ข้อเสนอภาคประชาสังคม ด้านนโยบายสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติต่อพรรคการเมือง

ข้อเสนอภาคประชาสังคม ด้านนโยบายสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติต่อพรรคการเมือง

บทสรุป เวทีนโยบายสาธารณะ: ข้อเสนอภาคประชาสังคม ด้านนโยบายสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติต่อพรรคการเมือง

เมื่อวันที่ 30 ที่ผ่านมาภาคประชาสังคมนำโดย Thai Climate Justice for All ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร กลุ่มการเมืองสิ่งแวดล้อม สมัชชาองค์กรเอกชนด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมฯ และThe Reporters ได้ร่วมกันจัดเวทีนโยบายสาธารณะ: ข้อเสนอภาคประชาสังคมด้านนโยบายสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติต่อพรรคการเมือง  

เวทีนโยบายในครั้งนี้เป็นการพูดคุยและชวนตั้งคำถามในเรื่องของปัญหาโลกร้อน ฝุ่น pm 2.5 สิทธิชุมชนต่อทรัพยากรธรรมชาติ ความเป็นธรรมทางนิเวศ และสังคมสังคมนั้นสำคัญหรือไม่ในแนวนโยบายพรรคการเมือง  

ปัจจุบันประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมมักถูกพูดถึงหรือถูกให้ความสำคัญเป็นช่วง ๆ ตามสถานการณ์ทางสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้น อาทิ ปัญหาฝุ่นควันที่มีมาอยู่ตลอด แต่กลับได้รับความสนใจแค่ช่วงที่มันรุนแรงเท่านั้น ด้วยเหตุนี้เวทีเสวนานี้จึงมีความต้องการจะสร้างบทสนทนาด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อม ตลอดจนผลักดันการแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ในเชิงนโยบายมากขึ้น   

ผู้เข้าร่วมเวทีเสวนาครั้งนี้ ประกอบไปด้วยภาคประชาสังคม 10 องค์กร ดังนี้ คุณมนตรี จันทวงศ์ จากกลุ่มเสรีภาพแม่น้ำโขง ผศ.ดร.สิตางศุ์ พิลัยหล้า จากสาขาวิศวกรรมทรัพยากรน้ำ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คุณเพ็ญโฉม แซ่ตั้ง จากมูลนิธิบูรณะนิเวศฯ คุณพรพนา ก๊วยเจริญ จากกลุ่มปัญหาที่ดิน (Land Watch Thai) คุณชัชวาล ทองดีเลิศ จากสภาลมหายใจเชียงใหม่ คุณสุรชัย ตรงงาม จากมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม ผศ.ประสาท มีแต้ม จากกรรมการนโยบายด้านบริการสาธารณะพลังงานและสิ่งแวดล้อม สภาพองค์กรของผู้บริโภค ดร.กฤษฎา บุญชัย จาก Thai Climate Justice for All คุณภาคภูมิ วิธานติรวัฒน์ จากมูลนิธิอันดามัน และสุดท้ายคุณภูริณัฐ เปลยานนท์ จากกลุ่มการเมืองสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ยังมีฝั่งตัวแทนพรรคการเมืองมาเข้าร่วมเวทีเสวนาแลกเปลี่ยนประเด็นในครั้งนี้ด้วย   

ก่อนเข้าสู่เนื้อหาเวทีเสวนา ดร.กฤษฎา บุญชัย ตัวแทนจาก Thai Climate Justice for All ได้เกริ่นนำถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมนั้นมีความรุนแรงและซับซ้อนมากยิ่งขึ้น ทว่าปัญหาดังกล่าวก็ยังคงอยู่ในวังวนโครงสร้างอำนาจเดิม โดยความรุนแรงเหล่านี้มีรากสาเหตุมาจากระบบทุนนิยมเสรีที่แปลงร่างเป็นทุนนิยมสีเขียว ซึ่งไม่คำนึงถึงขีดจำกัดของธรรมชาติ แต่เอาทุกด้านทั้งการทำลายธรรมชาติ และสร้างภาพและผลประโยชน์จากการ “รักษาสิ่งแวดล้อม” เพื่อกลับมาหนุนการทำลายธรรมชาติต่อไปอย่างไร้ขีดจำกัด  

