‘กระซู่’ หรือ ‘แรดสุมาตรา’ สัตว์ป่าสงวน ปัจจุบันสูญพันธุ์ไปจากประเทศไทยแล้ว 

‘กระซู่’ หรือ ‘แรดสุมาตรา’ สัตว์ป่าสงวน ปัจจุบันสูญพันธุ์ไปจากประเทศไทยแล้ว 

กระซู่ แรดสุมาตรา หรือ แรดสองนอ (Sumatran Rhinoceros) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Dicerorhinus sumatrensis เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม จัดอยู่ในวงศ์ Rhinocerotidae หรือสัตว์กีบคี่จำพวกแรด ซึ่งประกอบไปด้วย 5 ชนิด ได้แก่ แรดขาว แรดดำ แรดอินเดีย แรดชวา และแรดสุมาตรา ซึ่งกระซู่หรือแรดสุมาตรา ถือเป็นแรดที่มีขนาดเล็กที่สุด 

กระซู่ เป็นแรดที่เคยพบในทวีปเอเชียเพียงชนิดเดียวที่มีนอ 2 นอ ‘นอ’ มีส่วนประกอบของเคราติน นอหน้าใหญ่กว่านอหลัง ซึ่งลักษณะเช่นนี้จะเห็นได้ชัดในตัวผู้ แต่ตัวเมียนอหลังจะเห็นเพียงปุ่มนูน ๆ ขึ้นมาเท่านั้น เมื่อโตเต็มวัย กระซู่มีความยาวลำตัวอยู่ที่ 240-260 เซนติเมตร ส่วนสูง 112-145 เซนติเมตร และหนักได้ถึง 700-1,000 กิโลกรัม แต่กระซู่ยังถือว่ามีขนาดเล็กที่สุดในบรรดา 5 ชนิดนั้น  

ลำตัวกระซู่มีสีน้ำตาลแดง ขนหยาบและยาวปกคลุมร่างกาย ผิวหนังมีลักษณะพับหรือย่น โดยจะมีรอยพับย่น 3 จุด ได้แก่ บริเวณโคนหน้าขาด้านหนึ่งพาดไปยังโคนหน้าขาอีกด้านหนึ่ง บริเวณรอบเอว และบริเวณโคนขาหลังพาดไปทางสะโพกหลังถึงโคนขาหลังอีกด้านหนึ่ง ในส่วนของตีน กระซู่เป็นสัตว์กีบคี่ โดยตีนทั้ง 4 ข้าง จะมีกีบข้างละ 3 กีบ 

กระซู่เป็นสัตว์สันโดษ มักพบหากินตามลำพัง (ยกเว้นช่วงฤดูสืบพันธุ์) อาศัยอยู่ได้ในป่าดิบชื้นหรือที่ราบที่มีแหล่งน้ำลำธาร มักแช่ปลักโคลนเป็นประจำ เพื่อช่วยรักษาอุณหภูมิร่างกาย ปกป้องผิวจากปรสิตและแมลงอื่น ๆ  

ริมฝีปากกระซู่มีลักษณะงุ้มเป็นจะงอย เพื่อให้มีความเหมาะสมกับพืชอาหาร เนื่องจากกระซู่เป็นสัตว์กินพืช อาหารหลักคือ ใบไม้ ต้นหญ้า หรือต้นไม้ขนาดเล็ก รวมทั้งพืชที่ขึ้นริมน้ำ และผลไม้ชนิดต่าง ๆ และจะใช้จมูกในการดมกลิ่นเพื่อหาอาหาร เนื่องจากกระซู่มีระบบประสาททางการมองเห็นที่ไม่ค่อยดีนัก แต่มีประสาทสัมผัสทางการได้ยินและการดมกลิ่นที่ยอดเยี่ยม 

กระซู่ตัวเมียสามารถสืบพันธุ์ได้เมื่ออายุ 4 ปีขึ้นไป ส่วนตัวผู้สืบพันธุ์ได้เมื่อเข้าสู่ปีที่ 7 กระซู่ตั้งท้องนานประมาณ 14-17 เดือน คลอดลูกครั้งละ 1 ตัว หลังจากคลอดลูกแล้วจะทิ้งช่วงประมาณ 4 ปี จึงจะสามารถตั้งท้องใหม่ได้อีกครั้ง 

