[ก้าวสู่ปีที่ 31] EIA EHIA และ SEA

[ก้าวสู่ปีที่ 31] EIA EHIA และ SEA

ผมรู้จักคำว่า EIA ตัวย่อของ Environmental Impact Assessment ที่แปลกันทั่วไปว่า การวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมมาหลายปี จำได้ว่ามีตำราที่อ่านเล่มแรกๆ เขียนโดย ดร.ทวีวงศ์ ศรีบุรี เมื่อปี 2538 เกือบยี่สิบปีมาแล้ว ตอนนั้นอ่านเพื่อใช้สอนหนังสือที่ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยรังสิต 

จากนั้น ก็ไม่เคยมีโอกาสยุ่งกับการทำรายงาน EIA อีกเลย กระทั่งถูกตั้งให้เป็นกรรมการทบทวน EIA เหมืองโปแตช อุดรธานี จากท่านรัฐมนตรีกระทรวงทรัพย์หนหนึ่ง เมื่อปี 2544 หลังจากมีปัญหาความขัดแย้งของมวลชนที่อุดรธานี ที่มีข้อกังวลจากมลพิษ และแผ่นดินถล่มจากการขอประทานบัตรเหมืองแร่ใต้ดินเป็นโครงการใหญ่ยักษ์จากบริษัททุนข้ามชาติ ภายหลังที่คณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ที่สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผ่านรายงานไปสู่คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กกวล.) 

กรรมการชุดนี้ตั้งขึ้นมาเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งของมวลชนที่ไม่ต้องการเหมืองแร่ยักษ์ และมีความขัดแย้งทำท่าจะบานปลายไปไกล ครั้งนั้นจำผลการทำงานได้ว่ามีการขอให้ผู้ประกอบการไปจัดทำข้อมูลมาใหม่ ถ้าจำไม่ผิดนั่นเป็นเทคนิคที่ใช้เลี่ยงว่า EIA ฉบับนั้นไม่ควรผ่าน คชก. หรือคณะกรรมการผู้ชำนาญการที่สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม ซึ่งผลการพิจารณาของกรรมการที่ตั้งมาเฉพาะกิจนี่ก็ไม่มีผลทางกฎหมายใดๆ ต่อการพิจารณาของท่าน คชก. ที่แล้วมา แต่ดีที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รับข้อเสนอจากคณะกรรมการที่ผมเข้าไปร่วมด้วย และมีผลให้ชะลอโครงการมาเกือบยี่สิบปี แต่เข้าใจว่าวันนี้เหมืองแร่นี้ก็กำลังจะเกิดขึ้นใหม่อีกแล้ว 

เข้าใจว่าจากปัญหาเหมืองแร่โปแตชนี่เองที่เกิดแนวคิดจากนักวิชาการสายสุขภาวะ ริเริ่มทำ รายงานวิเคราะห์ผลกระทบทางสุขภาพ (Health Impact Assessment-HIA) ขึ้นมาที่อุดรนี่ก่อน และขยายแนวคิดไปจนเข้าสู่รัฐธรรมนูญ ปี 50 จนภายหลังกิจการที่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงจำเป็นต้องทำทั้ง EIA และ HIA โครงการใดเข้าข่ายก็เลยเรียกรวมเล่มเป็น EHIA เสียเลย ใช้กลไก คชก. ที่ สผ. เป็นคนผ่านรายงานไปสู่การอนุมัติโครงการของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กกวล.) เช่นเดิม

อีกไม่กี่ปีต่อมาผมออกจากการสอนหนังสือมารับงานบริหารมูลนิธิสืบนาคะเสถียรในบทรองเลขาธิการ ซึ่งต้องมาทำหน้าที่เป็นผู้แทนองค์กรพัฒนาเอกชน ในคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงาน (คชก.) ด้านแหล่งน้ำ มาตั้งแต่ปี 2547 จนมาโดนปลดกลางอากาศจากเหตุผลที่ว่าไม่มีระเบียบให้ผู้แทนองค์กรมาเป็น คชก. เมื่อปี 2554 ก่อนเขื่อนแม่วงก์จะเข้าพิจารณา ตอนนั้นหลังปี 50 มาแล้ว ทำให้โครงการเขื่อนขนาดใหญ่ซึ่งมีประกาศว่าเป็นโครงการที่มีผลกระทบรุนแรงจำเป็นต้องทำผลกระทบสุขภาพด้วย จาก EIA เขื่อนแม่วงก์ จึงต้องเป็น EHIA เขื่อนแม่วงก์

เป็น EHIA ฉบับที่ได้เดินประท้วงนั่นแหล่ะครับ

ผมมาเป็นคณะกรรมการพิจารณาข้อมูลทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โครงการเขื่อนแม่วงก์ หลังจากเดินประท้วง นั่นก็คือการย้อนไปทำหน้าที่คล้ายกับที่เป็นคณะทำงานกรณีเหมือโปแตช นั่นเอง

เพียงแต่ขณะที่เขียนเรื่องนี้อยู่ ไม่ทราบว่ากระทรวงทรัพย์ หรือรัฐบาลจะนำผลการทำงานไปตัดสินใจแก้ไขปัญหาเขื่อนแม่วงก์อย่างไรหรือไม่

