สรุปเนื้อหา เวทีทอล์ค รำลึก 32 ปี สืบ นาคะเสถียร

สรุปเนื้อหา เวทีทอล์ค รำลึก 32 ปี สืบ นาคะเสถียร

ในกิจกรรมรำลึก 32 ปี สืบ นาคะเสถียร No Nature No Future เมื่อวันเสาร์ที่ 17 กันยายนที่ผ่านมานั้น มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ได้จัดเวทีทอล์คในประเด็นงานอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมไว้ด้วยกันทั้งหมด 9 หัวข้อ ผ่านมุมมองของคนทำงานด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น นักอนุรักษ์ นักวิจัย นักวิชาการ นักเศรษฐศาสตร์ สื่อมวลชน ทนาย รวมถึงแพทย์ ฯลฯ เพื่อนำเสนอให้เห็นว่า งานอนุรักษ์สามารถมองได้จากหลากหลายมุม และไม่ว่าจะทำงานอาชีพใด ก็มีส่วนร่วมกับงานอนุรักษ์ได้ รวมถึงประเด็นที่ว่า งานอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมไม่ใช่เพียงเรื่องของป่า สัตว์ป่า แต่ยังเกี่ยวข้องกับเมือง และการทำลายสิ่งแวดล้อมก็ยังสร้างผลกระทบข้ามพรมแดนได้ด้วยเช่นกัน

สำหรับผู้ที่พลาดชม มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ได้สรุปสาระสำคัญบทเวทีให้ติดตามย้อนหลัง ผ่านบทความนี้

12 ปี หลังการประชุมเสือโคร่งโลก ประชากรเสือโคร่งในป่าไทย มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น : สมโภชน์ ดวงจันทราศิริ

งานศึกษาและวิจัยเพื่อการอนุรักษ์เสือโคร่งในระยะเริ่มแรกของประเทศไทย เริ่มจากการศึกษาร่องรอยความแตกต่างระหว่างเสือโคร่งกับเสือดาว แต่ในเวลานั้นทรัพยากรและเทคโนโลยีมีอยู่อย่างจำกัด จึงลงลึกในรายละเอียดไม่ได้มาก

แต่เมื่อเทคโนโลยีเริ่มพัฒนา การศึกษาก็เริ่มมีรายละเอียดในเชิงลึกมากยิ่งขึ้น เช่น เริ่มมีการติดปลอกคอให้กับเสือเพื่อศึกษาระบบนิเวศ รวมถึงมีการลาดตระเวน และติดตามจำนวนของเสือในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งและทุ่งใหญ่นเรศวร ซึ่งเป็นพื้นที่มรดกโลก

กระทั่ง นับจากการประชุม 1st International Tiger Forum 2010 ที่เชิญผู้นำ 13 ประเทศ ที่ยังมีเสือโคร่งอาศัยอยู่ในป่าธรรมชาติ ได้มาวางแผนร่วมกันในการอนุรักษ์เสือโคร่ง โดยตั้งเป้าหมายว่าภายใน 12 ปีข้างหน้าจะเพิ่มระชากรเสือให้ได้ 2 เท่า โดยในปี พ.ศ. 2553 ทั่วโลกมีเสือโคร่งกระจายตัวอยู่ตามป่าธรรมของพื้นที่ทั้ง 13 ประเทศจำนวน 3,200 ตัว

หลังจาก พ.ศ. 2553 เป็นต้นมา การอนุรักษ์และศึกษาวิจัยเสือโคร่งในประเทศไทย ได้ใช้วิธีลาดตระเวนเชิงคุณภาพ (SMART Patrol) เพื่อตรวจสอบประชากรเสือโคร่ง ซึ่งเป็นระบบมาตราฐานที่ใช้ทั่วทั้งประเทศ โดยเริ่มต้นจากการใช้ในผืนป่าตะวันตก และค่อยๆ ขยายไปทั่วประเทศ รวมถึงการใช้นวัตกรรม NCAPS (Network Centric Anti Poaching System) ในการตรวจสอบเข้าไปในพื้นที่ และส่งข้อมูลต่อให้เจ้าหน้าที่เพื่อทำการจับกุมหรือป้องกันการกระทำที่อาจคุกคามความเป็นอยู่ของเสือโคร่ง นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญกับการสร้างความมีส่วนร่วมของคนในชุมชนด้วย

จากการดำเนินงานด้านต่างๆ โดยสรุปแล้ว ประชากรเสือโคร่งในประเทศไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ทั้งที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งและทุ่งใหญ่นรศวร และผลจากนำไปสู่การเพิ่มและกระจายตัวของสัตว์กีบซึ่งเป็นเหยื่อของเสือโคร่งด้วย ซึ่งความแน่นอของเหยื่อที่เพิ่มขึ้นนี้ ถือเป็นปัจจัยที่ทำให้ประชากรเสือเพิ่มขึ้นคือ