ที่ผ่านมากลไกการแก้ปัญหาของภาครัฐยังอยู่ในวังวนเดิม ๆ รัฐไม่ได้จัดการทุกปัญหาที่เกิดขึ้น แต่เลือกจัดการเฉพาะปัญหาที่เกิดจากภาคประชาชน เช่น ปัญหาฝุ่นควัน ที่บันทึกเพียงแค่ hotspots ที่เกิดจากชาวบ้านหรือเกษตรในพื้นที่ แต่ฝุ่นควันจากโรงงานอุตสาหกรรมหรือรถยนต์กลับไม่ถูกบันทึก สุดท้ายแล้วการแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมของรัฐนั้นยังคงเอื้อประโยชน์แก่กลุ่มทุนอยู่  

ต่อมาดร.กฤษฎาเสนอว่า ปัญหาทั้งหมดนี้มีรากร่วมกันคือ เราอยู่ในโครงสร้างอำนาจรวมศูนย์ทั้งรัฐและทุน ที่สร้างฟอกเขียวตนเองภายใต้วาทกรรมสีเขียว แต่ไม่มีประชาธิปไตย ไม่มีสิทธิมนุษยชน สิทธิชุมชน ไม่มีพื้นที่ การมีส่วนร่วม ไม่มีอำนาจต่อรองของประชาชน และไม่มีพื้นที่ให้ประชาชนเป็นอิสระ พึ่งตนเอง นั่นทำให้สถานการณ์ในปี 2566 ยังไม่มีวี่แววที่จะเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมแน่นอน  

ประเด็นแรกเริ่มที่ภาคประชาสังคมต้องการเสนอต่อพรรคการเมือง คือ การจัดการไฟป่าและฝุ่น PM 2.5 ซึ่งเป็นปัญหาเร่งด่วนและต้องผลักดันแนวทางแก้ปัญหาในรัฐบาลใหม่โดยเร็วที่สุด ผศ.ประสาท มีแต้ม จากสภาผู้บริโภค กล่าวว่า ปัญหาฝุ่นควันไม่ได้มาจากแค่เกษตรกรเพียงกลุ่มเดียว แต่การเผาไหม้ของฟอสซิลเองก็มีส่วนต่อสถานการณ์ฝุ่นควันเช่นกัน ดังนั้นเราจึงควรใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยขับเคลื่อนในระดับนโยบายด้วย  

ถัดมาคุณพรพนา ก๊วยเจริญ จากกลุ่มปัญหาที่ดิน (Land Watch Thai) ได้กล่าวถึงการแก้ไขปัญหารัฐธรรมนูญให้ประชาชนมีสิทธิที่ดินและที่อยู่อาศัยให้ชัดเจน ปัญหาที่อยู่อาศัยและที่ที่ดินทำกินถือเป็นอีกหนึ่งปัญหาที่หลายพื้นที่เผชิญอยู่ตลอด ซึ่งปัญหาที่ดินนั้นส่งผลต่อการบริหารจัดการพื้นที่อนุรักษ์โดยตรง ทั้งนี้คุณพรพนาเรียกร้องให้ภาครัฐยุติไม่ให้ภาคเอกชนเช่าที่ดินป่าสงวนแห่งชาติ และยุตินโยบายทวงคืนผืนป่าที่ทำร้ายประชาชน ตลอดจนคืนสิทธิให้กลุ่มชาติพันธุ์ดั้งเดิม  