ในประเทศไทยเคยมีรายงานการพบกระซู่ในพื้นที่อนุรักษ์ ได้แก่ 

ปี 2526 คาดว่ามีกระซู่ประมาณ 4-5 ตัว บริเวณทางทิศเหนือแถบลำโดก ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ บริเวณถ้ำครอบ และ ทิศตะวันออกเฉียงใต้บริเวณยอดห้วยทู่ ของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว 

ปี 2528-2529 พบซากกระซู่ 1 ตัวที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฮาลา-บาลา 

ปี 2530 พบร่องรอยกระซู่บริเวณเทือกเขาตะนาวศรี อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน และพบปลักและร่องรอย ที่อุทยานแห่งชาติเขาสก และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองแสง 

ปี 2531 พบร่องรอยบริเวณบึงน้ำและโป่งน้ำซับ ลุ่มน้ำแม่จัน ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร 

ปี 2539 พบกองมูลบริเวณป่าภูเขียว 

ปี 2540 คาดว่ามีกระซู่ 3 ตัว อาศัยอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฮาลา-บาลา 

แม้จะไม่มีหลักฐานการพบกระซู่อย่างชัดเจน แต่นักอนุรักษ์ยังคงมีความหวัง ว่ากระซู่อาจจะยังคงอาศัยและหากิน ในบริเวณป่าลึกข้ามชายแดนไทย-มาเลเซีย 

ปัจจัยคุกคามที่สำคัญที่ทำให้กระซู่สูญพันธุ์ คือการสูญเสียถิ่นที่อยู่อาศัย จากการบุกรุกตัดไม้ในพื้นที่ที่มีกระซู่อาศัยอยู่ สูญเสียพื้นที่หากิน และลดการแลกเปลี่ยนพันธุกรรม ส่งผลให้จำนวนของกระซู่ลดลง และสูญพันธุ์ไปจากป่าเมืองไทยในที่สุด 

รวมถึงการล่าเพื่อเอา ‘นอ’ จากความเชื่อที่ว่า นอแรดเป็นเครื่องรางของขลัง จึงทำให้กระซู่ลดจำนวนประชากรลงอย่างรวดเร็ว จากงานวิจัยแรดในแอฟริกา พบว่าในช่วง 10 ปีมีแรดที่ถูกล่าเพื่อเอานอเพียงอย่างเดียว ถึง 9,396 ตัว หรือถูกล่าเฉลี่ยทุก ๆ 16 ชั่วโมงต่อ 1 ตัว 

แม้ว่าในปัจจุบัน กระซู่จะสูญพันธุ์ไปแล้วจากประเทศไทย แต่ยังคงอยู่ในบัญชีรายชื่อสัตว์ป่าสงวน 1 ใน 19 ชนิดของไทย ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 เพื่อเป็นการปกป้องและห้ามมิให้ครอบครองสัตว์และซากสัตว์ป่าใด ๆ ทั้งสิ้น อยู่ในสถานภาพเสี่ยงสูญพันธุ์ขั้นวิกฤต (Critically Endangered) ของ IUCN และอยู่ในบัญชีหมายเลข 1 ของไซเตส (CITES Appendix I) 

ปัจจุบันสามารถพบกระซู่ได้เพียงบนเกาะสุมาตรา และเกาะบอร์เนียว ประเทศอินโดนีเซียเท่านั้น และคาดว่าอาจมีประชากรกระซู่เหลืออยู่เพียง 30 ตัว ทั่วทั้งโลก! ตามการรายงานของ IUCN Red list 

อ้างอิง 

ผู้เขียน

+ posts

สาวแว่นทาสแมวที่ชอบบอกเล่าเรื่องราวผ่านลายเส้น มีธรรมชาติช่วยฮีลใจ และหลงใหลในพระจันทร์เสี้ยว