ยื่นหนังสือทวงถามผู้ว่าฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หลังเพิกเฉยการแก้ไขปัญหาผลกระทบเหมืองแร่โปแตชด่านขุนทด

ยื่นหนังสือทวงถามผู้ว่าฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หลังเพิกเฉยการแก้ไขปัญหาผลกระทบเหมืองแร่โปแตชด่านขุนทด

วันที่ 4 ธันวาคม 2566 เวลา 08.00 น. นักปกป้องสิทธิมนุษยชนกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดด่านขุนทดกว่า 100 คน รวมตัวที่วัดสระขี้ตุ่น บ้านสระขี้ตุ่น บ้านสระสมบูรณ์ เพื่อเดินทางไปยื่นหนังสือต่อนายกเทศบาลหนองบัวตะเกียด กำนัน ต.หนองบัวตะเกียด และผู้ว่าจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งขณะที่กำลังรวมตัวได้มีตำรวจตำแหน่งสารวัตรสืบสวนและเจ้าหน้าที่สืบสวน สภ.ด่านขุนทด เข้ามาพูดคุยสอบถามโดยอ้างว่าจะติดตามดูแลเรื่องการเดินทางไปยื่นหนังสือครั้งนี้ โดยกลุ่มแจ้งว่าจะเดินทางไปยื่นหนังสือ ไม่ได้ไปชุมนุม

ต่อมาเวลา 09.00 น. ณ ที่ทำการเทศบาลหนองบัวตะเกียด นักปกป้องสิทธิฯ ได้แสดงความคิดเห็นต่อการทำเหมืองแร่โปแตชที่ชาวบ้านไม่เคยได้รับผลประโยชน์ได้รับแต่ผลกระทบ ทั้งยังไม่มีมาตรการแก้ไขและป้องกันผลกระทบได้จริง จากนั้นจึงยื่นหนังสือเพื่อให้ทางเทศบาลมีคำสั่งห้ามใช้ระเบิดในพื้นที่และขอให้มีการชี้แจงต่อกลุ่มที่วัดสระขี้ตุ่น ภายหลังจากที่เทศบาลหนองบัวตะเกียดได้มีการเข้าไปศึกษาดูงานภายในเหมืองแร่โปแตช ซึ่งอาจเป็นการสนับสนุนบริษัทฯให้เปิดดำเนินโครงการเหมืองแร่และใช้วัตถุระเบิดในการขุดเจาะอุโมงค์ใหม่ รวมถึงกรณีที่ นายอุดม พาขุนทด กำนันเทศบาลหนองตะเกียด มีรายชื่อเป็นหนึ่งในผู้มีสิทธิตรวจสอบเหมืองแทนผู้มีส่วนได้เสียโดยตรงทั้งหมดในเขตพื้นที่ประทานบัตร ว่าได้รับตำแหน่งนี้ได้อย่างไรเมื่อไม่ได้มีการเลือกจากประชาชนในพื้นที่ 

เวลาประมาณ 12.00 น. เมื่อเดินทางมาถึงที่ศาลากลางจังหวัดนครราชสีมานักปกป้องสิทธิฯ ได้พักทานข้าวเที่ยง ก่อนจะเคลื่อนขบวนไปที่อนุสาวรีย์ลานย่าโมเพื่อขอพรให้จัดกิจกรรมผ่านไปด้วยดีและปิดเหมืองแร่โดยเร็ว และทำการปราศรัยถึงผลกระทบจากการทำเหมืองแร่โปแตชให้ประชาชนชาวจังหวัดนครราชสีมาได้รับทราบ

จากนั้นนักปกป้องสิทธิฯ ได้เคลื่อนขบวนไปยื่นหนังสือต่อผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งผู้ว่าฯได้เคยแจ้งว่าจะชะลอการดำเนินการของโครงการเหมืองแร่โปแตชและโรงต้มเกลือของบริษัท ไทยคาลิ จำกัด ทั้งหมดเอาไว้ก่อน เพื่อดำเนินการลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงผลกระทบที่เกิดขึ้นในพื้นที่เกิดจากโครงการ แต่นับตั้งแต่การลงพื้นที่ของผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมาและอุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมา เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม และ 31 สิงหาคม 2566 บริษัทฯ ก็ยังคงมีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในส่วนของโรงต้มเกลือยังไม่มีการหยุดดำเนินการและ ทางจังหวัดนครราชสีมาก็ไม่ได้มีการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นเลยแม้แต่น้อยทั้งที่ผลตรวจสอบออกมาชัดเจนแล้วว่าในพื้นที่กำลังประสบภัยจากความเค็มอย่างรุนแรง แต่กลับเอื้อประโยชน์ให้เหมืองแร่เดินหน้าในการเปลี่ยนแปลงแก้ไขโครงการ ซ้ำร้ายยังมีการเห็นชอบต่อการใช้วัตถุระเบิดในการทำเหมืองทั้งที่ทราบดีว่าพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ชุมชนเป็นพื้นที่เกษตรกรรมของชาวบ้านในพื้นที่

