เสวนา โครงการที่มีผลกระทบต่อผืนป่าและสัตว์ป่า ‘เมื่อช้างป่าไม่ได้อยู่แค่ในป่า’ 

เสวนา โครงการที่มีผลกระทบต่อผืนป่าและสัตว์ป่า ‘เมื่อช้างป่าไม่ได้อยู่แค่ในป่า’ 

เวทีเสวนา โครงการที่มีผลกระทบต่อผืนป่าและสัตว์ป่า ‘เมื่อช้างป่าไม่ได้อยู่แค่ในป่า’ ว่าด้วยเรื่องของภาพรวมของประชากรช้างป่าในพื้นที่อนุรักษ์ การเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินของเกษตรกรที่อยู่ชิดติดขอบป่า และการทับซ้อนกับด่านหรือเส้นทางหากินของช้างป่า นำไปสู่ปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่า (Human-Elephants Conflict) การแก้ปัญหาภาพรวมไปถึงผลการดำเนินงานของหน่วยงาน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคมที่เกี่ยวข้อง รวมถึงแนวทางนโยบายของหน่วยงานภาครัฐต่อการแก้ปัญหาคนกับช้างป่าให้สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน  

ภาพที่ใครหลาย ๆ คนคุ้นตา และคุ้นเคยเป็นอย่างดี ก็คือภาพช้างป่าออกนอกพื้นที่อนุรักษ์มายังพื้นที่สาธารณะที่เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของประชาชน และได้เข้าไปบุกรุกและทำลายจนได้รับความเสียหาย โดยเฉพาะพื้นที่ป่ารอยต่อห้าจังหวัด หรือกลุ่มป่าตะวันออก ที่กำลังประสบปัญหาช้างป่าออกนอกพื้นที่ นำมาซึ่งความสูญเสียมากมาย ทั้งชีวิตและทรัพย์สิน สูญเสียพื้นที่ทำมาหากิน พื้นที่ทางการเกษตร และในขณะเดียวกันช้างป่าเองก็อาจถูกทำร้ายหรือเสียชีวิตได้ 

จากปัญหาดังกล่าว นำมาสู่กับจับเข่าพูดคุยกัน ผ่านเวทีเสวนาในครั้งนี้ โดยมี เผด็จ ลายทอง ผู้อำนวยการสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช, พิเชฐ นุ่นโต ผู้เชี่ยวชาญช้างป่าเอเชีย IUCN SSC, ชุติพงศ์ พิภพภิญโญ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดระยอง พรรคก้าวไกล และ ศยามล ไกรยูรวงศ์ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ขึ้นเวทีมาแลกเปลี่ยนความเห็นกันในครั้งนี้ 

ปัญหาช้างป่าตะวันออกปัจจุบัน: เผด็จ ลายทอง

ปัญหาช้างป่าออกมารบกวนประชาชนในพื้นที่ป่ารอยต่อห้าจังหวัด หรือกลุ่มป่าตะวันออกเริ่มทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากพื้นที่ป่าอนุรักษ์เหลือน้อยลง เกิดการทับซ้อนกับพื้นที่เกษตรกรรม ส่งผลให้ช้างป่าต้องออกจากป่าเพื่อหาอาหารและแหล่งน้ำ ช้างป่าเรียนรู้ที่จะกินพืชผลทางการเกษตร พบว่าช้างป่าสามารถกินพืชผลทางการเกษตรได้หลายชนิด เช่น อ้อย ทุเรียน เป็นต้น 

ช้างป่ามีพฤติกรรมการรวมฝูง ช้างป่าตัวผู้ที่ถูกขับออกจากฝูงจะรวมตัวกันเป็นฝูงใหญ่ เมื่อฝูงช้างป่าใหญ่ขึ้น ก็จะสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนในพื้นที่มากขึ้น 

พฤติกรรมของช้างป่าที่เปลี่ยนไป ช้างป่ามีความตื่นตระหนกเมื่อพบเห็นมนุษย์ ส่งผลให้ช้างป่ามีพฤติกรรมก้าวร้าวมากขึ้น เมื่อช้างป่าออกนอกพื้นที่อนุรักษ์มายังพื้นที่ชุมชนทำให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สิน ทั้งของภาครัฐและของประชาชน รวมถึงมีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์ช้างป่าทำร้ายประชาชนอีกด้วย 

แนวทางการแก้ไขปัญหาช้างป่าที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช พยายามผลักดัน แบ่งออกเป็น 6 ด้าน ได้แก่ 

1. การจัดการในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ เพื่อปรับปรุงระบบนิเวศถิ่นอาศัยของช้างป่า 

2. การป้องกันช้างป่าไม่ให้ออกนอกพื้นที่ป่าอนุรักษ์ 

3. การผลักดันให้ชุมชนเฝ้าระวังช้างป่า 

4. การช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากช้างป่า 

5. การจัดการพื้นที่รองรับช้างป่าอย่างยั่งยืน 

6. การประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับช้างป่า 

ถ้าเทียบกับในเอเชียรุนแรงแค่ไหน: พิเชฐ นุ่นโต

สาเหตุหลักของปัญหาช้างป่าออกมารบกวนประชาชนในพื้นที่ป่ารอยต่อห้าจังหวัด คือ การสูญเสียถิ่นที่อยู่อาศัยของช้างป่า และการขยายตัวของพื้นที่เกษตรกรรมเชิงเดี่ยว 

การสูญเสียพื้นที่อาศัยของช้างป่า เกิดจากการบุกรุกตัดไม้ทำลายป่าเพื่อการเกษตรกรรม การขยายตัวของเมืองและชุมชนที่อยู่อาศัย รวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ส่งผลให้ช้างป่าต้องออกมาหากินพืชอาหารและแหล่งน้ำนอกพื้นที่ป่าอนุรักษ์มากขึ้น 

การขยายตัวของพื้นที่เกษตรกรรมเชิงเดี่ยว เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลให้ช้างป่าออกมารบกวนประชาชน เนื่องจากพืชผลทางการเกษตรเชิงเดี่ยว เช่น มันสำปะหลัง อ้อย และข้าวโพด เป็นพืชที่ช้างป่าชอบกิน ส่งผลให้ช้างป่าเข้ามาทำลายพืชผลทางการเกษตรของชาวบ้าน 

นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่อาจส่งผลต่อปัญหาช้างป่าออกมารบกวนประชาชน เช่น การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของช้างป่า และความตื่นตระหนกเมื่อพบเห็นมนุษย์ 

ในส่วนของการแก้ไขปัญหาช้างป่า ได้เน้นย้ำถึงประเด็นสำคัญ 2 ได้แก่ 1. การสนับสนุนงบประมาณให้กับชุมชนและอาสาสมัครเฝ้าระวังช้างป่า เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน 2. การพัฒนาระบบแจ้งเตือนภัยฉุกเฉินให้กับชุมชนและอาสาสมัครเฝ้าระวังช้างป่า เพื่อให้สามารถรับมือกับสถานการณ์ได้อย่างทันท่วงที 

มุมของกรรมการสิทธิมนุษยชนกับความสำคัญกับสิทธิของช้างป่าและสิทธิของมนุษย์: ศยามล ไกรยูรวงศ์ 

ปัญหาช้างป่าออกมาทำลายพืชผลทางการเกษตรและทำร้ายคน เป็นปัญหาที่มีความซับซ้อนและมีหลายปัจจัยที่เกี่ยวข้อง จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคประชาชน และภาคเอกชน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ให้ความสำคัญกับสิทธิของช้างป่าและสิทธิของมนุษย์ โดยเห็นว่าทั้งสองฝ่ายต้องอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข

กสม. ได้ศึกษาแนวทางในการแก้ไขปัญหาช้างป่ามาแล้วหลายแนวทาง และเสนอแนะแนวทางการแก้ไขปัญหาเหล่านี้ในแต่ภาคส่วน โดยในระดับจังหวัด ให้มีคณะกรรมการช้างป่าระดับจังหวัด ประกอบด้วยตัวแทนจากทุกภาคส่วน ทำหน้าที่ประสานงานและแก้ไขปัญหาในพื้นที่ ระดับตำบล ให้มีอาสาสมัครหมู่บ้าน มีหน้าที่เฝ้าระวังช้างป่าและแจ้งเตือนชาวบ้าน ระดับครัวเรือน เกษตรกรต้องปรับตัวปลูกพืชผลที่ช้างป่าไม่ชอบกิน ระดับประเทศ รัฐบาลต้องจัดสรรงบประมาณให้เพียงพอสำหรับการดำเนินงานด้านช้างป่า  

อย่างไรก็ตาม ปัญหาช้างป่าเป็นปัญหาที่ไม่สามารถแก้ไขได้อย่างรวดเร็วและง่ายดาย จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนอย่างต่อเนื่องและยาวนาน 

