เมื่อ ‘จระเข้’ สูญพันธุ์ ระบบนิเวศจะได้รับความเสียหายอย่างหนัก

เมื่อ ‘จระเข้’ สูญพันธุ์ ระบบนิเวศจะได้รับความเสียหายอย่างหนัก

‘จระเข้’ แม้มีรูปลักษณ์ดูน่ากลัว แต่พวกมันมีความสำคัญต่อระบบนิเวศอย่างมาก เป็นตัวคัดพันธุกรรมสัตว์ป่าที่อ่อนแอออกจากระบบนิเวศ เป็นนักกำจัดซากทำให้แหล่งน้ำสะอาด หลุมที่จระเข้ขุดขึ้นไว้วางไข่ กลายเป็นแหล่งกักเก็บนํ้าในฤดูแล้งให้สัตว์อื่นใช้ประโยชน์

หากมีใครเอ่ยว่า “จระเข้กำลังจะสูญพันธุ์” ก็คงจะเป็นเรื่องที่ทำให้ผู้ฟังรู้สึกแปลกแปร่งระคนประหลาดอยู่สักหน่อย

ในเมื่อทุกวันนี้มีฟาร์มจระเข้อยู่มากมายในหลายๆ ประเทศ ในไทยก็มีฟาร์มจระเข้ขนาดใหญ่อยู่หลายแห่ง คงเป็นไปได้หรอกที่จระเข้จะสูญพันธุ์ไปจากโลก

เรื่องนี้มีตัวอย่างที่เห็นเด่นชัดทั้งในอเมริกาและออสเตรเลีย ที่มีการทำฟาร์มจระเข้เพื่อค้า ควบคู่กับการอนุรักษ์จระเข้ในธรรมชาติไปพร้อมๆ

ปฏิเสธไม่ได้ว่านั่นก็เป็นความจริงประการหนึ่ง แต่ก็ต้องหมายเหตุไว้ว่าเป็นความจริงเพียงครึ่งเดียว เพราะเมื่อตัดทั้งสองประเทศนี้ออกไป สถานะของ ‘จระเข้’ สายพันธุ์ต่างๆ ในธรรมชาติล้วนแต่ลดน้อยถอยลงทุกขณะ

กรณีจระเข้น้ำจืดสายพันธุ์ไทยหรือจระเข้สยามคือตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัดว่าเหลืออยู่น้อยมาก นานๆ ครั้งถึงจะมีข่าวการค้นพบในประเทศสักที

ที่พอจะมีความหวังในการอนุรักษ์อยู่บ้างก็มาจากทางฝั่งเพื่อนบ้านอย่างประเทศกัมพูชา ที่เริ่มเพาะพันธุ์จระเข้สยามและปล่อยคืนสู่ธรรมชาติสำเร็จมาแล้วหลายต่อหลายครั้ง

ทั้งยังมีสัญญาณการออกไข่เองตามธรรมชาติให้เห็นตามมาติดๆ

คาดว่าในกัมพูชามีจระเข้สยามอยู่ในป่าธรรมชาติประมาณ 200-400 ตัวในปัจจุบัน

ก็ไม่แน่ว่า ในอนาคตหากจระเข้สยามสูญพันธุ์ไปจากประเทศไทย เราอาจจะต้องไปขอหยิบยืมจากกัมพูชามาปล่อยป่า

ส่วนเรื่องอาจนำจระเข้จากฟาร์มเพาะเลี้ยงนั้นอาจมีความเสี่ยงสักหน่อย เพราะมีไม่น้อยที่เกิดจากการผสมข้ามสายพันธุ์ เพื่อให้ได้ลักษณะและลวดลาย (หนัง) ที่ต้องการ

กระเป๋าหนังจระเข้ที่ถูกยึดโดยด่านศุลกากรประเทศโปแลนด์ l wikipedia

หรือหากยังคงรักษาสายพันธุ์แท้ๆ ไว้ได้ การนำสัตว์ในที่ถูกเลี้ยงมาปล่อยคืนสู่ธรรมชาติก็คงไม่ใช่เรื่องที่ง่ายนัก เป็นงานที่มีต้นทุนค่าใช้จ่าย และใช่ว่าจะทำได้สำเร็จเสมอไป

