รูรั่วของระบบตรวจสอบ EHIA ประเทศไทย จากตัวอย่างกรณีโครงการเขื่อนแม่วงก์

รูรั่วของระบบตรวจสอบ EHIA ประเทศไทย จากตัวอย่างกรณีโครงการเขื่อนแม่วงก์

มีคำถามว่าระบบตรวจสอบทางสิ่งแวดล้อมของประเทศไทยมีความบกพร่องอย่างไร ถึงทำให้ผมต้องไปนั่งให้กำลังใจคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EHIA) โครงการเขื่อนแม่วงก์ 59 ชั่วโมง ข้ามสองคืนสามวันเมื่อเดือนที่แล้ว ?

.
สมมติว่าเราคือประเทศไทยต้องตัดสินใจแลกระบบนิเวศป่าที่ราบริมน้ำสำคัญหนึ่งในสองแห่งที่เหลืออยู่ของป่าตะวันตก (ริมห้วยขาแข้ง และริมน้ำแม่วงก์) อันเป็นพื้นที่ที่ชัดเจนว่ามีความสำคัญต่อระบบนิเวศของสัตว์ป่า เป็นหัวใจของการฟื้นฟูประชากรสัตว์ป่า กระจายตัวขยายจากป่ามรดกโลกทุ่งใหญ่ห้วยขาแข้ง ไปสู่พื้นที่อื่นๆ ที่ค่อยๆ ฟื้นฟูจากการอนุรักษ์ป่าของไทย กับเขื่อนและอ่างเก็บน้ำที่ขนาดไม่ใหญ่นัก บรรเทาน้ำท่วมได้นิดหน่อย ช่วยภัยแล้งได้ในพื้นที่สักสองถึงสามตำบล

มีคำถามง่ายๆ คือใครควรจะเป็นคนพิจารณาข้อมูลนี้ ? และให้ความเห็นประกอบไปสู่พิธีกรรมอนุมัติอย่างเป็นทางการของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) ระดับนโยบาย ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ซึ่งในความเป็นจริงแล้วกรรมการชุดใหญ่นี้ก็คงไม่มีเวลา หรือองค์ความรู้ทางวิชาการอะไร มากกว่าตัดสินใจแลกหรือไม่แลกตามความเห็นของนักวิชาการที่เสนอมา จากการพิจารณาในเวทีพิจารณารายงาน EHIA ที่ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หรือที่นักสิ่งแวดล้อมเรียกชื่อย่อกันติดปากว่าสผ.”

ทั้งหมดทำหลังจากหน่วยงานผู้เสนอโครงการ หรือ กรมชลประทาน (ศึกษาโดยบริษัทที่ปรึกษา ที่หน่วยงานที่อยากทำโครงการจ้างมา) เสนอรายงานเข้าสู่ สผ. เพื่อให้คณะกรรมการผู้ชำนาญการ (คชก.) ที่เป็นนักวิชาการที่ว่าพิจารณาเสนอกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ว่า ทำได้ตามมาตรการลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรือไม่ ส่วนการอนุมัติโครงการจริงๆ ก็คือ คณะรัฐมนตรี

หากให้คิดตามแบบง่ายๆ ตามหลักเหตุผลทั่วไป การเสียป่าที่สำคัญคงต้องมีผู้รู้ระดับประเทศที่ได้รับการยอมรับทางชีววิทยา พฤกษศาสตร์ วนวิทยา ความหลากหลายทางชีวภาพ สารพัด มาประเมินความคุ้มค่ากับประโยชน์ที่ได้รับ ใช่ไหม? 

