กระทิงตาบอด ไม่ได้มาจากฉี่หมาไน แต่มาจากอะไร

กระทิงตาบอด ไม่ได้มาจากฉี่หมาไน แต่มาจากอะไร

จากกรณีที่มีการพบกระทิงป่าตาบอด เพศเมีย อายุประมาณ 18-20 ปี บริเวณ หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ขญ.2 ผากระดาษ ต.หมูสี อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ภายหลังตั้งชื่อว่า “ชบาแก้ว” มีอาการตาด้านขวาบอดสนิท ส่วนด้านซ้ายมองเห็นลาง ๆ นี่ถือเป็นกระทิงตาบอด ตัวที่ 5 ที่พบในเขต ต.หมูสี และ ต.โป่งตาลอง อ.ปากช่อง 

เดิมทีมีความเชื่อกันว่าอาการตาบอดนี้มีสาเหตุมาจากฉี่หมาไน ซึ่งฉี่ไว้ตามใบไม้ ใบหญ้า เพื่อล่าสัตว์เป็นอาหาร ว่ากันว่าฉี่หมาไนมีฤทธิ์เป็นกรด เมื่อสัตว์อย่าง กระทิง ก้มกินหญ้าหรือใบไม้ก็จะถูกฉี่หมาไนเข้าตา ทำให้อักเสบและตาบอดได้ 

เบื้องต้นความเชื่อดังกล่าวไม่เป็นเรื่องจริงแต่อย่างใด ด้านสัตวแพทย์หญิง ชนัญญา กาญจนสาขา สัตวแพทย์ ประจำส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 1 (ปราจีนบุรี) กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้ออกมาให้ความเห็นต่อสาเหตุของการตาบอดของกระทิงในครั้งนี้ว่า 

1) ความเสื่อมของอวัยวะจากอายุ เนื่องจากกระทิงตาบอดที่พบพื้นที่หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ที่ 2 (ผากระดาษ) มีอายุอยู่ในช่วงประมาณ 25-30 ปี ซึ่งถือว่าแก่แล้วสำหรับกระทิง จึงอาจเป็นการเสื่อมของจอประสาทตา เส้นประสาทตา ตามอายุที่แก่ลงได้

2) การขาดวิตามิน เช่น วิตามินเอ เนื่องจากวิตามินเอ จะคอยช่วยในการสร้างสารที่ใช้ในการมองเห็น หากขาดจะทำให้เห็นได้ยากในที่แสงน้อยหรือตอนกลางคืน และทำให้เยื่อบุตาแห้ง กระจกตาเป็นแผล ในกรณีที่ขาดรุนแรงอาจจะทำให้ตาบอดได้

3) พยาธิภายใน มีพยาธิบางชนิดที่มีโฮสต์เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมหลายชนิด และชอบอาศัยอยู่แถวบริเวณเยื่อบุตาขาว พื้นผิวของดวงตา และใต้เปลือกตาที่สาม จะส่งผลให้เกิดความระคายเคืองของตา และอาจรุนแรงถึงขั้นตาบอดได้เช่นกัน

4) ความเป็นพิษ สารพิษ สารพิษจากแบคทีเรียบางชนิด สารเคมีจากเกษตรกรรม สารพิษจากตะกั่ว ซึ่งก็อาจก่อให้เกิดความระคายเคืองภายนอก และอาจส่งผลภายในได้อาจเป็นในกรณีกินพืชผลที่มีสารเคมีเข้าไป 

5) อื่นๆ เช่น การติดเชื้อแทรกซ้อน

ทั้งนี้ยังไม่มีการตรวจแยกที่แน่ชัด เนื่องจากการรักษากระทิงกลุ่มนี้เน้นให้ชีวิตยังดำรงอยู่ได้อย่างปลอดภัย อีกทั้งการรักษาตา ส่วนใหญ่จะเป็นยาภายนอก เช่น ยาหยอดตา ซึ่งต้องหยอดเป็นประจำ และต่อเนื่อง แต่เนื่องจากกระทิงยังมีสัญชาตญาตของสัตว์ป่าอยู่ อาจจะยากต่อเจ้าหน้าที่ให้การดูแลและให้ยารักษา อีกทั้งการเกิดโรคสามารถเกิดจาหลาย ๆ สาเหตุร่วมกันได้ และยังไม่มีข้อมูลวิจัยที่เกี่ยวกับกระทิงตาบอดมากนัก 

ส่วนข้อมูลจากข่าวที่ว่า สัตวแพทย์ให้ข้อมูลว่า อาการตาบอดเกิดจากฉี่หมาไนนั้น ไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด อาจเป็นแค่เพียงความเชื่อของคนในพื้นที่เพียงเท่านั้น 

ขอบคุณข้อมูลจาก: สัตวแพทย์หญิง ชนัญญา กาญจนสาขา สัตวแพทย์ ประจำส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 1 (ปราจีนบุรี) กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

ผู้เขียน

+ posts

หนุ่มน้อยผู้หลงรักความไม่สมบูรณ์แบบ ออกเดินทางเพื่อเก็บภาพความงดงามของธรรมชาติ และชอบอ่านวรรณกรรมเป็นชีวิตจิตใจ