ร้อยภาพฝันงานอนุรักษ์กวางผา “ยุคสอง: สู่การเปลี่ยนแปลงการริเริ่มเพาะขยายพันธุ์กวางผา” Part 1 

ร้อยภาพฝันงานอนุรักษ์กวางผา “ยุคสอง: สู่การเปลี่ยนแปลงการริเริ่มเพาะขยายพันธุ์กวางผา” Part 1 

มูลนิสืบนาคะเสถียร และ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ร่วมจัดเวทีเสวนา “ร้อยภาพฝันงานอนุรักษ์” ซึ่งเป็นเวทีที่จะร้อยเรียงเรื่องราวการศึกษาและงานอนุรักษ์กวางผาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันผ่าน ข้อมูลด้านวิชาการ ตลอดจนการสร้างเครือข่ายแนวร่วมงานอนุรักษ์กวางผา โดยเวทีเสวนาจะถูกแบ่งออกเป็นสามช่วง  

เวทีช่วงที่สอง ภายใต้ชื่อ “ยุคสอง: สู่การเปลี่ยนแปลงการริเริ่มเพาะขยายพันธุ์กวางผา” ว่าด้วยเรื่องของการเพาะพันธุ์และขยายพันธุ์กวางผา ที่สืบเนื่องมาจากยุคของคุณสืบ นาคะเถียร ที่หลายฝ่ายเริ่มเล็งเห็นความสำคัญของกวางผาต่อระบบนิเวศ จนนำไปสู่การเพิ่มจำนวนประชากรกวางผากลับคืนสู่ธรรมชาติ 

ในเวทีช่วงที่สองแบ่งออกเป็นเวทีย่อยทั้งหมด 4 เวที โดยบทความนี้จะแบ่งออกเป็นสองพาร์ท ในพาร์ทแรก นายอดิสรณ์ กองเพิ่มพูน อดีตหัวหน้าสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าอมก๋อย, ผศ.น.สพ.ดร.นิธิดล บูรณพิมพ์ ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายศิษย์เก่าและนักศึกษาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จะมาร่วมพูดคุยกันในหัวข้อการอนุรักษ์กวางผาในยุคหลังคุณสืบและการเพาะขยายพันธุ์กวางผาในประเทศไทย  

การอนุรักษ์กวางผาผ่านวิธีการเพาะขยายพันธุ์ โดย อดิสรณ์ กองเพิ่มพูน 

ในหัวข้อนี้คุณอดิสรได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับชนิดพันธุ์ของกวางผา การริเริ่มจับคู่และเพาะพันธุ์กวางผาในกรงเลี้ยง เพื่อเพิ่มจำนวนกวางผาในธรรมชาติ ตลอดจนการดำเนินการคำนวณอัตราการเกิดเลือดชิดในกวางผา ซึ่งเป็นปัญหาหลักของการเพาะพันธุ์กวางผา เนื่องด้วยระยะยาวอาจส่งผลต่อสุขภาพร่างกายของกวางผาได้ โดยทั้งหมดนี้จะนำไปสู่การปล่อยกวางผาคืนสู่ธรรมชาติอีกครั้ง 

ก่อนอื่นต้องทราบก่อนว่ากวางผานั้นเป็นสัตว์ที่มีพื้นที่อาศัยกระจายตัวอยู่ทั่วเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเชียงใต้ แต่ละพื้นที่จะมีสายพันธุ์และชื่อเรียกแตกต่างกันออกไปตามลักษณะทางกายภาพและถิ่นที่อยู่อาศัยของพวกมัน โดยในไทยจะเป็นสายพันธุ์กวางผาพม่า (Burmese goral หรือ ชื่อวิทยาศาสตร์ Nemorhaedus evansi) ซึ่งนี่เป็นข้อมูลสำคัญที่จะถูกนำไปพัฒนาต่อในแผนการการเพาะเลี้ยงกวางผาต่อไป  

คุณอดิสรณ์ได้เล่าถึงจุดเริ่มต้นในการเพาะเลี้ยงกวางผา แต่เดิมนั้นกวางผามีอยู่แล้ว 4-5 ตัว ในศูนย์ศึกษาธรรมชาติและสัตว์ป่าเชิงดอยสุเทพ และได้รับพ่อ-แม่พันธุ์กวางผามา คือ ม่อนจอง (เพศเมีย) และซีเกมส์ (เพศผู้) ทว่าทั้งสองตัวเป็นแม่ลูกกัน ซึ่งอาจนำไปสู่ภาวะเลือดชิดในอนาคตได้ อย่างไรก็ตามนับเป็นความโชคดี ณ ขณะนั้น ที่ได้รับแจ้งจากชาวบ้านบริเวณดอยม่อนจองว่ามีกวางผาหลงออกมาในบริเวณใกล้ชุมชน ทำให้คุณอดิสรณ์และทีมร่วมกันไปรับกวางผาตัวดังกล่าวมาชื่อว่า ขวัญไพร เพื่อมาเป็นพ่อพันธุ์ให้แก่ม่อนจอง นอกจากนี้ยังมีกวางผาพัดหลงมาอีกที่แม่ตื่น กวางผาเหล่านี้จึงกลายเป็นพ่อพันธุ์-แม่พันธุ์ช่วงแรก ๆ ของโครงการการเพาะเลี้ยงกวางผา  

