Minamata: มินามาตะ ภาพถ่ายโลกตะลึง บทเรียนครั้งใหญ่ของมนุษยชาติ 

Minamata: มินามาตะ ภาพถ่ายโลกตะลึง บทเรียนครั้งใหญ่ของมนุษยชาติ 

สายน้ำที่เต็มไปด้วยปรอท เมืองที่เต็มไปด้วยมลพิษ ความยุติธรรมที่เลือนราง ความทุกข์ทรมานของประชาชน ถูกความเห็นแก่ตัวของบางคนกลบฝังมันเอาไว้

ใครจะไปรู้ว่าภาพถ่ายแค่หนึ่งใบจะสามารถเปิดเผยเรื่องราวอันน่าขื่นขมสู่สายตาของคนทั่วโลก จนกลายเป็นเรื่องราวใหญ่โต และกลายเป็นเหตุการณ์ที่โลกไม่เคยลืม  

Minamata มินามาตะ ภาพถ่ายโลกตะลึง ภาพยนตร์ดราม่าอิงเหตุการณ์จริง ที่สะเทือนอารมณ์คนทั่วโลก ที่เกิดขึ้น ณ เมืองมินามาตะ จังหวัดคุมาโมโตะ บนเกาะคิวชู ประเทศญี่ปุ่น 

ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้นำเสนอเรื่องราวการต่อสู้ของประชาชนในเมืองมินามาตะกับโรงงานอุตสาหกรรมของบริษัทชิสโซะ ที่ลักลอบทิ้งสารปรอทลงสู่แหล่งน้ำ ซึ่งประชาชนมากมายได้รับผลกระทบจากน้ำที่ปนเปื้อน จนทำให้ป่วยเป็นโรคที่มีชื่อเรียกตามเมืองแห่งนี้ “โรคมินามาตะ”  

วิลเลียม ยูจีน สมิธ (William Eugene Smith) ช่างภาพข่าวสงครามชาวอเมริกันที่ได้ทราบข่าวที่เกิดขึ้นภายในเมืองมินามาตะ จึงต้องการที่จะเดินทางไปบันทึกเรื่องราวการต่อสู้อย่างไม่เป็นธรรมของประชาชนกับบริษัทชิสโซะ เพื่อเผยแพร่เรื่องราวของมินามาตะให้สาธารณะชนได้รับรู้  

เรื่องราวการเดินทางสู่มินามาตะของยูจีน สมิธ (เรื่องย่อ)  

ภาพยนตร์ได้เริ่มต้นด้วย ไอลีน (รับบทโดย มินามิ) ล่ามและผู้ประสานงานให้กับบริษัทโฆษณาของญี่ปุ่น ได้มาขอร้องให้ ยูจีน สมิธ (รับบทโดย จอห์นนี เดปป์) เดินทางไปที่เมืองมินามาตะ ประเทศญี่ปุ่น เพื่อไปทำข่าวผลกระทบของชาวเมืองที่ได้รับจากสารปรอทที่ปนเปื้อนอยู่ในแหล่งน้ำ ซึ่งสารปรอทดังกล่าวมีที่มาจากโรงงานผลิตสารเคมีขนาดใหญ่ของบริษัทชิสโซะ ที่เปิดกิจการในปี 1908 ซึ่งเป็นช่วงที่โรงงานอุตสาหกรรมมีการก่อสร้างมากขึ้นในพื้นที่ต่างจังหวัด 

หลังจากตัดสินใจอยู่นานว่าจะเดินทางไปที่มินามาตะดีหรือไม่ ท้ายที่สุดเขาได้ตอบตกลงกับไอลีนและเดินทางไปที่เมืองมินามาตะ ประเทศญี่ปุ่น ทันทีที่เขาเดินทางมาถึง เขาก็ต้องพบกับผู้ป่วยด้วยโรคมินามาตะ ทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ และคนแก่ ความเจ็บปวดของผู้คนที่เขาได้เห็น ทำให้เขาตั้งใจเป็นอย่างมากที่จะถ่ายทอดภาพความทุกข์ทรมานนี้ออกไปให้คนทั่วโลกได้รับรู้  

