SLAPP การข่มขู่ให้กลัวผ่านการใช้กฎหมาย

SLAPP การข่มขู่ให้กลัวผ่านการใช้กฎหมาย

‘SLAPP’ (Strategic Lawsuits Against Public Participation) คือการดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์เพื่อระงับการมีส่วนร่วมของสาธารณะ อธิบายให้เข้าใจง่ายขึ้นได้ว่า SLAPP เป็นการฟ้องคดีที่มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อระงับหรือขัดขวางการวิพากษ์วิจารณ์เรื่องสาธารณะ ซึ่งการทำ SLAPP ก็มักจะตามมาด้วย ‘ภาวะชะงักงัน’ ต่อการแสดงความคิดเห็น รวมถึงการรับรู้ข้อมูลข่าวสารด้วย 

โดยเมื่อวันที่ 23 กันยายน 2565 ได้มีการจัดงานเปิดตัวหนังสือ “การทำความเข้าใจการถูกฟ้องปิดปาก (SLAPP) สำหรับสื่อมวลชน” และเสวนา “แนวทางป้องกันของภาคประชาชนจากการถูกฟ้องปิดปาก (SLAPP) ในบริบทสิ่งแวดล้อม” ณ SEA Junction หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร 

ในช่วงของการเสวนาได้มีการพูดคุยและแลกเปลี่ยนข้อมูลเรื่องของการ SLAPP รวมถึงการนำเสนอภาพรวมของการ SLAPP ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ต่างๆ บนโลก โดยวิทยากรแต่ละท่านเป็นตัวแทนจากหลายอาชีพ ที่จะมานำเสนอการ SLAPP ในมุมมองตน เพื่อหาแนวทางป้องกันการถูกฟ้องปิดปาก

วิทยากรท่านแรก คุณโพชอย พี. ลาบ๊อก จาก Business and Human Rights Resource Centre (BHRRC) ได้กล่าวถึงสถานการณ์ภาพรวมของ SLAPP ที่เกิดขึ้นทั่ว นอกจากข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับ SLAPP แล้ว เขาได้ยกตัวเลขจำนวนคดีที่ถูกฟ้องร้องผ่านกฎหมาย SLAPP ทั่วโลก นับตั้งแต่ปี 2015 เป็นต้นมา เพื่อแสดงให้เห็นว่าการฟ้องคดีผ่าน SLAPP นั้นมีอยู่เรื่อยๆ โดยมีการฟ้องคดีรวมแล้วมากถึง 355 คดีทั่วโลก โดยเกิดมากในพื้นที่ลาตินอเมริกาและเอเชีย 

นอกจากภาพรวมเรื่องการฟ้องคดี SLAPP ทั่วโลกแล้ว คุณโพชอยยังได้เจาะจงลงไปในบางประเทศด้วย เช่น ฟิลิปปินส์ที่มีกฎหมายคุ้มครองผู้ถูกฟ้อง SLAPP หรือไทยเองที่ยังไม่มีกฎหมายนิยามว่า SLAPP คืออะไร แต่ก็มีประมวลกฎหมายที่ยกฟ้องได้ หากคดีที่ถูกฟ้องนั้นเข้าข่ายการ SLAPP 

วิทยากรท่านถัดมา คุณภาณุ วงศ์ชะอุ่ม ประธานสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย (FCCT) นำเสนอประเด็น SLAPP ในมุมสื่อว่า SLAPP นั้นทำให้นักข่าวที่ถูกฟ้องเสียเวลาและเสียกำลังทรัพย์เป็นอย่างมาก แล้วประเทศไทยที่ไม่ได้มีกฎหมายคุ้มครองผู้ถูก SLAPP ด้วยแล้ว ยิ่งทำให้นักข่าวได้รับการช่วยเหลือน้อยลงหรือแทบจะไม่ได้รับความช่วยเหลือเลย 

โดยคุณภาณุมองว่าสื่อควรจะสร้างเครือข่ายภายในสื่อด้วยกันเอง เพื่อเป็นช่องทางให้สื่อสามารถรวมตัวกันเพื่อผลักดันในประเด็นต่างๆ อย่างการผลักดันเรื่องสังคมกับสิ่งแวดล้อม หรือแม้แต่การผลักดันให้เกิดการจัดการและแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับ SLAPP ที่คุณภาณุมองว่า คือจุดอ่อนทางโครงสร้างและช่องโหว่ทางกฎหมายที่ต้องอาศัยการร่วมมือกันจัดการ

ต่อมา คุณ ส.รัตนมณี พลกล้า ทนายความมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน ได้ยกกรณีตัวอย่างที่สื่อหรือชุมชนที่โดนฟ้องคดี SLAPP มาให้เห็นภาพว่าไม่เพียงแต่การฟ้องเพื่อปิดปากหรือจำกัดการให้ข้อมูลเพียงเท่านั้น แม้แต่การร้องเรียนปัญหากับรัฐบาลเองก็ถูกฟ้องคดีเช่นเดียวกัน  