อย่างไรก็ตาม ตลอดหลายปีที่ผ่านมา การล่าเสือโคร่งยังคงเกิดขึ้น ถ้าหากเราปล่อยไว้โดยไม่ทำอะไรเลยการล่าเสือก็จะวนย้อนกลับไปเป็นแบบเดิม

หมายเหตุ ปัจจุบัน จำนวนเสือโคร่งในป่าธรรมชาติเพิ่มขึ้นมาเป็น 4,000 ตัว ในประเทศไทยมีอยู่ 140-180 ตัว

เมืองต้องมีพื้นที่สีเขียว และความหลากหลายทางชีวภาพมากขึ้น : ดร.บริพัตร ศิริอรุณรัตน์

การเกิดขึ้นของเมืองทำให้ระบบนิเวศถูกทำลายลง ตลอดจนนำไปสู่การสูญพันธุ์ของสัตว์บางจำพวก

อาจกล่าวได้ว่าการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพคือราคาที่ต้องจ่ายเมื่อเมืองถูกสร้างขึ้น

ปัจจุบันพบว่า พื้นที่สีเขียวในเมืองลดลงเรื่อยๆ ตามยุคสมัย จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องสร้างพื้นที่สีเขียว (อะไรก็ได้) เพิ่มมากขึ้น เพราะการดำรงชีวิตของคนเมืองควรได้สัมผัสกับธรรมชาติในชีวิตประจำวันทุกวัน แทนที่การตั้งหน้าตั้งตารอไปเสพความเป็นธรรมชาติเพียงแค่ในวันเสาร์-อาทิตย์

แต่หากเรามีพื้นที่สีเขียวมากขึ้น เราไม่จำเป็นต้องออกไปแสวงหาธรรมาติเลย

และนอกจากต้องเพิ่มพื้นที่สีเขียวแล้ว ยังต้องรักษาพื้นที่สีเขียวที่มีอยู่ด้วย ตัวอย่างเช่น พื้นที่ชุ่มน้ำบางกระเจ้าและนนทบุรี ที่อาจถูกคุกคามจากความเป็นเมืองได้อยู่ตลอด เพราะปัจจุบันแหล่งงานต่างๆ กระจุกตัวอยู่ในเขตเมือง ทำให้คนหันมาสร้างที่อยู่อาศัย บ้านเรือนหรือคอนโดมากขึ้น ซึ่งกลายเป็นเหตุให้พื้นที่สีเขียวที่มีอยู่เสี่ยงลดลงได้ทุกเมื่อ

และหนึ่งในประเด็นสำคัญที่ ดร.บริพัตร ศิริอรุณรัตน์ ชวนให้เกิดการถกเถียงกันให้มากขึ้น คือ เรื่องระหว่างการคงสภาพระบบนิเวศและความปลอดภัยของมนุษย์ เช่น กรณีการพบเจองูเหลือมในสวนเบญจกิติ

สำหรับเรื่องนี้ ในด้านหนึ่งก็แสดงให้เห็นถึงความสมบูรณ์ของระบบนิเวศ แต่ในทางกลับกันก็อาจสร้างอันตรายแก่ผู้คนด้วย ซึ่งในมุมของปะธานมูลนิธิโลกสีเขียวมองว่า “เราควรให้คุณค่ากับระบบนิเวศเป็นอันดับแรก”

“ไม่มีใครสมควรได้อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ไม่ดี เพราะฉะนั้นการเพิ่มพื้นที่สีเขียวจะช่วยให้เมืองน่าอยู่ขึ้นแน่นอน”

สถานะและความหวัง ในการฟื้นฟูประชากรพญาแร้ง : ไชยยันต์ เกษรดอกบัว

พญาแร้งเป็นนกนักล่าที่มีความพิเศษกว่าชนิดอื่น เนื่องจากพวกมันกินซากสัตว์เป็นอาหาร ในประเทศไทยมีแร้งอาศัยอยู่ 2 ประเภท คือ แร้งประจำถิ่น (ประกอบไปด้วย พญาแร้ง อีแร้งเทาหลังขาว อีแร้งสีน้ำตาล) และแร้งอพยพ ซึ่งจะเข้ามาในช่วงฤดูหนาว (ประกอบไปด้วย อีแร้งสีน้ำตาลหิมาลัย และอีแร้งดำหิมาลัย)

ตามปกติแร้งเหล่านี้จะกินซากสัตว์ตามธรรมชาติเป็นอาหาร ทว่าในปัจจุบันเราสามารถจัดการซากสัตว์ได้ดีมากขึ้น ทำให้แร้งไม่มีแหล่งอาหารที่เพียงพอสำหรับดำรงชีวิต นั่นจึงทำให้มีการเริ่มทำ feeding station หรือ ร้านอาหารแร้ง (ตั้งอยู่ที่ภูเก็ต ซึ่งเป็นจุดเดียวในอาเซียนที่มีแร้งหิมาลัยลงมากินมากที่สุด) เพื่อเพิ่มแหล่งอาหารให้แก่แร้งอพยพ

