โนเบลสาขาฟิสิกส์ – คำเตือนเกี่ยวกับวิกฤตโลกร้อนที่เราต้องเข้าใจ

โนเบลสาขาฟิสิกส์ – คำเตือนเกี่ยวกับวิกฤตโลกร้อนที่เราต้องเข้าใจ

รางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ประจำปี 2021 ได้มอบให้กับ ซูคุโระ มานาเบะ เคลาส์ ฮัสเซลมานน์ และ จอร์จิโอ พาริซี ซึ่งมีผลงานที่เกี่ยวข้องกับแบบจำลองสภาพภูมิอากาศและความเข้าใจเกี่ยวกับระบบทางกายภาพ อันเป็นพื้นฐานคำทำนายเกี่ยวกับวิกฤตโลกร้อนในปัจจุบัน

.
ต้นเดือนตุลาคม – ราชบัณฑิตยสถานวิทยาศาสตร์แห่งสวีเดน (The Royal Swedish Academy of Sciences) ประกาศรายชื่อผู้ได้รางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ประจำปี 2021

เจ้าของรางวัลในปีนี้มีด้วยกัน 3 ท่าน ได้แก่ ซูคุโระ มานาเบะ (Syukuro Manabe) ชาวญี่ปุ่นที่เกิดในสหรัฐฯ – ศาสตราจารย์จาก Princeton University ในสหรัฐอเมริกา

เคลาส์ ฮัสเซลมานน์ (Klaus Hasselmann) จากเยอรมนี – ศาสตราจารย์จากสถาบันด้านอุตุนิยมวิทยา Max Planck Institute for Meteorology ในฮัมบูร์ก ประเทศเยอรมนี

และ จอร์จิโอ พาริซี (Giorgio Parisi) ชาวอิตาลี – ศาสตราจารย์ด้านฟิสิกส์เชิงทฤษฎีที่มหาวิทยาลัย Sapienza University of Rome ในอิตาลี

รางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ที่มอบให้กับทั้งสาม เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับแบบจำลองสภาพภูมิอากาศและความเข้าใจเกี่ยวกับระบบทางกายภาพ

และเป็นครั้งแรกที่รางวัลสาขานี้ให้เกียรติกับงานด้านวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ

และเป็นไปเพื่อสะท้อนความสำคัญของวิกฤตที่โลกกำลังเผชิญ

รางวัลเต็มมูลค่า 10 ล้านคราวน์สวีเดน หรือ 1.15 ล้านดอลลาร์ – ครึ่งหนึ่งจะถูกแบ่งให้มานาเบะและฮัสเซลมานน์อย่างเท่าๆ กัน จากผลงานแบบจำลองทางกายภาพของสภาพภูมิอากาศโลก การหาปริมาณความแปรปรวน และการทำนายภาวะโลกร้อนได้อย่างน่าเชื่อถือ

ส่วนรางวัลอีกครึ่งหนึ่งจะตกเป็นของพาริซี สำหรับการค้นพบความเชื่อมโยงของความไม่เป็นระเบียบ และความผันผวนของระบบกายภาพตั้งแต่ระดับอะตอมจนถึงระดับดาวเคราะห์

ธอร์ ฮานส์ แฮนส์สัน ประธานคณะกรรมการโนเบลสาขาฟิสิกส์ คาดหวังว่าการมอบรางวัลในครั้งนี้จะเป็นสาส์นที่ส่งไปถึงผู้นำประเทศต่างๆ ทั่วโลก ตลอดจนนักการเมืองให้ได้รับทราบถึงปัญหา

และกล่าวด้วยว่า แบบจำลองของสภาพภูมิอากาศล้วนมีพื้นฐานมาจากทฤษฎีฟิสิกส์อย่างแน่นหนา

งานของมานาเบะในช่วงทศวรรษ 1960 แสดงให้เห็นว่าระดับคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศว่าสอดคล้องกับอุณหภูมิพื้นผิวโลกที่เพิ่มขึ้นอย่างไร

แบบจำลองของซูคุโระ มานาเบะซึ่งถูกพัฒนาขึ้นในช่วงเวลาที่พลังของคอมพิวเตอร์เป็นเพียงเศษเสี้ยวของสิ่งที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ยังคงเป็นพิมพ์เขียวสำหรับภาคสนาม

แม้เดิมทีมานาเบะจะทำงานนี้เพียงเพราะความสนุกมากกว่าสนใจประเด็นปัญหาที่ต่อมากลายเป็นเรื่องใหญ่ต่อโลกก็ตาม

เคลาส์ ฮัสเซลมานน์ ได้รับการยกย่องในการค้นหาแบบจำลองสภาพภูมิอากาศที่ยังคงมีความน่าเชื่อถือได้มาจนถึงปัจุบัน

แม้ในบางครั้งจะมีการเปลี่ยนแปลงของแนวโน้มสภาพอากาศที่ไม่เป็นระเบียบจนยากจะคาดเดา

ค.ศ. 1988 – วันที่มนุษยชาติยังไม่สนใจปัญหานี้ ฮัสเซลมานน์เคยให้สัมภาษณ์ว่า “ในช่วง 30-100 ปี โลกของเราขึ้นอยู่กับปริมาณเชื้อเพลิงฟอสซิลที่เราบริโภค เราจะเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่สำคัญมาก”

ส่วน จอร์จิโอ พาริซี ได้รับเกียรติจากผลงานในช่วงทศวรรษ 1980

ซึ่งคณะกรรมการกล่าวว่าผลงานของเขาเป็น “ส่วนสนับสนุนที่สำคัญที่สุด” ต่อทฤษฎีระบบที่ซับซ้อน หรือระบบอะไรก็ตามที่มี “พฤติกรรมแบบสุ่ม”

งานของพาริซี ช่วยให้นักฟิสิกส์เข้าใจระบบแบบ “สุ่ม” ได้ทั้งหมด และต่อยอดไปสู่งานหลายแขนง เช่น คณิตศาสตร์ ชีววิทยา และแมชชีนเลิร์นนิง

“ระบบที่ซับซ้อนอย่างหนึ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อมนุษยชาติคือสภาพภูมิอากาศของโลก” พาริซีกล่าวและอธิบายต่อว่า “การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นภัยคุกคามอย่างใหญ่หลวงต่อมนุษยชาติ และเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งที่รัฐบาลจะต้องดำเนินการอย่างเฉียบขาดโดยเร็วที่สุด”

อนึ่ง แม้หนนี้จะเป็นครั้งแรกที่รางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ได้มอบแก่ผู้มีผลงานด้านวิกฤตสภาพภูมิอากาศ แต่ปัญหาดังกล่าวได้ถูกสื่อสารผ่านรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพแก่ อัลเบิร์ต อาร์โนลด์ อัล กอร์ จูเนียร์ หรือ อัล กอร์ ในปี 2007

ซึ่งเป็นที่รู้จักในฐานะวิทยากรด้านโลกร้อนและผู้ผลิตสารคดีเรื่อง An Inconvenient Truth อันว่าด้วยปัญหาสิ่งแวดล้อมและภาวะโลกร้อน

 

อ้างอิง

ผู้เขียน

Website | + posts

โซเชียลมีเดียที่เขียนบันทึกประเด็นปัญหาสิ่งแวดล้อมในยุคแอนโทโปรซีน