ลิงป่าในแทนซาเนียกำลังเผชิญความเสี่ยงอันตรายจากถนนที่ตัดผ่านป่าอนุรักษ์

ลิงป่าในแทนซาเนียกำลังเผชิญความเสี่ยงอันตรายจากถนนที่ตัดผ่านป่าอนุรักษ์

โคโลบัสแดงเป็นหนึ่งในสายพันธุ์ลิงที่พบได้เฉพาะในป่าของทวีปแอฟริกา ปัจจุบันตกอยู่สถานะเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ (Endangered species) จากการประเมินของ IUCN Redlist

เหตุผลอันน่าเศร้านั้นมาจากคนในอดีตเข้าใจ (ผิด) ว่าเจ้าโคโลบัสแดงเป็นสัตว์มีพิษเพียงเพราะพฤติกรรมการกินที่ชอบเด็ดเอาแต่ยอดอ่อนมาเคี้ยวเป็นอาหาร

เมื่อไม่มียอดใหม่ให้เติบโต (เพราะถูกกินหมด) ต้นไม้ (บางชนิด) ก็เฉาตายลงไปในที่สุด

ในความเป็นจริง สิ่งที่เกิดขึ้นคือส่วนหนึ่งของการควบคุมสมดุลในระบบนิเวศ ไม่ให้พืชชนิดใดชนิดหนึ่งมีมากเกินไปไม่ใช่เพราะลิงมีพิษอันตรายฆ่าชีวิตใครได้

เป็นโชคดีที่เราเข้าใจความเป็นไปของธรรมชาติได้ก่อนเกิดโศกนาฏกรรมฆ่าล้างเผ่าพันธุ์จนสิ้นสูญ

ปัจจุบัน ประชากรกลุ่มที่เหลือได้ใช้ชีวิตอย่างเป็นสุขอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติโจซานี  บนหมู่เกาะแซนซิบา ประเทศแทนซาเนียที่อยู่เพียงแห่งเดียวของสัตว์เฉพาะถิ่นสายพันธุ์นี้

อย่างไรก็ตาม เมื่อกาลเวลาเปลี่ยนไป ลิงโคโลบัสแดงก็ต้องเผชิญกับภัยคุกคามรูปแบบใหม่ ที่มีโอกาสทำให้สายพันธุ์ของพวกมันต้องพบวิกฤตการสูญพันธุ์เป็นครั้งที่สอง

ซึ่งเรื่องราวในปัจจุบัน มีเหตุผลมาจากการตัดถนนเพื่อการท่องเที่ยวในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ

นักวิจัยจาก WCS ในแอฟริกา เล่าว่า สัตว์ป่าต่างๆ รวมถึงลิงโคโลบัสแดงเคยคุ้นชินกับการออกเดินทางหาอาหารไปทั่วผืนป่าอย่างมีอิสระ แต่เมื่อมีถนน (เพื่อการท่องเที่ยวสร้างขึ้นในปี 1996) ตัดผ่าคั่นกลางป่าอนุรักษ์ที่เคยปลอดภัยก็ไม่ใช่บ้านอันแสนสุขอีกต่อไป

จากการเฝ้าศึกษาผลกระทบที่เกิดขึ้น พบว่า ในทุกๆ ปีมีลิงโคโลบัสแดงอย่างน้อย 12-15% ตายเพราะอุบัติเหตุบนท้องถนน

และยิ่งน่าเศร้าหนักเมื่อพบว่าลิงที่ถูกรถชนนั้น ส่วนใหญ่เป็นลิงหนุ่มสาวที่มีศักยภาพในการขยายเผ่าพันธุ์

นอกจากลิงแล้วก็ยังมีสัตว์ป่าอีกหลายชนิดที่ตายเพราะอุบัติเหตุเช่นหนูผีช้างกระรอกหรือพังพอนตลอดจนลิงสายพันธุ์อื่นๆ

แต่สัตว์ที่จบชีวิตลงเพราะถูกรถชนเยอะที่สุดคือ ลิงโคโลบัสแดง

หนึ่งในทางออกที่นักวิจัย นักอนุรักษ์ และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับพื้นที่อนุรักษ์พยายามช่วยกันแก้ไข คือการติดเนินลูกระนาด เพื่อชะลอความเร็วให้กับรถยนต์ที่วิ่งผ่านอุทยานฯ

ซึ่งช่วยลดอัตราการเสียชีวิต ของลิงโคโลบัสแดงลงได้ในระดับหนึ่ง

จากการเก็บข้อมูลในช่วงปี 2016 – 2019 หลังติดตั้งเนินลูกระนาดแล้ว พบว่า (ยังมี) ลิงโคโลบัสแดงนอนตายข้างถนน เฉลี่ยอย่างน้อยหนึ่งตัวในทุกๆ หกสัปดาห์

แม้แนวโน้มจะลดการสูญเสียได้มากขึ้น แต่ก็ยังไม่อาจรักษาชีวิตได้ทุกตัว

ตามรายงานของ IUCN Redlist คาดว่าลิงโคโลบัสแดงน่าจะเหลืออยู่ราว 5,000 ตัว

เรื่องราวของลิงโคโลบัสแดงในอุทยานแห่งชาติโจซานี ประเทศแทนซาเนีย ไม่ใช่ปัญหาใหม่ของการอนุรักษ์สายพันธุ์สิ่งมีชีวิตในป่าใหญ่

เรื่องนี้เป็นภัยอันตราย ที่ส่งผลกระทบต่อสัตว์ป่าหลายชนิด ทั่วทุกภูมิภาคโลก

แม้แต่ประเทศไทยเองก็พบปัญหาแบบเดียวกัน (เช่นในอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่)

อันถือเป็นอีกหนึ่งความท้าทายของงานอนุรักษ์ในปัจจุบัน

 


อ้างอิง

ผู้เขียน

Website | + posts

โซเชียลมีเดียที่เขียนบันทึกประเด็นปัญหาสิ่งแวดล้อมในยุคแอนโทโปรซีน