สำหรับพญาแร้ง ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่ยังเหลืออยู่ในประเทศ (อาศัยอยู่ในสวนสัตว์และสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่า) มีชีวสัณฐานที่แตกต่างกันระหว่างพญาแร้งตัวผู้และเพศเมีย ปัจจุบันได้สูญพันธุ์จากถิ่นที่อยู่อาศัยในธรรมชาติไปแล้วในหลายประเทศ เช่น ไทย และมาเลเซีย แต่ก็มีอีกหลายประเทศที่ยังมีพญาแร้งหลงเหลืออยู่ เช่น พม่า ลาว เวียดนาม และกัมพูชา ซึ่งเป็น Last Stronghold หรือที่มั่นสุดท้ายทียังสามารถอนุรักษ์พญาแร้งเอาได้

โดยสถานการณ์ของพญาแร้งในปัจจุบันเหลือไม่เกิน 1 หมื่นตัวทั่วโลก ทำให้พญาแร้งมีสถานะเสี่ยงขั้นวิกฤติต่อการสูญพันธุ์ (Critically endangered species) ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วง

นอกจากสาเหตุที่มาจากการขาดอาหารตามธรรมชาติแล้ว การลดลงของประชากรแร้งยังมีสาเหตุมาจากการใช้ยา diclofenac ซึ่งเป็นยาสำหรับรักษาอาการอักเสบ

ตัวอย่างเช่น ในประเทศอินเดียได้มีการฉีดยา diclofenac ให้กับวัว ต่อเมื่อวัวได้ตายแล้วแร้งลงมากินซากสัตว์วัวตัวดังกล่าว ก็จะเกิดอาการไตวายเฉียบพลัน

โดย ไชยยันต์ เกษรดอกบัว ได้เปรียบเปรยความตายเช่นนี้ว่า “ตายเป็นใบไม้ร่วง” ที่บ่งบอกถึงความอันตรายของยาชนิดนี้

ด้วยสถานการณ์ของพญาแร้งที่ไม่สู้ดีนัก ตอนนี้ประเทศไทยจึงได้เริ่มแผนการฟื้นฟูประชากรพญาแร้งในถิ่นอาศัย โดยความร่วมมือระหว่าง กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช องค์การสวนสัตว์ในพระบรมราชูปถัมภ์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมูลนิธิสืบนาคะเสถียร

โดยการเพาะพันธุ์พญาแร้ง มีสถานที่ดำเนินงานหลัก อยู่ 2 แห่ง ประกอบด้วย สวนสัตว์นครราชสีมา 2 คู่ และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งอีก 1 คู่

โดยคู่แร้งที่ห้วยขาแข้งนั้นมีชื่อว่า ‘มิ่ง’ กับ ‘ป๊อก’ ซึ่งเป็นคู่แร้งที่ต้องการให้ทั้งคู่เพิ่มจำนวนประชากรแร้งในประเทศไทย ทว่าในปัจจุบันทั้งคู่ก็ยังไม่ได้มีการผสมพันธุ์แต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม โครงการนี้จำเป็นต้องอาศัยระยะเวลา ซึ่งในอนาคตอย่างน้อยอีก 5 ปีข้างหน้า ทั้งมิ่งและป๊อกน่าจะผสมพันธุ์กันและช่วยเพิ่มประชากรพญาแร้งให้กลับมาโบยบินในผืนป่าไทยอีกครั้ง

ภารกิจสัตวแพทย์สัตว์ป่า เพราะชีวิตของสัตว์ป่ามีค่า ไม่ต่างกับชีวิตเรา : ชนัญญา กาญจนสาขา

จุดเริ่มต้นของการก้าวเข้ามาเป็นสัตวแพทย์ของชนัญญา กาญจนสาขา หรือที่รู้จักกันในชื่อของ ‘หมอโบว์’ เริ่มมาจากการได้เข้าไปเยี่ยมชมสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ร่วมกับคุณ บุษบง กาญจนสาขา อดีตนักวิจัย และยังเป็นป้าแท้ๆ ของหมอโบว์ ในช่วงวัยเด็ก

การได้เข้าไปเห็นการทำงานของนักวิจัยและสัตวแพทย์ที่ทำงานร่วมกับสัตว์ป่าเป็นประจำจึงจุดประกายความคิดที่อยากจะทำงานเป็นสัตวแพทย์ที่ดูแลสัตว์ป่าโดยเฉพาะ และทำให้เธอได้กลายมาเป็นสัจวแพทย์สัตว์ป่าสมดังที่เฝ้าฝัน

