ตามรอยกระซู่ แรดสองนอแห่งเทือกเขาสก

ตามรอยกระซู่ แรดสองนอแห่งเทือกเขาสก

1. ความเป็นมาในอดีต

จากข่าวคราวการพบร่องรอยกระซู่ในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร โดยคุณนริศ ภูมิภาคพันธุ์ ซึ่งได้ติดตามชาวเขาเผ่ากระเหรี่ยงไปยังบริเวณที่คาดว่าจะเป็นที่อยู่อาศัยของกระซู่ที่เหลืออยู่ในพื้นที่ดังกล่าว ทำให้ผู้เขียนเกิดความสนใจว่าน่าจะได้ติดตามหาข่าวของกระซู่ที่เคยมีอยู่ในพื้นที่ของอุทยานแห่งชาติเขาสก จังหวัดสุราษฎร์ธานี ว่าจะยังคงเหลืออยู่บ้างหรือไม่ หรือสูญพันธุ์ไปแล้วจากถิ่นกำเนิดดั้งเดิม เพื่อจะเป็นนิมิตดีว่าประเทศไทยยังมีกระซู่เหลืออยู่พอที่จะทำโครงการศึกษานิเวศวิทยาและพฤติกรรมความเป็นอยู่ ซึ่งจะนำไปสู่การนำมาเพาะเลี้ยงช่วยในการขยายพันธุ์ และนำกลับไปปล่อยยังถิ่นที่อยู่อาศัยดั้งเดิมที่ปลอดภัย อันจะเป็นหลักประกันในอนาคตว่า กระซู่สัตว์ป่าสงวนชนิดหนึ่งของไทยจะไม่สูญพันธุ์ไปอย่างที่เข้าใจกันอยู่ในปัจจุบัน

ความคิดดังกล่าวนำไปสู่การติดต่อกับนักล่าสัตว์คนหนึ่งในอดีต (ปัจจุบันอายุ 62 ปี) เป็นผู้เคยยิงกระซู่ได้ 2 ตัว เมื่อประมาณยี่สิบกว่าปีมาแล้ว โดยตัวหนึ่งยิงได้เมื่อปี พ.ศ. 2503 เป็นกระซู่เพศเมีย ขณะยิงเป็นเวลาประมาณ 11-12 นาฬิกา ของปลายเดือนธันวาคม (ปลายฤดูฝน) กระซู่ตัวนั้นกำลังนอนอยู่ในป่า ขนาดนอแรกยาวประมาณ 8” นอหลัง 2” ส่วนตัวที่สอง เป็นกระซู่เพศเมียเหมือนกัน ขนาดพอๆ กับตัวแรก หลังจากแกะรอยตามไปพบนอนอยู่ในปลักโคลน นั่งรอให้ขึ้นมาจากปลักนานประมาณ 3 นาที (ถ้ายิงในปลักเอาขึ้นลำบาก) จึงยิง ขณะนั้นเป็นเวลาประมาณ 09.30 นาฬิกา ในปี พ.ศ. 2508

โดยปกติรอยเท้ากระซู่จะไม่เป็นลักษณะเฉียงลงไปข้างหน้า แต่จะกดลงตรงๆ เล็บทู่ คล้ายการเอาลูกสะบ้าวางบนพื้นดินแล้วกดลงให้จมลงไป เคยพบร่องรอยเท้าขนาดโตประมาณ 7” พืชอาหารที่สำคัญของกระซู่ คือ ใบขี้แรด ใบลิ้นเสือ และใบอายเขา ส่วนใหญ่เป็นไม้ที่มีหนาม ขณะกินอาหารกระซู่จะหยุดกัดกินพืชอาหารบริเวณนั้นจนเหี้ยนเตียนเป็นแหล่ง ขนาดใหญ่

