โดรนเก็บขยะ ขจัดพลาสติกในลำน้ำก่อนไหลลงสู่ทะเล

โดรนเก็บขยะ ขจัดพลาสติกในลำน้ำก่อนไหลลงสู่ทะเล

ในแต่ละปีมีขยะพลาสติกหลายล้านตันไหลลงสู่มหาสมุทร คร่าชีวิตพืชและสัตว์จำนวนมหาศาล ปัญหาดังกล่าวคือสาเหตุที่บริษัทหลายแห่งทั่วโลกต่างพัฒนาเครื่องมือใหม่ๆ ในการลดปัญหาขยะพลาสติกในมหาสมุทร

RanMarine Technology บริษัทจากเนเธอร์แลนด์ใช้โดรนน้ำขนาด 157 เซนติเมตรที่ชื่อว่า WasteSharks เพื่อจัดเก็บขยะในน้ำแล้วรวบรวมมาส่งเพื่อกำจัดบนพื้นดิน โดรนดังกล่าวเก็บขยะได้คราวละ 160 ลิตร รวมทั้งยังสามารถจัดเก็บพืชหรือสาหร่ายลอยน้ำอีกด้วย

นวัตกรรมทางน้ำนี้ได้รับแรงบันดาลใจจากฉลามวาฬที่จะว่ายน้ำโดยอ้าปากกว้างเพื่อกินเหยื่อ “นี่คือเหตุผลที่เราติดทุ่นไว้ทั้งสองฝั่งเพื่อให้ขยะสามารถไหลเข้ามาตรงกลางแล้วติดอยู่ระหว่างทุ่นทั้งสองข้าง” Tessa Despinic วิศวกรที่ออกแบบอธิบาย

Nancy Wallace ผู้อำนวยการโครงการเศษขยะทางน้ำจากองค์การบริหารมหาสมุทรและบรรยากาศแห่งชาติ (National Oceanic and Atmospheric Administration หรือ NOAA) ของสหรัฐระบุว่าการจัดเก็บพลาสติกก่อนที่จะไหลปนเปื้อนสู่มหาสมุทรที่กว้างใหญ่นั้นมีความสำคัญอย่างยิ่ง

“เมื่อพลาสติกปนเปื้อนสู่มหาสมุทร การจัดเก็บก็ทำได้ยากอย่างยิ่งเพราะมันจะย่อยเป็นเศษเล็กเศษน้อย พลาสติกเหล่านั้นจะเล็กลงเรื่อยๆ จนแทบเป็นไปไม่ได้ที่จะล่องเรือออกไปในมหาสมุทรกว้างใหญ่เพื่อเก็บขยะที่นั่น” เธอเสริมอีกว่า “เราจึงควรจัดเก็บขยะตั้งแต่อยู่ใกล้ชายฝั่ง เพราะมันง่ายกว่าและใช้ต้นทุนน้อยกว่ามาก”

โดรนเก็บขยะ

เครื่องมือจัดเก็บขยะอื่นๆ ที่กำลังพัฒนาอยู่ทั่วโลก

ในประเทศอินเดีย บริษัท AlphaMERS ได้พัฒนาวิธีการราคาประหยัดในการจัดเก็บขยะพลาสติก โดยการติดทุ่นกับตาข่ายเหล็กเพื่อดักจับขยะพลาสติกที่ปากแม่น้ำของเมืองใหญ่อินเดีย 8 แห่งเพื่อป้องกันไม่ให้พลาสติกไหลลงสู่มหาสมุทร

ระบบดังกล่าวสามารถบำรุงรักษาได้ไม่ยาก ตาข่ายนั้นติดตั้งโดยเล็งองศาให้ขยะค่อยๆ ไหลไปทางริมตลิ่งเพื่อให้รถบรรทุกสามารถนำไปทิ้งลงที่จุดฝังกลบได้ เช่นในเมืองเชนไน ตาข่ายแปดจุดบนแม่น้ำคูมเก็บขยะพลาสติกกว่า 2,200 ตัน และพืชน้ำรวมถึงขยะอื่นๆ น้ำหนัก 19,800 ตันในปี 2018

นอกจากบริษัทดังกล่าว ยังมีโครงการริเริ่ม Osprey จากรัฐอลาบามาในสหรัฐอเมริกา บริษัทดังกล่าวก่อตั้งจุดดักจับขยะลอยน้ำที่ปากแม่น้ำบริษัทตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศ พร้อมทั้งฝึกฝนให้คนในพื้นที่สามารถจัดการขยะที่จัดเก็บได้จากตาข่ายดังกล่าว

เครื่องมือดักเก็บพลาสติกเหล่านี้ต่างมีเป้าหมายเพื่อจัดการกับขยะพลาสติกประมาณ 8 ล้านตันที่ไหลลงสู่มหาสมุทรในแต่ละปี

“สิ่งสำคัญที่สุดในการแก้ไขปัญหาขยะหรือพลาสติกที่ปนเปื้อนสู่มหาสมุทร คือการป้องกันตั้งแต่ต้นทาง” Wallace จาก NOAA กล่าว “แม้ว่าเครื่องมือเหล่านี้จะช่วยได้มาก แต่เราก็ยังต้องหาทางออกที่ต้นน้ำเพื่อลดการสร้างขยะตั้งแต่ระดับผู้บริโภคและระดับอุตสาหกรรม” เขายังเสริมด้วยว่าปัญหาดังกล่าวมีผู้เล่นเกี่ยวข้องอยู่หลายฝ่าย

สำหรับผู้สนใจสามารถชมวีดีโอการทำงานของ WaterShark ได้ที่นี่


ถอดความและเรียบเรียงจาก These drones are swallowing tonnes of plastic waste before it reaches the ocean

ผู้เขียน

+ posts

บัณฑิตการเงินและการบัญชีที่สนใจความเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม หมดเวลาส่วนใหญ่ไปกับการอ่าน เขียน เรียนคอร์สออนไลน์ และเลี้ยงลูกชายวัยกำลังน่ารัก