สำหรับบทบาทและหน้าที่ของสัตวแพทย์สัตว์ป่าในแต่ละวัน คือการรักษาสัตว์ป่าที่บาดเจ็บ ซึ่งสาเหตุของอาการบาดเจ็บของสัตว์ป่าส่วนใหญ่ล้วนมาจากกิจกรรมของมนุษย์

ในด้านการรักษานั้น หมอโบว์ให้แง่มุมว่า สัตวแพทย์สัตว์ป่าจะพยายามให้สัตว์ป่าเหล่านี้สัมผัสกับมนุษย์ให้น้อยที่สุด รวมถึงสอนให้หากินได้ แล้วจึงปล่อยกลับคืนสู่ป่า โดยหมอโบว์เน้นย้ำว่า “การทำหน้าที่อนุบาลดูแลสัตว์ป่านี้ เรารักเขาได้ แต่เราทำให้เขารักเราไม่ได้” เพราะสัตว์อาจจะเชื่องกับมนุษย์ ผิดวิสัยของความเป็นสัตว์ป่า

อีกงานหนึ่งที่พบบ่อย คือ งานอนุบาลสัตว์ป่า ที่แม่สัตว์คลอดทิ้งไว้ บ้างอาจพลัดหลงกับฝูง รวมถึงกของกลางที่ยึดมาได้จากพวกค้าสัตว์ผิดกฎหมาย

ภารกิจของสัตวแพทย์สัตว์ป่ายังมีเรื่องการเฝ้าระวังโรคในสัตว์ป่า ตรวจหาเชื้อไวรัสหรือโรคที่อาจเป็นภัยต่อสัตว์ป่า ไปจนถึงการขออนุญาตตรวจสอบรหัสพันธุกรรมสัตว์ป่า

และเนื่องจากหมอโบว์ได้ทำงานอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติ ทำให้มีหน้าที่เสริมด้านการสำรวจสัตว์ป่าและการสร้างความตระหนักต่อทรัพยากรสัตว์ป่า โดยสัตวแพทย์ต้องคอยสำรวจสัตว์ป่าทั้งในแง่ของจำนวนประชากร และสุขภาพของสัตว์ป่าผ่านการตรวจสอบระบบนิเวศของสัตว์ป่า

นอกจากหน้าที่ในการดูแลรักษาสัตว์ป่าแล้ว หมอโบว์ยังมีหน้าที่ที่ต้องพิสูจน์ซากสัตว์ป่า ซึ่งสาเหตุการตายของสัตว์ป่านั้นมีอยู่ 2 กรณีคือ การตายตามธรรมชาติ และการตายที่เกิดจากกิจกรรมและการกระทำของมนุษย์

หมอโบว์ได้ยกตัวอย่างการชันสูตรซากกวาง ซึ่งเมื่อผ่าท้องออกมาก็พบถุงพลาสติกรวมกันหนักกว่า 5 กิโลกรัม อันเป็นสิ่งที่ไม่สมควรเกิดขึ้นกับสัตว์ป่าอย่างมาก

“หมอเป็นแค่ปลายเหตุ ทำได้แค่รักษาหลังจากที่เกิดเหตุไปแล้ว”

หมอโบว์ ย้ำว่าเราสามารถร่วมกันป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์เหล่านี้กับสัตว์ได้ และไม่อยากให้ผู้คนมองข้ามเรื่องพวกนี้ไป

“เพราะชีวิตของสัตว์ป่านั้นมีค่า ไม่ต่างกับชีวิตเราเลย” ประโยคทิ้งท้ายจากหมอโบว์ เพื่อส่งต่อเจตนารมณ์ในการอนุรักษ์สัตว์ป่าให้ทุกคนได้รับรู้

ปัญหาสิ่งแวดล้อมในมุมเศรษฐศาสตร์ และการขับเคลื่อนเพื่อเป้าหมายที่ดีและเหมาะสม : ประชา คุณธรรมดี

จากการเข้าถึงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้อย่างไม่จำกัดของมนุษย์จึงเกิดเป็นคำถามที่ว่า “เราใช้ทรัพยากรเหล่านี้มากเกินไป หรือใช้แบบเห็นแก่ตัวกันเกินไปหรือไม่”

ผศ.ดร.ประชา คุณธรรมดี ได้ยกกรณีศึกษา 2 เรื่อง มาอธิบายให้เห็นภาพการจัดการทรัพยากรธรรมชาติที่ผิดวิธี

กรณีศึกษาแรก เรื่องกำแพงกันคลื่นของหาดสะกอม จ.สงขลา และหาดชะอำ จ.เพชรบุรี ซึ่งหลังสร้างกำแพงกันคลื่นแล้ว หาดทั้งสองแห่งก็ได้ถูกกัดเซาะอย่างรุนแรง และทำให้ชายหาดมีสภาพที่เปลี่ยนไป