ในระหว่างที่ติดตามรอยกระซู่ที่ยิงได้ตัวที่สอง ได้พบรอยขนาดใหญ่กว่าและขนาดเล็กว่าอีกหนึ่งรอย ซึ่งแยกออกไปต่างหากจากตัวที่ยิงได้ จึงมั่นใจว่ายังคงมีกระซู่เหลืออยู่ในป่าเขาสก เพราะถ้ามีใครยิงกระซู่ได้จะต้องรู้กันไปทั่ว (เมื่อก่อนพื้นที่เขาสกยังไม่ได้รับการประกาศให้เป็นอุทยานแห่งชาติ ประกาศเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2523) และที่มักกล่าวกันว่าใครที่ยิงกระซู่ (หรือแรดสองนอ) ได้ จะร่ำรวยจากการได้เงินเป็นค่าตอบแทนในการขายส่วนต่างๆ ของตัวกระซู่ คำกล่าวเช่นนั้นไม่จริงเสมอไป เพราะเมื่อยิงกระซู่ตัวที่สองได้ พยายามนำไปขายให้ผู้รับซื้อ (เป็นเจ้าของร้านขายยาร้านใหญ่ในเมือง) กลับถูกกดราคา จะไม่ขายก็ไม่ได้จึงต้องจำใจรับค่าตอบแทน ซึ่งไม่คุ้มค่าเหนื่อยในการติดตามและต้องคอยหลบซ่อนเพื่อมิให้คนอื่นรู้ข่าว ก่อนที่จะนำส่วนต่างๆ ไปถึงผู้รับซื้อ มิฉะนั้นอาจถูกปล้นกระซู่กลางทางในระหว่างขนย้ายจากป่า ประกอบกับการติดตามร่องรอยเป็นไปด้วยความยากลำบาก ยิ่งต้องค้างคืนในป่าหลายวัน อีกทั้งยุงและทากดูดเลือดที่มีอยู่ชุกชุมในป่าดงดิบช่วงปลายฤดูฝน ทำให้ต้องเลิกติดตามค้นหาเพื่อล่ากระซู่ สัตว์ป่าที่หายากจนใกล้จะสูญพันธุ์ไปโดยปริยาย

ทั้งหมดนี้เป็นการเล่าสู่กันฟังในระหว่างการรอนแรมอยู่ในป่าเขาที่สูงชัน เพื่อติดตามค้นหากระซู่จากปากคำของลุงเชย คนแก่ที่ยังคงแข็งแรงกระฉับกระเฉง พร้อมกับคู่วัยไล่เลี่ยกันคือลุงผู้ใหญ่บ้านชื่อเลี่ยน

 

2. นัดหมายเดินทาง

การนัดหมายเพื่อติดตามข่าวกระซู่จำเป็นต้องเลื่อนออกไปจนเกือบจะเข้าฤดูฝนอีกครั้งหนึ่ง เนื่องจากลุงเชยแกไปรับจ้างนำช้างเข้าไปให้พวกทำไม้ในบริเวณเขตน้ำท่วมของอ่างเก็บน้ำเชี่ยวหลาน กว่าจะพร้อมกันได้ก่อนที่จะสายเกินไป ตกลงว่าพวกผม 4 คน โดยมีลุงเชยและลุงเลี่ยนเป็นผู้นำทาง 10 วัน ในระหว่างวันที่ 5-15 เมษายน 2530

 

3. เริ่มต้นการค้นหา

พวกเราทั้งหมดรวม 6 คน พร้อมเสบียงอาหารสำหรับการรอนแรมในป่าประมาณ 10 วัน เริ่มออกเดินทางจากเขื่อนเชี่ยวหลาน โดยรถปิคอัพมุ่งสู่ กม.99 ของทางหลวงหมายเลข 401 (สุราษฎร์ธานี-ตะกั่วป่า) แยกขวา เข้าตามทางชักลากไม้ ซึ่งใช้ได้เฉพาะฤดูแล้งอีกประมาณ 3 กิโลเมตร จะถึงบริเวณขอบอ่างเก็บน้ำฯ พวกเราลงเดินไปตามทางชักลากไม้ที่แยกไปยังอ่างดินแดงซึ่งเคยเป็นฐานที่มั่นเก่าของพวกนิยมลัทธิคอมมิวนิสต์ ซึ่งยังคงมีหลุมหลบภัยให้เห็นระหว่างทางเดินเท้าเมื่อเข้าไปถึงอ่างดินแดง

