหตุใดรัฐไทยจึงหลับใหล

หนึ่งในบทสัมภาษณ์ของสมาธิ ธรรมศร อาจารย์ภาควิชาวิทยาศาสตร์พื้นพิภพ ม.เกษตรศาสตร์ที่พูดถึงกำแพงกั้นคลื่นว่าเป็นวิธีการที่ทั่วโลกเลิกใช้และเป็นวิธีการที่พิสูจน์แล้วว่าให้โทษมากกว่าคุณ 

เรามีบทเรียนมากมายจากต่างประเทศให้เป็นกรณีศึกษา ทั้งวิธีการที่สำเร็จและล้มเหลว อย่างมาตรการกำหนดระยะถอยรุ่น (setback) ของบ้านเรือนออกจากหาดเลย เพื่อปล่อยให้พืชชายหาดมันขึ้นมาตามธรรมชาติ แล้วเขาก็ไปขอความร่วมมือจากชาวบ้านให้ย้ายบ้านไปบนฝั่ง โดยรัฐออกเงินให้ เมื่อพื้นที่หาดถูกเวนคืน ตัวพืชหาดก็ขึ้นมาแทนเป็นป้องกันการกัดเซาะไปด้วยในตัว  

สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงการขาดความร่วมมือระหว่างรัฐกับประชาชน และกระบวนการทางกฎหมายที่ล้าหลังพอกับการทำงานของภาครัฐ หรือจะด้วยเหตุผลซ้อนเร้นอื่นๆ ก็ตาม ที่ทำให้การจัดการสิ่งแวดล้อมในบ้านเรายังมีแต่ปัญหา 

เรื่อง อัครวิชญ์ จันทร์พูล

อ้างอิง