ความหวังอันแสนริบหรี่ในการตามหา “กระซู่” บนเกาะสุมาตรา

ความหวังอันแสนริบหรี่ในการตามหา “กระซู่” บนเกาะสุมาตรา

ในการสำรวจป่าทึบในอุทยานแห่งชาติบูกิตบาริซานเซลาตัน บนเกาะสุมาตรา เป็นเวลา 2 สัปดาห์ในช่วงปี 1990 นักอนุรักษ์นามว่า Agus Setiawan ได้พบร่องรอยหลักฐานการมีอยู่ของ “กระซู่” หรือแรดสุมาตรา (Dicerorhinus sumatrensis) สัตว์ป่าที่หายากและเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ 

“ผมพบรอยเท้าและมูลสัตว์” Agus ตอบคำถามนี้กับสื่อมวลชน อย่างไรก็ตาม ในการค้นหาครั้งนั้นเขาไม่ได้พบเห็นตัวกระซู่จริงๆ เนื่องจากพวกมันเป็นสัตว์ที่หาพบได้ยาก และมักจะหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้ากับมนุษย์

ในผืนป่า กระซู่เป็นสัตว์ที่ใช้ชีวิตอยู่อย่างสันโดษ ยกเว้นในฤดูผสมพันธุ์และช่วงที่แม่ต้องเลี้ยงดูลูกน้อย ตัวผู้จะมีอาณาเขตหากินกว้างกว่าตัวเมีย

“กระซู่” เคยอาศัยอยู่ทั่วไปในเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ประชากรกลุ่มสุดท้ายของสัตว์สกุล Dicerorhinus ซึ่งเป็นสกุลแรดเก่าแก่ ลดจำนวนลงอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา เหตุจากการสูญเสียที่อยู่อาศัย เพราะปัญหาการบุกรุกที่ผืนป่าและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในปัจจุบันคาดว่าผืนป่าของประเทศอินโดนีเซียเป็นที่หลบภัยแห่งสุดท้ายให้กับสิ่งมีชีวิตที่ใกล้สูญพันธุ์ชนิดนี้ – ที่เชื่อกันว่าน่าจะมีเหลืออยู่ไม่ถึง 80 ตัว ส่วนใหญ่อาศัยอยู่บนเกาะสุมาตรา และคงมีเพียงน้อยนิดเท่านั้นที่อาศัยอยู่บนเกาะบอร์เนียว

อุทยานแห่งชาติบูกิตบาริซานเซลาตัน ได้รับการประกาศเป็นพื้นที่คุ้มครองตั้งแต่ปี 1935 ที่นี่ยังถูกเรียกว่าเป็นป่าฝนที่ราบต่ำแห่งสุดท้ายของเกาะสุมาตรา และเชื่อกันว่าน่าจะยังมี “กระซู่” อาศัยอยู่ โดยมีการพบเห็นกระซู่เพศเมียในป่าแห่งนี้เมื่อปี 2005 ก่อนจะมีการย้ายกระซู่เพศมียตัวที่พบนั้นไปไว้ที่เขตอนุรักษ์แรดสุมาตรา ในอุทยานแห่งชาติไวกัมบัซ จังหวัดลัมปุง พร้อมตั้งชื่อให้ว่า “โรซ่า”
.

Rosa กระซู่ที่ปัจจุบันอาศัยอยู่ในเขตอนุรักษ์แรด l Photo courtesy of Terri Roth

.
ในช่วงที่พบกับโรซ่า ผู้เชี่ยวชาญคาดว่าคงมีกระซู่เหลืออยู่ประมาณ 60 ถึง 80 ตัว ในบูกิตบาริซานเซลาตัน
แต่นับจากนั้นเป็นต้นมา หลักฐานการมีอยู่ของกระซู่ก็เริ่มลดน้อยลงเรื่อยๆ จนแทบจะหาไม่พบ – และแม้จะมีร่องรอยบางอย่างปรากฎให้พบ ตามที่ Agus Setiawan เคยพบ แต่เมื่อนำสิ่งที่ได้ไปตรวจดีเอ็นเอแล้ว สิ่งที่พบก็ไม่ใช่กระซู่อย่างที่หวัง

Widodo Ramono ผู้อำนวยการบริหารมูลนิธิแรดอินโดนีเซีย (ปัจจุบันเสียชีวิตแล้ว) เป็นอีกคนที่เชื่อว่ายังมีกระซู่เหลืออยู่ในป่า แต่ถึงอย่างนั้นเขาก็ไม่ทราบว่าจริงๆ แล้วมีกระซู่หลงเหลืออยู่ในอุทยานแห่งชาติจำนวนเท่าไหร่

ในปี 2014 กล่องดักถ่ายภาพที่ติดตั้งไว้สามารถจับภาพกระซู่ได้ 2 ตัว ต่อมาในปี 2015 หน่วยลาดตระเวนพิเศษก็ได้พบกระซู่เข้าอีกตัว การค้นพบครั้งนั้นช่วยจุดประกายความหวังในการค้นหาสัตว์ชนิดนี้ต่อไป แต่ก็เป็นเรื่องน่าเสียดายที่นับจากนั้น ก็ไม่มีใครพบเห็นกระซู่อีกเลย