ระหว่างทางได้พบนกแต้วแล้วลาย 1 ตัว กระโดดไปตามพื้นดินในป่าดงดิบ แถบคาดสีเหลืองส้มบนพื้นสีเข้มที่ส่วนหัวและแถบสีขาวบนปีกมองเห็นได้ชัดเจน มันบินหนีไปเมื่อผมพยายามติดตามไปถ่ายรูปในระยะใกล้

เราเดินต่อไปจนถึงบริเวณปากถ้ำน้ำลุดุ่นตุ้ย (ชื่อแปลก) ซึ่งมีปากถ้ำขนาดใหญ่ ข้างในมีน้ำขังอยู่เป็นตอนๆ พื้นหินเหมือนดินเหนียวที่แข็ง มีหินงอกหินย้อยบางตอน (ใช้ไฟฉายส่องขณะสำรวจในถ้ำ) พวกเราบางคนหายเข้าไปแล้วกลับออกมาด้วยปลาพลวงขนาดต้นแขน 2 ตัว ได้ความว่าไปจับมาจากแอ่งน้ำในถ้ำซึ่งมีค้างคาวอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก

 

4. ปลาพลวงทำพิษ

หลังอาหารกลางวัน เดินต่อไปยังคลองโตนเตยแล้วเดินไต่ไปตามก้อนหินในคลอง ขึ้นไปจนถึงลาดเขาชันซึ่งเป็นจุดที่จะแยกขึ้นไปสำรวจปลักเก่าของกระซู่ พักค้างคืนในคลองโตนเคย ในช่วงเวลาที่พระจันทร์จะลับขอบฟ้าก็เกือบตีสอง ฤทธิ์ของปลาพลวง 2 ตัว ที่กินมูลค้างคาวในถ้ำน้ำลุตุ่นตุ้ยทำให้ผมต้องลุกขึ้นมาอาเจียนหลายครั้งกว่าจะหลับไปด้วยความอ่อนเพลียในคืนแรกของการเดินทาง (สมเสร็จเนื้อสีดำเป็นเส้นไม่น่ากินและช่วงปลายฤดูฝนเป็นเวลาที่เหมาะสมสำหรับการติดตามหารอยเท้ากระซู่ คำบอกเล่าของลุงเลี่ยนและลุงเชยก่อนที่จะหลับในคืนนั้น) ไก่พระอิศวร (ลุงเลี่ยนบอก) ผมได้ยินเสียงมันร้องทุกครั้งที่ผมตื่นขึ้นมากลางคืน มันร้องทั้งคืนขณะที่หลับตาอยู่บนยอดไม้ (ลุงเลี่ยนบอกอีก)

 

5. ปลักเก่ากระซู่

ตื่นเช้าเดินไต่ขึ้นตามลาดเขาชันจนกระทั่งถึงทางด่านสัตว์บนสันเขา เราพบรอยโคลนแห้งติดตามต้นไม้สองข้างทางด่านซึ่งเข้าใจว่าเป็นรอยที่เกิดจากการเดินเฉียดของกระซู่หลังขึ้นมาจากปลักโคลน แต่เป็นร่องรอยเก่าเมื่อฤดูฝนที่ผ่านมา เดินตามสันเขาต่อไปอีกเพื่อค้นหาปลักกระซู่ เราพบปลักเก่าเป็นปีหลายแห่งที่ถูกทิ้งร้างเต็มไปด้วยใบไม้แห้ง

ระยะเวลาตั้ง 20 ปีกว่ามาแล้วที่ลุงเชยไม่ได้กลับมาที่นี่อีกหลังจากยิงกระซู่ตัวที่สองแล้วได้เงินค่าตอบแทนไม่คุ้มค่าเหนื่อย ทำให้สถานที่แห่งนี้ดูแปลกตาไปมาก หลายครั้งที่หยุดเดินเพื่อทบทวนความจำครั้งกระโน้นว่าปลักกระซู่อยู่ส่วนไหนของลาดเขาชันบ้าง และแล้วแกก็พาพวกเราไปยังบริเวณที่เป็นปลักขนาดใหญ่ พื้นที่มีสภาพเป็นหลุมลึกลงไปจากพื้นลาด ขนาดโตประมาณ 4 – 6 เมตร มีทางเข้าออก 3 ทาง แต่ละทางถูกเหยียบย่ำจนเป็นหลุมร่องลึก