โดยในวันนี้ ผู้ว่าฯได้มอบหมายให้ นายบุญรวย เลิศวนิชย์ทิพย์ เจ้าหน้าที่อุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมารับหนังสือแทน โดยก่อนยื่นหนังสือนักปกป้องสิทธิฯได้ทวงถามกับนายบุญรวยว่า หลังจากที่ผู้ว่าฯ ลงพื้นที่ตรวจสอบแล้วผลการตรวจสอบออกมาว่าพื้นที่ได้รับผลกระทบจากเหมืองแร่จริง แต่หลังจากนั้นไม่มีคำสั่งให้ดำเนินการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากการทำเหมืองใด ๆ บอกเพียงว่าผู้ว่าฯไม่มีอำนาจพอ แล้วโยนเรื่องนี้ให้คณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการแร่แห่งชาติ (คนร.) จัดการแทนเพื่อปัดความรับผิดชอบ และเรื่องการจ่ายค่าลอดใต้ถุน ที่บริษัทจะต้องจ่ายให้กับผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินภายในเขตพื้นที่ประทานบัตรทั้งหมด เพื่อเป็นค่าเสียหายในการละเมิดแดนกรรมสิทธิที่ดิน ตั้งแต่ที่ได้รับอนุญาตประทานบัตรมาตามกฏหมาย พรบ.แร่ใหม่ 2560 ประกาศไว้ ซึ่งชาวบ้านในพื้นที่ยืนยันว่าไม่เคยได้รับเงินค่าลอดใต้ถุนมาก่อน ซึ่งถือเป็นการหลีกเลี่ยงไม่ปฏิบัติตามกฎหมายจะต้องถูกเพิกถอนประทานบัตร

กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดด่านขุนทด จึงขอให้ผู้ว่าฯ มีคำสั่งชะลอการดำเนินการของบริษัทฯ เหมืองแร่ทั้งหมด ทั้งเหมืองแร่โรงแต่งแร่ จนกว่าจะดำเนินการแก้ไขปัญหาแล้วเสร็จ และ ขอให้มีคำสั่งห้ามใช้ระเบิดในการประกอบกิจการโดยเด็ดขาด หลังพบในรายงานเปลี่ยนแปลงโครงการว่ามีการใช้ระเบิดจำนวนมาก

หลังรับหนังสือนายบุญรวยได้กล่าวต่อนักปกป้องสิทธิว่า จะรีบดำเนินการให้เร็วที่สุด ส่วนเรื่องการสั่งให้เหมืองหยุดดำเนินการเป็นเรื่องยาก แต่เรื่องการใช้ระเบิดและค่าเสียหายในการละเมิดแดนกรรมสิทธิที่ดินจะตรวจสอบให้ แล้วจะแจ้งให้ทราบในภายหลัง

ด้านนักปกป้องสิทธิฯ ยืนยันว่าต้องการปิดเหมืองแร่ ใครบอกว่ามีเหมืองแล้วจะมีแต่ความเจริญ ทุกวันนี้ยังไม่เห็นความเจริญที่เหมืองว่า มีแต่ผลกระทบเต็มไปหมด ชาวบ้านมีอาชีพเกษตรกรเป็นหลัก ที่ไร่ที่นาได้รับความเสียหายหมด แล้วชาวบ้านจะเอาไรกิน ถ้ามีเหมืองแล้วไม่สามารถทำกินได้ก็ไม่ควรมีต้องปิดเหมืองเท่านั้น

ก่อนเดินทางกลับ กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดด่านขุนทดได้ย้ำว่า หากไม่มีการดำเนินการแก้ไขใดๆ พวกเรากลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดด่านขุนทด จะกลับมาที่ศาลากลางจังหวัดอีกครั้ง และจะไม่กลับจนกว่าจะได้รับความเป็นธรรม พวกเราจะไม่ยอมให้มีการเปิดเหมืองแร่โปแตชและโรงต้มเกลือในพื้นที่ จะไม่ยอมให้ใครมาระเบิดแผ่นดินของเราโดยเด็ดขาด

รายงานโดย กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดด่านขุนทด จ.นครราชสีมา