ร้อยภาพฝันงานอนุรักษ์กวางผา “ยุคสอง: สู่การเปลี่ยนแปลงการริเริ่มเพาะขยายพันธุ์กวางผา” Part 2 

ร้อยภาพฝันงานอนุรักษ์กวางผา “ยุคสอง: สู่การเปลี่ยนแปลงการริเริ่มเพาะขยายพันธุ์กวางผา” Part 2 

มูลนิสืบนาคะเสถียร และ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ร่วมจัดเวทีเสวนา “ร้อยภาพฝันงานอนุรักษ์” ซึ่งเป็นเวทีที่จะร้อยเรียงเรื่องราวการศึกษาและงานอนุรักษ์กวางผาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันผ่าน ข้อมูลด้านวิชาการ ตลอดจนการสร้างเครือข่ายแนวร่วมงานอนุรักษ์กวางผา โดยเวทีเสวนาจะถูกแบ่งออกเป็นสามช่วง

เวทีช่วงที่สอง ภายใต้ชื่อ “ยุคสอง: สู่การเปลี่ยนแปลงการริเริ่มเพาะขยายพันธุ์กวางผา” ว่าด้วยเรื่องของการเพาะพันธุ์และขยายพันธุ์กวางผา ที่สืบเนื่องมาจากยุคของคุณสืบ นาคะเถียร ที่หลายฝ่ายเริ่มเล็งเห็นความสำคัญของกวางผาต่อระบบนิเวศ จนนำไปสู่การเพิ่มจำนวนประชากรกวางผากลับคืนสู่ธรรมชาติ 

ในเวทีช่วงที่สองแบ่งออกเป็นเวทีย่อยทั้งหมด 4 เวที โดยบทความนี้จะแบ่งออกเป็นสองพาร์ท ในพาร์ทสอง  ผศ.ดร.ครศร ศรีกุลนาถ จาก ภาควิชาพันธุศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ ได้ขึ้นมาพูดถึง “ความสำเร็จในการป้องกันการเลือดชิด: เครื่องมือการประเมินความหลากหลายพันธุกรรมและวางแผนจับคู่ผสมพันธุ์ของกวางผา เพื่อวางแผนอนุรักษ์และปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ” ผ่านงานวิจัยของผศ.ดร.ครศรเอง และ คุณมงคล สาฟูวงศ์ หัวหน้าสถานีวิจัยสัตว์ป่าดอยเชียงดาว จ.เชียงใหม่ กับหัวข้อ การสำรวจประชากรกวางผาอย่างเข้มข้นจนนำไปสู่การวางแผนอนุรักษ์กวางผาอย่างเป็นรูปธรรม

ความสำเร็จในการป้องกันภาวะเลือกชิด โดย ผศ.ดร.ครศร ศรีกุลนาถ 

ในหัวข้อนี้ ดร.ครศร ได้มานำเสนอข้อมูลงานวิจัยกวางผา “ความสำเร็จในการป้องกันการเลือดชิด: เครื่องมือการประเมินความหลากหลายพันธุกรรมและวางแผนจับคู่ผสมพันธุ์ของกวางผา เพื่อวางแผนอนุรักษ์และปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ” โดยงานวิจัยชิ้นนี้เป็นงานวิจัยที่ว่าด้วยเรื่องของการใช้องค์ความรู้ด้านพันธุกรรมมาช่วยในการศึกษาและวิจัยกวางผา ตลอดจนการนำข้อมูลที่ได้จากงานวิจัยมาเป็นส่วนช่วยในการปล่อยกวางผาคืนสู่ธรรมชาติด้วย ซึ่งเป็นงานวิจัยที่ ดร.ครศร ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานวิจัยแห่งชาติ (วช.)  

จุดเริ่มต้นของงานวิจัยชิ้นนี้เริ่มต้นจากความต้องการศึกษาพันธุกรรมในประชากรกวางผาที่เตรียมพร้อมสู่การปล่อยคืนสู่ธรรมชาติหลังการเพาะขยายพันธุ์ภายใต้การดูแลของสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าอมก๋อย โดยมีเป้าหมายเพื่อการปล่อยกวางผาคืนสู่ธรรมชาติที่สมบูรณ์ด้านพันธุกรรมให้มากที่สุด ควบคู่กับความสมบูรณ์ทางสุขภาพ ร่างกาย ฯลฯ  

ด้วยกวางผาเป็นกลุ่มประชากรขนาดเล็ก จึงทำให้มีโอกาสสูงที่ประชากรในกลุ่มจะเจอกันเอง และในไม่กี่ชั่วรุ่นก็จะนำไปสู่การเลือดชิด ดังนั้น ดร.ครศร จึงมุ่งเน้นวิธีการใดใดก็ตามเพื่อชะลอการเลือดชิดให้ได้มากที่สุด