จากรอยเท้าที่ปรากฎบนพื้นเมื่อกวาดใบไม้แห้งออกและจากบริเวณผนังดิน ภายในปลัก ผนังด้านในที่อยู่ในเรือนรากของต้นไม้ใหญ่มีรอยขนปรากฏบนดิน ทำให้ดูเหมือนมีกระซู่มานอนในปลักโคลนนี้เมื่อตอนฤดูฝนที่ผ่านมานี้เอง แต่ในช่วงนี้ซึ่งเป็นฤดูแล้งมีชาวบ้านเข้าไปลักลอบตัดหวายในบริเวณนั้นเป็นประจำ ทำให้กระซู่ต้องหนีขึ้นไปอาศัยอยู่บนภูเขาสูงขึ้นไปอีกเพื่อหลบซ่อนให้ไกลจากมนุษย์ เราจึงไม่พบร่องรอยใหม่ของกระซู่ที่มาใช้ปลักดังกล่าวในช่วงฤดูฝนที่ไม่มีใครเข้ามาถึงบริเวณนั้น

ลุงเชยดูจะมีความมั่นใจมากว่ายังคงมีกระซู่เหลืออยู่ในป่าเขาสก ถึงแม้ว่าจะไม่สามารถหาร่องรอยใหม่ได้ในช่วงฤดูแล้งนี้ก็ตาม แต่ว่าในตอนปลายฤดูฝนของปีนี้พวกเราจะมาสำรวจหากระซู่กันอีกเพื่อให้แน่ใจ และเพื่อเป็นการยืนยันที่แน่นอน

 

6. หลงทางบนยอดเขาชัน

จากคลองโตนเตยที่เชื่อมต่อมายังคลองบางกันและคลองอื่นๆ ในบริเวณนั้นถูกกั้นขวางด้วยภูเขาที่สูงชัน เราต้องปีนขึ้นจากคลองหนึ่งเพื่อจะไปเดินบนสันเขาแล้วก็ไต่ลงมาตามลาดที่สูงชันสู่อีกคลองหนึ่งเพื่อค้นหาปลักกระซู่ (ร่องรอยเท้าในฤดูแล้งสังเกตได้ยาก) บางวันต้องเดินไต่ไปตามก้อนหินในคลองทั้งวันเนื่องจากผนังสองข้างคลองชันมาก ไม่สามารถปีนป่ายขึ้นไปได้ จำเป็นจะต้องเดินขึ้นไปตามลำคลองจากคลองบางกันข้ามเขาสู่คลองบางผึ้ง

ระหว่างเดินอยู่บนสันเขาได้ยินเสียงกระพือปีกดังอยู่เหนือยอดไม้ นกชนหินหลายตัว (ประมาณ 10 ตัว) กำลังหากินร่อนไปยังต้นไทรใหญ่ที่ขึ้นอยู่ข้างทางเดินบนสันเขา ปลายหางยาวสีขาว 2 เส้นของนกบางตัวมองเห็นได้ชัดเจน เราใช้เวลาอยู่ที่นั่นประมาณ 1 ชั่วโมง เพื่อบันทึกภาพและเสียงร้อง มีสองครั้งที่เห็นนกสองตัวบินเอาปากตีกันอย่างแรง ลูกไทรที่นกชนหินพากันมากินยังไม่สุกหมดต้น ลูกที่สุกมีสีแดงขนาดเท่าลูกมะเดื่อที่พบเห็นขึ้นอยู่ตามริมน้ำเป็นไทรเบื้อง อยากจะนั่งอยู่ที่นั้นทั้งวัน แต่การที่จะต้องเดินต่อไปให้ถึงห้วยที่มีน้ำทำให้ต้องลุกเดินต่อไปอย่างเสียดายโอกาสในการบันทึกภาพนกชนหิน