ส่วนฝ่ายอยากได้เขื่อน ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงาน หรือประชาชน แน่นอนอยู่แล้วว่ายังไงก็เอา ไม่ค่อยสนหรอกว่าจะเสียอะไรไปในป่า หรือทางวิชาการ 

ดังนั้น เราในฐานะประเทศไทย จะได้อะไร เสียอะไร ในปัจจุบันที่ก็ได้มามาก และเสียมาเยอะ จากการพัฒนาในอดีต ก็คงต้องเพิ่มความรอบคอบและความรู้ทางวิชาการเข้าไปช่วยตัดสินใจ นอกจากความอยากได้อย่างเดียว และมองหาทางเลือกในการพัฒนาอื่นๆ ที่อาจจะไม่ต้องเสียของดีไปอย่างที่เคยเสียมา

เพราะเรามีความรู้มากขึ้น และที่พัฒนาไปก็มากมายจนได้ประโยชน์มามากพอควรแล้ว ที่ควรเก็บไว้เพื่อประโยชน์ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ ก็น่าจะมีเหตุผลสมควรในยุคที่ความรู้แบบนี้ไม่ใช่เรื่องลึกลับอะไร

แต่

ระบบปัจจุบัน สผ. ใช้วิธีเลือกเชิญนักวิชาการผู้ทรงคุณวุฒิมา 10 ด้าน ให้นายกฯ ในฐานะประธานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติแต่งตั้ง ด้านแหล่งน้ำ (เชี่ยวชาญด้านสร้างเขื่อน) ด้านธรณีวิทยา (แหล่งแร่ที่สูญเสีย ฐานราก ความมั่นคงเขื่อนและความเสี่ยงดินถล่มเหนือเขื่อน) ด้านสุขอนามัย (ดูเรื่องพาหะของพญาธิใบไม้ในเลือด และความเสี่ยงต่อสุขภาพอื่นๆ) ด้านเศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อม (ดูความคุ้มทุน) ด้านการทำรายงาน EHIA (ดูว่ารายงานครบถ้วนสมบูรณ์ตามหลักการหรือไม่) ด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม (เรื่องสารปนเปื้อนจากดินจากหินในพื้นที่อ่างเก็บน้ำ) ด้านโบราณคดี (ดูว่าน้ำท่วมทับแหล่งโบราณสถานอะไร และจะย้ายเก็บอย่างไร) ด้านการมีส่วนร่วมของประชาชน (ดูขั้นตอนการรับฟังความเห็นระหว่างการทำรายงานมีการทำพอไหวไหม) ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ (ดูเรื่องระบบนิเวศป่าและสัตว์น้ำในแม่น้ำ) รวมกับประธาน คชก.” ซึ่งปัจจุบันใช้ตัวผู้บริหาร สผ. ที่เป็นข้าราชการประจำ (เลขาธิการ เทียบเท่าอธิบดีกรม) รวมเป็นคณะคชก.ด้านแหล่งน้ำ 10 คน

และถ้าสร้างในเขตอุทยานแห่งชาติ ก็จะเชิญผู้แทนกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช มาร่วมอีกคน ก็เพื่อจะดูว่าขออนุญาตศึกษาอะไรในพื้นที่ถูกต้องตามระเบียบหรือไม่ เป็นหลัก 

สิบคนนี้เอง ที่จะชงความเห็นประกอบรายงานไปสู่การตัดสินใจอนุมัติเรื่องผลกระทบสิ่งแวดล้อมของ กก.วล. 

เป็นที่รู้กันว่า สิบคนนี้ผ่านส่วนใหญ่ใครจะมาเห็นแย้งก็ยากแล้ว เพราะถือเป็นผู้ทรงคุณวุฒิทางวิชาการตามระเบียบกฏหมาย

หลักเกณฑ์ในการเชิญใครมานั่งเป็น คชก.ด้านแหล่งน้ำ ก็ใช้การพิจารณาของ สผ. เป็นการภายใน ครับ อยากเล่าให้ฟังว่าเมื่อตอนพิจารณารายงานแม่วงก์นี้ แรกๆ มีผู้ทรงคุณวุฒิหลายท่านให้ความเห็นทักท้วงประเด็นสำคัญมากๆ

สผ. สามารถ เปลี่ยน คชก. ท่านเหล่านั้นออกได้และตั้งใหม่ทันที นี่เป็นเรื่องที่เกิดเมื่อต้นปี 2556

