พบเสือโคร่งล่าเหยื่อกลางป่าแม่วงก์ ชี้วัดความสมบูรณ์ป่ารอบมรดกโลก

พบเสือโคร่งล่าเหยื่อกลางป่าแม่วงก์ ชี้วัดความสมบูรณ์ป่ารอบมรดกโลก

เฟสบุ๊กประชาสัมพันธ์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เผยภาพเคลื่อนไหวเสือโคร่งกลางป่าแม่วงก์ บ่งบอกความสมบูรณ์และความสำเร็จในการคุ้มครองพื้นที่
.

คลิปวีดีโอขนาดสั้น ถูกบันทึกได้กลางป่าของอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ หลังเจ้าหน้าที่และนักวิจัยได้เข้าไปติดตั้งกล้องดักถ่ายภาพสัตว์ป่า ในช่วงปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา เนื่องจากพบซากกวางป่าถูกกัด และรอยลากซาก ที่น่าจะเกิดจากการกระทำของเสือโคร่ง

ซึ่งเมื่อได้นำกล้องมาตรวจสอบ ก็พบเสือโคร่งกลับมากินเหยื่อที่ล่าไว้ดังที่คาด นอกจากนี้ยังมีสัตว์อื่นๆ เข้ามาใช้ประโยชน์จากซากที่เสือโคร่งล่าเอาไว้ด้วย

จากการตรวจสอบข้อมูลเสือโคร่งที่ปรากฏในกล้องดักถ่ายภาพ ทำให้ทราบต่อไปว่า เสือโคร่งตัวนี้ เป็นเสือโคร่งที่เกิดและพบในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จ.อุทัยธานี โดยนักวิจัยสถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำเคยถ่ายภาพได้ ตั้งชื่อรหัสเรียกว่า HKT-262F เป็นเสือโคร่งเพศเมีย อายุประมาณ 3 ปี

นายเนรมิต สงแสง หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ กล่าวว่า การที่มีเสือข้ามถิ่นมาล่ากวางป่าและสามารถถ่ายภาพชุดนี้มาได้นั้น ถือเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญที่ยืนยันว่าสภาพป่าในอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ ยังคงความอุดมสมบูรณ์และมีความหลากหลายทางชีวภาพสูง

นอกจากนี้ ที่ผ่านมายังมีรายงานการพบเสือโคร่ง และร่องรอยการล่าสัตว์ของเสือโคร่งในป่าแม่วงก์ต่อเนื่องมาแล้วหลายครั้ง

นายธนิตย์ หนูยิ้ม ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12 (นครสวรรค์) กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กล่าวว่า จากเหตุการณ์ที่พบเสือล่าเหยื่อ ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแม่วงก์หลายครั้ง ในเวลาที่ไม่ห่างกันมากนักนั้น ถือได้ว่าอุทยานแห่งชาติแม่วงก์เป็นผืนป่าที่มีความสำคัญในการจะใช้เป็นพื้นที่รองรับการกระจายของเสือโคร่งจากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ซึ่งถือเป็นแหล่งผลิตเสือโคร่ง (Tiger Source Site) ที่สำคัญของประเทศไทย ดังนั้น อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ จึงเป็นพื้นที่ที่มีความเหมาะสมยิ่งในการอนุรักษ์สัตว์ป่าที่ใกล้สูญพันธุ์อย่างเสือโคร่งให้คงอยู่กับโลกของเรา
.

คลิ๊กที่ภาพเพื่อรับชมคลิป

.
เสือโคร่ง ถือเป็นสัตว์ป่าอีกชนิดที่สุ่มเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ ทั่วโลกมีเหลือประมาณ 3,500 ตัว

สำหรับประเทศไทยในปีที่ผ่านมา พบว่าจำนวนเสือโคร่งในป่าไทยมีเพิ่มมากขึ้น ซึ่งถือเป็นผลสำเร็จหนึ่งของการอนุรักษ์สายพันธุ์ชนิดนี้ หรือในความหมายที่มากไปกว่านั้น คือการรักษาที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า และสัตว์ป่า ให้มีเพียงพอต่อการสร้างสมดุลทางระบบนิเวศในผืนป่าของไทย

อนึ่ง จากความอุดมสมบูรณ์ที่กล่าวไป ในเดือนธันวาคมของปีที่ผ่านมา มูลนิธิสืบนาคะเสถียรได้ทำหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อขอให้ดำเนินการผนวกพื้นที่อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ – คลองลาน เข้าเป็นส่วนหนึ่งของป่ามรดกโลกทางธรรมชาติเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร – ห้วยขาแข้ง เนื่องจากอุทยานแห่งชาติทั้งสองแห่งเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพในการฟื้นฟูประชากรสัตว์ป่า จนเป็นที่ยอมรับถึงความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่าในประเทศไทย


อ่านเพิ่มเติม เร่งดำเนินการผนวกพื้นที่อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ – คลองลาน เข้าเป็นส่วนหนึ่งของป่ามรดกโลก