ภาคประชาชนร้อง การตรวจสอบผลกระทบเหมืองโปแตชไทยคาลิ ผู้มีส่วนได้เสีย ต้องอยู่ในกระบวนการทุกครั้ง

ภาคประชาชนร้อง การตรวจสอบผลกระทบเหมืองโปแตชไทยคาลิ ผู้มีส่วนได้เสีย ต้องอยู่ในกระบวนการทุกครั้ง

เสียงร้องเรียกจากประชาชน สู่การพิสูจน์ตรวจสอบ ผลกระทบจากกิจการเหมืองแร่โปแตชไทยคาลิ กระบวนการตรวจสอบต้องมีประชาชนผู้มีส่วนได้เสีย อยู่ในกระบวนการทุกครั้ง

13 กันยายน 2566 นักปกป้องสิทธิมนุษยชนกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดด่านขุนทด กว่า 70 คน ร่วมกับอุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมา สำนักงานอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่เขต 6 นครราชสีมา สำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 11 ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดนครราชสีมา กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัดนครราชสีมา และอำเภอด่านขุนทด ลงพื้นที่ตรวจสอบการขุดบ่อน้ำเพิ่มเติมบริเวณรอบโครงการเหมืองแร่โปแตช บริษัท ไทยคาลิ จำกัด บ้านหนองไทร ต.หนองไทร อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา โดยมีเจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติร่วมสังเกตการณ์ 

ภายหลังจากที่นักปกป้องสิทธิฯยื่นหนังสือทวงถามต่อนายอำเภอด่านขุนทด เมื่อวันที่ 28 สิงหาคมที่ผ่านมา เพื่อขอให้ตรวจสอบการขุดบ่อน้ำเพิ่มเติมของเหมืองแร่โปแตช ประทานบัตรที่ 28831/16137 ไม่มีความคืบหน้า ต่อมาในวันที่ 31 สิงหาคม เจ้าหน้าที่อุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมา เจ้าหน้าที่กรมทรัพยากรน้ำบาดาล และเจ้าหน้าที่อำเภอด่านขุนทด ได้ทำการลงพื้นที่ตรวจสอบในเขตบริเวณบริษัทฯโดยที่ไม่ได้มีการนัดหมายนักปกป้องสิทธิฯ ที่เป็นผู้ร้องเรียนให้ร่วมกระบวนการตรวจสอบ 

นักปกป้องสิทธิฯ จึงได้ทำการนัดหมายกับเจ้าหน้าที่อุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมาถึงวันลงพื้นที่ตรวจสอบร่วมกันอีกครั้ง

โดยก่อนลงพื้นที่ตรวจสอบนักปกป้องสิทธิฯ ได้พูดคุยถึงวัตถุประสงค์ข้อเรียกร้องของการตรวจสอบในครั้งนี้ต่อหน่วยงานที่ศาลาวัดหนองไทร ว่าขอให้มีการตรวจสอบบ่อน้ำรอบเขตประทานบัตรโดยเฉพาะกับบ่อที่ติดกับโรงงานผลิตเกลือบริสุทธิ์ ว่ามีการขออนุญาตถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ มีค่าความเค็มเกินค่ามาตรฐานหรือไม่ และมีการปูผ้ายาง HDPE ป้องกันการรั่วซึมของน้ำเค็มหรือไม่ เนื่องจากพบว่าไม่มีการปูผ้ายางอย่างใด 

ทั้งยังมีการขุดบ่อขนาดเล็กขนาดกลางจำนวนหลายบ่อกระจายตัวอยู่รอบบริเวณเหมืองว่าเป็นของโครงการบริษัทฯ หรือไม่ เพราะมีความกังวลถึงความเสี่ยงต่อการกระจายตัวของพื้นที่ดินเค็มและน้ำเค็ม ขอให้ทำการตรวจสอบแหล่งน้ำสาธารณะ แหล่งน้ำสำหรับทำประปาหมู่บ้าน และสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป รวมถึงชี้แจงการขุดเจาะอุโมงค์ใหม่

