ชุดหนังสือสัตว์ป่าสำหรับเด็กของ ณรงค์ สุวรรณรงค์

ชุดหนังสือสัตว์ป่าสำหรับเด็กของ ณรงค์  สุวรรณรงค์

ภาพหมาในสองตัวกำลังกอดรัดฟัดเหวี่ยงกัน อยู่บนปกหนังสือเรื่อง“เต้นรำกับมาหมาใน” วางคู่กับหนังสืออีกสองเล่มซึ่งใช้ภาพนกกก และกระทิงแม่ลูก จัดโพสิชั่นไว้บนปกชวน ให้หยิบขึ้นมาอ่าน

เมื่อลองได้อ่านหนังสือทั้งสามเล่มนี้แล้วยิ่งทำให้รู้สึกหลงรักสัตว์ป่าเหล่านี้มากกว่าเดิม เพราะภายในเล่มเต็มอิ่มไปกับภาพชีวิต แง่มุมของสัตว์ป่าที่ไม่มีให้เห็นได้ง่ายนัก ณรงค์ สุวรรณรงค์ เจ้าของชุดหนังสือสัตว์ป่าสำหรับเด็ก บอกกับเราว่า “เรายังรู้จักสัตว์ป่าน้อยมาก เด็กหรือผู้ปกครองบางคนยังถามถึงสิงโต ม้าลาย ในป่าบ้านเราอยู่เลย”

ความตั้งใจของช่างภาพคนหนึ่ง ที่ใช้เวลาหลายสิบปี เฝ้ามองชีวิตของสัตว์ป่า ถ่ายภาพเรียงร้อยเรื่องราวจนเป็นจุดเริ่มต้นของหนังสือสัตว์ป่าสำหรับเด็กชุดนี้ ณรงค์เชื่อว่า หากเรารู้จักแล้วเข้าใจชีวิตของพวกเขา จะก่อเกิดเป็นความรัก แล้วเราจะเห็นคุณค่าของชีวิตในธรรมชาติ

 

 

“ผูกพันกับหมาใน ประทับใจในนกกก และขำทุกครั้งเมื่อนึกถึงครั้งแรกที่เห็นกระทิงตัวจริงในธรรมชาติ”

กว่า20ปี ที่ณรงค์ติดตามชีวิต หมาใน นกกก และกระทิง “ทั้งสามชนิดเป็นสัตว์ที่ผมติดตามเรียนรู้ และถ่ายภาพมายาวนาน แต่ยังมีเรื่องที่เราไม่รู้อีกมากเกี่ยวกับพวกเขา” 

 

 

เมื่อมีโอกาสได้โยนคำถามให้ณรงค์ตอบถึงเหตุผลที่เลือกถ่ายทอดเรื่องราวสัตว์สามชนิดนี้

ดูเหมือนหมาในเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เขาหันมาตั้งใจถ่ายภาพสัตว์ป่า จนได้รับรางวัลชนะเลิศถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี “ผมได้เรียนรู้-รู้จักชีวิตหมาใน ในแง่มุมต่าง ๆ มากขึ้น แล้วพยายามสื่อสารถึงชีวิตความเป็นจริงของหมาในมาตลอด แต่ก็ยังมีคนเข้าใจผิดอยู่เสมอ มีทัศนคติด้านลบกับหมาใน ผมจึงหวังว่าหนังสือจะช่วยให้คนรู้และเข้าใจเกี่ยวกับชีวิตหมาในที่ถูกต้อง และช่วยให้ทัศนคติด้านลบ ภาพร้าย ๆ เกี่ยวกับหมาในลดลง”

 

 

นกกก “ผมประทับใจตั้งแต่ครั้งแรกที่ได้เห็นและได้ยินเสียงบินอันดังของมัน” และเมื่อ ณรงค์ ได้มีโอกาสได้เรียนรู้ชีวิตของนกเงือกในอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ยิ่งทำให้เขาสนใจนกกกมากขึ้น “อยากให้เด็ก ๆ เยาวชน และคนทั่วไป มีโอกาสเห็นภาพเสี้ยวหนึ่งที่เราได้เห็น”