ทางด้านการบริหารจัดการน้ำ ผศ.ดร.สิตางศุ์ พิลัยหล้า จากสาขาวิศวกรรมทรัพยากรน้ำ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ให้ข้อมูลว่า การจัดการทรัพยากรน้ำในปัจจุบันนั้นเป็นผลพวงจากแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ตั้งแต่ฉบับที่ 1-5 ที่เริ่มส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ต่อมาในฉบับที่ 12 ก็ได้สะท้อนให้เห็นถึงความย้อนแย้งทางนโยบายของภาครัฐเองด้วย อย่าง การเร่งระบายน้ำเจ้าพระยาลงทะเล แต่กลับมีโครงการผันน้ำยวมตั้งขึ้นมา ด้วยความกังวลว่าพื้นที่ท้ายเขื่อนภูมิพลจะไม่มีน้ำเพียงพอใช้งาน ซึ่งมันเป็นการกระทำที่ขัดแย้งกันเองอย่างยิ่ง “รัฐที่ต้องการเพิ่มพื้นที่ป่า แต่กลับสร้างอ่างเก็บน้ำในผืนป่ามากขึ้น” ดังนั้น พรรคที่จะมาเป็นรัฐบาลต่อไปต้องมีการปฏิรูปกระบวนการจัดสรรงบประมาณด้านทรัพยากรน้ำด้วย  

อีกหนึ่งแหล่งน้ำที่มีความสำคัญอย่างมากต่อประเทศไทยและประเทศอื่น ๆ ในอาเซียน คือ แม่น้ำโขง นายมนตรี จันทวงศ์ จากกลุ่มเสรีภาพแม่น้ำโขง กล่าวว่าสถานการณ์ปัจจุบันของแม่น้ำโขงนั้นเกิดความแปรปรวนเป็นอย่างมาก ฤดูแล้งน้ำท่วม แต่ฤดูฝนน้ำกลับแห้ง นอกจากนี้ระบบนิเวศรอบแม่น้ำโขงยังเสียความสมดุลจากปริมาณน้ำที่แปรปรวนด้วย ซึ่งสถานการณ์น้ำตอนนี้ไม่ได้ส่งผลแค่ธรรมชาติเท่านั้น แต่ประชาชนที่พึ่งพิงแม่น้ำโขงก็ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากปัญหาดังกล่าวด้วยเช่นกัน โดยคุณมนตรีมองว่าเขื่อนคือตัวการสำคัญที่ก่อให้เกิดความเปลี่ยนในแม่น้ำโขง มันคือปัญหาของระบบนิเวศอย่างแท้จริง เพราะฉะนั้นแล้ว รัฐบาลจำเป็นต้องจริงจังกับปัญหาเขื่อนในแม่น้ำโขงมากขึ้นด้วย  

นอกจากนี้ปัญหาคู่แหล่งน้ำที่ละเลยไม่ได้ คือ ปัญหามลภาวะจากอุตสาหกรรม ซึ่งอุตสาหกรรมเหล่านี้เป็นตัวการที่ทำให้เกิดปัญหาน้ำเสียจากการลักลอบทิ้งสารเคมีหรือสิ่งปฏิกูลอื่น ๆ ลงในแหล่งน้ำ คุณเพ็ญโฉม แซ่ตั้ง จากมูลนิธิบูรณะนิเวศ มองว่ารัฐต้องพัฒนากฎหมายเพื่อควบคุมอุตสาหกรรมเหล่านี้มากขึ้น เนื่องจากน้ำเสียจากโรงงานนั้น นอกจากจะทำให้แม่น้ำสายหลักทั่วประเทศแล้ว ยังเป็นสาเหตุของการทำลายระบบเศรษฐกิจชุมชนในหลายพื้นที่ด้วย  

ถัดมาคุณภาคภูมิ วิธานติรวัธน์ จากมูลนิธิอันดามัน ได้กล่าวถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่ทะเลและชายฝั่ง ซึ่งนอกจากเรื่องการประมง และการกัดเซาะชายฝั่งแล้ว ยังมีปัญหาเรื่องการตั้งถิ่นฐานและที่ดินทำกินบริเวณชายฝั่งด้วย โดยคุณภาคภูมิชี้ให้เห็นว่าภาครัฐต้องยอมรับถึงการมีตัวตนของคนกลุ่มนี้ บางครั้งคนกลุ่มนี้อาศัยอยู่ในพื้นที่ดังกล่าวก่อนที่จะประกาศเป็นพื้นที่อนุรักษ์เสียอีก ดังนั้น ภาครัฐควรจะปรับปรุงและแก้ไขกฎหมายเรื่องที่ดินสำหรับอยู่และแหล่งประมงใหม่ ซึ่งถือเป็นประเด็นสำคัญที่ละเลยไม่ได้เด็ดขาด  