กรณีศึกษาถัดมาคือเรื่องของป่า โดยเริ่มที่การใช้คำกล่าวที่ว่า “ประเทศไทยยอมเสียป่า เพื่อให้ได้มาซึ่งเขื่อน” ในการแสดงให้เห็นว่าปัญหาเรื่องเขื่อนนั้นเป็นปัญหาที่คุกคามป่าในไทยเป็นอย่างมาก

“การสร้างเขื่อนนี้ใครเป็นคนที่ได้รับประโยชน์? อย่าลืมว่าการจะได้มาซึ่งน้ำนั้นยังมีอีกหลายวิธีที่สามารถทำได้โดยที่ไม่ต้องสังเวยป่าไปด้วยซ้ำ” ผศ.ดร.ประชาตั้งคำถาม

จากกรณีศึกษาทั้งสองเรื่องนั้น จึงนำไปสู่การนำวิธีการทางเศรษฐศาสตร์ที่เรียกว่า “การประเมิน” มาใช้ในการวิเคราะห์โครงการต่างๆ โดยทั่วไปจะมีการประเมินอยู่ 2 ลักษณะคือ การประเมินโครงการ ที่มองในเรื่องของความคุ้มหรือไม่คุ้ม

อีกแบบคือการประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม จะมองในเรื่องของผลลัพธ์ของแผนงาน โดยสาระสำคัญของการประเมินทั้งสองคือ โครงการที่ดำเนินการนั้นเกิดประโยชน์สุทธิหรือไม่ ถ้าหากมันไม่คุ้มกับเงินที่ภาครัฐต้องเสีย ก็ไม่สมควรดำเนินการต่อ

ผศ.ดร.ประชา ได้กล่าวต่อถึงสิ่งที่พบ 3 อย่าง จากการประเมินโครงการสำหรับการได้รับอนุมัติ เพื่อที่จะสามารถดำเนินการสร้างโครงการต่างๆ ได้

ประการแรก จะใช้การอ้างผลตอบแทนที่สูง เพื่อให้การประเมินโครงการนั้นผ่านการอนุมัติ

ประการถัดมา คือ รูปแบบการได้รับผลประโยชน์จากการดำเนินโครงการ และประการ

และสุดท้ายคือ การยกผลลัพธ์ที่ดีกว่ามาอ้างความชอบธรรมในการทำลายสิ่งที่มีอยู่เดิม

ท้ายที่สุด ผศ.ดร.ประชา ได้เสนอทางออกในการแก้ไขปัญหาเหล่านี้ ด้วยวิธีการนำหลักฐานมาใช้ในการอ้างอิงและเข้าสู้ เพื่อที่จะแสดงให้เห็นว่าโครงการที่ผ่านมานั้นสามารถสร้างประโยชน์ได้มากกว่าต้นทุนจริงหรือไม่ แล้วผลลัพธ์เป็นไปตามที่อ้างหรือไม่

“จุดมุ่งหมายของเราคือการส่งต่อสิ่งแวดล้อมที่ดีให้คนรุ่นหลัง” นี่คือสิ่งที่ผศ.ดร.ประชาเน้นย้ำ เพื่อให้ทุกคนได้ตระหนักต่อปัญหาสิ่งแวดล้อม

การปกป้องทรัพยากรไร้พรมแดน จากกรณีเขื่อนไซยะบุรี : ส.รัตนมณี พลกล้า

เขื่อนไซยะบุรีเป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นถึงผลกระทบข้ามพรมแดนได้ชัดเจนที่สุด โดยตัวเขื่อนตั้งอยู่ในพื้นที่ของประเทศลาว ทว่าผู้ได้รับผมกระทบกลับเป็นคนในประเทศไทย

โดยเขื่อนไซยะบุรีที่นำมาเป็นกรณีศึกษาในเรื่องของผลกระทบข้ามพรมแดนนั้นเป็นเขื่อนผลิตไฟฟ้าพลังน้ำที่ทุกๆ ส่วน ล้วนเกี่ยวข้องกับไทยทั้งสิ้น ตั้งแต่เจ้าของโครงการ ผู้ตรวจสอบรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตลอดจนสัญญาซื้อไฟฟ้า เว้นก็แต่ที่ตั้งเพียงเท่านั้น

ส.รัตนมณี พลกล้า ทนายความและผู้ประสานงานมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน ได้ยกเอาเรื่องของการสร้างเขื่อนที่แม่น้ำโขงในพื้นที่ประเทศจีนมาเล่าเพื่อให้เห็นภาพว่าทำไมเราต้องให้ความสนใจ ทั้งๆ ที่เขื่อนไม่ได้สร้างอยู่ในพื้นที่ประเทศเรา