 

 

สัตว์ชนิดสุดท้ายที่ณรงค์หยิบขึ้นมาสื่อสาร คือกระทิง ครั้งหนึ่งเขาเคยทำหนังสือเรื่องกระทิงออกมา และนี่คือความตั้งใจอีกครั้งที่อยากทำหนังสืออีกเล่ม การกลับไปอยู่ท่ามกลางฝูงกระทิง ซึ่งครั้งนี้เขาได้เห็นอิริยาบถต่าง ๆ อย่างใกล้ชิดกว่าเดิม
“การทำเรื่องกระทิงเป็นเรื่องที่จะอยู่ในความทรงจำไปตลอด… เหมือนอยู่ในอ้อมกอดของกระทิง” ภาพชีวิตและเรื่องราวของกระทิงในหนังสือเล่มนี้คงทำให้ผู้อ่านรู้จักกระทิงมากขึ้น “ไม่ได้คาดหวังอะไรมาก แค่คราวหน้าหากมี โอกาสได้เปิดภาพหนังสือให้เด็กๆได้เห็น สัตว์ตัวดำๆ พวกเขาจะรู้ว่ามันคือ กระทิง”

 

“เป็นการเรียนรู้ผ่านสองตามากกว่าผ่านเลนส์ เลนส์เป็นแค่เครื่องมือประกอบเรียนรู้”

ตลอดช่วงเวลาที่มีโอกาสได้เข้าไปทำความเข้าใจสัตว์ป่า ณรงค์ บอกความรู้สึกกับเราโดยนิยามถึง
ความเปราะบาง อ่อนไหว ปรับตัว สุข สงบ ปลด ปลง ฯลฯ ธรรมชาติตอบกลับเขา ด้วยความรู้สึกพิเศษ เหล่านี้

 

 

การเรียนรู้ผ่านสองตา มีเลนส์เป็นเครื่องมือเรียนรู้ ตลอดช่วงเวลาของการเฝ้ามอง ณรงค์บอกกับเราว่าเขาเห็นถึงความเปลี่ยนแปลงของสัตว์ป่าอยู่มาก
“หากเทียบกับเมื่อกว่า ๒๐ ปีก่อน ยอมรับว่าสถานการณ์สัตว์ป่าดีขึ้นมาก เพราะมีหลายฝ่ายร่วมมือกัน ทำงาน กันอย่างเหน็ดเหนื่อยเข้มแข็ง เสียสละ วันนี้คงเห็นเป็นรูปธรรมในป่าหลายแห่ง แม้ปัญหายังมีอยู่ตลอด เปลี่ยนไปตามยุคสมัย แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่ค่อยเปลี่ยนคือ ความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับธรรมชาติและสัตว์ป่า คนบ้านเรายังให้ความสำคัญกันน้อย แม้แต่หน่วยงานรัฐที่ทำหน้าที่ตรงนี้ยังมีคนไม่มากที่รู้เรื่องเหล่านี้ดี”

 

การได้รู้จักเป็นจุดเริ่มต้นของความเข้าอก-เข้าใจ แล้วค่อยๆแปรเปลี่ยน กลายเป็นความรักและเห็นคุณค่า
หนังสือสัตว์ป่าสำหรับเด็กที่ณรงค์ จัดทำขึ้น ช่วยส่งต่อความเข้าใจแก่ผู้อ่าน

ขณะนี้หนังสือกำลังเดินทางออกไปยังผู้อ่านจำนวนหนึ่ง  ทำให้การขยายวงล้อมของความเข้าใจ ความรักต่อสัตว์ป่า กว้างขึ้น

 


บทความ นรินทร์ ปากบารา เจ้าหน้าที่สื่อสารองค์กร มูลนิธิสืบนาคะเสถียร