คุณสุรชัย ตรงงาม จาก มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อมหรือ ENlaw เรียกร้องให้พรรคการเมืองมีกฎหมายที่สนับสนุนสิทธิและความเป็นธรรมด้านสิ่งแวดล้อม ตลอดจนนำสิทธิในสิ่งแวดล้อมที่ดี อันเป็นสิทธิมนุษยชนสากลมาเป็นส่วนหนึ่งของรัฐธรรมนูญไทย และที่สำคัญภาครัฐจะต้องยกเลิกคำสั่ง คสช.ที่ 4/59 ทบทวนโครงการขนาดใหญ่ที่กระทบสิ่งแวดล้อมและหยุดปกปิดมลพิษ เพราะข้อมูลมลพิษ คือสิทธิที่ประชาชนต้องเข้าถึงได้ 

สุดท้าย คุณภูริณัฐ เปยานนท์ ตัวแทนคนรุ่นใหม่ จากกลุ่มการเมืองสิ่งแวดล้อม เสนอว่า สิ่งสำคัญในการจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อม คือ เรื่องของประชาธิปไตย ภาครัฐต้องป้องกันการดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์เพื่อหยุดยั้งการเคลื่อนไหวของภาคประชาชน (SLAPP) และส่งเสริมชุมชนท้องถิ่นในการดูแลทรัพยากรร่วมกัน ด้วยการเพิ่มอำนาจและงบประมาณให้ท้องถิ่นมากขึ้น ตลอดจนการเขียนรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่ทั้งฉบับ โดยเพิ่มหมวดสิทธิด้านสิ่งแวดล้อม และการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และสุขภาพ หมวดสิทธิของธรรมชาติ และหมวดสิทธิในที่ดินไปในรัฐธรรมนูญ เพื่อที่จะให้ประเด็นต่าง ๆ เหล่านี้มีกฎหมายรองรับอย่างชัดเจน  

หลังจากที่ฟังข้อเสนอของภาคประชาสังคมแล้ว ทางฝั่งพรรคการเมืองมีแนวโน้มไปในทิศทางเดียวกัน คือ เห็นด้วยกับหลาย ๆ ประเด็นที่ฝั่งภาคประชาชนเสนอมา นอกจากนี้แต่ละพรรคได้ร่วมกันเสนอนโยบายของตนที่สอดคล้องไปกับข้อเรียกร้องของประชาชน  

จากนี้เราคงต้องจับตาดูกันต่อไปว่าหลังเวทีเสวนาครั้งนี้ เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้างต่อนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมในแต่ละพรรคการเมือง เนื่องจากยังมีอีกหลายข้อเสนอแนะที่สำคัญที่ถูกเสนอไปในเวทีเสวนาครั้งนี้ด้วยเช่นกัน  

จากเวทีเสวนาได้แสดงให้เราเห็นแล้วว่า ประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นที่พูดถึงกันมากขึ้น หลายพรรคการเมืองให้ความสนใจมากขึ้น และที่สำคัญพรรคต่าง ๆ เริ่มชูนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมออกมาให้เราเห็นกันมากขึ้นด้วย นโยบายด้านสิ่งแวดล้อมจึงเป็นความก้าวหน้าของวงการการเมืองไทย ที่อีกไม่นานประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อมจะถูกยกมาพูดถึงมากขึ้นแน่นอน  

ผู้เขียน

+ posts

หนุ่มน้อยผู้หลงรักความไม่สมบูรณ์แบบ ออกเดินทางเพื่อเก็บภาพความงดงามของธรรมชาติ และชอบอ่านวรรณกรรมเป็นชีวิตจิตใจ