การเยียวยาผลกระทบช้างป่าที่ควรเพิ่มมากขึ้น:  ชุติพงศ์ พิภพภิญโญ 

ช้างป่าในป่าตะวันออกมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันมีจำนวนประมาณ 500 ตัว และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น 8% ต่อปี หากไม่มีการแก้ไขอย่างจริงจัง ภายใน 10 ปี ช้างป่าจะมีจำนวนถึง 1,779 ตัว ซึ่งสาเหตุหลักที่ช้างป่าออกมานอกพื้นที่ป่า คือ พืชอาหารและแหล่งที่อยู่อาศัยของช้างป่าไม่เพียงพอต่อความต้องการ 

ช้างป่าเริ่มกินอาหารชนิดใหม่ ๆ เช่น ผลไม้ เปลือกไม้ และอาหารมนุษย์อย่าง ปลาร้า ผงชูรส และกาแฟสำเร็จรูป ซึ่งอาหารเหล่านี้ส่วนใหญ่อยู่นอกพื้นที่ป่า 

ช้างป่าชอบเดินบนพื้นที่ราบและโล่ง จึงทำให้ช้างป่าเดินผ่านพื้นที่เกษตรกรรมของชาวบ้าน 

จากแนวทางการแก้ไขปัญหาช้างป่าที่กรมอุทยานฯ ได้เสนอแนะไปนั้น มีข้อเสนอแนะเพิ่มเติม แบ่งออกเป็น 3 ระดับ ได้แก่ 

ระดับชาติ รัฐบาลควรจัดสรรงบประมาณอย่างเพียงพอสำหรับการดำเนินงานด้านช้างป่า ทั้งในส่วนของการอนุรักษ์พื้นที่ป่า การฟื้นฟูแหล่งอาหารของช้างป่า และการแก้ไขปัญหาช้างป่าที่ออกมานอกพื้นที่ป่า ระดับจังหวัด ต้องมีคณะกรรมการช้างป่าระดับจังหวัด ประกอบด้วยตัวแทนจากทุกภาคส่วน ทำหน้าที่ประสานงานและแก้ไขปัญหาช้างป่าในพื้นที่ ระดับท้องถิ่น อปท. และอาสาสมัครภาคประชาชน ควรร่วมมือกันเฝ้าระวังช้างป่าและแจ้งเตือนชาวบ้าน 

ข้อเสนอแนะเพิ่มเติม ให้มีการกระจายอำนาจและจัดสรรงบประมาณให้กับหน่วยงานที่รับผิดชอบตรงจุด นั่นคือ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช จะได้โฟกัสกับการพัฒนาแหล่งอาหารช้างในพื้นที่เขตป่า และกรมป้องกันและปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (พปผ.) จะได้รับผิดชอบเรื่องการต้อนช้างกลับเข้าป่า และเห็นว่าการชดเชยเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากช้างป่าควรเพิ่มมากขึ้น เพื่อแสดงถึงความเป็นธรรมและเคารพสิทธิมนุษยชน 

เรียบเรียงจากงานรำลึก 33 ปี สืบ นาคะเสถียร วันเสาร์ที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2566 ห้องอเนกประสงค์ ชั้น 1 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร 

สามารถรับชมเวทีเสวนา โครงการที่มีผลกระทบต่อผืนป่าและสัตว์ป่า ‘เมื่อช้างป่าไม่ได้อยู่แค่ในป่า’ ฉบับเต็มและกิจกรรมรำลึก 33 ปี สืบ นาคะเสถียร ช่วงต่าง ๆ ได้ทาง Seub Channel www.youtube.com/@Seub2010 

ขอขอบคุณผู้สนับสนุน

ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน)
ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)
บริษัท เท็กซ์ไทล์ แกลลอรี่ จำกัด
บริษัท ไทย เวียตเจ็ท แอร์ จอยท์ สต๊อค จำกัด
บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน)
บริษัท สุขภัณฑ์ ไฮโดร (ประเทศไทย)
บริษัท ศรีนานาพร มาร์เก็ตติ้ง จำกัด (มหาชน)
ธนาคารแห่งประเทศไทย

ผู้เขียน

+ posts

สาวแว่นทาสแมวที่ชอบบอกเล่าเรื่องราวผ่านลายเส้น มีธรรมชาติช่วยฮีลใจ และหลงใหลในพระจันทร์เสี้ยว