อีกครั้งที่ทะเลเกือบพังเพราะน้ำมัน สรุปเหตุการณ์น้ำมันรั่วกลางทะเลชลบุรีกว่า 45,000 ลิตร 

อีกครั้งที่ทะเลเกือบพังเพราะน้ำมัน สรุปเหตุการณ์น้ำมันรั่วกลางทะเลชลบุรีกว่า 45,000 ลิตร 

เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2566 เวลา 21.00 น. ที่ผ่านมา เกิดเหตุน้ำมันดิบจากเรือบรรทุกน้ำมัน รั่วไหล 45,000 ลิตร ขณะขนถ่ายน้ำมันดิบบริเวณทุ่นผูกเรือกลางทะเล หมายเลข 2 (SBM-2) ของโรงกลั่นน้ำมันไทยออยล์ บริเวณตอนใต้เกาะสีชัง จ.ชลบุรี 

ภายหลังที่ทางบริษัทฯ ได้รับแจ้งเหตุน้ำมันรั่ว จึงได้เร่งเข้าควบคุมสถานการณ์โดยทำการปิดวาล์วท่อน้ำมันที่เป็นปัญหาทันที ร่วมกับนำท่นวางล้อมคราบน้ำมันเอาไว้ เพื่อป้องกันและจำกัดพื้นที่ไม่ให้น้ำมันกระจายตัวมากขึ้น 

ถัดมาในวันที่ 5 กันยายน เจ้าหน้าที่และผู้เชี่ยวชาญได้สำรวจคราบน้ำมันเพิ่มเติม เนื่องจากวันก่อนหน้ามีผู้เชี่ยวชาญประเมินไว้ว่า คราบน้ำมันอาจจะมีทิศทางการเคลื่อนตัวขนานไปกับเกาะสีชัง อย่างไรก็ดี ไม่พบกลุ่มคราบน้ำมันดังกล่าว พบเพียงแค่แผ่นฟิล์มบางๆ บนผิวน้ำทะเลเท่านั้น 

ทั้งนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็น กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ทีมนักวิจัยของคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  และทีมของคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้เฝ้าติดตามสถานการณ์เพื่อป้องกันผลกระทบต่อระบบนิเวศและท้องทะเลอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งตามแนวปะการังตามเส้นทางที่คราบน้ำมันเลื่อนผ่าน 

ในส่วนสาเหตุของน้ำมันรั่วในครั้งนี้นั้น ด้าน นายณัฐพล มีฤทธิ์  ตัวแทนบริษัทฯ รายงานว่ายังไม่สามารถหาสาเหตุและทราบได้ว่าน้ำมันดิบนั้นรั่วไหลออกมาได้อย่างไร 

น้ำมันรั่วลงทะเลส่งผลเสียหายแค่ไหนต่อระบบนิเวศ

น้ำมันรั่วภัยอันตรายที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อระบบนิเวศ กล่าวคือ เมื่อน้ำมันปนเปื้อนกับน้ำ มันจะทำหน้าที่เป็นฟิล์มเคลือบผิวน้ำ ส่งผลให้ออกซิเจนไม่สามารถลงไปในน้ำได้ รวมถึงปิดกันแสงจนทำให้พืชหรือแพลงก์ตอนบางชนิดไม่สามารถสังเคราะห์แสงได้ 

แล้วมันอันตรายแค่ไหน? นึกภาพถึงห่วงโซ่อาหาร พืชและแพลงก์ตอนเหล่านี้คือผู้ผลิต ดังนั้น เมื่อผู้ผลิตไม่สามารถผลิตอาหารได้ แล้วสัตว์หรือสิ่งมีชีวิตที่อยู่หลังจากนี้จะเป็นอย่างไร? แน่นอนว่าสัตว์น้ำเหล่านี้ย่อมอยู่ไม่ได้ ทั้ง ปลา เต่า กุ้ง หรือสัตว์ทะเลอื่น ๆ ก็จะไม่สามารถมีชีวิตอยู่ได้อีกต่อไป 

หมายความว่าการที่น้ำมันรั่วคือการตัดตอนวงจรระบบนิเวศทางทะเลอย่างแท้จริง สุดท้ายไม่ใช่แค่สัตว์ทะเลที่ลำบาก สัตว์ที่กินปลาหรือแม้แต่มนุษย์เองก็จะได้รับผลกระทบเป็นทอด ๆ อย่างแน่นอน 

นอกจากเรื่องของอาหารแล้ว สัตว์บางชนิดก็ได้รับผลกระทบจากน้ำมันรั่วด้วย ตัวอย่างเช่น นกหรือนากทะเลที่ต้องหากินในทะเล เมื่อมีน้ำมันมาติดตามขนสัตว์เหล่านั้น มันจะลดประสิทธิภาพในการรักษาอุณหภูมิร่างกายของสัตว์เหล่านั้น เมื่อไม่สามารถต้านทานอากาศหนาวเย็นได้ พวกมันก็จะตายในที่สุด 

ที่สำคัญน้ำมันที่รั่วนี้ ไม่ใช่แค่ล้างออกไปแล้วจบ แต่มันตกค้างตามทะเล ปะการัง และส่งต่อสัตว์ทะเลอื่น ๆ ไปเรื่อย ๆ เป็นระยะเวลาที่ยาวนาน 

ศ.ดร.วรณพ วิยกาญจน์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยทรัพยากรทางน้ำ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และอาจารย์ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล  คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า จุฬาฯ มีสถานีวิจัยสัตว์ทะเลตั้งอยู่บนเกาะสีชัง และมีงานวิจัยเกี่ยวกับการปลูกปะการังที่เกาะค้างคาวด้วย ทำให้ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดว่าการรั่วไหลของน้ำมันในครั้งนี้ มีผลกระทบต่อระบบนิเวศทางทะเลบริเวณนั้นมากน้อยแค่ไหน เนื่องจากทั้งเกาะค้างคาวและเกาะสีชังห่างจากบริเวณที่น้ำมันรั่วแค่ 1-2 กิโลเมตร เท่านั้น 

อย่างไรก็ตามทีมวิจัยจุฬาฯ ออกสำรวจและเก็บตัวอย่างน้ำทะเล ดิน และตะกอนบริเวณรอบกลุ่มคราบน้ำมันจะมาถึงมาวิเคราะห์แล้ว นอกจากนี้ยังได้วางแผนการศึกษาผลกระทบการรั่วไหลน้ำมันระยะยาว โดยจะลงไปเก็บตัวอย่างมาศึกษาเป็นระยะ ๆ เพื่อนำเสนอให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องมาร่วมมือกันป้องกันและแก้ไขระยะยาวได้ เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมทะเลให้กลับมาสมบูรณ์ต่อไป 

นี่ไม่ถือเป็นบทเรียนแรกของไทยที่เกิดเหตุการณ์อย่างนี้ เรามีข่าวน้ำมันรั่วตามพื้นที่ต่าง ๆ อยู่ตลอดตั้งแต่ต้นปี จนถึง ตอนนี้ ดังนั้น หากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังไม่สามารถหาแนวทางจัดการและป้องกันน้ำมันรั่วได้นั้น เราอาจสูญเสียระบบนิเวศทางทะเลรวมถึงทะเลที่สวยงามของเราไปตลอดกาล 

อ้างอิง

ผู้เขียน

+ posts

หนุ่มน้อยผู้หลงรักความไม่สมบูรณ์แบบ ออกเดินทางเพื่อเก็บภาพความงดงามของธรรมชาติ และชอบอ่านวรรณกรรมเป็นชีวิตจิตใจ