‘ปลานกแก้ว’ ทุกตัวมาจากการประมงที่ผิดกฎหมาย

‘ปลานกแก้ว’ ทุกตัวมาจากการประมงที่ผิดกฎหมาย

‘ปลานกแก้ว’ เป็นหนึ่งในสายพันธุ์ปลาที่มีสีสันฉูดฉาด สะดุดตา แต่ขณะเดียวกันก็เป็นหนึ่งในสายพันธุ์ปลาที่ถูกบรรยายว่ามีรสชาติอร่อย

“โดยเฉพาะ รสชาติเรียกได้ว่าอร่อยติดปาก(สุดๆ)เอามาทำแกงก็ได้ ทำผัด ทอด เนื้อนุ่มไม่เหมือนใคร” จากโพสต์ในเว็บไซต์ pantip (พ.ศ. 2552)

“อร่อยมากค่าปลานกแก้ว… เนื้อนุ่มมากกกกกกก” จากบล็อค ok nation (พ.ศ. 2555)

กล่าวกันว่า ปลาชนิดนี้ คือปลาหายาก รสชาติดี ราคาแพง และชวนให้ต้องลิ้มลองสักครั้ง

ที่ว่ามา คือความเชื่อเก่าก่อน – ก่อนที่เราจะรู้ว่า ‘ปลานกแก้ว’ มีมูลค่าความสำคัญมากกว่าเรื่องรสชาติของปลาที่ตายแล้ว

กล่าวคือ ปลานกแก้วเป็นสัตว์กินพืช ใช้เวลาทั้งวันครูดกินสาหร่ายที่เกาะกับปะการังและโขดหินในแนวปะการังเป็นอาหาร

พวกมันจะใช้ฟันที่มีลักษณะเรียงต่อกันเป็นแผงคล้ายจะงอยปากนกแก้ว ซึ่งลักษณะการกินของปลานกแก้วนั้นนอกจากจะเป็นการช่วยกำจัดสาหร่ายที่จะขึ้นมาปกคลุมปะการังแล้ว ยังช่วยเปิดพื้นที่บนโขดหินให้ตัวอ่อนปะการังสามารถลงเกาะและเจริญต่อไปเป็นปะการังได้

เหตุการณ์นี้พบว่าเมื่อเกิดปรากฏการณ์ฟอกขาว แนวปะการังที่มีปลานกแก้วจะทำให้ปะการังสามารถฟื้นตัวได้เร็วกว่าแนวปะการังที่ไม่มีปลานกแก้วกว่า 6 เท่า

โดยเป็นงานวิจัยของ P. J. Mumby et al. 2013. เรื่อง “Operationalizing the resilience of coral reefs in an era of climate change.” แห่งมหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์และคณะที่ตีพิมพ์ในวารสาร Conservation Letter 2013

นอกจากนี้ การกัดแทะก้อนปะการังของปลานกแก้วเป็นตัวช่วยทำให้โครงสร้างแข็งถูกทำให้เป็นชิ้นเล็กๆ และถูกแปลงให้อยู่ในรูปของ calcium carbonate หรือหินปูนที่ละลายในน้ำจะถูกนำกลับมาใช้ใหม่อีกครั้งโดยปะการังและหอย และตะกอนทรายเหล่านี้จะก่อเป็นหาดทรายในธรรมชาติอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม ด้วยความที่ปลานกแก้วไม่ใช่สัตว์คุ้มครองตามกฎหมายของประเทศ จึงเป็นเรื่องยากที่จะห้ามจับ

แต่ถึงกระนั้น ในทางอ้อม ประเทศไทยก็ยังมีกฎหมายฉบับอื่นๆ ที่ช่วยคุ้มครองปลาชนิดนี้ได้ เช่น กฎหมายที่คุ้มครองปะการังที่ปลานกแก้วเข้าไปใช้ประโยชน์ อาทิ

พระราชบัญญัติการเดินเรือน่านน้ำไทย พ.ศ. 2456 พระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. 2490 พระราชบัญญัติให้อำนาจทหารเรือปราบปรามการกระทำผิดบางอย่างทางทะเล พ.ศ. 2490

พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 พระราชบัญญัติการส่งออกไปนอกราชอาณาจักรและการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้า พ.ศ. 2522

พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535

พระราชบัญญัติธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ พ.ศ. 2535 เป็นต้น

ยกตัวอย่างว่า หากมีใครสักคนไปจับปลานกแก้ว ซึ่งอาศัยอยู่ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติทางทะเล ผู้จับก็จะมีฐานความผิดในฐานะผู้ทำลายทรัพยากรในพื้นที่อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติของประเทศ

ต่อประเด็นเรื่องข้อกฎหมายและการคุ้มครองนี้ ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการด้านทะเล เคยให้สัมภาษณ์เอาไว้ว่า “ปลานกแก้วทุกตัวมาจากการประมงที่ผิดกฎหมาย”

เนื่องจาก ปลานกแก้วมีถิ่นอาศัยอยู่ในแนวปะการัง และแนวปะการังแทบทั้งหมดในประเทศไทยมีกฎหมายคุ้มครอง

ในอดีตที่ผ่านมาเคยมีการรณรงค์ให้เลิกขายปลานกแก้วในซูเปอร์มาร์เก็ต

โดยในปี 2557 องค์กรอนุรักษ์ต่างๆ เช่น Reef Guardian Thailand ได้สร้างแคมเปญ ‘หยุดขายปลานกแก้ว’ ผ่าน change.org มีประชาชนร่วมลงชื่อมากกว่า 23,000 ราย

ทำให้ห้างสรรพสินค้า อาทิ เทสโก โลตัส , แมคโคร, ซุปเปอร์มาร์เก็ตในเครือเซ็นทรัล, เดอะมอลล์ และ วิลล่า มาร์เก็ต ได้ออกประกาศหยุดขายปลานกแก้วทุกรูปแบบ

เหตุการณ์นั้น ถือได้ว่าเป็นปรากฎการณ์สำคัญในการแสดงเจตนาร่วมกันของสังคม โดยไม่ต้องรอมาตรการจากภาครัฐ

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าในภาคของห้างร้านขนาดใหญ่จะทำตามข้อเรียกร้องของประชาชน แต่ก็ยังพบเห็นการขายปลานกแก้วในตลาดสดทั่วไปอยู่เรื่อยๆ

เช่น พ.ศ. 2563 มีผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่งโพสต์ในกลุ่มรีวิวภูเก็ต – กลุ่มปรึกษา แชร์ประสบการณ์ ทริปเที่ยว ที่พัก เดินทาง ภูเก็ต เผยภาพให้เห็นปลานกแก้วจำนวนหลายตัว ถูกจับมาวางขายในตลาดราไวย์ จ.ภูเก็ต

“ไปตลาดราไวย์มา เจอร้านขายปลานกแก้ว คนขายแนะนำดิบดีกินเป็นซาชิมิอร่อยมาก”

จนมาถึงเหตุการณ์ล่าสุดที่นักท่องเที่ยวต่างชาติโพสต์ภาพการล่าปลานกแก้ว และปลาชนิดอื่นๆ ที่เกาะพีพี

เหล่านี้ ล้วนแสดงให้เห็นว่า ภัยคุกคามปลานกแก้วจากมนุษย์ยังคงอยู่ ไม่ได้สูญหายไปไหน เพียงแต่ได้เปลี่ยนบริบทการทำลายไปตามวาระและโอกาส


อ้างอิง

ผู้เขียน

Website | + posts

โซเชียลมีเดียที่เขียนบันทึกประเด็นปัญหาสิ่งแวดล้อมในยุคแอนโทโปรซีน