เริ่มต้น ดร.ครศร ได้นำข้อมูลของกวางผาทั้งหมด 73 ตัว มาวิเคราะห์ข้อมูลทางพันธุกรรม และได้ใช้สมการในการแปรค่าทางพันธุกรรมให้ละเอียดและเจาะจงมากขึ้น พบว่า ณ ขณะนั้น ค่าความหลากหลายทางพันธุกรรมของกวางผาค่อนข้างต่ำ นำข้อมูลนั้นมาจำแนกกวางผาออกเป็นแต่ละกลุ่ม เพื่อนำกวางผามาผสมพันธุ์ข้ามกลุ่มกัน นอกจากนี้อีกหนึ่งวิธีที่ ดร.ครศร ได้ทำร่วมกับการผสมข้ามกลุ่มแล้ว คือการนำกวางผาจากข้างนอกเข้ามาผสมพันธุ์แทนตัวที่มีอยู่ 

ข้อมูลทางพันธุกรรมของกวางผา 73 ตัว

อีกสิ่งที่ ดร.ครศร พบจากการศึกษากวางผาในครั้งนี้คือประชากรกวางผาที่มาจากป่ามีค่าความหลากหลายที่ต่ำกว่ากวางผาในสถานีเพาะเลี้ยงเสียอีก ทั้ง ๆ ที่ในความเป็นจริงกวางผาที่อาศัยอยู่ในป่าควรจะมีค่าความหลากหลายมากกว่ากวางผาที่เพาะเลี้ยง โดยคำตอบที่ ดร.ครศร พบจากการศึกษาเพิ่มเติมคือ แหล่งที่พบกวางผาทั้ง 11 แหล่งตามธรรมชาติ มีความห่างไกลกัน ทำให้ท้ายที่สุดกวางผาตามแหล่งธรรมชาติต่าง ๆ ก็ผสมพันธุ์กันเอง จนมีอาการเลือดชิดสูงกว่าสถานีเพาะเลี้ยง ปัญหานี้จึงเป็นปัญหาที่ใหญ่ขึ้น เบื้องต้นทาง ดร.ครศร ได้ใช้วิธีการประเมินค่าเลือดชิดจากมูลกวางผาตามแหล่งธรรมชาติ เพื่อหาวิธีที่จะชะลออาการเลือดชิดของกวางผาให้ได้มากที่สุดต่อไป

การสำรวจประชากรกวางผาสู่การวางแผนการอนุรักษ์กวางผาอย่างเป็นรูปธรรม โดย คุณมงคล สาฟูวงศ์

คุณมงคลได้มาพูดถึงการประเมินประชากรกวางผาและผลงานวิจัยกวางผาทั้งที่ปล่อยคืนธรรมชาติและที่มีอยู่ในธรรมชาติ ตลอดจนแผนการดำเนินงานการอนุรักษ์กวางผาของสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าอมก๋อย โดยงานอนุรักษ์กวางผานั้นริเริ่มมาตั้งแต่ยุคการสำรวจกวางผาของคุณสืบ นาคะเสถียร ในปี พ.ศ. 2528 เรื่อยมาจนถึงการทำงานวิจัยกวางผา จนปัจจุบันได้ทำการปล่อยคืนกวางผาจากสถานีเพาะเลี้ยงสู่ธรรมชาติเป็นจำนวนบางส่วนแล้ว จึงทำให้จำนวนประชากรกวางผาในธรรมชาติเพิ่มมากขึ้น 

สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าอมก๋อยได้มีหน้าที่ในการเพาะเลี้ยงและเพาะพันธุ์กวางผา โดยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันสถานีเพาะเลี้ยงได้เพาะเลี้ยงกวางผาไปทั้งหมด 286 ตัว และดำเนินปล่อยคืนไปแล้ว 83 ตัว และในปีพ.ศ. 2566 นี้ จะดำเนินการปล่อยเพิ่มอีก 6 ตัว

ต่อมาคุณมงคลในฐานะหัวหน้าสถานีวิจัยสัตว์ป่าดอยเชียงดาวก็ได้เล่าต่อถึงการดำเนินงานของสถานีวิจัยสัตว์ป่าดอยเชียงดาวด้วย งานแรกที่เริ่มทำคือ การสำรวจสถานภาพประชากรกวางผา และการกระจายตัวของกวางผาในประเทศไทย ทั้งนี้ยังได้รับความร่วมมือจากเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ผ่านการติดตามประชากรและแหล่งที่อยู่อาศัยของกวางผาตามพื้นที่ต่าง ๆ ทั้งหมด 11 แห่ง โดยแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มป่า ประกอบไปด้วย กลุ่มป่าลุ่มน้ำปาย-สาละวิน พบกวางผาทั้งหมด 175 ตัว กลุ่มป่าแม่ปิง-อมก๋อย พบกวางผา 111 ตัว และสุดท้าย กลุ่มป่าศรีลานนา พบกวางผา 6 ตัว