แม้ไฟแห่งความมุ่งมั่นจะแรงกล้ายังไง แต่ต้องมอดลงด้วยอุปสรรคนานาประการที่เกิดขึ้น 

ประการแรก ผู้คนในเมืองไม่ได้ให้ความร่วมมือกับยูจีนขนาดนั้น หลายคนหลีกเลี่ยงการถูกถ่ายภาพ และหลายคนก็ไม่อยากให้ครอบครัวหรือญาติพี่น้องของเขาที่ป่วยถูกบันทึกภาพ 

ประการถัดมาบริษัทชิสโซะมีการจ้างงานชาวบ้านกว่า 4,000 คน ทำให้ผู้คนมากกว่าครึ่งในเมืองนี้เป็นลูกจ้างของบริษัทนี้นั่นเอง พวกเขาจึงไม่อยากมีปัญหากับบริษัท เพราะไม่อยากให้กระทบกับรายได้หลักของพวกเขา 

และแน่นอนว่าบริษัทเองก็ไม่อยากให้ยูจีนเผยแพร่ภาพพวกนี้เช่นกัน มิฉะนั้นพวกเขาต้องเสียค่าชดเชยมากมายมหาศาลแน่นอน  

ด้วยเหตุผลต่าง ๆ ที่กล่าวมา ทำใหการทำงานของยูจีนนั้นเต็มไปด้วยความยากลำบาก ผู้ชมจึงต้องไปติดตามต่อกันเองว่า ยูจีนจะถ่ายทอดความทุกข์ทรมานและความไม่เป็นธรรมของเมืองมินามาตะแห่งนี้ออกมาได้อย่างไรใน ภาพยนตร์ Minamata มินามาตะ ภาพถ่ายโลกตะลึง  

ความไม่เป็นธรรมที่ถูกสะท้อนออกมาผ่านภาพถ่ายและการต่อสู้เพื่อชีวิต สิ่งแวดล้อม และคนรัก

มินามาตะคือบทเรียนครั้งใหญ่ของประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น ภาพถ่ายมากมายของยูจีนยังคงตราตึงคนทั่วโลกจนถึงปัจจุบัน ความอยุติธรรมที่ถูกถ่ายทอดออกมาผ่านภาพถ่ายนั้น เป็นเครื่องมือชั้นดีในการย้ำเตือนถึงความเห็นแก่ตัวของคนเพียงกลุ่มเดียว ที่ได้กระทำกับประชาชนในเมืองมินามาตะ 

โรคมินามาตะเป็นฝันร้ายที่ยากจะลืมเลือนของประชาชนในเมืองนี้ พ่อแม่ ญาติพี่น้อง ลูก และคนรักของพวกเขาเจ็บป่วยและเสียชีวิตไปด้วยโรคนี้นับไม่ถ้วน โรคมินามาตะเกิดจากสมองที่ถูกทำลายโดยปรอท ในระยะแรกผู้ป่วยจะมีอาการชาที่มือและเท้า และลามไปที่อวัยวะอื่น ๆ จนอาจทำให้ควบคุมสติไม่ได้ พูดไม่ได้ แขนขาบิดงอ ยิ่งได้รับสารปรอทเยอะก็ยิ่งเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้ง่ายขึ้น 

หนึ่งในภาพที่ทรงพลังที่สุดของยูจีนที่ได้แสดงให้เห็นถึงความเจ็บปวดและทุกข์ทรมานจากสารปรอท คือ ภาพ Tomoko Uemura in Her Bath ซึ่งเป็นภาพแม่กำลังอาบน้ำให้ลูกที่ป่วยเป็นโรคมินามาตะจากการดูดซับสารพิษมาตั้งแต่อยู่ในครรภ์ 