โดยเขื่อนที่สร้างในจีนนั้นได้ทำให้เกิดความแปรปรวนทางระบบนิเวศเป็นอย่างมาก หน้าแล้งน้ำกลับท่วม ปลาหลายชนิดไม่สามารถขยายพันธุ์ได้

ชาวบ้านในเขตลุ่มน้ำโขงเริ่มรวมตัวกันเพื่อที่จะฟ้องร้องให้หยุดการสร้างเขื่อน แต่การจะฟ้องร้องในครั้งนี้ค่อนข้างมีความยุ่งยากและซับซ้อน เนื่องจากตัวเขื่อนเองไม่ได้ตั้งอยู่ในไทย และในขณะที่ทำเรื่องฟ้องนั้นตัวเขื่อนยังอยู่ในระหว่างการดำเนินการสร้าง อย่างไรก็ตามก็จำเป็นต้องทำเรื่องฟ้องให้ได้ ด้วยเหตุผลว่า “เขื่อนจะต้องสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมแน่ๆ และเราก็ไม่อยากให้ไปแก้ปัญหาหรือเยียวยาที่ปลายเหตุ”

แต่กระนั้น ตามกฎหมายแพ่ง – การที่เขื่อนยังไม่ถูกสร้าง ทำให้ไม่สามารถฟ้องร้องกับเอกชนได้

ด้วยเหตุนี้ เองทำให้ฝ่ายผู้ฟ้องร้อง กลับไปย้อนดูช่องทางอื่นๆ จนพบว่าคนที่ซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนนั้นเป็นกฟผ. ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจ จึงได้ใช้พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครอง โดยตัวพระราชบัญญัติมีใจความว่า “ผู้ที่จะฟ้องร้องนั้นจะต้องเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบหรืออาจจะได้รับผลกระทบ”

ในการฟ้องร้อง ประกอบด้วย ชาวบ้าน 37 ราย ได้ร่วมกันฟ้องคดีต่อศาลปกครองเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2555 คดีเขื่อนไซยะบุรีนั้นดำเนินมากว่า 10 ปี ทว่าในท้ายที่สุดคดีก็จบลงที่ศาลปกครองสูงสุดพิพากษายกฟ้อง โดยให้เหตุผลว่าตัวผู้ฟ้องนั้นไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากสัญญาซื้อไฟฟ้า

เมื่อเรื่องจะจบลงที่ความผิดหวัง แต่นี่ก็เป็นหนึ่งในบทเรียนครั้งสำคัญในการต่อสู้ และแสดงให้เห็นว่า ทรัพยากรธรรมชาตินั้นล้วนมีความสัมพันธ์

และการรักษาทรัพยากรเอาไว้ จะยังประโยชน์อีกมากมายมหาศาล ดังที่ ส.รัตนมณี พลกล้า ทิ้งท้ายเอาไว้ว่า

“สิ่งที่กลุ่มคนลุ่มแม่น้ำโขงทำอยู่นั้นไม่ใช่เพียงการปกป้องแม่น้ำโขงเพื่อให้เขาอยู่ได้ แต่ยังเป็นการป้องกันผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับทุกคน เพราะพืชผักและปลาของแม่น้ำโขงนั้นส่งต่อไปให้คนทั่วประเทศ”

เมื่อโลกร้อนมาเยือน เราจะรอดจากวิกฤตนี้ได้อย่างไร : ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์

“ผมไม่เชื่อในความสงสาร แต่ผมเชื่อในความเจ็บปวด” ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ได้กล่าวไว้บนเวทีรำลึก 32 ปี สืบ นาคะเสถียร เพื่อตอกย้ำประเด็นเรื่องโลกร้อนที่มันสร้างความเจ็บปวดมาถึงมนุษย์เรา

บนเวที ผศ.ดร.ธรณ์ ได้นำภาพของปะการังสองภาพมาเปรียบเทียบให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลง โดยภาพแรกเป็นภาพปะการังปกติ แต่อีกภาพเป็นปะการังที่ฟอกขาว ซึ่งเป็นตัวอย่างรูปธรรมจากภาวะโลกร้อน และเป็นอีกหนึ่งภาพที่แสดงให้เห็นว่าภาวะโลกร้อนนั้นทำลายธรรมชาติไปขนาดไหน

“สถานการณ์ที่เรากำลังเผชิญอยู่ตอนนี้เป็นสถานการณ์ที่ไร้อนาคตโดยสิ้นเชิง”

โดยในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เราคาดหวังว่าการระบาดของโควิดจะช่วยลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก ซึ่งในแง่หนึ่งก็ช่วยให้ปริมาณก๊าซเรือนกระจกลดลงได้จริง โดยลดลงไปกว่า 6 เปอร์เซ็นต์ ทว่าในปี 2021 หลังจากการระบาดลดลง ผู้คนเริ่มกลับมาใช้ชีวิตตามปกติ ทำให้ในปี 2022 ก๊าซเรือนกระจกก็พุ่งสูงสุดในประวัติการณ์ และจะถูกทำลายสถิติในปี 2023 ซึ่งตัวเลขจะเพิ่มสูงขึ้นกว่าเดิม

แล้วเราจะแก้ไขปัญหานี้อย่างไร ?