ปัจจุบัน ผู้เชี่ยวชาญทางด้านแรดแตกความเห็นออกเป็นสองกลุ่ม คือ กลุ่มที่ยังเชื่อว่ามีกระซู่เหลืออยู่ในบูกิตบาริซานเซลาตัน และกลุ่มที่ยอมรับความเป็นไปได้ที่ว่าพวกมันคงสูญพันธุ์ไปแล้วจากถิ่นที่อยู่อาศัยเดิมที่เคยมี

Ismanto รักษาการหัวหน้าหน่วยงานที่ดูแลอุทยานแห่งชาติ กล่าวว่า การพัฒนาถนนและการแผ้วถางที่ดินเพื่อทำสวนปลูกกาแฟ เป็นภัยคุกคามหลักต่อกระซู่ที่เหลืออยู่ นอกจากนี้ ยังมี Merremia peltata (พืชประเภทไม้ล้มลุกเถา) ซึ่งเป็นพืชรุกรานได้กลายเป็นอีกปัจจัยให้เกิดการเสียป่าขึ้น พื้นที่ของป่าที่ราบต่ำในอุทยานแห่งชาติหายไปราว 42,251 เฮกตาร์ (104,404 เอเคอร์) ในระหว่างปี 2000 – 2017

Agus Setiawan กล่าวว่ามนุษย์ได้รุกล้ำเข้าไปเกือบทั่วพื้นที่บูกิตบาริซานเซลาตัน รวมถึงโซนแกนกลางที่อาจยังมีกระซู่ตัวสุดท้ายอาศัยอยู่

“และตอนนี้ที่อยู่อาศัยของพวกมันได้รับความเสียหาย” เขากล่าว “กระซู่ต้องออกมาหาอาหารนอกที่อยู่อาศัยของพวกมัน”
.

กระซู่วัยเด็กในโคลน อุทยานแห่งชาติไวกัมบัซ l Photo Rhett A. Butler / Mongabay

.
Ismanto กล่าวว่า หน่วยงานของเขาได้ทำงานเพื่อฟื้นฟูพื้นที่ป่าเกือบ 27,000 เฮกตาร์ (66,700 เอเคอร์) ทั้งการทำข้อตกลงเรื่องการจัดการสวนกาแฟอย่างยั่งยืนกับเกษตรกร และเริ่มพยายามกำจัด Merremia peltata ออกไปจากพื้นที่อุทยาน

อุทยานแห่งชาติบูกิตบาริซานเซลาตัน มีพื้นที่ 356,800 เฮกตาร์ (882,000 เอเคอร์) เป็นที่อยู่อาศัยของสายพันธุ์สิ่งมีชีวิตที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์หลายชนิด อาทิ เสือโคร่งสุมาตรา (Panthera tigris sumatrae) ช้างสุมาตรา (Elephas maximus sumatranus) และนกกาเหว่าดินสุมาตรา (Carpococcyx viridis) พื้นที่ทางเขตร้อนของเอเชียกำลังเผชิญกับวิกฤตด้านความหลากหลายทางชีวภาพอย่างรุนแรงแบบหาที่ใดในโลกเปรียบได้ ในแง่ของจำนวนสิ่งมีชีวิตที่ถูกคุกคาม และขอบเขตการสูญเสียพื้นที่ป่า

ในปี 2018 อินโดนีเซีย ได้ทำแผนยุทธศาสตร์ฉุกเฉินแห่งชาติเพื่อช่วยชีวิตกระซู่ ตั้งเป้านำกระซู่มาผสมพันธุ์ในศูนย์เพาะเลี้ยง ในเดือนพฤษภาคมปีก่อน การประชุมผู้เชี่ยวชาญในจาการ์ตาได้มีมติเป็นเอกฉันท์ว่า ควรย้ายกระซู่ทั้งหมดในอุทยานแห่งชาติบูกิตบาริซาน – หากว่ายังมีเหลืออยู่ – เข้าไปอยู่ในเขตอนุรักษ์แรดสุมาตราเพื่อดำเนินโครงการเพาะพันธุ์ในศูนย์เพาะเลี้ยง

Ismanto กล่าวว่าในตอนแรก มีการเรียกร้องให้สร้างเขตอนุรักษ์แรดสุมาตราขึ้นใหม่ในอุทยานแห่งชาติบูกิตบาริซานเซลาตัน แบบเดียวกับเขตอนุรักษ์แรดสุมาตราในอุทยานแห่งชาติไวกัมบัซ แต่ความคิดนี้ถูกปฏิเสธตกไป

ในปี 2019 ประเทศอินโดนีเซีย มีความพยายามสร้างความชัดเจนให้กับสถานะของกระซู่มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องจำนวนกระซู่บนเกาะสุมาตราและเกาะบอร์เนียว รัฐบาลตั้งเป้าที่จะสรุปจำนวนกระซู่ในป่าอย่างเป็นทางการภายในสิ้นปี 2021 นี้ ตามข้อมูลของกระทรวงสิ่งแวดล้อม


ถอดความและเรียบเรียงจาก Signs, but no sightings: The phantom rhinos of Sumatra’s Bukit Barisan Selatan
ภาพเปิดเรื่อง S. Ellis

ผู้เขียน

Website | + posts

ทำงานอิสระที่เกี่ยวข้องกับหนังสือ การเขียน เรื่องสิ่งแวดล้อมและดนตรีนอกกระแส - เวลาส่วนใหญ่ของชีวิตใช้ไปกับการนั่งมองความเคลื่อนไหวของใบไม้และสายลม