ภาพนี้ได้ทำให้เราเห็นถึงความโหดร้ายของโรคที่ทำลายชีวิตของเด็กคนหนึ่งที่เกิดมาและต้องรับเคราะห์กรรมจากสิ่งที่ตัวเองไม่ได้ก่อ เพียงแค่เธอลืมตาดูโลก เธอก็ต้องแบกรับโรคร้ายที่เกิดจากความเห็นแก่ตัวของใครบางคน ที่ต่อให้ชดเชยด้วยเงินมากมายแค่ไหน ก็ไม่สามารถเอาชีวิตที่มีค่าของเธอกลับมาได้  

Tomoko in Her Bath ถ่ายโดย W. Eugene Smith ในปี 1972

สิ่งที่ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้แสดงให้เห็นคือความเป็นจริงของเรื่องราวการต่อสู้อย่างไม่เป็นธรรมของประชาชนกับบริษัทชิสโซะ พวกเขาไม่เพียงแต่ปัดความรับผิดชอบที่ตัวเองได้ก่อเอาไว้ ทว่ายังพยายามปกปิดความเลวร้ายที่เกิดขึ้นจากในฉากของภาพยนตร์ที่เจ้าของบริษัทเรียกตัวยูจีนไปเพื่อให้เงินก้อนและขอให้เขาหยุดทุกอย่างที่นี้ 

“พวกเขาไม่ได้ให้งาน ไม่ได้ให้เงินแก่ชาวเมืองเท่านั้น แต่พวกเขายังมอบฝันร้ายให้กับชาวเมืองด้วย”  

จากมินามาตะสู่ปัจจุบัน 

อย่างไรก็ดีในปี 1973 ด้วยภาพถ่ายของยูจีนที่ได้เผยแพร่ผ่าน Photo Essay ของนิตยาสาร LIFE ทำให้สุดท้ายบริษัทก็ต้องยินยอมชดเชยค่าเสียหายให้แก่ชาวเมืองราว 158 ล้านบาท และยังคงจ่ายค่าเสียหากเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน 

จากเหตุการณ์ดังกล่าวที่ถูกนำเสนอมานั้น ทำให้ประชาชนมากมายทั่วโลกได้เล็งเห็นถึงความสำคัญการมีกฎหมายควบคุมการผลิตในโรงงานอุตสาหกรรม และการมีกฎหมายในการประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและการตรวจสอบอย่างเข้มงวดของรัฐบาลแต่ละประเทศ 

อย่างในประเทศญี่ปุ่น หลังจากที่เรื่องราวของมินามาตะถูกเผยแพร่ รัฐบาลได้มีการปรับปรุงกฎหมายด้านสิ่งแวดล้อมและอุตสาหกรรม และขยายปัญหามาเป็นระดับนานาชาติด้วยการร่วมมือกับอีกหลายประเทศในจัดทำอนุสัญญามินามาตะว่าด้วยปรอท (the Minamata Convention on Mercury) ในปี 2013 ขึ้น โดยอนุสัญญาดังกล่าวมีความมุ่งเน้นต่อการลดความเสี่ยงและควบคุมการใช้ปรอท ตลอดจนการควบคุมการปล่อยสารปรอทจากแหล่งกำเนิด ส่วนประเทศไทยได้ให้สัตยาบันเข้าร่วมเป็นภาคีสมาชิกของอนุสัญญามินามาตะ เป็นลำดับที่ 66 ของโลก โดยประเทศไทยเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 20 กันยายน 2017  

จากภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวและเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงที่มินามาตะนั้น ได้ส่งต่อภาพความทุกข์ทรมานของผู้คนมากมาย สิ่งแวดล้อมที่เสื่อมโทรม และบทเรียนราคาแพงแสนแพงที่เกิดขึ้น ภาพเหล่านั้นกำลังย้ำเตือนเราว่า 

“ไม่มีใครสมควรได้รับความเจ็บปวดจากสิ่งที่ตัวเองไม่ได้ก่อ”  

อ้างอิง  

ผู้เขียน

+ posts

หนุ่มน้อยผู้หลงรักความไม่สมบูรณ์แบบ ออกเดินทางเพื่อเก็บภาพความงดงามของธรรมชาติ และชอบอ่านวรรณกรรมเป็นชีวิตจิตใจ