ต่อมาคุณอดิสรณ์พูดถึงกรงเพาะเลี้ยงกวางผา ซึ่งเป็นอีกส่วนที่มีความสำคัญอย่างมากในการเพาะพันธุ์กวางผา เนื่องจากกรงเพาะเลี้ยงจะต้องเอื้ออำนวยต่อวีชีวิตของกวางผาด้วย โดยแบ่งออกเป็นสามปัจจัย คือ กรงเพาะขยายพันธุ์ กรงกวางผารุ่น และกรงเลี้ยงลูกอ่อนกวางผา พื้นที่และขนาดกรงนี้ได้มาจากการศึกษาพฤติกรรมและการใช้ชีวิตของกวางผา เพื่อนำมาออกแบบและกำหนดให้สอดคล้องกับข้อมูลดังกล่าว  

กรงเลี้ยงกวางผาที่สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าอมก๋อย 

เนื้อหาส่วนถัดมาคุณอดิสรณ์ได้เริ่มกล่าวถึงขั้นตอนการจัดการผสมพันธุ์กวางผาในกรงเลี้ยง ช่วงปีแรก ๆ ของการเพาะพันธุ์กวางผาได้ทำเครื่องหมายติดเบอร์หูด้วย Tags พลาสติก ร่วมกับการฝังไมโครชิพในตัวกวางผาเพื่อระบุและจำแนกกวางผาในกรง เพื่อนำไปทำพันธุ์ประวัติ Pedigree ตลอดจนนำข้อมูลที่ได้ไปใช้ในกระบวนการจับคู่ผสมพันธุ์ต่อ ร่วมกับการใช้โปรแกรม Pedigree viewer มาช่วยในการคำนวนอัตราการเกิดเลือดชิดในกวางผา อย่างไรก็ตามการใช้ Tags ที่หูทำให้กวางผาบางตัวหูแหว่งเนื่องจาก Tags ไปติดกับลวดกรง ด้วยเหตุนี้คุณอดิสรณ์ร่วมกับทีมเพาะพันธุ์จึงได้ยกเลิกการใช้ Tags และใช้การระบุข้อมูลจากไมโครชิพเพียงอย่างเดียว  

นอกจากนี้ รศ.ดร.ครศร ศรีกุลนาถ จาก ภาควิชาพันธุศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ยังเข้ามาให้การสนับสนุนในเรื่องของการตรวจ DNA กวางผาด้วยวิธี microsatellite genotype, Mt D-loop sequencing ซึ่งทำให้ได้ข้อมูล อัตราเลือดชิด, การอยู่รวมกลุ่ม (Colony), ความใกล้ชิดกันของกวางผา (Relative) โดยข้อมูลที่ได้จากกระบวนการตรวจ DNA นี้มีความสำคัญอย่างมากต่อการวางแผนการผสมพันธุ์กวางผาในรุ่นต่อ ๆ ไป  

ภารกิจสุดท้ายในการเพาะขยายพันธุ์กวางผา คือการปล่อยกวางผาคืนสู่ธรรมชาติ ร่วมกับการติดตามกวางผาหลังการปล่อย เนื่องจากกวางผาที่เคยใช้ชีวิตอยู่แต่ในกรงทำให้การปล่อยกวางผาสู่ธรรมชาตินั้นจึงเป็นเรื่องที่มีความท้าทายและต้องติดตามกวางผาหลังปล่อยอย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ก็เพื่อศึกษาพฤติกรรมหลังปล่อย ตลอดจนการนำข้อมูลไปใช้ในการเพาะพันธุ์ต่อ โดยการติดตามกวางผาหลังการปล่อยนี้ได้รับการสนับสนุนปลอกคอ Satellite Collar จากกรมอุทยานฯ และมูลนิธิสืบฯ ซึ่งมีส่วนช่วยในการติดตามอย่างมากเนื่องจากทำให้เห็นการเคลื่อนไหวและถิ่นที่อยู่อาศัยของกวางผาหลังปล่อยได้อย่างชัดเจน  

