พบ ‘กระทิง’ ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสาละวิน ครั้งแรกในรอบ 37 ปี

พบ ‘กระทิง’ ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสาละวิน ครั้งแรกในรอบ 37 ปี

นับเป็นอีกหนึ่งข่าวน่ายินดีของประเทศไทย เมื่อเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสาละวิน เปิดเผยภาพกระทิง (Bos gaurus) หลังจากที่ไม่ได้รับรายงานการพบเห็นมานานกว่า 37 ปี 

วันที่ 29 ตุลาคม 2566 เพจเฟซบุ๊กของ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้โพสต์ข้อความระบุว่า นายอาคม บุญโนนเเต้ หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสาละวิน เปิดเผยว่า ตามที่เขตฯ ได้มีการติดตั้งกล้องดักถ่ายภาพสัตว์ป่า (Camera Trap) เพื่อสำรวจการกระจายของสัตว์ป่าในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ร่วมกับการลาดตระเวนเชิงคุณภาพ (SMART PATROL)

ด้วยความที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสาละวิน เป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญเชิงระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพของป่ารอยต่อประเทศไทย ทำให้มีร่องรอยสัตว์ป่าที่เข้ามาใช้ประโยชน์ชุกชุม โดยช่วงต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมามีการรายงานพบกระทิง ซึ่งนับเป็นสัตว์ที่พบตัวค่อนข้างยาก ในพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทย 

ด้านเจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสาละวิน พบเห็นกระทิงครั้งล่าสุดเมื่อปี 2529 และในปี 2531 ได้มีผู้ลักลอบล่าวัวป่าชนิดนี้ จากบริเวณแม่ลาหลวง ใกล้กับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่ยวมฝั่งขวา ซึ่งเป็นผืนป่าต่อเนื่องกันกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสาละวิน 

ทั้งนี้ข้อมูลเกี่ยวกับการพบเห็นกระทิงดังกล่าว ในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสาละวินนั้น มีปรากฏในเอกสารรายฉบับร่างแผนแม่บทเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสาละวิน จังหวัดแม่ฮ่องสอน โดย คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พ.ศ. 2533 

นายอาคม กล่าวว่า นี้ถือเป็นเวลากว่า 37 ปี แล้ว ที่ไม่มีรายงานการค้นพบกระทิงในพื้นที่เขตฯ ดังกล่าว แต่ถึงอย่างนั้นก็มีข้อมูลบอกเล่า รอยตีน หรือกองมูล ที่ยืนยันแน่ชัดไม่ได้ว่าเป็นกระทิงหรือไม่ด้วย ซึ่งนี้ก็แตกต่างจากวัวแดงตรงที่มีคนพบเห็นอยู่บ่อยครั้ง และที่สำคัญวัวแดงมีแหล่งอาศัยชัดเจน คือบริเวณป่าเต็งรังที่ราบตอนบนของเขตฯ แค่จุดเดียวเท่านั้น 

จากการรายงานของเจ้าหน้าที่บริเวณที่ถ่ายภาพได้ และชาวบ้านในพื้นที่ พบว่ามีร่องรอยกระทิงมาใช้ประโยชน์ในพื้นที่เป็นประจำทุกปี โดยมาในลักษณะฝูงเล็ก ๆ 1-3 ตัว เพียงเท่านั้น โดยพวกมันมีพฤติกรรมหากินข้ามไปมาบริเวณป่ารอยต่อระหว่างเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสาละวิน และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่ยวมฝั่งขวา และประเทศเมียนมา ทั้งนี้ข้อมูลดังกล่าวเป็นเพียงคำบอกเล่า รอยตีน และกองมูลเท่านั้น ยังไม่สามารถยืนยันได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ว่าเป็นกระทิง 

ความสำคัญกระทิงต่อระบบนิเวศ

กระทิง หรือ เมย เป็นสัตว์เท้ากีบ อยู่ในวงศ์ตระกูลเดียวกับควายป่าและวัวแดง แต่กระทิงนั้นมีจุดเด่นอยู่ที่รูปร่างใหญ่ ล่ำ มีขนสีน้ำตาลเข้มจนถึงดำ ขาทั้งสี่มีสีขาวคล้ายกับสวมถุงเท้าอยู่ มีเขาทั้งตัวผู้และตัวเมีย ตรงหน้าผากที่อยู่ระหว่างเขาจะมีขนสีน้ำตาล พวกมันจะมีพฤติกรรมอาศัยอยู่รวมกันเป็นฝูง โดยฝูงหนึ่งจะมีสมาชิกตั้งแต่ 2 – 60 ตัว 

พวกมันกินพืชเป็นอาหาร ได้แก่ ใบไม้ ผลไม้ป่า และหญ้าชนิดต่าง ๆ โดยในอดีตพวกมันมีจำนวนมาก และกระจายตัวอยู่ทั่วทุกภาคของประเทศไทย แต่ปัจจุบันมีกระทิงอยู่เหลือเพียงบ้างพื้นที่เท่านั้น ทำให้ปัจจุบันกระทิงมีสถานภาพเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 

อย่างไรก็ตาม พวกมันมีความสำคัญต่อระบบนิเวศมาก โดยพวกมันมีบทบาทเป็นสัตว์เบิกนำในการค้นหา แหล่งพืชอาหารหรือแหล่งน้ำ ซึ่งจะช่วยให้สัตว์อื่น ๆ สามารถใช้ประโยชน์ร่วมกันได้ นอกจากนี้กระทิงยังช่วยกระจายเมล็ดพันธุ์ไม้ป่า เช่น ลูกส้าน กระท้อนป่า มะกอกป่า ฯลฯ ดังนั้นหากป่าหรือพื้นที่ใดมีกระทิง เท่ากับว่าป่าบริเวณนั้นมีระบบนิเวศที่อุดมสมบูรณ์ มีต้นไม้และพรรณพืชที่หลากหลาย 

อ้างอิง

ภาพประกอบ

  • กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

ผู้เขียน

+ posts

หนุ่มน้อยผู้หลงรักความไม่สมบูรณ์แบบ ออกเดินทางเพื่อเก็บภาพความงดงามของธรรมชาติ และชอบอ่านวรรณกรรมเป็นชีวิตจิตใจ