“วิกฤตคลื่นความร้อน” กำลังส่งผลกระทบรุนแรงต่อเศรษฐกิจ

“วิกฤตคลื่นความร้อน” กำลังส่งผลกระทบรุนแรงต่อเศรษฐกิจ

“วิกฤตคลื่นความร้อน” กำลังส่งผลกระทบรุนแรงต่อเศรษฐกิจ

ในฤดูร้อนที่ผ่านมาหลายประเทศต้องประสบปัญหากับคลื่นความร้อนที่หนักกว่าปีไหนๆ และมีแนวโน้มจะรุนแรงขึ้นในทุกปี คลื่นความร้อนที่แผ่กกระจายส่งผลให้แม่น้ำแห้งแล้ง ผลผลิตเกษตรลดลง ดันราคาสินค้าเพิ่มสูงขึ้น บวกกับค่าเงินเฟ้อที่กำลังก่อตัว ตอกย้ำประชาชนมากขึ้นไปอีกที่ต้องควักเงินซื้อสิ่งของจำเป็นและอาหาร 

ที่แคลิฟอร์เนีย ‘วิกฤตคลื่นความร้อน’ ได้ส่งผลให้เกิดวิกฤตน้ำแล้ง ทำให้ราคามะเขือเทศสูงขึ้นกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ หากเทียบกับปีที่แล้ว ส่วนในอังกฤษและฝรั่งเศสส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมนมวัว ชีส กระทั่งเนื้อสัตว์ แพงขึ้น 12 เปอร์เซ็นต์ รวมถึงวิกฤตเศรษฐกิจจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ยูเครนไม่สามารถส่งออกข้าวสาลีได้ เนื่องจากถูกรัสเซียปิดเส้นทางขนส่งราคาข้าวสาลีจึงปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งทางอินเดียได้ออกมาประกาศมาจะเพิ่มกำลังการผลิตในส่วนที่ขาดหาย แต่กลับต้องชะลอตัวลง เนื่องจากคลื่นความร้อนที่รุนแรง  

องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (World Meteorological Organization: WMO) กำหนดนิยามของคลื่นความร้อนเอาไว้ว่า “ภาวะที่อุณหภูมิสูงสุดประจำวันเกินค่าอุณหภูมิสูงสุดโดยเฉลี่ยประมาณ 5 องศาเชลเซียส ติดต่อกันเป็นเวลาอย่างน้อย 5 วัน”

ไม่เพียงสินค้าบริโภคที่ปรับตัวสูงขึ้นภาคการขนส่งเองก็ได้รับผลกระทบจากคลื่นความร้อน ในยุโรปแม่น้ำสายหลักหลายสายแห้งแล้ง มีระดับน้ำไม่เพียงพอต่อการเดินเรือส่งสินค้า ทำให้ผู้ขนส่งต้องเปลี่ยนไปใช้เรือขนาดเล็ก ลดปริมาณสินค้า ขนส่งช้าลงหลายรอบ ราคาสินค้าจึงปรับตัวตามต้นทุนที่เพิ่มขึ้น 

อีกผลกระทบคือ ภาคพลังงาน ผลจากคลื่นความร้อนที่รุนแรงและยาวนานขึ้น ทำให้จีนสั่งปิดโรงงานส่วนใหญ่ เพื่อปรับสมดุลในช่วงที่ประชาชนใช้ไฟฟ้ามากขึ้น และอาจทำให้ปริมาณการผลิตไฟฟ้านั้นไม่เพียงพอ ผลที่ตามมาจากการปิดโรงงาน ย่อมส่งผลกับราคาสินค้าที่เชื่อมโยงไปทั่วโลก 

นอกเหนือจากเรื่องดังกล่าวยังมีผลกระทบทางอ้อมตามมาอีก อากาศร้อนสุดขั้วส่งผลต่อโครงสร้างเศรษฐกิจโลกโดยตรง เพราะผู้คนจะทำงานน้อยลงในวันที่อุณหภูมิสูง และต้องทนทุกข์ทรมานจากอาการอ่อนเพลียจากความร้อนมากขึ้น จึงทำให้ผลิตภาพแรงงานลดลง ประสิทธิภาพของแรงงานที่ลดลง อาจทำให้บริษัทต่างๆ ต้องเตรียมสำรองเงินมากขึ้นเพื่อจ้างแรงงานเพิ่มขึ้น ปรับขึ้นค่าแรง หรือจ่ายเพื่อสิ่งอำนวยความสะดวกที่ดีขึ้น ซึ่งแน่นอนว่าองค์กรเหล่านี้ต้องหาเงินเพิ่มขึ้น และวิธีในการหาเงินเพิ่มอาจเป็นภาระของลูกค้าและผู้บริโภค 

กลุ่มคลังสมอง มูลนิธิ เอเดรียน อาชท์ ร็อกกีเฟลเลอร์ (Adrienne Arsht-Rockefeller Foundation Resilience Center) เปิดเผยตัวเลข ระบุว่า “อากาศที่ร้อนจัดอาจสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ กว่า 1 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ ต่อปี (ประมาณ 3.6 ล้านล้านบาท)”

ที่สำคัญ ความแห้งแล้งและอากาศที่ร้อนยังเป็นปัจจัยทำให้เกิดไฟป่าได้ง่ายและทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น สร้างความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม ปล่อยมลพิษเป็นจำนวนมาก ซึ่งจะยิ่งทำให้ในปีต่อๆ ไปอากาศจะยิ่งร้อนขึ้น

สุดท้ายแล้ว วิกฤตคลื่นความร้อนที่ส่งผลต่อราคาสินค้าอุปโภคและบริโภคที่เพิ่มขึ้นจะส่งผลกระทบโดยตรงกับคนที่ ‘ยากจน’ ที่สุด เพราะครัวเรือนที่มีรายได้น้อยนั้นมีรายจ่ายกับอาหารในสัดส่วนที่สูงสุด 

แน่นอนว่าเมื่อราคาเหล่านี้เพิ่มสูงขึ้น คนกลุ่มนี้ก็จะได้รับผลกระทบหนักสุดไปโดยปริยาย

IPCC ประเมินว่า “ปัญหาสภาพอากาศสุดขั้วจะรุนแรงกว่านี้ และจะยิ่งส่งผลกระทบอย่างหนักกับทั้งฟาร์มสัตว์และอุตสาหกรรมอื่นๆ และแน่นอนว่าหากเทรนด์ยังคงเป็นไปในแนวนี้ อุณหภูมิโลกอาจเพิ่มขึ้น 2 หรือ 3 เท่า โลกจะได้พบกับสถานการณ์อากาศสุดขั้วที่รุนแรงขึ้น และกระทบกับอัตราเงินเฟ้ออย่างหนักหน่วงมากขึ้นแน่นอน”


เรื่อง อัครวิชญ์ จันทร์พูล

อ้างอิง