หรือในบางกรณีมีฟาร์มจระเข้จำนวนไม่น้อย แอบลักลอบจับจระเข้จากธรรมชาติเพื่อให้ได้พ่อแม่พันธุ์แท้ๆ ที่แข็งแรง ซึ่งมีรายงานว่าเหตุการณ์นี้ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

และเป็นอีกสาเหตุที่ทำให้จระเข้ในละแวกนี้แทบจะสูญพันธุ์ไปจนเกือบหมด

กล่าวคือต่อให้เพาะเลี้ยงปล่อยสู่ธรมชาติสำเร็จ แต่ถ้ายังมีการลักลอบจับจระเข้ส่งฟาร์มเลี้ยง การอนุรักษ์ก็ยากจะสำเร็จ

ซึ่งนั่นหมายความถึงความล่มสลายทางระบบนิเวศที่จะเกิดตามมา

โดยนักวิจัยจาก Zoological Society of London (ZSL) ได้วิเคราะห์หน้าที่ทางนิเวศวิทยาของสปีชีส์พบว่าเมื่อจระเข้หายไปจะส่ง ‘ผลกระทบร้ายแรงต่อระบบนิเวศ’

ฟีบี้ กริฟฟิธ หัวหน้าผู้เขียนวิจัยกล่าวว่า “หลายคนคิดว่าจระเข้เป็นสัตว์กินเนื้อขนาดใหญ่ จับม้าลายในสารคดีสัตว์ป่า แต่นั่นเป็นเพียงส่วนเล็กๆ ของพฤติกรรมของสัตว์สายพันธุ์เดียว”

มีจระเข้อยู่ประมาณ 28 สายพันธุ์ และแต่ละสายพันธุ์ก็มีวิวัฒนาการที่ให้ความแตกต่างกันอย่างน่าประหลาดใจ

“การหาบทบาททางนิเวศวิทยาที่หลากหลายของสายพันธุ์เหล่านี้เป็นปัจจัยสำคัญในการทำความเข้าใจและอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพทั่วโลก และพิจารณาขนาดของสิ่งที่เราจะสูญเสียหากจระเข้หายไป”

จระเข้แต่ละสายพันธุ์มีบทบาทที่แตกต่างกันในระบบนิเวศในวงกว้าง

นักอนุรักษ์ได้พัฒนาฐานข้อมูลของลักษณะเฉพาะที่มีอิทธิพลต่อการทำงานของระบบนิเวศ เช่น รูปทรงกะโหลกศีรษะ ขนาดร่างกาย และการใช้ที่อยู่อาศัย

พวกเขาพบว่าแอลลิเกเตอร์จีน หรือจระเข้ตีนเป็ดจีนสร้างที่พักพิงสำหรับสัตว์อื่นๆ โดยการขุดโพรงเพื่อจำศีลในฤดูหนาว และหลบภัยในฤดูร้อน

ในขณะที่จระเข้ฟิลิปปินส์กินหอยแอปเปิ้ลซึ่งถือเป็นศัตรูพืชทางการเกษตร

จระเข้น้ำเค็มเดินทางหลายร้อยกิโลเมตรข้ามมหาสมุทร จากพื้นดินสู่น้ำจืดและน้ำเค็ม และนำพาสารอาหารระหว่างส่งต่อระบบนิเวศแบบต่างๆ

โครงกระดูกของโลลอง จระเข้ฟิลิปปินส์ ที่มีความยาวถึง 6.17 เมตร โลลองถูกจับเพื่อถูกสงสัยว่ามันกินคน l wikipedia

หรือโดยพื้นฐานอธิบายได้ว่า จระเข้คือสัตว์อีกชนิดที่ช่วยบ่งชี้คุณภาพความอุดมสมบูรณ์ทางระบบนิเวศของป่า แม่น้ำ ลำธาร พื้นที่ชุ่มน้ำ เป็นตัวควบคุมและคัดพันธุกรรมสัตว์ป่าที่อ่อนแอออกจากระบบนิเวศ

