วาฬไรซ์ ในอ่าวเม็กซิโก เหลือเพียง 51 ตัว

วาฬไรซ์ ในอ่าวเม็กซิโก เหลือเพียง 51 ตัว

‘วาฬไรซ์’ ในอ่าวเม็กซิโกเสี่ยงสูญพันธุ์หากมีการขุดเจาะน้ำมัน

เมื่อปีที่ผ่านมานักวิทยาศาสตร์จาก NOAA – National Oceanic and Atmospheric Administration – แถลงข่าวยืนยันการค้นพบวาฬสายพันธุ์ใหม่ในอ่าวเม็กซิโก

วาฬที่ว่านี้ ได้รับการตั้งชื่อว่าวาฬไรซ์ – Rice’s whale – ตามชื่อของ เดล ไรซ์ นักธรณีวิทยา ที่ค้นพบสายพันธุ์นี้ตั้งแต่ปี 1965

เพียงแต่เวลานั้น ผู้พบและนักวิทยาศาสตร์เข้าใจว่านี้คือสายพันธุ์ท้องถิ่นของ Bryde’s whale หรือวาฬบรูด้า และถูกเรียกในชื่อวาฬบรูด้าแห่งอ่าวเม็กซิโก

กระทั่งเมื่อมีการตรวจสอบอย่างละเอียดในภายหลัง จึงพบหลักฐานทางดีเอ็นเอของไมโทคอนเดรียและนิวเคลียส ซึ่งบ่งชี้ว่าวาฬในอ่าวเม็กซิโกนี้เป็นคนละสายพันธุ์กับวาฬบรูด้า

แต่กว่าจะรู้เรื่องราวข้อเท็จจริง สายพันธ์วาฬไรซ์ก็เหลืออยู่ไม่ถึง 100 ตัว 

สาเหตุการตาย-การลดลงของวาฬชนิดใหม่ ไม่ต่างจากสายพันธุ์อื่นๆ – ต้นตอหลักมาจากการล่าวาฬเพื่อใช้ประโยชน์ในอดีต

รวมถึงสาเหตุอื่นๆ ทั้งจากมลพิษในอ่าว การใช้ประโยชน์ของมนุษย์ทางเรือ

ตลอดจนเหตุวิบัติแห่งทศวรรษก่อนอย่างการระเบิดของแท่นขุดเจาะน้ำมัน Deepwater Horizon ในปี 2010

ซึ่งคาดว่าได้พรากสิ่งมีชีวิตตระกูลวาฬไปมากถึง 20 เปอร์เซ็นต์  

นอกจากนั้น ยังมีผลกระทบเรื่องระบบสืบพันธุ์ที่ล้มเหลวต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

ตามข้อมูลล่าสุด ระบุว่า วาฬไรซ์ มีเหลืออยู่เพียง 51 ตัว

ในความเห็นของนักวิทยาศาสตร์ทางทะเล มองว่า จำนวนประชากรที่เหลืออยู่นี้ยังมีโอกาสฟื้นตัวได้ในอนาคต

แต่ก็มีเงื่อนไขว่าต้องยุติโครงการต่างๆ ที่กำลังอยู่ในแผนพัฒนาตอนนี้ลง

โดยเฉพาะโครงการสำรวจและก่อสร้างแหล่งก๊าซและน้ำมันกลางอ่าวเม็กซิโกที่ประธานาธิบดี โจ ไบเดน กำลังพิจารณาเห็นชอบให้ดำเนินการในอีกไม่กี่ปีต่อจากนี้

นักวิทยาศาสตร์ระบุว่า วาฬมีโอกาสได้รับอันตรายจากการสำรวจพื้นที่ด้วยการสำรวจวัดคลื่นไหวสะเทือน ซึ่งเป็นการสำรวจเพื่อตรวจสอบลักษณะและโครงสร้างทางธรณีวิทยาใต้ผิวดิน

ตามปกติการสำรวจวัดคลื่นไหวสะเทือน เป็นวิธีที่ใช้ในการสำรวจหาปิโตรเลียม มีความถูกต้องสูง ให้รายละเอียดของลักษณะทางธรณีวิทยาได้ดี และสำรวจได้ลึกจากผิวดินหลายกิโลเมตร