เย็นวันนั้นยังโชคไม่ดีอีก เพราะห้าโมงเย็นแล้วยังหาทางลงมายังห้วยไม่ได้ หลงอยู่บนยอดเขาที่ล้อมรอบด้วยหน้าผาหินกว่าจะหาทางลงจากยอดเขาที่มีแต่ลำห้วยแห้งเกือบมืด ซ้ำยังลงมาโผล่ใกล้กับที่พักริมห้วยเมื่อคืนที่แล้วเข้าอีก ทำให้ขาอ่อนหมดแรงไปตามๆ กัน

 

7. หนีเสือปะจระเข้

ขากลับออกจากป่าเพื่อจะมายังปากคลองหยี ยังหลงทางลงไปในหุบเขาที่มีโตน (หน้าผาหินที่เป็นน้ำตกในฤดูฝน) ที่ลงไม่ได้ จะเดินตามลาดเขาเพื่อหลบลงมาก็ไม่ได้อีกเพราะลาดชันมาก ประกอบกับน้ำหนักบนหลังที่แบกมาหลายวันทำให้ต้องปีนเขากลับขึ้นไปเพื่อลงไป ยังคลองบางกันด้วยความจำใจ

ความที่ไม่อยากพายแพไม้ไผ่ออกจากคลองบางกันจนต้องหลงทางก็เลยต้องเหนื่อยซ้ำสอง เพราะในที่สุดก็ต้องมาตัดไม้ไผ่ทำแพพายออกมาตามลำคลองบางกัน แถมยังต้องค้างคืนริมคลองอีก 1 คืน เพราะไม่สามารถเร่งฝีพายได้

คืนนั้นปรากฏว่ามุ้งที่ใช้นอน 2 คน ถูกอัดเข้าไป 5 คน เพราะกลัวจะถูกยุงดูดเลือดชนิดหยดออกทางก้นแล้วยังไม่หยุดกัดสูบเลือดไปหมด อีกคนไปนอนบนแพที่พายไปผูกไว้กับต้นไม้กลางคลอง ยุงไม่มีแต่ลมแรงและอากาศเย็นจนหนาว พวกในมุ้งคิดว่าปลอดภัยที่ไหนได้ปรากฎว่าตอนเช้ายุงตัวเท่าเข็มที่ลอดรูมุ้งเข้ามาได้ มีเลือดเต็มท้องจนมุดรูกลับออกไปไม่ได้อยู่เต็มไปหมด ไม่รู้ว่าใครจะโชคร้ายได้รับเชื้อโรคเท้าช้างจากยุงพวกนั้นบ้างหรือเปล่า

พายแพตากแดดตั้งแต่ 8 โมงเช้าจนถึงบ่าย 2 โมง จึงได้ออกมาถึงปากคลองหยี พบเรือพวกหาปลาจึงได้อาศัยไหว้วานให้ช่วยมาส่งที่แพที่พักซึ่งอยู่บริเวณเขาถ้ำจันทร์ นี่ถ้าต้องพายแพมาตลอดทาง คงได้เป็นเนื้อแดดเดียวเป็นแน่

เริ่มต้นด้วยการหากระซู่ไปพบนกชนหิน (ไม่เสียแรงเดิน) ติดตามมาด้วยการหลงป่าอีกสองครั้ง (หมดแรง) แล้วยังต้องมาพายแพตากแดดอีกครึ่งวัน (ขอบคุณเจ้าของเรือหาปลาที่อุตส่าห์มาตามเรือให้ไปรับกลับ) โอกาสหน้าหวังว่าคงจะได้พบกับกระซู่ตัวจริง โดยจะทำการสำรวจอีกครั้งในช่วงฤดูฝนซึ่งสามารถหาร่องรอยได้ง่ายกว่าในช่วงฤดูแล้ง ประกอบกับในฤดูแล้งมีชาวบ้านขึ้นไปตัดหวายบนภูเขาที่เป็นที่อยู่อาศัยของกระซู่ จึงทำให้กระซู่ต้องหนีคนไปอยู่บนภูเขาสูงที่อยู่ห่างไกลและยากแก่การติดตามไปถึงได้

 


ที่มา : จากเอกสารประกอบการสัมมนาสัตว์ป่าเมืองไทย ปี 2530