อย่างไรก็ดีในปี พ.ศ. 2562 ที่ผ่านมานั้น สถานีวิจัยสัตว์ป่าดอยเชียงดาวได้ร่วมมือกับสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าอมก๋อย จัดทำโครงการฟื้นฟูประชากรกวางผา ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ และมีโครงการย่อยอีก 2 โครงการ คือ 1.) โครงการการปล่อยกวางผาจากสถานีเพาะเลี้ยงคืนสู่ธรรมชาติและการติดตามกวางผาหลังการปล่อย 2.)การติดตามกวางผาในธรรมชาติ (ซึ่งขณะนี้ยังดำเนินการอยู่)

การติดตามสัญญาณ GPS จากปลอกคอกวางผาในธรรมชาติ 

ในกิจกรรมการปล่อยกวางผาคืนสู่ธรรมชาตินั้น ได้ดำเนินการก่อสร้างกรงเพาะเลี้ยงโดยเลือกพื้นที่ที่สำรวจมาแล้วว่าพบกวางผาตามธรรมชาติในพื้นที่บริเวณนั้น ประกอบกับการเก็บข้อมูลพฤติกรรมกวางผาตั้งแต่อยู่ในกรงเลี้ยง และค่อย ๆ ปรับเปลี่ยนอาหารของกวางผาให้เข้ากับธรรมชาติได้มากขึ้น ร่วมกับการใช้ข้อมูลงานวิจัยจาก ดร.ครศรในการตรวจสอบและประเมินโอกาสการเกิดเลือดชิดในกวางผาเข้ามาช่วยในการปล่อยกวางผาด้วย ทั้งนี้ก็เพื่อที่จะให้กวางผาที่เพาะพันธุ์นั้นสามารถไปผสมพันธุ์กับกวางผาในพื้นที่ได้เร็วมากยิ่งขึ้น และป้องกันการเกิดอาการเลือดชิดของกวางผาตามธรรมชาติในอนาคตด้วย

นอกจากนี้ยังได้มีการติดตั้งปลอกคอสัญญาณดาวเทียม (GPS Satellite Collars) กับกวางผา สำหรับติดตามกวางผาหลังปล่อย เพื่อติดตามถิ่นอาศัยและพฤติกรรมการใช้ชีวิตของกวางผาในธรรมชาติ โดยกิจกรรมครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนปลอกคอจากมูลนิธิสืบนาคะเสถียรด้วย ความพิเศษของปลอกคอนี้คือมันสามารถปลดออกจากคอกวางผาได้เองภายใน 2 ปี  ท้ายที่สุดกิจกรรมดังกล่าวได้ดำเนินการเสร็จสิ้นในปี พ.ศ. 2564

การติดปลอกคอให้กวางผา 
การศึกษาพฤติกรรมกวางผาและติดตามสัญญาณในกรงเลี้ยง 

ถัดมาในกิจกรรมที่ 2 กิจกรรมการติดตามกวางผาในธรรมชาตินั้นด้วยการใช้กรงดักกวางผา มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาพฤติกรรมการใช้ชีวิตของกวางผาตามธรรมชาติ  ตลอดจนขอบเขตและระยะพื้นที่ในการใช้ชีวิตของกวางผา เพื่อวางแผนพื้นที่อนุรักษ์ในพื้นที่ต่าง ๆ ว่าสามารถรองรับกวางผาได้มากที่สุดกี่ตัวต่อพื้นที่

กิจกรรมในปี พ.ศ. 2566 นี้ สถานีวิจัยสัตว์ป่าดอยเชียงดาวจะจัดทำกิจกรรมการประเมินถิ่นที่อยู่อาศัยและความหลากหลายของสัตว์ผู้ล่าทางธรรมชาติของกวางผา ส่วนปี พ.ศ. 2567 จะมีการศึกษาผลกระทบจาการท่องเที่ยวบนดอยเชียงดาวต่อกวางผา ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการจัดหางบประมาณในการดำเนินการต่อไป

ผู้เขียน

+ posts

หนุ่มน้อยผู้หลงรักความไม่สมบูรณ์แบบ ออกเดินทางเพื่อเก็บภาพความงดงามของธรรมชาติ และชอบอ่านวรรณกรรมเป็นชีวิตจิตใจ