ในมุมของ ผศ.ดร.ธรณ์ ได้จำแนกมนุษย์บนโลกออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกคือ กลุ่มที่เชื่อว่าการทำเศรษฐกิจสีเขียวนั้นจะค่อยๆ แก้ไขปัญหาโลกร้อนได้ ส่วนอีกกลุ่มเป็นกลุ่มคนที่เคยอยู่ในกลุ่มแรก จนได้รับรู้ถึงภัยพิบัติที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรงและต่อเนื่อง ทำให้เกิดความคิดที่ว่าการปรับตัวด้านเศรษฐกิจสีเขียวนั้นไม่ได้ช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้นเท่าไหร่ แต่สิ่งที่จะช่วยให้สถานการณ์เรื่องโลกร้อนดีขึ้น คือการใช้วิธีหักดิบ เนื่องจากประเทศส่วนใหญ่ที่สามารถปรับตัวด้านเศรษฐกิจสีเขียวได้นั้น ล้วนเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว ซึ่งคนกลุ่มนี้มองว่า ประเทศเหล่านี้นั้นจะสามารถจัดการได้จริงหรือไม่ เพราะประชากรส่วนใหญ่ล้วนอยู่ในประเทศที่ไม่ใช่ประเทศพัฒนา

นอกจากนี้ยังมีประเด็นเรื่องของวิธีลดคาร์บอนฯ เช่น เทคโนโลยี CCS (Carbon Capture and Storage) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพในการลดคาร์บอนที่ถูกปล่อยออกไปในชั้นบรรยากาศ แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จในการนำมาใช้ เนื่องจากเทคโนโลยีดังกล่าวใช้พลังงานสูง ทำให้มีค่าใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้น

ถัดมาเราต้องการแหล่ง Blue Carbon เพิ่มขึ้น อาทิ ป่าชายเลนหรือแหล่งหญ้าทะเล สำหรับใช้ในการกักเก็บคาร์บอนฯ เพื่อรอเทคโนโลยีที่ดีขึ้นและตอบโจทย์มนุษย์ต่อไป

“กระบวนการด้านสิ่งแวดล้อมเหล่านี้ ล้วนเป็นสิ่งที่ใหม่ ต้องค่อยๆ ทำความเข้าใจ และต้องช่วยกันทำต่อไป”

นักข่าวสิ่งแวดล้อม กับการปกป้องประโยชน์ของสาธารณะ : ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล

สถานการณ์การทำข่าวสิ่งแวดล้อมในไทย ในมุมของ ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล ประธานชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม มองว่าข่าวสิ่งแวดล้อมและการรายงานข่าวสิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน คล้ายคลึงกับอดีตเมื่อ 25-30 ปีก่อน เนื้อหายังคงเป็นเรื่องการแย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติ ป่าไม้ ที่ดิน เหมืองแร่ แหล่งน้ำ เชื้อเพลิงพลังงาน การก่อสร้าง และการขยายที่ดินของอุตสาหกรรมจนก่อมลภาวะ รวมถึงสร้างความเดือดร้อนให้แก่คนในท้องถิ่น

แต่ก็พบจุดอ่อนส่วนที่ว่า ยังไม่สามารถทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ตระหนักถึงปัญหา โดยเฉพาะเมื่อเป็นประเด็นที่เกิดขึ้นในท้องถิ่นใดท้องถิ่นขึ้น ก็จะถูกมองว่าเป็นเรื่องเฉพาะกลุ่ม นั่นจึงทำให้มิติการเรียกร้องสิ่งแวดล้อมที่ดี ตระหนักถึงความสำคัญของปัญหา จะมาจากคนในพื้นที่หรือคนที่ประสบกับปัญหานั้นจริงๆ

“สิ่งที่นักข่าวควรทำคือตรวจสอบความคิดตัวเอง อย่าปล่อยให้อคติครอบงำ จนละเลยการแสวงหาข้อเท็จจริง และรายงานข่าวอย่างตรงไปตรงมา”

ด้านอุปสรรคของการทำข่าวสิ่งแวดล้อมนั้น ปัญหาใหญ่ๆ คือ เรื่องของการ SLAPP ซึ่งเป็นการฟ้องเพื่อระงับการมีส่วนร่วมของสาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสื่อสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นสื่อที่ต้องวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของภาครัฐ กลุ่มทุน หรือภาคเอกชน ทำให้ในการรายงานข่าวแต่ละครั้งมักจะมาพร้อมกับผู้สูญเสียผลประโยชน์มากมาย “ส่งผลให้บางครั้งการรายงานข่าวสิ่งแวดล้อมมีราคาค่างวดที่สูงเกินกว่าที่นักข่าวคนนึงจะแบกรับไว้” คุณฐิติพันธ์กล่าว