แต่มีโอกาสสร้างผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตในทะเลในระดับที่สูงมากเช่นกัน

ขณะที่วาฬเป็นสัตว์ที่มีนัยน์ตาขนาดเล็ก จึงไม่ได้ใช้ประสาทการมองเห็นเท่าใดนัก 

อีกทั้งระบบประสาทการรับกลิ่นก็ไม่มีประสิทธิภาพที่ดีด้วย 

ดังนั้น วาฬจะใช้ระบบการรับฟังเสียงเป็นประสาทสัมผัสเป็นหลัก คล้ายกับระบบโซนาร์ที่ส่งคลื่นเสียงไปกระทบกับวัตถุต่างๆ แล้วสะท้อนกลับมาสู่ประสาทหูของวาฬเพื่อคำนวณระยะทางและขนาดของวัตถุ

นอกจากนี้ วาฬยังใช้เสียงในการติดต่อสื่อสารกันในฝูงและในกลุ่มเดียวกัน

หากมีมลภาวะทางเสียงเกิดขึ้น เหล่าวาฬย่อมใช้ชีวิตไม่สงบสุข ส่งผลต่อความเป็นอยู่และความอยู่รอดของเผ่าพันธุ์

ในกรณีตัวอย่างที่ใกล้เคียงกัน สัตว์อย่างโลมาที่เสียงนำทางไม่ต่างจากวาฬ ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงเมื่อรัสเซียนำทัพเรือดำน้ำบุกยูเครน การใช้คลื่นโซนาร์ทางการทหารส่งผลกระทบให้โลมาในทะเลดำเกยตื้นตายมากเป็นประวัติการณ์

คาดการณ์กันว่า อาจมีโลมาตายมากถึง 5,000 ตัว

กลับมาที่เรื่องวาฬไรซ์ในอ่าวเม็กซิโก ล่าสุด นักวิทยาศาสตร์ทางทะเลร่วม 100 คนได้ทำจดหมายถึงฝ่ายบริหารของโจ ไบเดน เรียกร้องให้พิจารณาการขุดเจาะน้ำมันและก๊าซนอกชายฝั่งอย่างรอบคอบอีกครั้ง

เพื่อมองผลกระทบที่รอบด้านก่อนอนุมัติโครงการ

นักวิทย์เตือนว่า “การพัฒนาน้ำมันและก๊าซอย่างต่อเนื่องในอ่าวเม็กซิโกเป็นภัยคุกคามต่อการอยู่รอดและการฟื้นตัวของวาฬอย่างชัดเจน”

การสัมผัสกับคลื่นไหวสะเทือนตลอดจนการรั่วไหลของน้ำมัน อาจส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสุขภาพของวาฬ และขัดขวางกิจกรรมที่สำคัญต่อการหาอาหารและการสืบพันธุ์ของวาฬ

นอกจากนี้ ยังเสี่ยงต่อการการชนกับเรือ ซึ่งเส้นทางเดินเรือจะเพิ่มมากขึ้นเมื่อเกิดพัฒนาแหล่งขุดเจาะน้ำมันและก๊าซนอกชายฝั่งเกิดขึ้น 

สิ่งนี้เป็นอันตรายร้ายแรงต่อวาฬ โดยเฉพาะในยามค่ำคืนที่วาฬไรซ์มักพักผ่อนบริเวณต้นน้ำของมหาสมุทร

“ด้วยจำนวนประชากรวาฬไรซ์ที่เหลือต่ำมาก การสูญเสียวาฬแม้เพียงตัวเดียวก็คุกคามความอยู่รอดของสายพันธุ์” นักวิทย์ฯ เตือน

ปัจจุบัน วาฬไรซ์ – Rice’s whale – ถูกจัดอยู่ในกลุ่มสิ่งมีชีวิตที่มีความเสี่ยงขั้นวิกฤติต่อการสูญพันธุ์ (CR – Critically endangered species) ตามข้อมูลของ IUCN Redlist


อ้างอิง

ผู้เขียน

Website | + posts

โซเชียลมีเดียที่เขียนบันทึกประเด็นปัญหาสิ่งแวดล้อมในยุคแอนโทโปรซีน