จากการเพาะขยายพันธุ์สู่การปล่อยกวางผาคืนสู่ธรรมชาติ โดย ผศ.น.สพ.ดร.นิธิดล บูรณพิมพ์ 

ดร.นิธิดล ได้มาพูดถึงกระบวนการการเพาะพันธุ์กวางผาที่ริเริ่มเมื่อ พ.ศ. 2538 โดยดร.นิธิดลได้กล่าวถึงตั้งแต่ขั้นตอนคัดเลือกพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ที่แข็งแรงด้วยการตรวจน้ำเชื้อกวางผา เรื่อยมาจนถึงความสำเร็จในการเพาะขยายพันธุ์จนได้ลูกกวางผาออกมา ซึ่งหลังจากได้ลูกกวางผามาแล้ว อีกหนึ่งประเด็นที่สำคัญไม่แพ้การเพาะพันธุ์เลย คือ การปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ อันจะเป็นหัวข้อหลักที่ดร.นิธิดลมากล่าวถึงในเวทีเสวนาครั้งนี้ 

ขั้นตอนการปล่อยกวางผา (รวมถึงสัตว์ป่าชนิดอื่น ๆ) คืนสู่ธรรมชาตินั้นจะแบ่งออกเป็น 3 ขั้นตอนหลัก ๆ คือ 1.ขั้นตอนก่อนการปล่อย 2.ขั้นตอนระหว่างการปล่อย และ 3.ขั้นตอนภายหลังการปล่อย  

ขั้นตอนก่อนการปล่อย จะเริ่มตั้งแต่การคัดเลือกกวางผา ดูเรื่องของสุขภาพ ความสมบูรณ์ของร่างกาย โรคติดต่อ (ตัวอย่างเช่น โรคพาราทูเบอร์คูโลซิส โรคเมลิออยโดซิส โรคบรูเซลโลซิส โรคปากและเท้าเปื่อย โรควัณโรค) ความหลากหลายทางพันธุกรรม การติดปลอกคอวิทยุในพื้นที่ และการเลือกพื้นที่สำหรับการปล่อยกวางผา 

ภาพการติดตามกวางผาหลังปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ โดย ดร.นิธิดล บูรณพิมพ์ 

โดยการติดปลอกคอวิทยุนั้นจะนำกวางผาไปปล่อยในคอกขนาดใหญ่ที่มีการจำลองสภาพภูมิประเทศให้คล้ายกับถิ่นที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติของพวกมัน เพื่อทำการศึกษาชีววิทยา และพฤติกรรมก่อนและหลังการติดปลอกคอวิทยุ จนในท้ายที่สุดได้ข้อสรุปจากการศึกษาพฤติกรรมกวางผาแล้วว่า การติดปลอกคอวิทยุไม่ได้ส่งผลให้พฤติกรรมของกวางผานั้นเปลี่ยนแปลงไปแต่อย่างใด  

ส่วนของการเลือกพื้นที่นั้น ดร.นิธิดล ได้เลือกพื้นที่ดอยม่อนเลี่ยม ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่เลา-แม่แสะ โดยก่อนการปล่อยนั้นมีการประชาสัมพันธ์โครงการและสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับกวางผาให้แก่ชุมชนโดยรอบ ทั้งนี้ก็เพื่อให้ชาวบ้านไม่ไปล่าหรือเข้าไปรบกวนพวกมัน 

โดยกวางผาจากการเพาะพันธุ์ถูกปล่อยในปี 2554 จำนวนทั้งหมด 9 ตัว ทว่าเมื่อปล่อยแล้วก็ไม่ได้ถือว่าเสร็จสิ้นภารกิจแต่อย่างใด ดร.นิธิดลต้องติดตามข้อมูลและพฤติกรรมของกวางผาต่อผ่านการใช้ปลอกคอตามที่ได้ทดสอบไป เพื่อให้ได้ข้อมูลการใช้ชีวิต การกิน และที่อยู่อาศัยของกวางผา นอกจากนี้ยังมีการประเมินความสมบูรณ์ของร่างกายกวางผาหลังการปล่อยคืนสู่ธรรมชาติด้วยข้อมูลที่ได้ทั้งหมดนี้จะถูกนำมาใช้ในการศึกษาและวิจัยกวางผาต่อไป  

ผู้เขียน

+ posts

หนุ่มน้อยผู้หลงรักความไม่สมบูรณ์แบบ ออกเดินทางเพื่อเก็บภาพความงดงามของธรรมชาติ และชอบอ่านวรรณกรรมเป็นชีวิตจิตใจ