จริงๆ แล้ว EIA และ EHIA เป็นเครื่องมือที่ดีนะครับ วันนี้ที่โรงงานต่างๆ ถูกควบคุม และตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม ก็เพราะมีมาตรการลดผลกระทบ ตาม EIA เป็นส่วนใหญ่ แต่ข้อด้อยของเครื่องมือนี้คือ มันเหมาะกับกิจการ ที่มีขนาดจำกัด อย่างโรงงาน เหมืองแร่เล็กๆ อาคารที่อยู่อาศัยขนาดใหญ่ ระบบชลประทานที่ต้องขุดคลองกระจายน้ำไปกว้างๆ ถนนสายเล็กที่ตัดผ่านพื้นที่เปราะบางทางนิเวศ ที่คล้ายว่ากิจกรรมแบบนี้จะขอไปอาศัยตั้งอยู่ในท้องถิ่นหนึ่ง หรือระบบนิเวศหนึ่งอย่างมิตรที่ขออิงอาศัย  

แต่สำหรับ โรงงานหลายโรงที่แยกกันทำ EIA แต่ตั้งอยู่ติดๆ กันนี่ก็อาจจะเกิดปัญหาจากมลพิษสะสม ที่ทุกโรงงานอยู่ในมาตรฐาน แต่พอสะสมรวมๆ กันแล้วก็ชักจะมาก หรือหลายๆ โรงงานไปตั้งอยู่เต็มพื้นที่ชุมชนใหญ่เกินระบบนิเวศเดิมจะรองรับ  นอกจากนี้ ก็เช่น ท่าเรือขนาดใหญ่พ่วงมาด้วยนิคมอุตสาหกรรมต่อเนื่อง รวมถึงเหมืองแร่ยักษ์ที่กินที่ดิน หรือชอนไชอยู่ใต้เมืองทั้งเมือง อันนี้ EIA อาจจะเอาไม่อยู่

เขื่อน ที่สร้างบนระบบนิเวศที่ไม่สำคัญนัก เช่น บริเวณป่าที่ไม่มีสัตว์ป่า หรือลำน้ำ ที่ไม่ใช่ลำน้ำสายหลัก ก็ใช้ EIA ได้ ในการลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม อย่างเช่น การปล่อยพันธ์ปลาทดแทน การปลูกป่าทดแทน  แต่เขื่อนที่ไปตั้งอยู่ในพื้นที่สำคัญ หรือกีดกั้นลำน้ำ ที่ระบบนิเวศซับซ้อน แน่นอนว่า EIA หรือ EHIA ก็อาจจะไม่เพียงพอเช่นกัน 

คงต้องประเมินคุณค่าของการรักษาระบบนิเวศไว้ และหาทางการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (Strategic Environmental Assessment: SEA) เพื่อสร้างทางเลือกเชิงยุทธศาสตร์ ที่ไม่ต้องสร้างเขื่อน หรือมีการพัฒนาโครงการในแนวทางใหม่ที่ระบบนิเวศ และชุมชนรับได้ นี่เป็นแนวทางใหม่ที่นักวิชาการบางส่วนกำลังคิดกัน

การประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ คือการใช้กรอบแนวคิดและกระบวนการในการวิเคราะห์ ประเมินศักยภาพและข้อจำกัดของสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่การพัฒนานโยบาย แผนงาน และโครงการขนาดใหญ่ในรายสาขา (Sectoral Based) หรือในเชิงพื้นที่ (Area Based) ที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยบูรณาการมิติด้านสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ สังคม และเทคโนโลยี 

SEA จะเสนอเปรียบเทียบทางเลือกในการตัดสินใจ เพื่อให้การตัดสินใจนั้นมีคุณภาพ รอบคอบ โปร่งใส และมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน โดยจะเป็นการดำเนินการก่อนถึงขั้นตอนการพัฒนา ทำให้สามารถช่วยชี้ว่า นโยบาย แผน แผนงาน และโครงการขนาดใหญ่ ลักษณะใดเหมาะสมกับพื้นที่และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน และบ่งชี้ประเด็นสำคัญที่ต้องให้ความสำคัญในการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมในระดับโครงการด้วย 

ปัจจุบัน แนวคิดเรื่องการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ จึงเป็นเครื่องมือหนึ่งที่จะนำมาสู่การบูรณาการ ทั้งความคิดและการปฏิบัติการร่วมกันของหลายฝ่ายให้เกิดการทำงานร่วมกันอย่างเป็นระบบและมีกระบวนการตัดสินใจจากหลายฝ่ายอย่างมีส่วนร่วม โดยมุ่งเป้าประสงค์ของการพัฒนาที่ยั่งยืน

มีปัญหาอยู่แค่ว่า SEA ที่ว่า ยังไม่มีกฎหมายให้ทำ แค่นั้นเองครับ

 


เผยแพร่ครั้งแรก นิตยสารสารคดี 2257

ผู้เขียน

Website | + posts

ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร (18 กันยายน 2558 - ปัจจุบัน)