จระเข้เป็นนักล่าที่มีการเปลี่ยนอาหารไปเรื่อยๆ ตามขนาดตัว ไล่มาตั้งแต่ ปลา กบ นก ไปจนถึงสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็กและใหญ่ เป็นนักกำจัดซาก ช่วยทำให้แหล่งน้ำมีความสะอาด

กองดินที่จระเข้ขุดเพื่อวางไข่กลายเป็นเนินและเกาะขนาดย่อมๆ ในฤดูแล้งหลุมที่จระเข้ขุดขึ้น กลายเป็นแหล่งกักเก็บนํ้าที่ช่วยให้พืชและสัตว์หลายชนิดอยู่รอดจนกว่าระดับนํ้าจะกลับสู่ภาวะปกติ

หากป่ายังมีจระเข้ แสดงว่าป่านั้นยังมีความอุดมสมบูรณ์

จากข้อมูลเปิดเผยว่า จระเข้มีหน้าที่ทางนิเวศวิทยามากถึง 38 เปอร์เซ็นต์ที่สัตว์เลื้อยคลานมีให้สำหรับสิ่งมีชีวิตอื่นๆ

ทว่าจระเข้ที่มีหน้าที่ทางนิเวศวิทยาที่โดดเด่นที่สุด 6 สายพันธุ์กลับอยู่ในกลุ่ม ‘ใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง’

โดยสองสายพันธุ์ที่ถูกคุกคามมากที่สุด คือ ตะโขงอินเดีย และจระเข้ตีนเป็ดจีน

[ตอนนี้ทางการจีนเพาะพันธุ์จระเข้ตีนเป็ดจีน ได้ราวๆ 13,000 ตัว แต่ทั้งหมดก็ยังอยู่ในฟาร์มเลี้ยง ยังไม่ได้ปล่อยสู่ธรรมชาติ]

ซึ่งถ้าเราสูญเสียสายพันธุ์เหล่านี้ไป เราจะสูญเสียบทบาทที่สำคัญของพวกมันไปตลอดกาล

นักวิจัยกล่าวยอมรับว่าทำการศึกษาเรื่องนี้ช้าไป “เราเพิ่งจะเริ่มตรวจสอบว่าบทบาทเหล่านี้คืออะไร แต่บางชนิดอาจสูญหายไปก่อนที่เราจะมีโอกาสเข้าใจตำแหน่งของพวกมันในระบบนิเวศ”

และย้ำว่า การศึกษาบทบาททางระบบนิเวศนี้มีขึ้นเพื่อให้เราเข้าใจธรรมชาติของจระเข้ว่ามีความสำคัญอย่างไร เพื่อนำไปสู่การปกป้องสายพันธุ์เพื่อรักษานิเวศบริการที่เราได้รับจากสัตว์

และเรื่องนี้เป็นสิ่งที่ต้องเร่งทำโดยด่วน

ปัจจุบัน สัตว์เลื้อยคลานมากกว่าหนึ่งในห้าของโลกเผชิญกับการสูญพันธุ์ที่ใกล้เข้ามา

การศึกษาใหม่เตือนว่าสัตว์เลื้อยคลานมากกว่าหนึ่งในห้าของโลกกำลังเผชิญกับการสูญพันธุ์

จระเข้และเต่าเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงมากที่สุด โดยแต่ละสายพันธุ์มากกว่าครึ่งต้องการการอนุรักษ์อย่างเร่งด่วนเพื่อให้แน่ใจว่าพวกมันจะอยู่รอด

ภัยคุกคามหลักที่สัตว์เลื้อยคลานต้องเผชิญ ได้แก่ เกษตรกรรม การตัดไม้ การพัฒนาเมือง และสิ่งมีชีวิตที่รุกราน

ในขณะที่ความเสี่ยงที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนั้นยังเป็นเรื่องไม่แน่นอนสำหรับบางสายพันธุ์

ตามการประเมินสถานะการอนุรักษ์ของสัตว์เลื้อยคลาน 10,196 สายพันธุ์ และพบว่าอย่างน้อย 1,829 ถูกคุกคามด้วยการสูญพันธุ์


อ้างอิง

ผู้เขียน

Website | + posts

โซเชียลมีเดียที่เขียนบันทึกประเด็นปัญหาสิ่งแวดล้อมในยุคแอนโทโปรซีน