ไม่นับว่าสัดส่วนของคนที่จะทักท้วงการแลกความสมบูรณ์ ความสำคัญของระบบนิเวศ ก็จะมีหนึ่งคนที่เป็นผู้แทนเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพ โดยทั่วไปผู้เชี่ยวชาญแหล่งน้ำก็ช่วยเชียร์เขื่อน ฝ่ายอื่นๆ ก็ดูตามประเด็นทางเทคนิคของตัวเอง ซึ่งหากพิจารณาอย่างเป็นธรรม เรื่องสูญเสียระบบนิเวศ ความสำคัญของการพิจารณา จะมามีผู้รู้เรื่องนี้คนเดียวทักท้วงอยู่ แค่นี้ก็ลำบากแล้ว

ยังมินับว่า คชก.ท่านนี้ก็ถูกเปลี่ยนออกได้เสมอ หากทักแรงเกิน เพราะเขื่อนย่อมเป็นนโยบายที่หมายปองของรัฐบาลและการเมืองเสมอมา ดังนั้นตัวประธานที่จะนำการประชุมไปทางไหน ก็มาจากข้าราชการประจำ ที่สั่งย้ายได้หากไม่สนองนโยบาย

ผมเชื่อว่า คชก. คณะอื่นๆ ก็เช่นเดียวกันครับ จะตัดถนนเข้าป่า ทำท่าเรือทับแหล่งประมงหรือแนวปะการัง สร้างโรงงานรุกล้ำพื้นที่ชุ่มน้ำ ฯลฯ

แต่ในคณะเดียวกันผมก็เชื่อลึกๆ ว่า คนระดับผู้ทรงคุณวุฒิของประเทศนี้ที่ สผ.อุตส่าห์เลือกเชิญมา และท่านก็ดันรับมาทำงานฟรีๆ แบบจิตอาสา (ไม่มีค่าตอบแทน มีเบี้ยประชุมพันกว่าบาท) คงไม่ได้พิจารณาเฉพาะความรู้เฉพาะด้านของตัวเองอย่างเดียว แต่ต้องมองภาพรวมและความคุ้มค่าที่จะได้ จะเสีย อย่างมีความรับผิดชอบ และคิดถึงความยั่งยืนของทรัพยากรและระบบการตรวจสอบเท่านี้ที่เรามีอยู่

แต่ถ้าไม่เป็นไปตามความเชื่อลึกๆ ของผม ก็เท่ากับว่าจะเสียระบบนิเวศอะไรสำคัญไม่สำคัญ การตัดสินใจด่านใหญ่ที่จะดูแลป่าแทนคนไทยทั้งประเทศคือผู้ทรงคุณวุฒิด้านความหลากหลายทางชีวภาพที่ว่าคนเดียว หรืออาจจะรวมข้าราชการจากกรมอุทยานฯ อีกคน

นั่นเป็นสาเหตุให้ผมต้องไปนั่งเป็นกำลังให้กับ คชก. แหล่งน้ำ ที่สผ. เมื่อเดือนที่แล้ว ด้วยหวังว่าผู้ทรงคุณวุฒิที่เหลืออยู่ในคณะนี้ (ผู้แทนด้านเศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อม และความหลากหลายทางชีวภาพ ลาออกไปแล้ว) จะทำหน้าที่พิจารณาให้ความเห็นประกอบรายงานสำคัญนี้อย่างรอบคอบ และชาญฉลาด ในการรักษาความยั่งยืนของคุณค่าระบบนิเวศป่าแม่วงก์ ให้กับ ผมและเพื่อนผม รวมถึง คุณ และเพื่อนคุณ รวมถึงลูกหลานของเรา

 


เผยแพร่ครั้งแรก นิตยสารสารคดี 2557

ผู้เขียน

Website | + posts

ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร (18 กันยายน 2558 - ปัจจุบัน)