อีกประเด็นที่กล่าวถึงคือเรื่องของการเยียวยาผู้ถูกฟ้อง SLAPP การเยียวยาในความหมายที่คุณส.รัตนมณีหมายถึงไม่ใช่แค่การจ่ายค่าชดเชย แต่ยังรวมถึงการเยียวยาทางจิตใจ คุณส.รัตนมณีชี้ให้เห็นว่านักเรียกร้องหรือนักปกป้องสิทธิ์ที่โดนฟ้องคดีนั้นไม่ได้เข้มแข็งเสมอไป เราจึงต้องมาช่วยคิดกันต่อว่าบริบทของสังคมไทยจะแก้ไขปัญหาพวกนี้ต่อไปอย่างไร 

วิทยากรท่านถัดมาคือ คุณสมบูรณ์ คำแหง เป็นตัวแทนของภาคประชาชน และ นักเคลื่อนไหว NGOs ซึ่งเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบจาก SLAPP โดยตรง มาพูดคุยแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับการรับมือการถูกฟ้องคดี SLAPP เริ่มแรกคุณสมบูรณ์ได้กล่าวถึงนิยามของการ SLAPP ในมุมมองของตัวเองว่า การ SLAPP ก็คือการข่มขู่ให้กลัวผ่านการใช้กฎหมาย เพื่อไม่ให้กลุ่มคนเหล่านั้นออกมาเรียกร้องได้ โดยคุณสมบูรณ์มองว่ากฎหมายในลักษณะนี้เป็นเหมือนอุปสรรคที่ขัดขวางการเจริญเติบโตทางการเมืองของภาคพลเมือง 

คุณสมบูรณ์ได้เสนอทางออกในการแก้ไขปัญหาเหล่านี้ สิ่งหนึ่งที่สำคัญมากคือการย้อนกลับไปดูกฎหมายรัฐธรรมนูญ ว่ากฎหมายลูกหรือระบบระเบียบที่ออกมาภายหลังนั้น ทำไมมันถึงมีอำนาจมากกว่ากฎหมายหลักแล้วกฎหมายลูกพวกนี้มีที่มาที่ไปอย่างไร ซึ่งเป็นโจทย์สำคัญที่เราต้องช่วยกันดู เพราะสิ่งเหล่านี้จะเป็นสิ่งที่กดทับเรา จนทำให้เราไม่สามารถออกมาเรียกร้อง รณรงค์ หรือออกมาบอกเล่าความทุกข์ร้อนของตัวเองได้ 

วิทยากรท่านถัดมา คุณบ็อบบี้ รามาคาน Health Editor จาก Citizen News Service (CNS) ได้พูดถึงการทำงานของสื่อในเอเชียใต้ โดยสถานการณ์ SLAPP ในเอเชียใต้ค่อนข้างรุนแรง โดยจำนวนของคนที่ถูกจับและทำร้าย หรือแม้แต่ถูกฆ่าเลยก็มีเช่นกัน โดยคุณบ็อบบี้ได้ยกกรณีที่มีคนถูกรถบรรทุกเหยียบเพื่อปิดปาก ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความรุนแรงที่เกิดขึ้นจาก SLAPP ในเอเชียใต้

วิทยากรท่านสุดท้าย คุณสัณหวรรณ ศรีสด รองที่ปรึกษากฎหมายระหว่างประเทศคณะกรรมการนิติศาสตร์สากล มาพูดถึงแนวทางการจัดการ SLAPP ในต่างประเทศ เริ่มแรกคุณสัณหวรรณได้พูดถึงแนวทางสำคัญในการจัดการ SLAPP อันดับแรกคือป้องกันไม่ให้ SLAPP เข้ามามีบทบาทในกระบวนการยุติธรรม ถัดมาคือการสร้างกลไกทางกฎหมายในการคุ้มครองเหยื่อที่ถูก SLAPP ระหว่างการพิจารณาคดี และท้ายที่สุดคือการแก้ที่ต้นเหตุ นั่นคือการปฏิรูปกฎหมาย ซึ่งคุณสัณหวรรณก็ได้ยกตัวอย่างกระบวนการทางกฎหมายของต่างประเทศมาเพื่อให้เห็นภาพการจัดการ SLAPP ได้ชัดเจนขึ้น 


ภาพประกอบ Facebook: SEA-Junction 

ผู้เขียน

+ posts

หนุ่มน้อยผู้หลงรักความไม่สมบูรณ์แบบ ออกเดินทางเพื่อเก็บภาพความงดงามของธรรมชาติ และชอบอ่านวรรณกรรมเป็นชีวิตจิตใจ

Tags from the story: