[ก้าวสู่ปีที่ 31] การจัดการน้ำทางเลือก โดยไม่ต้องสร้างเขื่อนแม่วงก์

[ก้าวสู่ปีที่ 31] การจัดการน้ำทางเลือก โดยไม่ต้องสร้างเขื่อนแม่วงก์

คำถามสำคัญของการค้านการสร้างเขื่อนแม่วงก์ ในป่าอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ คือ หากไม่สร้างเขื่อนแล้วมีวิธีเสนอแนะแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำท่วมน้ำแล้งอย่างไร ?

.
นี่เป็นโจทย์ใหญ่กว่าการบอกเล่าผลกระทบของเขื่อนแม่วงก์ว่าจะทำให้สูญเสียป่า หรือ ระบบนิเวศ รวมถึงความคุ้มไม่คุ้มอื่นๆ

เพราะเราพัฒนาประเทศกันบนฐานความรู้ว่ามีเขื่อนแล้วมีน้ำมานานนมเน

แต่อย่าลืมว่า แทบไม่มีใครปฏิเสธประโยชน์ของเขื่อนที่เป็นรากฐานสำคัญในการจัดการพื้นที่ชลประทาน ตั้งแต่เราเริ่มทดน้ำที่ประตูน้ำใหญ่ปิดแม่น้ำป่าสัก ในชื่อเขื่อนพระรามหก ที่อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เมื่อประมาณร้อยปีที่แล้ว เพื่อพัฒนาการส่งน้ำผ่านคลองชลประทานกระจายน้ำสู่ทุ่งรังสิต ปทุมธานี และสร้างประตูน้ำใหญ่ปิดเจ้าพระยาที่ชัยนาท ควบคุมแม่น้ำเจ้าพระยาให้ลดระดับน้ำท่วม และกระจายน้ำทำนาเกือบทั่วที่ราบภาคกลางเมื่อห้าสิบปีที่ผ่านมา

ช่วงทศวรรษที่ 2510-2530 นับเป็นยี่สิบปีของเขื่อนขนาดใหญ่น้อยกระจายอยู่เกือบทั่วประเทศไทยพัฒนาการเพิ่มรอบการปลูกข้าวจากการควบคุมระดับน้ำท่วม และเติมน้ำในหน้าแล้งจนประสบความสำเร็จทำให้เราเป็นแชมป์การส่งข้าวไปขายทั่วโลก

ยังไม่นับประโยชน์ในการผลิตกระแสไฟฟ้า การประมงเหนือเขื่อน และการท่องเที่ยว

แต่นั่นก็แลกมาด้วยการสูญเสียระบบนิเวศป่าที่ราบริมน้ำในหุบเขาขนาดใหญ่เกือบทั้งประเทศ สูญเสียระบบนิเวศพื้นที่ชุ่มน้ำที่สัมพันธ์กับน้ำท่วมตามธรรมชาติที่พันธุ์ปลาจะต้องมีที่วางไข่ในฤดูน้ำท่วม สูญเสียตะกอนที่ต้องทำหน้าที่ทับถมปากแม่น้ำที่ชายฝั่งทะเลในดินงอกทำให้เกิดการกัดเซาะดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำ รวมถึงธาตุอาหารตามธรรมชาติมีมากับดินมากมายที่ตกเป็นตะกอนอยู่ใต้เขื่อน

การขยายพื้นที่และรอบการปลูกข้าวยังส่งผลให้ที่นาของเราล้วนเต็มไปด้วยสารเคมี ยาปราบศัตรูพืช และสูญเสียพันธุ์ข้าวปลูกพื้นเมืองไป นอกจากนี้หลายปีที่ผ่านมาเมื่อผลผลิตมากล้นรัฐยังต้องเสียงบประมาณเพื่อชดเชยแก้ปัญหาราคาพืชตกต่ำอย่างที่ทราบกันเต็มหูเต็มตา มิหนำซ้ำหลายเขื่อนยังมีการบริหารจัดการที่พลาดผิดส่งผลให้น้ำท่วม และไม่แก้ปัญหาน้ำแล้งได้อย่างที่คาดหวัง

นี่ยังไม่นับการอพยพย้ายชุมชนที่มีถิ่นฐานบ้านช่องอยู่กับที่ราบริมน้ำอันอุดมสมบูรณ์ให้ต้องเสียสละละทิ้งบ้านเดิมไปอยู่ในที่ลำบาก และต้องเปลี่ยนวิถีชีวิตนับแสนนับล้านครอบครัว

ในความเห็นของผม วันนี้เราควรจะยอมรับประโยชน์ของเขื่อน และสำนึกว่าที่เราเจริญพัฒนามาได้ ทุกวันนี้เทคโนโลยีการจัดการน้ำแบบนี้เป็นรากฐานสำคัญ แต่ขณะเดียวกันก็ต้องย้อนกลับมายอมรับ และวิเคราะห์ผลกระทบที่มีต่อระบบนิเวศ และทบทวนว่าเราควรจะพอในการพัฒนาการสร้างเขื่อนในพื้นที่ที่จะมีผลกระทบต่อระบบนิเวศ หรือชุมชน และใช้ความรู้ ประสบการณ์ รวมถึงการยอมรับการประเมินคุณค่าในด้านสิ่งแวดล้อม และมิติทางสังคมท้องถิ่น เพื่อรักษาระบบนิเวศที่สำคัญที่ยังพอเหลืออยู่

อย่าลืมว่าเขื่อนที่สร้างมาแล้ว ก็ยังอยู่และทำหน้าที่ของมันต่อไปอยู่แล้ว ในระดับที่เราก็รับประโยชน์กันมายาวนานและต่อไป ส่วนระบบนิเวศที่เราเก็บไว้ได้โดยยังไม่สร้างเขื่อน ยกตัวอย่างเช่น ป่าใหญ่ในหุบเขายาวเหยียดของต้นน้ำแม่กลอง ที่เราไม่สร้างเขื่อนน้ำโจน ป่าสักผืนใหญ่ที่แก่งเสือเต้น ป่าเขาใหญ่ใกล้น้ำตกเหวนรก ป่าริมน้ำห้วยขาแข้ง รวมถึงป่าแม่วงก์ นี่เป็นพื้นที่ที่เราสามารถเก็บรักษาความหลากหลายทางชีวภาพไว้ได้ในระดับโลก

พื้นที่ต่างๆ เหล่านี้มีคุณค่าอย่างยิ่งในการพัฒนาความรู้ และต่อยอดการค้นหายาปฏิชีวนะ หรือการพัฒนาพันธุกรรม รวมถึงสร้างคุณค่าด้านการท่องเที่ยว รวมถึงรับประโยชน์จากการเป็นแหล่งต้นน้ำลำธาร ดูดซับกาซเรือนกระจก

ที่สำคัญคือ เราแสดงให้โลกได้รู้ว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่เจริญด้วยความรู้ และตระหนักว่าการเก็บพื้นที่ธรรมชาติไว้เพื่อรักษาถิ่นฐานให้สิ่งมีชีวิตร่วมโลกอย่างสัตว์ป่า เป็นเรื่องที่ประเทศเราเลือก และทำได้ดีในการอนุรักษ์ และจัดการ

หลายเดือนที่ผ่านมาผมได้รับความรู้จากนักวิชาการด้านวิศวกรรมแหล่งน้ำ ที่มีความรู้เรื่องเขื่อนมากมายทั้งจากการปะทะกันในความเห็นต่าง แต่ในขณะเดียวกันก็เจอกับผู้รู้เรื่องเขื่อนที่กรุณาบอกเราว่ายังมีทางเลือกอื่นๆ ในการจัดการน้ำที่เหมาะสมต่อสถานการณ์ปัจจุบัน โดยไม่ต้องไปสร้างเขื่อนในป่าอยู่อีก

พื้นที่รับประโยชน์จากเขื่อนแม่วงก์ เป็นพื้นที่ราบที่เป็นที่นาประมาณสามแสนไร่ หากพิจารณากักเก็บน้ำกระจายไปทั่วพื้นที่ราวห้าเปอร์เซนต์ของพื้นที่โดยการจัดทำบ่อน้ำ สระน้ำให้ทั่วพื้นที่ มีความเป็นไปได้ว่าเราจะได้แหล่งน้ำมากกว่าครึ่งหนึ่งของปริมาณกักเก็บเขื่อนแม่วงก์ แต่สามารถรองรับการตกของฝนและน้ำหลากได้ทั่วถึง มากกว่าพื้นที่รับน้ำจากเขื่อนที่ต้องรอให้ฝนตกเหนือเขื่อนเท่านั้น เมื่อลองประมาณการปริมาณน้ำท่าแล้วพบว่าน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำก็มีเพียงพอเหลือเฟือ เพียงแต่ต้องไม่คิดแค่บ่อและสระเก็บน้ำ แต่ต้องมีระบบฝายยกระดับลำน้ำใหญ่น้อย ขุดลอกคูคลองให้เชื่อมต่อถึงกัน นำน้ำกระจายสู่พื้นที่เก็บน้ำของบุคลและชุมชนให้ได้

แน่นอนว่าจะต้องสูญเสียพื้นที่ดินเพื่อทำนาไปบ้าง แต่เมื่อเทียบกับการมีเขื่อนก็ต้องเสียพื้นที่จำนวนนี้ให้กับคลองชลประทานในพื้นที่ไม่หนีกัน และหากมีพื้นที่เก็บน้ำมากกว่าห้าเปอร์เซ็นต์ อาจจะได้น้ำมากกว่าการสร้างเขื่อนแม่วงก์ด้วยซ้ำไป

ในขณะเดียวกันก็ต้องมีบุคลากรเข้ามาร่วมกันบริหารจัดการเป็นฝ่ายเทคนิคที่มองภาพใหญ่ให้ออก มีฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ เทคโนโลยี ที่ปรึกษาหารือร่วมกันกับคณะกรรมการระหว่างตำบล และภูมิภาคเพื่อจัดสรรน้ำ และซ่อมบำรุงอาคารบังคับน้ำต่างๆ ให้มีประสิทธิภาพ

ในอดีตการคิดแบบนี้อาจจะดูยากเพราะองค์กรขาดความพร้อม ชาวบ้านไม่สามารถเข้ามาร่วมบริหารจัดการได้ แต่ในปัจจุบันระบบการบริหารส่วนท้องถิ่นพัฒนาก้าวหน้าไปไกล เทคโนโลยีการเก็บข้อมูลการคำนวณผ่านโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่เหมาะสมไม่ใช่ปัญหาใหญ่

ขาดแต่การเปลี่ยนวิธีคิด และการจัดการในมิติใหม่ ที่ทุกฝ่ายร่วมมือกัน 

พัฒนาทางเลือกการจัดการน้ำที่ไม่ต้องสร้างเขื่อนแม่วงก์ หรือ เขื่อนอื่นๆ ที่มีปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมและผลกระทบชุมชน

ผมลองประมาณการค่าก่อสร้างที่ว่าคร่าวๆ พบว่าทำให้ทั่วทั้งระบบ น่าจะใช้เงินน้อยกว่าโครงการเขื่อนแม่วงก์หลายเท่าตัว รวมถึงระยะเวลาที่ก่อสร้างก็น้อยกว่าสร้างเขื่อนเช่นกัน

ศึกษาและถอดแบบ การจัดการน้ำทางเลือกของครอบครัวตัวอย่างในพื้นที่แม่วงก์

 


เผยแพร่ครั้งแรก นิตยสารสารคดี 2557

ผู้เขียน

Website | + posts

ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร (18 กันยายน 2558 - ปัจจุบัน)