LIGHT IT UP EP 16 : ดาบลุงหม่องเป (2)

LIGHT IT UP EP 16 : ดาบลุงหม่องเป (2)

บ่ายวันนั้น อุปสรรคใหญ่ของการเดินคือการขึ้นเขาสูงที่สุดบนเส้นทางเท้าที่ชาวบ้านใช้เดินถึงกัน นั่นคือทางขึ้น ‘เขายูง’ ผมกางแผนที่ภูมิประเทศที่นำมาด้วย เขาลูกนี้ทางชันยาวเป็นกิโลเมตร พี่หลงเดินนำขึ้นไปก่อน ผมพาขาที่เจ็บมากขึ้นเรื่อยๆ ขาหนีบที่สีกับกางเกงจนแทบไม่อยากก้าว ตามขึ้นไป ยังดีที่ใจยังสั่งการให้พาร่างและสัมภาระให้ขึ้นที่สูง ผมนึกถึงข้อเขียนที่เคยอ่านว่า บางทีการเดินขึ้นเขานี่อาจจะเป็นบททดสอบจิตใจของคนที่หนักที่สุดอย่างหนึ่งว่าใจเราจะพาเราขึ้นสูง หรือจะย่อมพ่ายกลับไปที่ต่ำ

ทางเดินขึ้นเขายูงหยุดพักไม่ได้ เพราะสองข้างทางที่เป็นพงต้นไม้มีทากชูคอสลอนรอให้เราไปบริจาคเลือด นับว่าทากเหล่านี้มีส่วนช่วยให้ผมเดินดุ่ม ปักไม้เท้าบนดินแข็งลื่นขึ้นไปเรื่อยๆ บนลมหายใจที่พี่หลงสอนมาตลอดทาง

เมื่อลมหายใจและร่างกายเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน หัวใจที่ยังสู้ก็พาเราขึ้นสูงได้ พี่หลงนั่งสูบยาอยู่บนยอดเนินสูง มีรากไม้ใหญ่ที่คาดว่าใครๆ ก็ต้องมาพักเหนื่อยอยู่ รอยยิ้มของแก ทำให้ผมภูมิใจอย่างยิ่งที่ยังมาได้ถึงตรงนี้

แกบอกว่า ขึ้นเขายูงได้ยังไงก็ไปถึง

ทางเดินต่อไปทุลักทุเลขึ้นเรื่อยๆ มีฝนตกปรอยเป็นระยะ ดีที่ไม้เท้าไม้ไผ่ท่อนนั้นยังช่วยพยุงชีวิตให้เคลื่อนที่ไปข้างหน้าได้ตามจังหวะ ความเจ็บปวดที่ขาหนีบมากขึ้น แต่เริ่มคุ้นเคยจนลืมๆ ไปบ้าง อุปสรรคที่เผชิญใหม่คือช่วงผ่านป่าละเมาะที่พี่หลงพาตัดออกจากเส้นทางเพื่อลัดระยะ มีแอ่งปลักโคลนเป็นหย่อมๆ ให้เห็น คงใกล้ถึงหมู่บ้านแล้ว เพราะร่องรอยเหมือนชาวบ้านบ้านทิไล่ป้าปล่อยควายมาเลี้ยงที่นี่ ผมได้เรียนรู้ว่าที่แบบนี้นอกจากทากจะกัดขาแล้ว ตัวแมลงเรือดไรตัวใหญ่กว่ายุงยังชุมและกัดได้กระทั่งที่หัว จนเจ็บคัน เลือดออกไปหลายแผล

ผมก็ไม่รู้ว่าพลังอะไรที่พาผมมาไกลถึงขนาดนี้ ดูในแผนที่พบว่าวันนี้เราเดินในระยะราบหลายสิบกิโลเมตร ถ้านับทางที่ขึ้นเนินลงเนินคงไกลกว่าระยะแผนที่หลายกิโลเมตร ทางช่วงนั้นที่พี่หลงบอกเข้าเขตหมู่บ้านทำให้ผมจ้ำฝีเท้าเร็วขึ้น แต่จริงๆ แล้วเราต้องเดินอีก 2 ชั่วโมง จึงถึงบ้านหลังแรกในหมู่บ้าน และเป็นทางอีกหลายร้อยเมตรกว่าจะถึงบ้านลุงหม่องเป ที่อีกฟากของห้วยทิไล่ป้า

ผู้เขียน

Website | + posts

ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร (18 กันยายน 2558 - ปัจจุบัน)