ในปัจจุบัน นักข่าวพลเมืองเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วจากการพัฒนาของเทคโนโลยี ทำให้พื้นที่ของสื่อขยายกว้างขึ้น ซึ่งนักข่าวพลเมืองเหล่านี้ก็ได้เข้ามามีบทบาทในวงการสื่อเป็นอย่างมาก เนื่องจากพวกเขาเข้าไปทำข่าวในพื้นที่ที่ห่างไกลหรือพื้นที่ชายขอบที่สื่อกระแสหลักไม่สามารถเข้าไปทำข่าวได้เนื่องจากปัญหาด้านงบประมาณที่จำกัด จึงปฏิเสธไม่ได้ว่านักข่าวพลเมืองเข้ามาเติมเต็มช่องว่างของสื่อให้สมบูรณ์มากขึ้น

“ในฐานะสื่อมวลชนก็ต้องกล้าไต่เส้นเพื่อดันเพดาน และกล้านำเสนอข่าวที่คนอื่นไม่กล้านำเสนอ ด้วยเจตนาที่จะปกป้องประโยชน์ของสาธารณะ”

บทบาทคนรุ่นใหม่ กับการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม : นันทิชา โอเจริญชัย

นันทิชา โอเจริญชัย หรือที่รู้จักกันดีในชื่อของคุณหลิง จากบทบาทการเรียกร้องด้านสิ่งแวดล้อม และในฐานะผู้ก่อตั้งกลุ่ม Climate Strike Thailand ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจในการเรียกร้องเรื่องสิ่งแวดล้อมมาจากนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมชาวสวีเดน “เกรตา ธันเบิร์ก”

เนื่องด้วยสถานการณ์โควิดที่ผ่านมา ทำให้ปัจจุบันคุณหลิงได้เน้นการเรียกร้องเรื่องสิ่งแวดล้อมผ่านตัวอักษรแทน โดยได้เขียนข่าวและบทความให้แก่องค์กรต่างๆ รวมถึงเธอยังได้ทำหนังสั้นที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมด้วย

“ถ้าอยากสร้างความเปลี่ยนแปลงเราก็ต้องไปคุยกับคนที่เห็นต่างจากเรา โดยพยายามหาจุดกึ่งกลางที่สามารถดึงเขาและเราให้มาอยู่จุดเดียวกันให้ได้” คำกล่าวของคุณหลิงขณะพูดถึงเรื่องการสื่อสารเรื่องสิ่งแวดล้อม เพราะเธอมองว่าการสื่อสารเป็นหัวใจสำคัญของการทำงานด้านนี้เลยก็ว่าได้ ดังนั้น สิ่งที่สำคัญที่สุดในการสื่อสารคือ ‘การเปิดใจคุยกัน’ เพราะทุกๆ คนล้วนมีเหตุผลเป็นของตัวเองทั้งสิ้น

ในมุมมองของคุณหลิง มองว่าสถานการณ์ของสิ่งแวดล้อมนั้นค่อยๆ ดีขึ้นเรื่อยๆ มันอาจจะไม่ได้ประสบความสำเร็จในทันทีทันใด แต่การเปลี่ยนแปลงนั้นจำเป็นต้องใช้เวลา และต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายฝ่ายเพื่อที่จะช่วยให้มันสำเร็จได้ง่ายมากขึ้น

ในฐานะประชาชนทั่วไป ไม่ว่าภาครัฐหรือภาคเอกชนจะทำอะไร สิ่งที่เราควรทำคือการตั้งคำถามต่อสิ่งที่ภาครัฐหรือเอกชนทำ และศึกษาข้อมูลให้ดีก่อนที่เราจะเลือกสนับสนุน เพราะในบางครั้งเราก็ไม่รู้ว่าเบื้องหลังกิจกรรมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่ดำเนินไปนั้น แท้จริงทำลายระบบนิเวศไปเท่าไหร่แล้ว

“เราทุกคนเป็นส่วนหนึ่งของปัญหา ไม่ใช่แค่กลุ่มคนใดกลุ่มคนหนึ่ง เราอาจไม่จำเป็นต้องทำอะไรที่มันยิ่งใหญ่ เพียงแค่รู้ แค่นำมาพูดคุยกัน ก็เป็นแรงกระเพื่อมที่สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้แล้ว” คุณหลิงได้ฝากถึงทุกคน เพื่อให้ทุกๆ คนได้ตระหนักว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมนั้นคือปัญหาของเราทุกคน