ซึ่งหลังจากนั้นนักปกป้องสิทธิฯ และทุกหน่วยงานได้ลงพื้นที่ตรวจสอบพื้นที่บริเวณรอบเหมืองแร่โปแตช บริษัท ไทยคาลิ จำกัด จำนวน 14 จุด โดยพบว่า มีร่องรอยน้ำไหลซึมออกจากเหมืองแร่ฯ บริเวณแนวคันดินมีการปรับปรุง มีการปลูกต้นสน มีการขุดบ่อและปูผ้ายางใหม่ ซึ่งชาวบ้านได้ตั้งคำถามว่าเป็นไปตามรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรือไม่ พบสระน้ำขนาดใหญ่อยู่ใกล้โรงต้มเกลือบริสุทธิ์และมีการต่อท่อน้ำจากโรงต้มเกลือมายังสระน้ำ ทำให้เกิดความกังวลว่าจะเป็นจุดพักน้ำเค็มของโรงต้มเกลือหรือไม่ และอาจจะเป็นจุดที่ทำให้ก่อเกิดการกระจายความเค็มสู่ชุมชน 

วมถึงยังพบว่ามีการกระจายตัวของความเค็มไปตามจุดต่าง ๆ ในหมู่บ้านที่เป็นพื้นที่ต่ำกว่าเหมืองแร่ฯ บางพื้นที่มีน้ำขังในไร่นาตลอดทั้งปีไม่สามารถเพาะปลูกข้าวหรือพืชทางการเกษตรได้ และมีน้ำเค็มไหลผ่านตามเส้นน้ำสายเล็กรอบหมู่บ้านที่ไหลออกไปสู่คลองลำมะหลอดและลำเชียงไกร

หลังการลงพื้นที่ได้มีการสรุปและทำบันทึกการลงพื้นที่ร่วมกัน โดยจะมีการนัดหมายเพื่อตรวจค่าความเค็มของน้ำและดินในพื้นที่โดยละเอียดร่วมกันอีกครั้ง เพื่อให้เกิดความชัดเจน และเพื่อนำไปสู่การตรวจสอบและการวางแผนในการฟื้นฟูพื้นที่ต่อไป

ด้านนายพุทธิกรณ์ วิชัยดิษฐ หัวหน้าอุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า หลังจากได้ทำการตรวจสอบแล้วจะทำการติดตาม สิ่งไหนที่สามารถทำได้จะดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ แต่ส่วนไหนที่เกินอำนาจจะทำการส่งต่อหรือทำการประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

อย่างไรก็ตามนักปกป้องสิทธิมนุษยชนกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดด่านขุนทดหวังว่าทางหน่วยงานจะดำเนินการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่อย่างรวดเร็ว และจะคอยติดตามความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาของหน่วยงานภาครัฐอย่างใกล้ชิดเพื่อพิสูจน์ความจริงใจในการแก้ไขความทุกข์ร้อนของประชาชน โดยไม่เพิกเฉยเหมือนครั้งที่ผ่านมา 

และยังหวังเป็นอย่างยิ่งว่ากระบวนการตรวจสอบผลกระทบจากการทำเหมืองแร่โปแตชในพื้นที่อำเภอด่านขุนทดหลังจากนี้ ประชาชนซึ่งเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงจะไม่ถูกกีดกันออกจากกระบวนการตรวจสอบอย่างที่เคยเป็นมา

“ทั้งนี้ พวกเราจะยังคงยืนหยัดที่จะสู้เพื่อผืนดินบ้านเกิดเมืองนอน แม้หนทางยาวไกล แต่พวกเราจะสู้เพื่อคนที่เรารัก สู้เพื่อแผ่นดินบ้านเกิด จดจำไว้พวกเรารักษ์บ้านเกิด จะรักษาและห่วงแหนสิ่งที่เคยมีและเคยเป็น ไม่ยอมให้ใครมาทำลายต่อหน้าต่อตา และข้อเรียกร้องเดียวคือปิดเหมืองแร่โปแตช หยุดแหล่งกำเนิดมลพิษ เพื่อฟื้นฟูชีวิต ฟื้นฟูผืนดิน ฟื้นฟูผืนน้ำ ให้กลับมาอุดมสมบูรณ์ดังเดิม”

เรื่อง/ภาพ กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดด่านขุนทด จ.นครราชสีมา